ความไม่รู้เป็นภัยอันยิ่งยวด
เวลาเราพูดถึงการจัดการภัยพิบัติ ก็มักจะเข้าใจไขว้เขวไปถึงการบรรเทาทุกข์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดการภัยพิบัติเท่านั้น
มนุษย์กระจ้อยร่อย ไม่สามารถต่อกรกับภัยขนาดใหญ่เช่นภัยธรรมชาติได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะปล่อยไปตามยถากรรม — จะอ้างว่าอะไรจะเกิดก็เกิด เหมือนเป็นผู้สูงส่งที่ปล่อยวางได้หมด ก็โอเคนะครับ ส่วนจะเป็นผู้สูงส่งของจริงหรือไม่ ตัวท่านผู้กล่าวคำนี้ รู้เอง
ผมไม่ใช่ผู้สูงส่ง ยังไม่หลุดพ้น ไม่เคลมอะไรทั้งนั้น และยังมีคนที่ห่วงใยอยู่พอสมควร แต่ผมพอมีเบื้องลึกของการจัดการภัยพิบัติเป็นกรณีศึกษาบ้าง การจัดการภัยพิบัติแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 4 ช่วง
ก่อนเกิดภัย
ช่วงก่อนเกิดภัย อาจจะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องเข้าใจความเสี่ยงของตัวเอง *ล่วงหน้า* ในยามสงบ เตรียมทางหนีทีไล่เอาไว้ เตรียมพื้นที่ปลอดภัย ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง เมื่อเกิดภัยชึ้นแล้ว จะหวังให้ใครมาบอกว่าจะต้องทำอะไรนั้น ไม่เวิร์คหรอกครับ คำแนะนำที่ประกาศออกมาผ่านสื่อ จะเหมาะกับทุกพื้นที่ได้อย่างไร ในเมื่อแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกันเลย แล้วใครจะมารู้ทางหนีทีไล่ดีกว่าคนในพื้นที่
ถ้าบ้านเรือนตั้งอยู่ใกล้ภูเขาที่เป็นดิน ก็มีความเสี่ยงกับดินโคลนถล่มมากกว่าปกติเมื่อฝนตกหนัก ถ้าพื้นที่นั้นน้ำท่วมเป็นประจำ ควรจะเก็ตเสียทีนะครับ ว่าทำไมถึงท่วมซ้ำซาก ถ้าอาคารบ้านเรือนตั้งอยู่ไม่ไกลจากรอยแยกมีพลัง ก็มีความเสี่ยงกับแผ่นดินไหว ถ้าพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีภูเขาไว้รับน้ำฝน ก็จะต้องหาแหล่งน้ำเพื่อเอาไว้ใช้ตลอดปี ฯลฯ
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องการเฝ้าระวังและเตือนภัยอีก เวลาไม่มีกระแสตื่นภัยพิบัติ งานนี้เป็นภาระที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำ แต่พอเกิดกระแสขึ้น ทีนี้แย่งกันเตือน แย่งพื้นที่สื่อกัน บ้านเมืองนี้เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านภัยพิบัติ เหมือนสมัยวิกฤตเศรษฐกิจเกิดผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเต็มเมือง
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามีคนเตือน ดีกว่าไม่มีนะครับ เพียงแต่ว่าผู้ฟังฉายฉวยไปหน่อย ไม่รู้จักพิจารณาเหตุปัจจัย สนใจแต่ว่าเกิด-ไม่เกิด จะเกิดอะไร เกิดเมื่อไหร่ ทำให้ออกแนวพยากรณ์ทำนายทายทัก — ศาสตร์ทุกศาสตร์มีค่าอยู่ในตัวของตัวเอง ไม่มีใครรู้อะไรทั้งหมด จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิเสธหรือเชื่อไปเลยโดยความไม่รู้ โดยยังไม่ได้พิจารณา (สุดโต่งและแย่พอกัน)
ระหว่างเกิดภัย
ในระหว่างที่เกิดภัย เป้าหมายสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของผู้ประสบภัย ไม่ใช่แค่อพยพเขาออกมาจากพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น แต่ต้องให้มีชีวิตรอดต่อไปได้ รอเวลารีสตาร์ทชีวิตใหม่ ปัจจัยสี่ต้องพร้อมเป็นขั้นต่ำ
ในส่วนของชาวบ้าน ต้องนัดแนะกันก่อนถึงสถานที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน จะเอาสบายรอให้หน่วยกู้ภัยตามมาเก็บไปทีละบ้านนั้น คงไม่ไหวหรอกครับ และในกรณีที่หน่วยกู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือทันทีไม่ได้ สถานที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน น่าจะพอประคับประคอง เลี้ยงดูชาวบ้านที่อพยพมาได้สักหลายวัน ซึ่งหมายความว่ามีน้ำและอาหารสำรอง และมีช่องทางสื่อสารออกไปยังโลกภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือ
ช่วงระหว่างเกิดภัยนี้ เป็นช่วงอุตลุดที่สุด ต่างคนต่างช่วยกัน แต่ถ้ามีการประสานกันบ้างคงดีกว่านี้ครับ จะได้ลดความซ้ำซ้อนลง ไม่มีใครมีกำลังพอที่จะทำทุกอย่างแม้แต่รัฐบาลหรือสหประชาชาติ ช่วยแล้วช่วยอีกก็ได้ แต่ควรเว้นระยะสักพัก เช่นถ้าขนของไปพอจะประทังชีวิตได้สามวัน ภายในสามวันหลังจากของไปลง ก็ไม่ควรจะต้องเข้าไปอีก จะได้แบ่งกำลังไปดูแลผู้ประสบภัยอื่นๆ บ้าง แต่สามวันหลังจากนั้น ต้องเข้าไปเติมเสบียง — แล้วหาผู้ประสบภัยให้เจอ อย่าไปหยุดแค่ขอบของพื้นที่ประสบภัย
ใครจะค่อนแคะบั่นทอนกำลังใจอย่างไร ก็ปล่อยเขาไปเถิดครับ ต้องหมั่นถามตัวเองบ่อยๆ ว่าอาสามาทำงานอะไร แล้วกำลังทำอะไรอยู่ มีเวลาว่างมากนักหรือที่จะไปสนใจคนที่ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ผู้ที่ปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ควรเข้าใจว่าตนเป็นเพียงทางผ่านของน้ำใจจากผู้บริจาค ไปยังผู้ประสบภัย การทำงานต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริจาค ถึงงานผ่านไปแล้วจะไม่มีใครเห็น ไม่มีใครจำได้ แต่ท่านรู้ตัวว่าท่านทำอะไร เพื่ออะไร แค่นั้นก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือครับ
หลังจากภัยสงบลง
เป็นขั้นตอนการฟื้นฟูซึ่งเป็นเรื่องที่จริงจังและยาวนาน ตอนนี้ไม่มีข่าวแล้ว ใครเป็นตัวจริง ก็ดูกันตอนนี้แหละ
การฟื้นฟูไม่ใช่แค่ทำให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม เหมือนเดิมไม่ได้ครับ ต้องดีกว่าเดิมซิ ถ้าทำแค่เหมือนเดิม ความเสี่ยงยังมีอยู่เหมือนเดิม ก็มีโอกาสเกิดภัยซ้ำซาก เกิดแล้วเกิดอีก
Abraham Maslow เคยกล่าวไว้ว่า “It is tempting, if the only tool you have is a hammer, to treat everything as if it were a nail.“… วิธีการฟื้นฟูที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วจากที่หนึ่ง อาจใช้ไม่ได้กับอีกที่หนึ่งเนื่องจากเป็นคนละบริบทกัน นักฟื้นฟูจะต้องระมัดระวัง ไม่ทำการโดยขาดความเคารพต่อวิถีท้องถิ่น
ถอดบทเรียน
การถอดบทเรียนไม่เพียงแต่ทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น มีจุดดีจุดเสียตรงไหนบ้างเท่านั้น แต่ยังเป็นการประเมินเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อม ไม่ให้เกิดจุดเสียในลักษณะที่ผ่านมาซ้ำอีก
การถอดบทเรียน สำคัญที่เราเรียนรู้อะไรได้หรือไม่ หลายคนเรียนไม่เป็นหรอกครับ แค่รับรู้ความรู้มือสองมา แล้วก็ทึกทักว่ารู้แล้ว หาแก่นไม่เจอ สังเคราะห์ไม่ได้ บางคนถอดบทเรียนแล้ว ก็วางกองไว้เฉยๆ อย่างนี้ไม่ได้เรียนรู้อะไรมาเลย
« « Prev : ช่วย…ไม่ช่วย…ช่วย…ไม่ช่วย
Next : การสื่อสารฉุกเฉิน (2) » »
3 ความคิดเห็น
ดูทีวีเห็นชาวใต้ ลุยน้้ำไปถอนหญ้าให้วัวควาย ทำให้นึกถึงการเตรียมความรู้ ถ้าเขารู้ว่าใบไม้เอาไปเลี้ยงสัตว์ได้ เขาก็สบายกว่านี้ แม้แต่ต้นยางพาราที่โค่น เอาใบมันมาเลี้ยงวัวควายแก้ขัดได้ คืนนี้จะขายความคิดเรื่องใบไม้เลี้ยงสัตว์อีก ไม่ทราบว่าเขาจะเอาออกทีวี ช่องไหน ตอน 4 ทุ่มเศษ อิอิ
สมัยก่อนเราทำผิด พ่อก็เอาไม้เรียวมาตีก้น คือการลงโทษ แล้วสอนว่าอย่าทำสิ่นั้นสิ่งนี้อีกมันผิด ไม่ดี
ธรรมชาติได้ลงโทษ ว่าเจ้ามนุษย์เองได้ทำผิดไปแล้ว ธรรมชาติไม่มีปากมาบอก มนุษย์ต้องเข้าถึงและถอดรหัสออกมาเอง เรียกใช้ปัญญา มิเช่นนั้นเจ้าจะโดนลงโทษอีกนะ ครั้งต่อไปมากกว่าเก่าด้วยนะ..
ชุดความรู้พ่อครูนั้น ผมคิดว่าต้อมทำคู่มือออกมาแล้วส่งไปให้พี่น้องชาวภาคใต้แล้วหละ แม้ยังไม่ได้วิจัยวิจารณ์ ก็ถือว่าเป็นความรู้เบื้องต้นที่ผ่านการทดลองใช้มาแล้ว รอการยกระดับเท่านั้นเอง แต่สถานการณ์ไม่สามารถรอได้ ก็ใช้คู่มือไปก่อน
ผมเสนอว่า พ่อครูทบทวนที่เขียนเรื่องนี้ใน Blog ว่าจะมีอะไรเติมบ้าง แล้ววันที่ จัดเฮนั้น ขอกลุ่มเฮสักสามนี่คนช่วยกัยขัดเกลายกร่างคู่มือออกมาก็จะเกิดประโยชน์นะครับ