สำนึกสร้างปัญญา
อ่าน: 2750เรื่อง สำนึกสร้างปัญญา
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๐ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย
ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา.
เมื่อวันอาทิตย์ก่อนได้พูดถึงความร้อนให้ญาติโยมทั้งหลายได้ฟังกัน มีหลายคนบอกว่าปาฐกถาเป็นที่ถูกอกถูกใจ แล้วก็บอกว่าควรจะเอาไปอ่านอีกที จึงจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจดีขึ้น เพราะว่าการฟังครั้งเดียวอาจจะลืมได้ อ่านบ่อยๆ เตือนตนเองบ่อยๆ ให้เกิดความสำนึกในสิ่งอันเราจะต้องปฏิบัติ เพราะในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น อาจจะมีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความเผลอไผล ประมาทในการคิด การพูด การกระทำอยู่บ้าง เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องที่ได้กระทำผิดพลาดไปนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ตามปกติทั่วๆ ไป นั้นไม่ชอบความผิด ไม่ชอบความเสียหาย
แต่ว่าทั้งๆ ที่เราไม่ชอบ ก็มีอาการเผลอ ประมาท เกิดการผิดพลาดในชีวิตขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว เราไม่ได้พิจารณา สอดส่องในเรื่องนั้นให้เห็นชัด ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจสาเหตุของเรื่อง บางทีก็ทำซ้ำลงไปอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น อันนี้เป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน เราทั้งหลายไม่ต้องการความยุ่งยาก ไม่ว่าในแง่ใดๆ เมื่อไม่ต้องการความยุ่งยาก ก็ควรจะได้หมั่นตักเตือน พิจารณาตนเองตามแนวธรรมะที่เราได้ศึกษาเล่าเรียน จากการอ่านบ้างการฟังบ้าง เพื่อเอาไปแก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป
การแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราแต่ละเรื่องแต่ละประการนั้น ควรจะอาศัยความรู้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ในชีวิตเป็นเรื่องประกอบ ถ้าไม่มีความชำนาญ หรือประสบการณ์ในชีวิต เป็นเครื่องประกอบ เราก็ไม่สามารถจะแก้ไขในเรื่องนั้นๆ ได้ เพราะเหตุอันนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตักเตือนภิกษุบ้าง อุบาสกอุบาสิกาบ้าง ในเมื่อพระองค์พอที่จะพูดจะแนะนำพร่ำเตือนคนเหล่านั้นได้ ท่านก็มักจะเตือนว่า ท่านทั้งหลายอย่าอยู่ด้วยความประมาท พึงมีสติปัญญาคอยกำหนดความเป็นอยู่ของตนไว้ตลอดเวลา การมีสติปัญญาคอยกำหนดตนนั้น เป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราพูดในภาษาไทยว่า มีความรู้สึก มีความสำนึกแล้วก็มีความคิดความเข้าใจในเรื่องนั้นเข้ามา
ในชั้นแรกก็มีความรู้สึกตัวก่อน ต่อไปก็มีความสำนึกได้ แล้วก็ต่อไปก็เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ขึ้นมา ความรู้สึกนั้นเป็นพื้นฐานขั้นต้นๆ ที่เกิดขึ้นในใจของเรา เช่นเรามีความรู้สึกว่า เรากำลังทำอะไร กำลังพูดเรื่องอะไร กำลังจะไปไหน อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เป็นความรู้สึกธรรมดาๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่เรา เรียกว่า เป็นความรู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้ถ้าเกิดบ่อยๆ มันก็เป็นนิสัย เป็นเครื่องห้ามกันบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้นได้เหมือนกัน คนเราที่มีบาปมีอกุศลเกิดขึ้นในใจ ก็เพราะว่าขาดความรู้สึกตัว คือไม่รู้ว่ากำลังคิดอะไร กำลังพูดเรื่องอะไร กำลังทำสิ่งใด หรือว่ากำลังจะไปในที่ใด หรือว่ากำลังคบหาสมาคมกับอะไร อันนี้เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ คือไม่ได้รู้สึกในเรื่องนั้น เพราะไม่รู้สึกตัว จึงกระทำเรื่องนั้นลงไป อันนี้เป็นความเสียหาย แต่ถ้ามีความรู้สึกขึ้นก็จัดการเรื่องนั้นได้ทันที
คล้ายๆ กับคนเราเดินถลำร่อง ลางทีถลำลึก บางทีถลำไปนิดหน่อย คนที่ถลำลงไปนิดหน่อยนั้นก็เพราะรู้สึกตัว พอรู้สึกตัวก็รีบชักขึ้นมาเสีย มันก็ไม่ถลำลึกลงไป แต่คนที่ไม่รู้สึกตัวในขณะนั้นก็ถลำลึกลงไปจมแข้งจมขา บางทีก็ทำให้ถลอกปอกเปิก เกิดความเสียหาย อันนี้เพราะขาดความรู้สึกนั่นเอง
การพูดก็เหมือนกัน บางทีเราพูดอะไรเพลินไป โดยไม่รู้สึกว่ากำลังพูดอะไร พูดจนกลายเป็นโอฐภัย ถูกตำรวจจับเอาไปขังก็มี อย่างนี้เพราะว่าไม่รู้สึกตัวว่ากำลังพูดอะไรอยู่ หรือว่าทิฏฐิความคิดเห็นที่ก่อตัวอยู่ในใจของเรา เราก็รู้สึกว่าเรามีความคิดอย่างไร มีความเห็นในรูปใด ความคิดเห็นที่เกิดอยู่นั้นมันเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ เราไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็เลยไปพอใจอยู่ในความเห็นนั้น ยกตัวอย่างในทางการบ้านการเมือง เช่นมีคนที่มีความคิดไขว้เขว ไปในทางที่ชาติไม่พึงปรารถนา มีความคิดออกไปนอกทาง ใกลออกไปจากสิ่งที่เราเคยอยู่เราเคยเป็นด้วยประการต่างๆ แล้วก็ไปชอบใจอยู่ในทิฏฐินั้นในลัทธินั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็เพราะว่าตนนึกว่า อันนี้แหละเป็นความถูก อันนี้แหละจะเป็นการสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง แต่ว่าไม่ได้คิดให้รอบคอบว่ามันจะเสียอะไรบ้าง มันจะเกิดขึ้นในกาลต่อไปข้างหน้า มองด้านเดียว เพราะมีความยึดติดอยู่ในสิ่งนั้น
ในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้มองอย่างนั้น คือมองอะไรไม่ให้มองในแง่เดียว มองในแง่ดีแง่สุขด้านเดียวก็ไม่ได้ มองในแง่ทุกข์ด้านเดียวก็ไม่ได้ แต่ว่าต้องมองทั้งสองอย่าง เพราะว่าสิ่งทั้งหลายนั้นมันปนกันอยู่ คือไม่ว่าอะไรมันมีคุณโทษ มีประโยชน์ ไร้ประโยชน์ มีความดีมีความชั่ว มีความสุขมีความทุกข์ มันปะปนกันอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าไม่ให้มองในแง่เดียว เพราะถ้ามองในแง่ดีแง่เดียว มันก็ดีไปหมด
เหมือนกับชายหนุ่มที่รักหญิงสาวคนใดคนหนึ่ง พ่อแม่ขัดคอบอกว่า ไม่ได้ลูกเอ๋ย อย่าไปรักคนนั้นเลย มันอย่างนั้นมันอย่างนี้ เขาไม่พอใจทีเดียว เขาหาว่าพ่อแม่มองอะไรผิดไป ไม่ตรงกับเขาเขาก็ไม่ยอมท่าเดียว นั่นก็เพราะเขามองแต่แง่เดียว ไม่ได้มองว่าแง่เสียมันมีอะไรบ้าง หรือว่าไม่ดีมันมีอยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนคนที่เขาไม่ได้หลงไหลมัวเมานั้น เขามองทั้งสองอย่าง ดีก็มีเสียก็มี แล้วเขาก็เอามาชั่งดูว่า อันไหนมันมากกว่ากัน
ครั้งเมื่อเห็นว่าดีน้อยเสียมาก จึงได้บอกแก่ลูกชายที่รักของคุณแม่ว่า อย่าเลย ลูกเอ๋ย ไม่ดี แต่ลูกมันไม่ฟังเสียง มันรักจนกระทั่งว่ามองอะไรไม่เห็นแล้ว อย่างนั้นเขาเรียกว่ารักจนตาบอด นี่ก็เพราะว่ามองอะไรมันผิดไปนั่นเอง ไม่ได้มองอย่างถูกต้อง ทำไมจึงมองไม่ถูก เพราะใจไม่เป็นตัวเองแล้ว ใจมันตกอยู่ในหลุมรัก พอใจตกลงไปในหลุมแล้ว โคลนมันเข้าหูเข้าตา เลยมองอะไรไม่เห็น เห็นก็ผิดไปหมด อย่างนี้มันก็เสียหาย สร้างความทุกข์ความเดือดร้อน แก่ผู้มองนั้นได้ มองในแง่ดีด้านเดียวมันก็ไม่ได้ มองในแง่เสียด้านเดียวมันก็ไม่ได้เหมือนกัน แต่เราควรจะมองทั้งสองแง่ เอามาชั่งกันดู ว่าดีกับเสียอันไหนมันจะมากกว่ากันบ้าง ถ้าหากว่าอันใดมันมีเสียมากแต่ดีน้อย ไม่ควรจะทำ อันใดดีมากแต่เสียน้อยก็ควรจะทำได้ และในการกระทำนั้นก็ทำด้วยความระมัดดระวังอย่าทำด้วยความหลง อย่าทำด้วยความงมงาย อย่าทำด้วยความประมาท เพราะสิ่งที่เสียจะเกิดขึ้นแก่เราได้ หลักการมันต้องเป็นอย่างนี้ อะไรๆ ในโลกนี้มันต้องเพ่งกันอย่างนี้ อย่ามองเพียงแง่เดียวจึงจะเป็นการถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของคนเรา เราจึงต้องศึกษา พิจารณาให้รอบคอบ ในเรื่องอะไร ต่างๆ สำคัญอยู่ที่ความรู้สึกตัว เป็นเรื่องเบื้องต้น เรียกว่า รู้สึกตัวขึ้นมาพอรู้สึกตัวขึ้นมาก็กลับตัวได้ คล้ายๆ กับคนขับรถยนต์ในเวลาค่ำคืน อ่านป้ายถนนไม่เห็น แล้วก็เป็นทางไม่เคยไป พอผิดทางไป แทนที่เราจะไปสู่จุดที่เราต้องการมันผิดไป พอผิดไปก็สำนึกขึ้นมาได้ ว่าท่าจะไม่ใช่ทางนั้นเสียแล้ว น่าจะผิดทางเสียแล้ว นี่เรียกว่ารู้สึกตัวขึ้นมา พอรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้เรากลับรถมาทางเดิม แล้วก็มาถึงทางแยก แล้วก็เข้าทางใหม่ต่อไป มันก็ไม่เสียหายเพราะรู้สึกตัวได้ว่าเรามันผิดไปเสียแล้ว ก็เลยกลับใจมาได้
คนเรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าสมมติว่าทำอะไรผิดไป หรือเสียหายไป พอรู้สึกตัวแล้วไม่กลับก็ไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีทางที่จะแก้ไข เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกตัวแล้วก็ต้องกลับใจ เปลี่ยนใจ เข้าหาแนวทางที่ถูกที่ชอบต่อไป ความรู้สึกเป็นเรื่องที่ดีประการหนึ่ง คนเราจะเกิดความรู้สึกในเรื่องเช่นนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการหมั่นกระทำในเรื่องหนึ่ง คือหมั่นคิดว่ามันเรื่องถูกหรือผิด มันจะดีหรือชั่ว จะเสื่อมหรือเจริญ สิ่งนี้มันจะเกิดอะไรขึ้นแก่เรา ให้หมั่นคิดไว้ในรูปอย่างนี้บ่อยๆ จิตใจก็จะเคยชินกับความรู้สึกในเรื่องต่างๆ พอทำอะไรก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา ว่าไม่ได้แล้ว เราจะต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว
ความจริงแท้ๆ ของชีวิตนั้น อยากจะให้ญาติโยมรู้ไว้ว่าธรรมชาติฝ่ายในชีวิตของเรานั้นมีอยู่ แล้วคอยเตือนเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะทำอะไรมันคอยเตือน คอยบอกอยู่ เขาเรียกว่าธรรมชาติฝ่ายดี ถ้าพูดอีกแบบหนึ่งว่า เสียงพระมันดังอยู่เสมอ เสียงพระมันดังอยู่ ถ้าพูดตามแบบศาสนาที่เขานับถือพระเจ้า เขาก็บอกว่าเสียงกระซิบจากพระเป็นเจ้า มันคอยดังเตือนอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าบางคนไม่ได้ยินเสียงนั้น บางคนก็ได้ยินเสียงนั้น คนที่ไม่ได้ยินนั้น ก็เพราะขาดความรู้สึกตัว คนที่ยินก็คือคนที่มีความรู้สึกตัว เอะใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ! ท่ามันจะไม่ดีเสียแล้ว ท่ามันจะไม่ถูกเสียแล้ว ท่ามันจะไม่เหมาะเสียแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่า เอะใจ
ถ้าเกิดความเอะใจในรูปอย่างนั้น เราควรจะถือว่าเป็นบุญแล้ว ที่ได้เกิดเอะใจขึ้นมาใจรูปอย่างนั้น ควรจะใช้ความเอะใจอย่างนั้นแหละเป็นพื้นฐาน แล้วก็คิดว่าอันนี้มันคืออะไร ทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จะเสื่อมหรือเป็นความเจริญแก่ชีวิตของเรา ถ้าเราเอะใจขึ้นในเรื่องใดแล้ว ต้องคิดทันที หัดพิจารณาหัดไตร่ตรองในเรื่องนั้นๆ ก็พอจะเป็นเครื่องห้ามล้อชีวิต ไม่ให้รถคือชีวิตของเราหมุนไปสู่ความตกต่ำมากเกินไป เพราะอาการอย่างนี้ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่อยากจะแนะนำให้เราทั้งหลาย ได้มีความคิดในเรื่องอย่างนี้ไว้บ้าง คือมันต้องคิดไว้บ้างอย่าทำอะไรด้วยความเพลิน อย่าทำอะไรด้วยความหลง ด้วยความมัวเมา หรือด้วยความประมาท แต่ว่าคิดว่ามันจะเหมาะหรือมันจะควร หรือมันจะดีหรือไม่ดี จะเป็นประโยชน์หรือไม่ ตั้งปัญหาคิดอย่างนั้น แล้วเราจะเห็นสิ่งนั้นชัดเจนแจ่มแจ้ง เราจะไม่เผลอไม่ผิดพลาดในเรื่องนั้นต่อไป นี่มันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตของการงาน
แม้เรื่องใหญ่ๆ โตๆ เรื่องของประเทศชาติบ้านเมืองเหมือนกัน ถ้าเรามีความเอะใจเสียบ้าง แล้วก็มาคิดไตร่ตรองแล้วก็จะเป็นไปในทางที่ถูกต้องขึ้น แต่ว่าเรื่องอะไรทั้งหลายนั้น มันมีอุปสรรคข้อขัดข้องเหมือนกัน เช่นในเรื่องนี้ก็มีอุปสรรคอยู่อย่างหนึ่ง คืออุปสรรคตรงที่ว่า ฉันไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เรามักจะพูดว่า คนมีอุดมคติกันอย่างนั้นแหละ คำว่าอุดมคติ ที่คนชอบใช้เช่นว่า ใครดันทุรังในเรื่องอะไร แล้วก็ทำเรื่องนั้น จนกระทั่งเกิดความเสียหาย บางคนก็ออกว่า แหมน่าชมที่เป็นคนมีอุดมคติ อุดมคติมันหมายถึงอะไร หมายถึงความคิดที่เป็นสิ่งสูงสุด เขาเรียกว่าอุดมคติ ทำแล้วมันเกิดประโยชน์เป็นคุณเป็นค่าแก่ชีวิตแก่การงาน แก่ชาติแก่ประเทศแก่การงาน นั่นแหละเรียกว่าเป็นอุดมคติ แต่ถ้ามันเป็นความคิดอันใดก็ตามเกิดขึ้นในใจของใคร แล้วไปแบกไปยึดไว้ แต่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นคุณไม่เป็นค่า ไม่เป็นประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมือง เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า เป็นอุดมคติไม่ได้
พวกฝ่ายซ้ายมักจะพูดอย่างนี้บ่อยๆ ชมเชยคนที่หลงผิดไปกับพวกตัวว่า เขาเป็นคนมีอุดมคติ กินอุดมการณ์ บูชาความคิดเห็นของตัว ยกย่องชม คำชมเชยประเภทอย่างนี้ เป็นคำชมเชยที่ทำคนให้เสียคนนั่นเอง คล้ายกับคนดื่มเหล้าในวงเดียวกัน คนไหนดื่มหมดแก้วเพื่อนยกนิ้วให้ ว่ามันเก่งจริงๆ คนที่ดื่มแล้วมันก็นึกว่า กูเก่ง เพื่อนชมทั้งวง ก็ดื่มใหญ่ หนักเข้าไปก็ฟุบคาโต๊ะไปเลย เพื่อนต้องหามไปส่งบ้าน นั่นหรืออุดมการณ์ มันเป็นอุดมการณ์ขี้เมาเท่านั้นเองไม่มีอะไร อุดมการณ์ของนักการพนัน ของพวกขี้เมาเหลวไหล
คราวหนึ่งไปที่เกาะสมุย มีคนคนหนึ่งเป็นเจ้ามือกินรวบมาทั้งปี แต่ว่าน้องชายฝาแฝดเป็นคนดี นึกว่าไปโปรดพี่ชายซักทีเถอะ มาถึงบอกว่า ท่านเจ้าคุณไปที่บ้านพี่ชายผมซักทีเถอะ มันขายสวนมะพร้าวไปสองสามแปลงแล้ว มันจะฉิบหายแล้วมันเล่นกินรวบ ก็ไปกันที่บ้าน พอไปถึง เจ้าของบ้านก็บอกว่า ท่านมากันหลายองค์ ถ้าจะมาขอให้ผมเลิกเล่นการพนัน ผมไม่เลิกหรอกครับ อย่ามาขอผมเลย ผมตั้งใจไว้แล้ว ผมจะเล่นจนตายว่าอย่างนั้น ตายแล้วผมจะสั่งลูกชายให้เล่นต่อไป เอาถึงอย่างนั้นเชียว ตัวไม่เลิกแล้ว เล่นจนตาย ตายแล้วจะสั่งให้ลูกเล่นต่อ บอกว่า แหมคุณนี่มีความคิดลึกซึ้งเหลือเกิน ไม่เป็นไรหรอก ไม่ขอไม่ค้าน อาตมาเป็นหมอ มาพบคนไข้แล้วต้องตรวจกันหน่อย มีหยูกมียาก็ต้องให้กินกันหน่อย กินแล้วจะหายหรือไม่หายก็อีกเรื่องหนึ่ง ก็พูดให้ฟังแกก็ยืนอยู่ตรงหน้า อาตมาก็นั่งห้อยเท้าที่ระเบียง พูดให้ฟังตั้งชั่วไมง เทศน์ให้คนคนเดียวตั้งชั่วโมง พูดกันนานแกก็ฟังนิ่ง
พอเห็นว่าสมควรแก่เวลา ยาที่ให้กินพอแล้ว คนไข้จะกินไม่กินก็ตามใจ หยุดกันที พอหยุดแกก็พูดว่า ท่านนี่ อาตมาใจหายพอขึ้นอย่างนั้น นึกว่าจะแย่แล้ว ยาเราคงจะไม่ได้ผลแล้ว ท่านนี่ ผมก็ไม่รู้จัก มาบ้านผมผมก็ไม่ได้นิมนต์มาด้วย ว่าไปอย่างนั้น อาตมาก็ชักใจเสีย แต่ตอนหลังชักจะอุ่นใจ แกบอกว่า แต่ท่านพูดเข้าทีดี ผมมันคนจริงว่าอย่างนั้นแหละ บทเล่นแล้วก็เล่นจริง บทเลิกก็เลิกจริงเหมือนกัน วันนี้ได้ฟังท่านอย่างนี้ผมเห็นด้วย ผมยอม ยอมให้ท่านตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เลิกเสียสักที แล้วก็มีขันน้ำวางอยู่ข้างๆ อาตมาก็บอกว่า ก้มหัวมาหน่อย รดน้ำมนต์กันหน่อย ไม่ต้องปลุกเสกอะไร บอกว่ารดผีสลากกินรวบหน่อย แล้วพอรดน้ำมนต์พระอีกสามองค์ก็ชยันโต รดน้ำให้เรียบร้อยก็บอกว่า แต่งตัวไปวัดกันเดี๋ยวนี้ ไปวัดด้วย พาไปวัดเพื่อจะพาไปเป็นตัวอย่าง
ไปเทศน์ที่วัดอีกทีหนึ่ง เทศน์ที่วัดก็ออกมาอีกคน ก็บอกว่าเป็นเพื่อนกัน ขึ้นมาจากเรือรั่วแล้วผมจะอยู่ทำไมว่าอย่างนั้น ขึ้นมาด้วยคนหนึ่ง บอกว่าอ้าวนี่ก็อุบาสกมาวิ่งเต้นอยู่ในวัด วัดก็มาสลากกินรวบก็เล่น บอกว่าอย่างนี้ไม่ไหว ชั่วโมงหนึ่งเล่นน้ำชั่วโมงหนึ่งคลุกโคลน อย่างนี้ไม่รู้จักจบจักสิ้น วันนี้ผมจะอาบแต่น้ำจะไม่คลุกโคลนต่อไป เลยได้สองคนเลิกไป และเลิกเด็ดขาด จนกระทั่งบัดนี้ ไม่เล่นต่อไป เดี๋ยวนี้เรียบร้อย หลายปีแล้วไม่ได้ไปเยี่ยม แต่ว่ายังเรียบร้อย ถามข่าวดูอยู่ นี่เขาเรียกว่า คลายจากอุดมคติบ้าๆ แล้วมาเป็นคนที่มีอุดมคติแท้ มาเป็นคนที่มีธรรมะประจำใจ
คนมีธรรมะนั่นแหละเขาเรียกว่า เป็นคนมีอุดมการณ์มีอุดมคติ สิ่งใดที่ไม่เป็นธรรม ไม่ควรเรียกว่ามีอุดมคติ ก็สิ่งที่ไม่เป็นธรรมมันเป็นอย่างไร คำสอนก็ตาม การกระทำอันใดก็ตาม ที่เป็นไปเพื่อทำให้คนอื่นเดือดร้อน สิ่งนั้นไม่ควรจะเรียกว่าเป็นอุดมการณ์ที่สูงส่ง ไม่ควรจะเรียกว่าเป็นอุดมคติ เพราะมันทำคนให้เดือดร้อนเสียหาย ให้ได้รับความทุกข์ความวุ่นวายกันด้วยประการต่างๆ บังคับอย่างนั้นบังคับอย่างนี้ ในรูปต่างๆ มนุษย์ไม่มีสิทธิอะไรเป็นของตัว ไม่มีเสรีในทางที่ถูกที่ชอบ เป็นเด็กอมมืออยู่ตลอดเวลา จะต้องถูกบังคับให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นมันไม่ใช่อุดมการณ์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่อุดมการณ์ที่สูงสุด
พระพุทธเจ้าเรานั้นทรงเคารพสิทธิ์ของมนุษย์ทั้งหลาย สมัยนี้เขาเรียกว่าสิทธิ์มนุษย์ชน คำนี้มันเป็นคำใหม่ ครั้งพระพุทธเจ้าไม่มีหรอก แต่ว่าการกระทำของพระองค์นั้นมันถูกต้องกับหลักนี้ คือ พระองค์เคารพในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย จะเห็นง่ายๆ เวลาพระองค์จะสอนธรรมะแก่ใครๆ ไม่ทรงบังคับให้เชื่อ ไม่ทรงบังคับให้ทำตาม แต่ว่าพระองค์มักจะพูดเกริ่นเบื้องต้นว่า ทำในใจให้ดี ให้แยบคาย เราจะพูดให้ท่านฟัง ณ บัดนี้ คำพูดที่พระองค์ตรัสว่าทำในใจให้ดี คิดให้แยบคาย เราจะพูดให้ฟัง ณ บัดนี้นั้น นั่นแหละคือการให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ฟัง ไม่บังคับให้ต้องเชื่อต้องทำตาม ไม่บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อแล้วจะเป็นบาปเป็นโทษ จะตกนรกไม่ผุดไม่เกิด ไม่มีอย่างนั้น นี่แสดงว่าพระองค์เคารพสิทธิของเขา ให้เสรีภาพในการคิดการนึกตามใจเขา
พระองค์มีหน้าที่เพียงเสนอแนะข้อคิดข้อเห็น ให้คนเหล่านั้นได้รับฟัง ฟังแล้วก็ต้องเอาไปคิด ไปตรอง ไม่ให้เชื่อทันที ทำไมไม่ต้องการให้เชื่อทันที เพราะการเชื่อทันทีนั้นมันงมงาย ขาดปัญญาขาดเหตุผล พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้ลูกศิษย์ของพระองค์ เป็นคนงมงาย เป็นคนขาดเหตุผล แต่ต้องการให้ลูกศิษย์ของพระองค์นั้น เป็นคนหูตาสว่างไสวด้วยปัญญา มีความคิดรอบคอบ รอบรู้ในเรื่องอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ปิดประตูสอน แต่ว่าบอกว่า คิดดูให้ดี ทำในใจให้แยบคาย เราจะพูดให้ฟัง คนฟังก็สบายใจ ไม่มีอะไรบังคับไม่มีอะไรกะเกณฑ์ เขาฟังด้วยจิตใจที่เป็นตัวเอง เขาเข้าในเรื่องที่พระองค์แสดง เอาไปปฏิบัติ ผ่อนคลายความทุกข์ความเดือดร้อน ในชีวิตประจำวันได้ อันนี้เป็นเรื่องถูกต้องตามหลักการ
ทีนี้สิ่งใดที่บังคับให้คนเป็น บังคับด้วยอาวุธ บังคับด้วยอะไรต่างๆ ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ให้คิดอย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้ในรูปเดียว มันไม่ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เป็นการทำคนให้เสียหาย ปิดหูปิดตาคนทั้งหลาย ให้เห็นแต่สิ่งเดียว ให้ฟังแต่เรื่องเดียว ให้คิดอยู่แต่เรื่องเดียว มันจะได้หรือ อย่างนี้มันถูกต้องหรือ คนเราต้องมองหลายด้าน ต้องฟังหลายเรื่อง ต้องคิดหลายแง่ จึงจะเป็นการชอบการควร แม้คำสอนในศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าคำสอนในศาสนาใด บังคับให้ศาสนิกบริษัท ให้ปิดหูปิดตาตนเอง ไม่รับฟังคำสอนอื่นแล้ว ไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าของเราไม่มีเรื่องอย่างนั้น ใครมาเป็นลูกศิษย์ของพระองค์พระองค์ก็ไม่กิดกัน พระองค์ไม่ห้าม
เช่นอุบาลีคฤหบดี เป็นคนมีชื่อเสียงมากในเมืองเวสาลี เป็นศิษย์ของพวกไชนะมาก่อน ของมหาวีระ อยากจะมาฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า แต่ลูกศิษย์มหาวีระไม่อยากให้ไปฟัง กลัวจะเปลี่ยนใจ กลัวจะกลับใจไปนับถือพระพุทธเจ้า ห้ามหลายครั้งหลายหน แต่อุบาลีแก่ดื้อหน่อย ก็เป็นคนมีสตางค์ แกก็ดื้อไปตามเรื่องของแก แกก็เลยไปฟัง
ทีนี้เมื่อไปฟังก็เกิดเลื่อมใส ศรัทธาในหลักสอนของพระพุทธเจ้า ครั้นเกิดเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาแล้ว จะปฏิญญาณตนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระองค์ว่าอย่างไร ตรงนี้น่าฟัง เรื่องนี้มีคติดีมาก พระองค์บอกว่า คิดดูให้ดีเสียก่อน ท่านเป็นคนใหญ่คนโต มีเกียรติมีชื่อเสียงในเมืองเวสาลี การที่จะทำลงไปนั้นต้องคิดให้รอบคอบ เดี๋ยวคนจะหาว่าเป็นคนโลเล ใจง่าย เพราะฉะนั้นจึงต้องคิดให้ดีเสียก่อน ว่าควรจะมาเป็นลูกศิษย์คนอื่นมาก่อน คิดให้ดีเมื่อพระองค์พูดคำนี้ออกไป อุบาลีคฤหบดีน้ำตาไหลชื่นใจ บอกว่า แหมพระพุทธเจ้าไม่เหมือนครูคนอื่น ครูอื่นนั้น พอรู้ว่าอุบาลีจะไปวัดเท่านั้น ยกธงหน้าวัดต้อนรับแล้ว นี่พระองค์ไม่เป็นเช่นนั้น แม้เป็นลูกศิษย์แล้วก็ยังเตือน ข้าพระองค์ยิ่งมีความเลื่อมใสในพระองค์มากขึ้น แล้วก็ปฏิญญาณตนเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า
เมื่อเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ยังบอกว่า ประตูของท่านเคยเปิดกว้าง สำหรับพวกเดียรถีย์นิครนทั้งหลายมาก่อน แม้ท่านจะมาเป็นศิษย์ของเราแล้ว ก็อย่าปิดประตูกับคนเหล่านั้น เคยต้อนรับเขาอย่างไรเคยปฏิสันถารเขาอย่างไร ให้ทำเหมือนเดิมอย่าเปลี่ยนแปลง อันนี้หาไม่ได้ในโลกนี้ ไม่มีครูอาจารย์ใดจะใจกว้างเหมือนกับพระพุทธเจ้า เมื่อใครไปเป็นศิษย์แล้วก็กีดกันตลอดเวลา ไม่ให้ไปฟังเรื่องคนอื่นไม่ให้ไปอ่านเรื่องคนอื่น อย่างนี้มีอยู่ในสังคมมนุษย์
แต่ว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นไม่อย่างนั้น เปิดไว้เลย จะไปฟังอะไรก็ได้ แม้พระสงฆ์เราจะไปฟังในสำนักใดๆ ก็ได้ ไม่ห้าม พระองค์บอกว่า เธอไปสนทนากับเขาได้ ไปฟังอะไรเขาได้ ฟังแล้วเอามาคิดมาตรอง เอามาเทียบเคียงกับความรู้เดิมที่เคยมีอยู่ก่อน ถ้ามันมีเหตุผล ประพฤติแล้วเป็นไปเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ให้หมดไปสิ้นไป สิ่งนั้นทำลายความเห็นแก่ตัวไมได้ เธอใช้ปัญญาพิจารณาเอาเองเถิด อันนี้แหละคือการเปิดประตูกว้างสำหรับพุทธบริษัท
เพราะฉะนั้นในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเรา จึงไม่มีสงครามศาสนา ไม่รุกรานใครในเรื่องความคิดความเห็น เราเป็นคนที่ใจกว้างสามารถจะเข้ากับใครๆ ได้ทั้งนั้น เมืองไทยเราจึงอยู่เป็นสุขเพราะเราไม่ใจแคบ ใครจะมาทำอะไรในทางอื่น เช่นคนในศาสนาอื่นตั้งโบสถ์ตั้ง อะไรในเมืองไทยนั้นเราไม่ว่าอะไร ใครจะไปฟังก็ได้จะไปนับถือก็ได้ เป็นสิทธิของเขา อันนี้เป็นความใจกว้างในทางพระพุทธศาสนา
อาจาย์สุกิจ แกสิ้นบุญไปหลายปีก่อนโน้น เคยเล่าให้ฟังว่า ไปเมืองนอกฝรั่งมันถาม ถามว่าพระพุทธศาสนาดีอย่างไร อาจาย์สุกิจบอกว่า ศาสนาพุทธดีตรงที่สอนให้พุทธบริษัทเป็นคนใจกว้าง เขาถามว่าใจกว้างอย่างไร แกก็อธิบายให้ฟัง ว่าชาวพุทธเราใจกว้าง ยอมรับคำสอนในคำภีร์อี่น ว่าเป็นของถูกของชอบได้เหมือนกัน เมื่อสิ่งนั้นสอนให้เราทำลายสิ่งที่เป็นตัวตน ทำลายกิเลสแล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้ ยอมรับฟังได้ทั้งนั้น อันนี้ฝรั่งฟังแล้วก็ทึ่งเหมือนกัน เพราะว่าในศาสนาที่เขานับถือนั้นมันมีกีดกันอยู่หลายเรื่อง กีดกันไม่ให้อย่างนั้นอย่างนี้ เช่นในสมัยก่อนในบางประเทศ ห้ามหนังสั่งหนังสือต่างศาสนาเข้าบ้านเข้าเมือง เหมือนกับห้ามกัญชายาฝิ่นอะไรอย่างนั้น เป็นของต้องห้ามไป
หนังสือทางศาสนา เช่นในประเทศโปตุเกส ในประเทศสเปน เป็นคาธอลิค เขาห้ามไม่ให้นำเข้า เดี๋ยวนี้ห้ามไม่ได้แล้ว เพราะว่าโลกมันคับแคบ เดี๋ยวนี้คนไปมาถึงกัน ห้ามไม่ให้อ่านหนังสือคนก็ฟังวิทยุ ดูภาพทางโทรทัศน์ได้เห็นอะไรมากขึ้น ห้ามไม่ได้แล้ว สมัยก่อนห้ามนั่นคือความเป็นคนใจแคบเกินไป พระพุทธศาสนาเราไม่มีอาการอย่างนั้น ให้ศึกษาได้ให้พิจารณาได้ในทุกแง่ทุกมุมอันนี้เป็นเรื่องน่าภูมิใจอยู่ประการหนึ่ง ในวิธีการพระพุทธศาสนาเรา จึงเอามาพูดให้ญาติโยมได้ฟังไว้ นี้ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งคนเรา เมื่อมีความรู้สึกตัวดังที่กล่าวมาเมื่อกี้นี้แล้ว เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ ในบางครั้งบางคราวความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้น แล้วมันก็หายไป จึงต้องมีอีกอย่างหนึ่งเข้ามาช่วย เรียกว่าความสำนึก ความสำนึกที่มันเกิดจากการกระทบกระทั่ง ในเรื่องอะไร ๆ ต่างๆ ตัวอย่าง เช่นว่าอาชญากรคนหนึ่ง จะไปปล้นบ้านใครคนหนึ่ง แต่ว่าในขณะที่จะเข้าปล้นนั้น บังเอิญเจ้าของบ้านยังไม่หลับยังตื่น แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะเสียด้วย อ่านดังๆ เสียด้วยอ่านดังๆ ให้อาชญากรได้ยิน พอได้ยินแล้วมันเกิดความสำนึกขึ้นในใจ สำสึกว่าเราไม่ควรทำบาป เราไม่ควรเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วก็เลยไม่ทำบาปวันนั้น คือไม่ปล้นไม่ขโมยทรัพย์ของคนนั้น แต่เข้าไปหาเจ้าของบ้าน พร้อมด้วยปืนที่ถือไปในมือนั่นแหละ
แต่ไม่ได้ถือในท่าเตรียมพร้อมเพื่อจะจี้คอหอยเจ้าของบ้าน ถือเข้าไปเฉยๆ แล้วก็บอกเจ้าของบ้านว่า ไม่ต้องตกใจ ผมไม่ได้มาปล้นอะไรแล้ว แต่ว่าจะมาคุยด้วยเท่านั้นเอง แล้วเล่าเรื่องให้ฟังว่า ความจริงก็จะมาปล้นเหมือนกัน แต่ว่าขณะที่เข้ามาปล้นนี่ท่านยังไม่หลับ ท่านอ่านหนังสือธรรมะเสียงดัง มันไปเข้าหูผม แล้วก็เกิดความสำนึกขึ้นในใจ ว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน ถ้าคนอื่นจะมาเอาของเรา เราก็ไม่ชอบใจ คนอื่นจะมาทำร้ายเราเราก็ไม่ชอบใจ ใครมาพูดจาโกหกหลอกลวงเรา เราก็ไม่ชอบใจ เราชอบในแต่เรื่องดีเรื่องงาม แต่ว่าทำไมจิตมันจึงทรามลง ไปคิดจะทำร้ายคนอื่น นับว่าบุญหนักหนาที่มาได้ยินเสียงเมื่อตะกี้นี้ เป็นเสียงพระ เป็นเสียงที่ดลจิตสะกิดใจ ให้เกิดความนึกคิดในทางที่ถูกที่ชอบ แล้วก็เลยกลับใจไม่ขโมย อันนี้เขาเรียกว่า ความสำนึกมันเกิดขึ้นในใจ
ความสำนึกในรูปอย่างนี้ อาจจะเกิดขึ้นเพราะอะไรก็ได้ เช่นเกิดขึ้นเพราะได้เห็นซากศพ เกิดเพราะเห็นการกระทำของคนอื่นที่ไม่เหมาะไม่ควร แล้วก็เกิดความสำนึกว่า มันไม่ดีในการที่จะทำเช่นนั้น ทำแล้วเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วก็เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจไม่ทำเรื่องนั้นต่อไป หรือว่าตัวอย่างเห็นง่ายๆ เช่นว่า บางคนเคยเสพสุรามึนเมาเป็นอาจิณ ดื่มตลอดเวลา คนดื่มเหล้ามันก็แปลก อาตมานั่งสังเกตดู วานซืนนี้มาจากเมืองตราด เมื่อวันศุกร์นี้ ก็มาฉันเพลที่อำเภอแกลง ตลาดสามแยก ตรงนั้นแหละก็ไม่ได้ฉันอะไรมาก ข้าวราดแกงสองจาน เพราะว่าเวลามันใกล้เที่ยงเต็มทีแล้ว บอกว่าเอาข้าวราดแกงก็แล้วกัน แล้วมานั่งฉันที่โต๊ะหนึ่ง มีคนนั่งอยู่สี่คน มันรินเหล้ากินคุยกันเฮฮา พระเข้าไปมันก็ไม่ได้หยุดคุย เพราะมันเมาแล้ว
นั่งมองๆ นึกดูว่ามันเรื่องอะไรกัน ทำไมจึงกินเหล้าในเวลาเที่ยงๆ อย่างนั้น ไม่กินข้าวแต่ไปสั่งเหล้ากินกัน กินแล้วก็ออกไปเฉยๆ ไม่ได้กินอะไรอื่นอีก ก็นึกในใจว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น มนุษย์เราทำไมชอบฆ่าตัวตาย เขาเรียกว่า ตายผ่อนส่ง แบบนี้ ทุกแก้วที่เราดื่มนั้นคือผ่อนส่งเรื่อยไป พญายมก็นั่งยิ้ม ว่าไม่เท่าใดกูได้จดชื่ออ้ายนี่อีกแล้ว จดชื่อไว้เรื่อยๆ ไป แล้วไม่เท่าใดก็เอาตัวมาลงกระทะทองแดงกันต่อไป พญายมแกนั่งยิ้ม พญายม คือเจ้าแห่งความตาย คือความตายเขาเรียกว่ายะมะ ความตายก็ยิ้มหัวเราะคนนั้นว่าเออไม่เท่าใดก็ตาย กินแบบนี้ กินอยู่ได้ นี่คือยังไม่มีความสำนึกขึ้นในใจ ยังคิดไม่ได้ ว่าควรกินหรือไม่ ควรดื่มหรือไม่ มันจำเป็นหรือไม่ คิดไม่ได้ เลยเขาดื่มสนุกเฮฮาไปตามเรื่อง เป็นเรื่องของเขา ยังนึกไม่ได้
ถ้าสมมติว่าคนจำพวกเหล่านั้น ได้มาได้ยินฟังอะไรมันมากระทบใจอย่างแรงกล้า สำนึกได้เปลี่ยนใจได้เหมือนกัน เคยมีนายทหารคนหนึ่งเมื่อสองสามปีมานี้ เขามาในงานบวชนาคในวัดนี้ ก่อนบวชนาคก็เทศน์ให้ฟังนิดหน่อย แต่ว่าวันนั้นมันมีอารมณ์เหล้าเกิดขึ้นในใจ เพราะว่าคนที่มานั่งใกล้ๆ นั้นมันส่งกลิ่นบางยี่ขันขึ้นมา ก็เลยพูดเรื่องเหล้ามากไปหน่อย แต่ว่ามันก็ได้ผล การพูดในวันนั้นเพราะนายทหารชั้นนายพันเอกมานั่งอยู่คนหนึ่ง แกเป็นคนชอบดื่มเหล้าเช้าเย็น เรียกว่า สุรานิสัย กินเป็นนิสัยเสียแล้ว แต่ว่าวันนั้นได้ฟังแล้ว เกิดสำนึกขึ้นในใจ กลับไปถึงบ้านบอกลูกหญิงชาย บอกแม่บ้านว่า ไปบวชนาควัดชลประทานนี้ ท่านเจ้าคุณแกว่าเจ็บแสบเหลือเกิน พ่อสำนึกได้แล้วว่ามันไม่ดี เลิกแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป บอกเมียบอกลูกว่าช่วยจำไว้ด้วยนะ พ่อไม่ดื่มแล้ว แล้วไม่ดื่มวันนั้นกลับถึงบ้านก็ไม่ดื่มเหล้า ที่ได้หยุดไปนั้นเพราะะเหตุไรความสำนึกมันเกิดขึ้น
พอเกิดความสำนึกอะไรมันตามมาความละอายเกิดตามมา ความกลัวเกิดตามมา ความยับยั้งชั่งใจก็เกิดตามมา มันก็เกิดผลขึ้นแก่บุคคลผู้นั้น อันนี้เขาเรียกว่า ผู้ร้ายกลับใจ โจรผู้ร้ายกลับใจได้ หรือว่าคนที่ทำผิดไม่ดีไม่งามกลับใจได้ เพราะความสำนึกขึ้นมาอย่างนี้ คนเราบางทีได้พบอะไรเป็นเครื่องเตือนใจ มันก็อย่างนั้น ได้พบแล้วมันก็ผ่านไปเฉยๆ ไม่มีความสำนึกอะไรเกิดขึ้นในใจ ที่เขาเรียกว่า มันยังไม่สุก บุญบารมียังไม่มี แต่ว่าคนบางคนเขาเรียกว่า มันสุกรอบ คล้ายกับผลไม้มันสุกหล่นได้ทันที พอได้อะไรเหมาะก็หล่นทันที คนบางคนมันเป็นอย่างนั้น พอได้ยินได้ฟัอะไรก็สำนึกขึ้นมาได้ เลิกเลย เปลี่ยนชีวิตใจเข้าหาความงาม บางคนอาจจะไม่ได้มาฟังเฉพาะหน้า ฟังวิทยุกรกะจายเสียงก็สำนึกได้ เปลี่ยนจิตใจได้ก็มีเหมือนกัน
มีทหารเรือคนหนึ่งอยู่ที่สัตหีบ ก็ฟังเทศน์วิทยุยานเกราะ สมัยนั้นก็เทศน์อยู่ พูดไปเรื่องอะไรก็ไม่รู้จำไม่ได้แต่ว่าแกฟังอยู่ ฟังแล้วก็เกิดความสำนึกขึ้นมา ตัดสินใจเลิกเลย เลิกจากการดื่ม จากการยิงนกตกปลา ไม่ใช่ว่าไปยิงเอามากิน สนุกเห็นนกกะปูดนั่งอยู่บนต้นไม้ยิง แล้วก็เตะมันทีหนึ่ง เอามากินก็ไม่ได้มันเหม็นคาวสาบ ต้มอย่างไรๆ ก็ไม่ได้ ไม่เมาจัดกินไม่ลงมันเหม็น ไม่กินหรอก ยิงเล่นแล้วก็เตะมันทีหนึ่ง ให้สมน้ำหน้า ว่ามึงเที่ยวร้องกะปูดๆ ในตอนใกล้รุ่งกูนอนไม่สบาย มันคิดไปอย่างนั้น ยิงเล่น ยิงค่างเล่น ยิงเล่น แล้วก็ชอบดื่มของเมา วันนั้นฟังไม่ทราบว่ามันกระทบอย่างไร เกิดสำนึกขึ้นมา ตัดสินใจเลิกเลย แล้วเขียนจดหมายมาขอบพระคุณ บอกว่า แหมถ้าไม่ได้ขึ้นกับเขาเลย คือตกร่องลึกมันขึ้นไม่ได้ คล้ายกับคนเราตกลงไปในร่องน้ำแล้วมาได้เพราะได้ฟังเสียงพระ อันนี้เป็นตัวอย่าง ก็เรียกว่า เกิดความสำนึก
พระองคุลีมาลนั้นก็เหมือนกัน ที่เป็นโจรได้เกิดความสำนึกขึ้นมาเพราะพระพุทธเจ้า พูดง่ายๆ ว่า เราหยุดแล้ว ท่านยังไม่หยุด พูดอย่านี้มันกระทบกระเทือนใจเราหยุดแล้ว ท่านไม่หยุด คือพูดคือพูดว่าหยุดในภาพเห็นยังวิ่งอยู่ พระพุทธเจ้ายังวิ่งอยู่ ก็นึกว่า เอ๊ะหยุดอย่างไร วิ่งอยู่ก็เลยสงสัย แล้วก็บอกว่า หยุดเถอะเราไม่ทำร้าย พอหยุดก็จ่อหน้ากันอยู่ตรงนั้นเอง ก็เลยถามว่า ที่ท่านพูดว่าท่านหยุดแล้ว แต่กระผมไม่หยุดนี้หมายความว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าบอกว่า เราหยุดจากการกระทำความชั่วแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุดจากการพูดในเรื่องชั่ว เกิดสำนึกขึ้นในใจทันทีว่า กูนี่เป็นคนชั่ว เป็นคนใช้ไม่ได้ เลยเลิกทีเดียวก้มลงกราบพระพุทธเจ้าแทบพระบาท แล้วก็ทิ้งดาบไว้ข้างหนึ่ง แล้วก็แสดงตนเป็นพุทธมามกะ นี้เขาเรียกว่าเกิดความสำนึกขึ้นในใจ
คนเราถ้าเกิดความสำนึกแล้ว รักษาความสำนึกอันนั้นไว้ในใจตลอดเวลา รับรองว่าจะพ้นจากบาป อกุศล ไม่มีความเสียหายแก่ชีวิตต่อไป อันนี้แหละเรื่องที่สำคัญ ทีนี้จะทำอย่างไรจะให้คนเกิดสำนึก นี่แหละเรื่องที่ต้องช่วยกันแล้ว คือช่วยให้ธรรมะนี่มันดังบ่อยๆ ให้มันดังออกไปบ่อยๆ ให้ได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆ เวลานี้เสียงธรรมะมันดังน้อยไป แต่ว่าเสียงที่ไม่ใช่ธรรมะชักจะดังมากกว่า ดังก้องไปทั่วบ้านทั่วเมือง เช่นเสียงเพลงเร้าใจกิเลสมนุษย์มันดังมาก ดังกันแพร่หลาย ดังกันจนถึงในวัดในวา ก็เคยพูดกับสมภารเจ้าวัดหลายแห่ง เวลามีงานอะไรแล้วก็ชอบสนุก ชอบมีหนังมีดนตรี ชอบมีอะไรต่ออะไร โยมสังเกตไหมป้ายโฆษณางานวัด
ว่าในงานนี้ดนตรีคณะนั้น มีอะไรคณะนี้ มีอะไรต้องติดไว้เสมอ และไม่เห็นว่างานวัดไหนปิดป้ายโฆษณาว่า ในงานวัดเรานี้มีการแสดงธรรม มีการสนทนาธรรม มีการเผยแผ่ธรรมะ ถ้ามีก็ไปเรื่องอื่น เช่น มีพุทธาภิเษกลงเลขลงยันต์ ไปเสียอย่างนั้น นี่เขาเรียกว่า เสียงมันไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เสียงปลุกคนให้ตื่น แต่ว่าทำให้หลงใหลให้หลับต่อไป เป็นเพลงกล่ออารมณ์ให้มัวเมาให้หลงใหลให้เคลิบเคลิ้ม แล้วให้หลับต่อไป ไม่ลืมหูลืมตา ไม่เห็นอะไร นี่มันเสียหาย สังคมมันวุ่นวายก็เพราะเรื่องอย่างนี้
ทีนี้เราจะต้องช่วยกันปลุกให้ตื่น อย่าช่วยกันทำคนตื่นให้หลับ แต่ว่าทำคนหลับให้ตื่น ให้ได้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอะไรถูกต้อง นี่จะทำอย่างไร คือต้องช่วยกันเผยแผ่ธรรมะให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจ ถ้าว่ามีการพูดทางวิทยุเราได้ฟัง เพื่อนฝูงยังไม่ได้ฟังก็ช่วยกันหน่อย บอกว่า แหมเวลานั้นดีนะ หกโมงเย็นทุกวันอาทิตย์ ยานเกราะ ๘๘๐ น่าฟัง ท่านปัญญาแกไปพูดอยู่นะเราเปิดฟังนะ เพื่อนว่า เอ๊ะลองไปเปิดฟังหน่อย เราได้ช่วยแนะเพื่อนคนหนึ่ง ให้ได้เปิดเครื่องวิทยุฟัง ก็เท่ากับได้ปลุกให้เขาตื่นแล้ว ให้เขาลืมหูลืมตาขึ้นมา เขาก็จะได้เสียงนั้น แล้วเขาก็จะสบายใจ
อาตมามีความสบายใจเมื่อได้เมื่อได้พบคนบางคน เช่นมีนายทหารคนหนึ่งเดินทางไปตราด เกิดอุบัติเหตุ รถจักยานต์มันพุ่งมาชนรถเรา ชนข้างก้น แต่รถเราต้องจ่ายค่าเสียหายให้มันร้อยบาท ค่าที่มันมาชน ก็นึกในใจว่า ผู้ถูกชนนี่ต้องเสียเงินด้วย มันก็แปลก แต่ว่ารีบให้มันเพราะต้องรีบไปอีก ไม่มีเวลาที่จะไปคว้าความกันอยู่ มันจะเอาก็ให้มันไปจะได้หมดเรื่องราว แล้วก็หมดเรื่องกันไป
ก็มีนายทหารชั้นพันเอก เห็นอาตมายืนอยู่ก็หยุดรถ แล้วก็ถามว่าหลวงพ่อจะไปไหน จะไปตราด นึกว่าเข้าในเมือง ผมจะพาไปด้วย แล้วก็เลยบอกว่า ผมฟังทุกเย็นวันอาทิตย์ ใต้เท้าพูดดีมีประโยชน์แก่ชาติแก่บ้านเมืองมาก ได้ฟังอย่างนั้นมันก็สบายใจ ไม่ใช่ตรงเขายอว่าท่านพูดดีไม่ใช่อย่างนั้น แต่สบายใจตรงที่เขาฟังเท่านั้นเอง แล้วมันจะเป็นประโยชน์ต่อไป
เพราะฉะนั้นเราต้องโฆษณาบอกใครๆ ให้ได้รับฟังกัน เช่นเราเป็นหัวหน้าอยู่ในสำนักงานองค์การใหญ่ๆ มีคนมากมาย ก็ป่าวร้องลูกน้อง ว่าช่วยกันฟังวิทยุบ้าง หรือนานๆ ก็นิมนต์พระไปเทศน์ที่สำนักงานเสียหน่อย พูดกับคนงานทั้งหลายให้มันรู้สึกสำนึกตัว คือให้รู้ว่าเรามีความเกี่ยวข้องกับงานอย่างไร ชีวิตเรากับงานอย่างไร เราควรจะทำตนอย่างไรจึงจะถูกต้อง คนบางคนมันไม่รู้ ทำแต่งานทำไปๆ แต่ไม่รู้ว่าทำทำไม ทำไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้อะไร งานอันนี้มันสำคัญแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไร เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ เราอย่างคิดว่าคนทุกคนมันจะเข้าใจไปหมด รู้ในหลักวิชาที่เรียนเท่านั้น เช่นวิศกรก็รู้เรื่องไฟฟ้า เรื่องเครื่องยนต์ แต่บางทีมันก็คิดไม่ได้
เรื่องคิดได้หรือไม่ได้นี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีคนคอยกระตุ้น คอยเตือน การกระตุ้นเตือนนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นแม่ทัพที่พาทหารออกรบ เขาจึงต้องเตือนให้เกิดความรู้สึกในการที่จะรบ ที่จะได้ไปต่อสู้ต่อไป นโปเลียนแกนำทัพข้ามเขาใหญ่เล็ก เหนื่อยเมื่อยล้าเต็มที เห็นว่าทหารอิดโรยมามากแล้ว ก็ขึ้นบนยอดเขาแล้วชี้ไปบอกว่าโน่นเมืองที่เราจะตี อาหารสมบูรณ์อะไรสมบูรณ์ผู้หญิงก็สวยๆ เราต้องรีบเดินไปหน่อยตีเช้าๆ มันจะได้แตก แล้วก็จะได้ไปกินข้าวกันที่นั้น นี่เป็นวิธีที่ทำให้คนตื่นตัวขึ้น แล้วก็รักหน้าที่การงาน
พระเจ้าตากสินของเราเข้าตีเมืองจันทบุรี กินข้าวแต่ไม่สว่าง ทุบหม้อข้าวหมดเลย ไปกินกันในเมืองวันนี้ทหารก็ต้องยอมรบ หม้อข้าวหมดแล้วจะกินอะไร ถ้ารบไม่ชนะก็ไม่กินข้าวกันในวันนี้ รบกันเลยแต่เช้า หิวข้าวเห็นช้างเท่าหมู รถชนประตูกำแพงเข้าไปเลย นี่เขาเรียกว่า ปลุกใจ ทีนี้เราจะมาปลุกให้คนตื่นตัวต้องใช้ธรรมะ ธรรมะปลุกนี่ตื่นนาน ใช้เรื่องอื่นปลุกมันตื่นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หลับต่อ แต่ถ้าคนเข้าถึงธรรมะแล้วมันตื่นนาน เพราะเขารู้จักคือชีวิตคืออะไร การงานคืออะไร อะไรมันเป็นอะไร เข้าใจถูกต้องในเรื่องอะไรต่างๆ สิ่งทั้งหลายมันก็จะดีขึ้น
พ่อแม่ก็สำคัญ นี่หน้าร้อนลูกไม่ไปโรงเรียนเพราะโรงเรียนปิด เราจะทำอย่างไรกับลูกในโรงเรียนปิดนี้ พ่อแม่ต้องมีเวลากับลูกบ้าง อย่าเอาเวลาไปทำอะไรๆ มากเกินไป จะเกิดความเสียหาย คือไม่ได้รับการอบรมลูกเต้านี่มันเสียหาย เสียหายแก่อนาคตของครอบครัว แก่ชาติแก่บ้านเมือง จึงใคร่ขอเตือน ว่าขณะโรงเรียนปิดภาค พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ลูกเต้า มันไปไหน ไปกับใคร ไปที่ใด ไปแล้วมันได้อะไรมาบ้าง คอยสังเกตดูกิริยาท่าทาง ผิวพรรณวรรณะของมัน ในระหว่างปิดภาคเรียนนี้ ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน บางทีปิดภาคมันไปเที่ยวกับเพื่อน ชวนไปเที่ยวสนุกสนานเบิกบานใจ มันเยอะแยะในเมืองไทยเรานี้ ของชั่วมันมากเราต้องคอยระวัง ไปไหนกลับมาต้องเรียกมาคุยด้วย ไปไหนมา เป็นอย่างไรลูกสนุกไหมลองถาม อย่าไปดุเขาเดี๋ยวเขาไม่ตอบ
เราต้องถามเป็นเชิงสนุกไปด้วยกับเขา แล้วเขาเล่าให้ฟังว่าไปที่นั่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็หัวเราะกระซิกกระซี้ไปกับเขาด้วย ให้เขาเพลินใจ ทีหลังค่อยวกเข้ามา เข้าทีดีที่ลูกไป แต่มันไม่เหมาะสมที่อย่างนั้น เพื่อนอย่างนั้น เราก็พูดแนะแนวให้เขาเข้าใจ ค่อยพูดค่อยจา อย่าไปพูดให้เขาตกอกตกใจ ทีหลังเขาไม่พูดกับเราเสียอีก เราค่อยพูดค่อยจา แนะนำพร่ำเตือนเขาให้เข้าใจเรื่องราวที่ถูกที่ชอบ เวลาโรงเรียนปิดเด็กมักเกเร ชอบเที่ยวชอบเตร่ พ่อแม่ต้องเอาใจใส่ดูแล ลูกคนไหนที่พอฟังธรรมะรู้เรื่อง วันอาทิตย์เรามาวัดก็ชวนมาด้วย มานั่งใกล้ให้เขาได้ยินได้ฟัง มันผ่านเข้าไปในหูบ้างมันก็ยังดี ยังประพฤติไม่ได้ ต่อไปมันนึกได้ก็จะได้เปลี่ยนจิตใจ เรียกว่าสำนึกขึ้นได้ภายหลัง
คนเรามันมีเชื้อแล้วมันเกิด เช่นว่า พ่อเป็นคนมีศีลธรรมประจำจิตใจ บางทีลูกเตลิดไปสักพักหนึ่ง ทีหลังมันสำนึกขึ้นได้ สิ่งนั้นมันกลับมาเป็นสิ่งที่เป็นเชื้อเดิม กลับเข้าวัดเข้าวารักษาศีลฟังธรรม ประพฤติดีประพฤติชอบต่อไป กลับมาหาสิ่งเหล่านี้ แต่นั่นมันกลับมาเองโดยมีสิ่งกระตุ้นเตือนมันช้า เราต้องมีการกระตุ้นเตือน ปลุกปลอบประเล้าประโลมจิตใจเขา ให้มีความสำนึกรู้สึกตัวไว้ในทางดีทางควร จะได้เป็นคนดีของชาติบ้านเมืองต่อไป
เวลานี้เราต้องช่วยเหลือกันแล้ว โยมต้องสำนึกอันหนึ่งไว้ในใจว่า ประเทศชาติของเรากำลังมีภัยอันหนึ่งเฉพาะหน้า ข่าวอันหนึ่งอาตมาอ่านแล้วสลด คือข่าวเจ้ามหาชีวิตประเทศลาวถูกจับ แล้วก็ศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ศาลยังไม่ประหารจะขึ้นศาลประชาชนก่อน ประชาชนนั้นพวกเมคขึ้นทั้งนั้น พอเราถามว่าคนคนนี้มีความผิดควรประหารชีวิตหรือไม่ พวกนั้นก็ยกมือว่าควรแล้วๆ นี่ที่สงสัยเพราะอะไร เพราะเจ้ามหาชีวิตเป็นสุภาพบุรุษ เป็นคนเรียบร้อย ท่านไม่ยุ่งกับใคร ความจริงท่านอยู่เฉยๆ การเมืองท่านไม่ยุ่ง ท่านไม่ค่อยไปไหน อยู่แต่ในวัง ไม่น่าจับท่านไปฆ่า คนอย่างนี้ไม่มีพิษมีภัย ท่านอยู่เฉยๆ แล้วท่านมีแผนทางการเมืองแล้วท่านจะอยู่ทำไม ท่านหนีไปในวันโน้นก็แล้วกัน ท่านไม่หนีท่านอยู่ที่นั่น ท่านคิดว่าจะตายในประเทศลาว แต่ว่าพวกนั้นเห็นว่าตายช้าไป จึงจับไปยิงให้ตายไวๆ หน่อย นี่แหละคือความไม่มีธรรมะในจิตใจคนมันเป็นอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่เรามองเห็นว่ามันเป็นพิษเป็นภัย เราอย่าเฉยเมย ต้องช่วยกันรักษาชาติบ้านเมือง
การรักษาชาติบ้านเมืองก็คือ การรักษาตัวเราไม่ให้ตกไปสู่ความชั่วร้าย รักษาครอบครัวให้อยู่ในสภาพดีงาม อะไรๆ มันก็จะดีตามไปด้วย พูดง่ายๆ ว่าช่วยกันประพฤติธรรม แล้วประเทศชาติจะอยู่รอด ถ้าไม่ประพฤติธรรมแล้วชาติจะไม่รอด เขาจะอ้างว่าคนไทยไม่มีธรรมะ ต้องเอาธรรมะมาให้ แต่ธรรมะที่เขาเอามามันแย่ ถ้าเปรียบเหมือนร่มก็รั่ว กางแล้วฝนรดหัวเปียกโชกไปเลย มันเดือดร้อนอย่างนี้ ญาติโยมคิดให้ดีเถิด ช่วยกันประพฤติชอบตามสมควรแก่ฐานะ ดังที่ได้กล่าวมาเป็นเครื่องชี้แนะแนวทางเตือนจิตสะกิดใจแก่ญาติโยมทั้งหลาย ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติการกล่าวปาฐกถาธรรม ไว้แต่เพียงนี้.
« « Prev : ลานซักล้าง ทดลอง OpenID
Next : พุทธวิธีควบคุมความวิตก » »
5 ความคิดเห็น
สวัสดีค่ะ
สาธุ ตามมาอ่าน วันนี้ได้อ่านอย่างมีสติ ขอบคุณมากค่ะ ยาวมากๆๆๆๆๆ อิอิอิ
การอ่านการคิด ของแต่ละท่านก็ขึ้นอยู่กับเพดานของแต่ละท่านด้วย http://gotoknow.org/blog/beone001/213243
อ่านหลายรอบ และคันมือจนอดป่วนไม่ได้ค่ะ
“สำนึก”พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง รู้สึกซาบซึ้ง ส่วนคำว่า “สามัญสำนึก” หมายถึง ความสำนึกหรือความเฉลียวใจที่คนปกติธรรมดาทั่วไปควรจะต้องรู้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำสั่งสอน
การมีสำนึกต่อประเทศชาติจึงเปรียบเสมือนการแสดงความกตัญญูต่อผืนแผ่นดินเกิดนะคะ การกระทำใดที่ไม่คำนึงถึงวันข้างหน้า ไม่คำนึงถึงความสันติสุขของประเทศชาติ พฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ย่อมถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีสามัญสำนึก ซึ่งเป็นสำนึกพื้นฐานที่ควรมีในตัวคนนะคะ
จากบันทึกของคุณรอกอด ทำให้เห็นว่าสำนึกที่จะสร้างปัญญาได้นั้น ควรมีการปลูกฝัง ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นทั้งทางภาษาและการกระทำ ทำให้เบิร์ดนึกเรื่อยเปื่อยไปถึงการเรียนประวัติศาสตร์ที่พบว่าเรามักสอนในเรื่องของสงคราม เรารู้จัก ” นักรบ ” หลายยุคสมัยตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และจักรี แต่เราไม่ได้ศึกษาเลยว่าบุคคลสำคัญในอดีตหลายๆท่านนั้นท่านมี”แนวคิด”อย่างไร เวลาที่เราเรียนเกี่ยวกับ ” นักคิด ” เราจะได้ยินเรื่องราวของขงจื๊อ เล่าจื๊อ เต๋า อริสโตเติล เพลโต ฯลฯ แต่นักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทยมากมายเราไม่เคยเรียน ..สุนทรภู่ครูกวีศรีสยาม ก็ได้รับทราบว่าท่านเป็นกวีขี้เมา เจ้าชู้ ฯลฯ แต่แนวคิดของท่านกลับไม่เคยได้เรียนรู้เลย เหตุนี้ด้วยหรือเปล่าคะทำให้สังคมเราขาด ” นักคิด ” มีแต่นักตาม…
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลา ๕๑ ทำให้นึกย้อนไปถึงหนังสือ ๑๔ ถึง ๖ ตุลาและทองปานที่ได้รับจากกัลยาณมิตรผู้ฉลาดเฉลียวยังกะนกฮูกตัวโตในป่าใหญ่ เพราะมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่นสิ่งที่นำมาผูกเรื่องในหนังสือและวีซีดีเกิดจากการพัฒนากระแสหลัก ที่ละเลยต่อเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลต่อการยังชีพของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ด้อยทั้งการศึกษา ด้อยโอกาส และด้อยการยังชีพทั้งปวง..จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่วีรชนคนหนุ่มสาวเดินออกจากบ้านเข้าสู่ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และตำนานที่ต้องจดจำกันไว้ชั่วกาลนาน แต่กลับไม่เคยถูกนำเอามาเรียนมาสอนอย่างจริงจังแม้แต่น้อย !!!!!
เรามีอดีตมากมายแต่เหตุใดจึงไม่มีการเรียนรู้..ยังวนเวียนซ้ำซากและใช้วิธีการเดิมๆเสมือนดั่งตกร่องอารมณ์ของตนเองซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้จบสิ้น…ฤาสำนึกจะสูญสิ้นจากคนไทย?
นับถือครับ นับถือ
ชอบเ เอะใจ เอ๊ะ อิอิ
สำนึก หมายถึง ปิ๊งแว๊บ คลิก ที่กระบวนกรใช้กันหรือเปล่า ?