เก็บตกงานเสวนา สวทช. NAC2011
หลังจากเขียนบันทึกที่แล้ว เรื่องความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ผมก็ไปขึ้นเวทีเสวนาของ สวทช.ในฐานะผู้เชี่ยวชาญครับ พิลึกจริงๆ
มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ 8 ท่าน คือ
- รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ - มูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมสิรินธร ในพระบรมราชูปถัมป์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา - สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
- พลเรือตรีถาวร เจริญดี - ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
- ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว - สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
- คุณวีระชัย ไชยสระแก้ว - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- คุณมนตรี ชนะชัยวิบูลย์วัฒน์ - กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- คุณปรเมศวร์ มินศิริ - ไม่รู้จะลงตำแหน่งอย่างไรเพราะทำเยอะแยะไปหมดเลย แต่เป็นงานในภาคประชาชนทั้งนั้น
- ผม
การเสวนาครั้งนี้ เรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ ๑๑ มีนาคม ๒๐๑๑ - บทเรียนจากญี่ปุ่นสู่การเตรียมพร้อมของไทย มี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช.เป็นผู้ดำเนินการเสวนาเอง มีผู้ฟังก็เต็มออดิทอเรียมของ สวทช. และมีผู้ฟังการถ่ายทอดสดทางอินเทอร์เน็ตอีกประมาณ 400 ท่าน
ด้วยความผูกพันกับ สวทช. ซึ่งกาลครั้งหนึ่งผมเคยเป็นอาสาสมัครที่เนคเทคอยู่หลายปี เมื่อชวนมายังไงผมก็ไปร่วมด้วยแน่นอนครับ แต่ยอมรับว่าหนักใจเรื่องเวลา ฮี่ฮี่ เพราะเวลาสามชั่วโมง วิทยากรสามท่าน-ท่านใดก็ได้ สามารถจะให้ได้ทั้งภาพกว้างและลึกได้อย่างถี่ถ้วน แถมยังเหลือเวลาตอบคำถามได้อีกนิดหน่อย ทีนี้พอมีวิทยากรอยู่แปดท่าน จึงเหลือเวลาสั้นมาก ผมตัดประเด็นที่เตรียมไปทิ้งไปประมาณสองในสาม แล้วต้องพูดที่เหลืออย่างเร็วจี๋ ก็เลยอาจจะปัญหาสำหรับผู้ที่ทำ Live tweet (ขออภัยเป็นอย่างยิ่งนะครับ)
ในรอบแรกเรื่องการประเมินสถานการณ์ของญี่ปุ่น (assessment) ก็ขอข้ามไปก็แล้วกันนะครับ เขียนเยอะไม่ไหว ถึงแม้ว่าการเข้าใจสาเหตุจะเป็นเรื่องจำเป็น แต่มันก็ไม่สำคัญไปกว่าการนำบทเรียนมาใช้เตรียมพร้อมรับภัยใกล้บ้าน การถอดบทเรียนไม่ใช่เพียงเข้าใจว่าเกิดขึ้นอะไร แต่ต้องรู้ด้วยว่าถ้าภัยเกิดขึ้นกับเรา เราจะทำอย่างไร
รอบที่สองเป็นผลกระทบต่อเนื่อง (consequences) เนื่องจากมีเวลาอยู่น้อยมาก ผมจึงเสนอสิ่งที่ผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะมี (แต่ดันไม่มี) ไว้ 8 หัวข้อให้พิจารณาไว้ลอยๆ ผู้ฟังไม่ต้องเชื่อ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ผมขอขยายความในนี้ไปด้วยเพราะเวลาบนเวทีสั้นมาก พูดได้ไม่หมดครับ
- ความถี่ฉุกเฉินสำหรับการจัดการภัยพิบัติ กทช.ได้เคยจัดสรรความถี่สำหรับการจัดการภัยพิบัติไว้เป็นการเฉพาะ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามาหลายปีแล้ว *แต่* ความถี่นี้ ให้ใช้ได้เฉพาะส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเท่านั้น อันนี้ก็หมายความว่าเครื่องวิทยุที่ใช้ความถี่ฉุกเฉินนี้ได้ ก็ต้องเป็นของราชการ เก็บอยู่ที่กองพัสดุของส่วนราชการ ในที่ทำการของราชการซึ่งโดยปกติก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ประสบภัย ครั้นจะแจกจ่ายให้อาสาสมัครหรือผู้ประสบภัยเอาไว้ติดต่อ ยิ่งไม่ได้เลยเพราะเป็นครุภัณฑ์ — คนมีไม่ได้ใช้ คนจะใช้กลับไม่มี TIT — ในญี่ปุ่น เมื่อสถานีฐานของโทรศัพท์มือถือพังไปหมด ข่าวสารเกี่ยวกับความจำเป็นในการดำรงชีวิตจากพื้นที่ ออกมาสู่โลกภายนอกด้วยวิทยุสมัครเล่น ซึ่งผมคิดว่าทางราชการควรเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ วิทยุสมัครเล่น ไม่ใช่ทำเล่นๆ พวกนี้เป็นมืออาชีพทั้งนั้น แต่มาเล่นวิทยุสมัครเล่นเป็นงานอดิเรกต่างหากครับ
- ปฏิญญาแทมเพอร์เร ปฏิญญานี้เป็นปฏิญญาที่เกี่ยวกับความช่วยเหลือข้ามพรมแดนในเรื่องของ Disaster Communications ซึ่งรวมทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องพิธีการศุลกากร และการตรวจคนเข้าเมืองสำหรับอาสาสมัครนานาชาติที่เข้ามาช่วยเหลือภัยพิบัติ ทั้งนี้รวมทั้งความช่วยเหลือที่ผ่านดินแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ไทยไม่เคยให้สัตยาบันในปฏิญญานี้ หากเกิดภัยขึ้นในประเทศแล้วเกินกำลังจะจัดการ จนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ เจอพิธีการศุลกากรเข้าคงกระเจิง อิอิ เช่นตีมูลค่า CIF ของ data terminal/โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม แล้วเอาเงินสดวางค้ำประกันไว้ว่าจะส่งอุปกรณ์กลับไปภายใน xx วัน ฯลฯ เรื่องพันธะสัญญาระหว่างประเทศ น่าจะมีต้นเรื่องที่ กรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งก็เข้าใจว่าไม่ได้ทำอะไร แต่ก็น่าเห็นใจเพราะเป็นเรื่องเทคนิคเหมือนกัน เกี่ยวพันหลายกระทรวง
- Ad-hoc Wireless เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมอาจถูกทำลาย จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายสื่อสารขึ้นใหม่โดยเร็ว เพื่อให้พื้นที่ประสบภัยแจ้งออกมาได้ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร เพื่อที่จะได้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปตรงกับความต้องการ และทันการณ์ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) มีงานวิจัย ad-hoc wireless อยู่อันหนึ่งชื่อ DUMBO เกิดหลังสึนามิเข้าฝั่งอันดามันของไทยตอนปลายปี 2547 งานนี้ได้รับการสนับสนุนผลักดันโดยมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC) เมื่อปีที่แล้วได้จัด workshop ขนาด 60 คน ทดลองกันจริงๆ แถวเขาใหญ่ และปีนี้จะจัดอีกเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ DUMBO ใช้ Wi-fi; สำหรับระยะที่ไกลขึ้น ยังมีซอฟต์แวร์โอเพนซอส์ซชื่อ OpenBTS ใช้โน๊ตบุ๊คที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ ร่วมกับอุปกรณ์โทรคมนาคมพิเศษประเภท Software-defined radio แปลงตัวเองเป็นชุมสาย GSM เล็กๆ ด้วยเสาอากาศแบบเคลื่อนที่ได้ ก็จะสามารถจะให้บริการสื่อสารฉุกเฉินในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร พอแก้ขัดไปก่อนได้ แต่เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่ กสทช. ครับ
- แผนที่สถานการณ์ เป็นแผนที่ที่แสดงสถานการณ์ ตลอดจนขอบเขตของสถานการณ์ ใช้งานในหลายลักษณะ กล่าวคือเมื่อรู้ขอบเขตของสถานการณ์ ก็จะรู้ว่ามีชาวบ้านได้รับผลกระทบเท่าไร หาเส้นทางที่จะส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ คำนวณปริมาณความช่วยเหลือจากจำนวนผู้ประสบภัยในพื้นที่ได้ คำนวณความถี่ในการส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยได้; หากไม่มีแผนที่สถานการณ์ ก็จะเป็นการจัดการโดยความไม่รู้ มีโอกาสมากที่ความช่วยเหลือจะมากเกินไป น้อยเกินไป หรือไม่ตรงกับความต้องการ
- ฐานข้อมูลของพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมากกว่าของกระทรวงมหาดไทย เพราะสถานีอนามัยตรวจสอบประชากรทุกครั้งที่มีคนในครัวเรือนป่วย ในขณะที่งานทะเบียนราษฎร์อัพเดตเมื่อมีการต่ออายุบัตรประชาชน (6 ปี) อย่างกรณีทะเบียนราษฎร์อยู่บ้านนอก แต่ตัวเข้าไปทำงานในเมือง อย่างนี้ก็จะทำให้การคำนวณความช่วยเหลือไม่แม่นยำพอ ยิ่งกว่านั้น ข้อมูลของ สธ.ยังมีคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยด้วย ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มีปัญหาในภาวะปกติหรอกนะครับ กฏหมายก็ว่าอย่างนั้น แต่เมื่อเป็นสถานการณ์วิกฤตอันเกี่ยวกับชีวิตของชาวบ้าน ก็ควรจัดการแบบสถานการณ์ที่วิกฤตจริงๆ
- การจับคู่ความต้องการของพื้นที่ประสบภัยกับความช่วยเหลือ เรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะมองเป็นการลงทุนร่วมกันของสังคม เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยของเราเอง การส่งความช่วยเหลือที่ไม่ตรงกับความต้องการไปนั้น เป็นความสูญเปล่าและมีราคาแพง
- Timestamp ประกาศเตือนภัย หรือข่าวสารใดๆ อันอาจจะกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องชีวิตของผู้คน จำเป็นต้องลงเวลาเอาไว้เสมอ เพราะว่าประกาศอาจถูกส่งต่อไปเป็นทอดๆ ทำให้ผู้รับสาส์นไม่รู้ว่าอะไรใหม่หรือเก่า — ฟอร์เวิร์ดเมลที่เคยอ่านเมื่อสี่ห้าปีก่อน ก็ยังเวียนกลับมาได้ (บางทีข้อความถูกดัดแปลงไปด้วย)
- การวางแผนเชิงสถานการณ์ (Scenario Planning) เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด เราอาจจะหวังไม่ให้เกิดอะไรร้ายแรงเลยได้ แต่เราต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์แบบเลวร้ายที่สุด กรณีญี่ปุ่น เค้ารู้ตัวครับว่าจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ (8 ริกเตอร์) จะมีสึนามิ (สูงน้อยกว่า 10 เมตร) แต่เขาคิดไม่ถึงว่าจะแรงแบบนั้น (9 ริกเตอร์) ดังนั้นการเตรียมการรับมือ จึงไม่ถึงระดับที่ควรจะเป็น เมืองไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว หากกระโตกกระตาก ก็อาจมีผลกระทบมาก แต่ถึงกระนั้น การวางแผนเชิงสถานการณ์เป็นการประเมินความเสี่ยง ไม่ใช่การทำนายว่าจะเกิด หรือทำให้ตื่นตกใจ แต่เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เลวร้ายอันอาจจะเกิดขึ้น — กรณีญี่ปุ่น เมื่อมีแผ่นดินไหวรุนแรงและเกิดสึนามิ ผมรู้อยู่แล้วว่าไฟฟ้าจะไม่พอ การขนส่งจะมีปัญหามาก ถนนแตกหักเสียหาย ความช่วยเหลือส่งเข้าพื้นที่ประสบภัยได้ลำบาก น้ำมันจะขาดแคลน ที่จริงได้เคยเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ยังไม่มีข่าว (ไม่ได้แช่ง ไม่ได้ทำนายครับ แต่ศึกษามา) — ผมยกตัวอย่าง (เว่อร์ๆ ให้เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องสมมุติ) เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งยวดไว้ว่า เพราะ 73.3% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของเมืองไทยเป็นก๊าซธรรมชาติ จากอ่าวไทยขึ้นที่มาบตาพุด มีอีกส่วนหนึ่งมาจากแหล่งก๊าซยานาดาในพม่า ถ้าสึนามิเกิดในอ่าวเบงกอลแล้วแหล่งก๊าซในพม่่าเสียหาย หรือเกิดสตอร์มเซิร์ชหรือพายุ ทำให้ฐานหรือระบบส่งก๊าซในอ่าวไทยเสียหาย ก็จะเกิดการขาดแคลนไฟฟ้า พอไม่มีไฟฟ้า น้ำมันก็เติมไม่ได้เพราะปั๊มน้ำมันใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น พอไม่มีน้ำมัน การขนส่งหยุดชะงัก เมือง (ไม่เฉพาะกรุงเทพ) มีอาหารและน้ำพอเลี้ยงตัวได้กี่วัน ฯลฯ สนุกสนาน ไปกันใหญ่
เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต ใช้หลากหลายศาสตร์ ด้วยระบบราชการที่มีลักษณะเป็นไซโล มีขอบเขตที่ชัดเจน ออกมาทำนอกขอบเขตก็ไม่ได้ ใครเข้าไปยุ่งก็ไม่ชอบ ถ้าจะแบ่งกันทำแผนคงจะไม่ครอบคลุม เนื่องจากต่างกรมต่างมองเฉพาะเรื่องที่ตนรับผิดชอบ น่าจะเชิญผู้รู้-ผู้ปฏิบัติที่ฟังเป็นไม่ได้ตั้งใจมาปล่อยของอย่างเดียว มาลงเข่ง เขย่า ทะลายกำแพงทั้งหมดชั่วคราว แล้วร่วมกันทำวางแผนเชิงสถานการณ์ขึ้นมาครับ ไม่รู้จะเป็นไปได้ไหม อย่างน้อย ถ้ามีการวางแผนกันล่วงหน้า แม้พลังธรรมชาติยิ่งใหญ่มากจนไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็รู้ว่าควรจะต้องทำอะไรเพื่อบรรเทาผลกระทบให้มากที่สุดครับ ว่ากันที่จริง Standard Operating Procedure (SOP) ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาตินั้น น่ายกย่องมากครับ
ภัยพิบัติในเมืองไทย ไม่เคยมีการรายงานไปในฐานข้อมูลภัยพิบัติของโลก (CRED/EM-DAT) แม้แต่น้ำท่วมครึ่งประเทศ ที่คนเดือดร้อนกันเก้าล้านคนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ไม่มีนะครับ
« « Prev : ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
Next : ยุ่งยากเกินไปหรือเปล่า » »
4 ความคิดเห็น
“ภัยพิบัติในเมืองไทย ไม่เคยมีการรายงานไปในฐานข้อมูลภัยพิบัติของโลก (CRED/EM-DAT) แม้แต่น้ำท่วมครึ่งประเทศ ที่คนเดือดร้อนกันเก้าล้านคนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็ไม่มีนะครับ” น่าสงสารคนไทยนะครับ
ข้อมูลของ Dartmouth Flood Observatory ซึ่งใช้ดาวเทียมเฝ้าติดตามน้ำท่วมทั่วโลก แต่เป็นสถานการณ์เมื่อน้ำเริ่มท่วม
ผู้แทน Google ในประเทศไทย ได้ร้องขอให้ทีม Google Maps อัพเดตภาพถ่ายดาวเทียมของประเทศไทยบ่อยขึ้น เพื่อจะกำหนดขอบเขตของอุทกภัยได้ หลังจากที่พยายามร้องขอให้ภาครัฐ เอาเครื่องบินบินถ่ายภาพน้ำท่วม แต่เสียงไม่ดังพอ
ภายหลัง ข้อมูลซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ทำออกมาเผยแพร่ ก็ช่วยเยอะครับ วันนี้ มีโอกาสขอบคุณ ดร.อานนท์ (ผอ.) ด้วย และได้บอกไปว่าได้ประโยชน์จริงๆ ส่วนกับ ดร.เสรี ก็บอกไปว่ารู้จักกับเม้งดีครับ และเม้งเป็นคนที่ตั้งข้อสังเกตว่าคราวแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ทุ่นสึนามิเด้งก่อนที่คลื่นจะมาถึงจริงๆ เพราะคลื่นแผ่นดินไหว วิ่งที่พื้นมหาสมุทรได้เร็วกว่าคลื่นน้ำมาก
[...] (แต่ดันไม่มี) อยู่ใน [เก็บตกงานเสวนา สวทช. NAC2011] [...]