การสื่อสารฉุกเฉิน (2)
อ่าน: 3187เขียนต่อจากตอน 1 สำหรับสถานการณ์อุทกภัยทางใต้นะครับ
มันไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าการสื่อสารฉุกเฉินเตรียมเอาไว้นั้นเป็นอย่างไร เวิร์คหรือไม่เวิร์คก็เห็นๆ กันอยู่ แล้วมันก็ไม่มีประโยชน์ที่จะบอกว่าเห็นไหมบอกแล้ว ภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วโดยเราไม่พร้อม
ข้อเท็จจริงอันโหดร้ายก็คือ
- การสื่อสารถูกตัดขาด การคมนาคมก็ถูกตัดขาด
- ผู้ประสบภัยอยู่กันกระจัดกระจาย ถึงรวมกลุ่มกันได้ ก็ติดต่อขอความช่วยเหลือไม่ได้
- ผู้ประสบภัยอยู่ในพื้นที่ก็ช่วยตัวเองไม่ได้ อพยพออกมาก็ไม่มีที่พักพิงชั่วคราว
- เมื่อข้อมูลหลั่งไหลออกมา อาจจะแปลกใจในความย่อยยับ
- ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็น แต่เป็นมานานหลายรัฐบาลแล้ว
หลักการจัดการภัยพิบัติ มีอยู่ง่ายๆ ว่า Hope for the best, prepare for the worst ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวระดับ 6-7 ริกเตอร์อยู่บ่อยๆ เขาเตรียมการสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ แต่ไหวจริงระดับ 9 ริกเตอร์ ดังนั้นจึงเป็นระดับที่เตรียมการไว้ไม่พอ
ชุมสายโทรศัพท์พื้นฐาน และสถานีฐานของโทรศัพท์มือถือ ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนเมืองเพื่อให้บริการแก่ชุมชน แต่หากชุมชนนั้นเกิดภัยในวงกว้าง ชุมสายและสถานีฐาน ก็จะใช้งานไม่ได้เช่นกัน ทีมแก้ไขตามที่วางแผนไว้ เข้าพื้นที่ไม่ได้
สถานีฐานของโทรศัพท์มือถือแบบเคลื่อนที่ได้ มีอยู่บ้างครับ แต่ไม่เพียงพอหรอก เพราะในสถานการณ์วิกฤต ก็ต้องจัดการแบบวิกฤต ซึ่งผมมีข้อเสนอ 8 อย่างที่เมืองไทยน่าจะมี (แต่ดันไม่มี) อยู่ใน [เก็บตกงานเสวนา สวทช. NAC2011] ในขั้นตอนเตรียมพร้อมขณะยังไม่เกิดภัย ก็พูดไปเถอะ ไม่มีใครฟังหรอก พอเกิดเหตุแล้วมาถามหา โธ่…จะไปเอาที่ไหนมาให้ล่ะครับ
ถ้าฝนตกทั่วถึง สมมุติวันละ 100 มม.เป็นเวลา 6 วัน ก็คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 600 มม. หรือ 0.6 เมตรนะครับ อาจจะประมาณเข่าหรือน่อง แต่ภาคใต้มีภูเขาอยู่ตรงกลาง ฝนตกบนเขาแล้ว น้ำไม่ได้อยู่บนเขา แต่ไหลลงมาที่ต่ำ ปริมาณน้ำตามร่องน้ำหรือในที่ราบ จึงมีน้ำป่าไหลมาเบิ้ลอีกเด้งหนึ่ง
ดังนั้นชุมสายโทรศัพท์ ที่อยู่ต่ำกว่า 2 เมตรจากระดับพื้น คงต้องพิจารณาปรับปรุงใหม่แล้วครับ
« « Prev : ความไม่รู้เป็นภัยอันยิ่งยวด
Next : กระแสพระราชดำรัสพระราชทานหลังภัยธรรมชาติ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "การสื่อสารฉุกเฉิน (2)"