ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 2)
อ่าน: 8196“The Net” ≡ Collective
เครื่องหมาย ≡ เป็นเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ อ่านว่า “is identical to” แปลว่าเหมือนเป๊ะ
ตัวตนเสมือนเป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมในเน็ต ผู้ใช้เน็ตใช้ตัวตนเสมือนประหนึ่งว่าเป็นตัวตนจริง เพราะตัวตนเสมือนสามารถส่งผ่านความพอใจ (รางวัล) ให้ตัวตนจริงได้ แต่ก็เป็นด่านในการกลั่นกรองสิ่งที่ไม่ดีได้เช่นกัน
- Defence mechanism wikipedia
- Freud’s Ego Defence Mechanism AllPhych Online, Physchology 101 Chapter 3 Personality Development
เราจึงมักเห็นผู้ที่ใช้เน็ตมาเป็นเวลานาน มักจะใช้ alias (นามแฝง) เป็นตัวตนเสมือน แต่บางทีกลับมีความชัดเจนยิ่งกว่าตัวตนจริงเสียอีก
ในสังคมออนไลน์ มีอิสระในทางความคิด และมีทางเลือกอยู่มาก ผู้ใช้เน็ตจึงมีความแตกต่างเป็นพื้นฐาน เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างยุ่งเหยิง
ความเป็นบุคคล ไม่มีความสำคัญเลยสำหรับสังคมออนไลน์
ถ้าไม่ติดหนังซุปเปอร์ฮีโร่ของฮอลลีวูด หรือการ์ตูนญี่ปุ่นจนเกินไป ก็คงตระหนักได้ว่าไม่มีบุคคลใดที่สามารถชักจูงสังคมขนาดใหญ่ที่มีทั้งอิสระ ในทางความคิด และมีความหลากหลาย ไปในทางหนึ่งทางใดตามใจตนได้
ในสังคมแบบนี้ มีผู้นำทางความคิดหลายคน มีผู้จัดการหลายคน มีแม้แต่ชุมชนย่อย
มโนมัย ซึ่งควบคุมทั้งแกแล็กซี มีอยู่แต่ในสถาบันสถาปนา (นิยายวิทยาศาสตร์) เท่านั้น
คุณค่าของเครือข่าย ขึ้นกับอิสระที่จะแตกต่าง และจำนวนผู้ใช้ ตาม Metcalf’s Law ยิ่งกว่านั้น สิ่งใดที่ดี มีคุณค่า ก็จะมีผู้ใช้ชื่นชม และแนะนำต่อๆ กันไป เป็น Network Effect
- Analysis: Metcalfe’s Law + Real ID = more crime, less safety Ars Technica (ชุมชนผู้มีความรู้ทางเทคนิคสูงและติดตามเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด)
- Guest Blogger Bob Metcalfe: Metcalfe’s Law Recurses Down the Long Tail of Social Networks VCMike’s Blog
- Web 2.0’s Real Secret Sauce: Network Effects Social Computing Magazine, Dion HinchCliff’s Web 2.0 Blog
ผู้ใช้ได้อะไรจากเน็ต
ในปี 1946 Edgar Dale นักการศึกษาสหรัฐ ได้เสนอแนวคิดชื่อกรวยแห่งประสบการณ์ มาสนับสนุนการใช้โสตทัศนูปกรณ์มาขยายประสิทธิผลของการเรียนรู้
รูปทางด้านซ้ายเป็นรูปที่แพร่หลาย แต่ก็มีความเห็นขัดแย้งเช่นกันว่า Dale ไม่ได้พูดถึงตัวเลขต่างๆเป็นเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าอยากอ่านฝรั่งเถียงกัน หรือเบื้องลึกของผลงานนี้ เชิญตรงนี้ครับ
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เถียงกันก็ไม่เกี่ยวกับประเด็นของบันทึกนี้ ผมยกเอากรวยแห่งประสบการณ์ เข้ามา เพื่อชี้ให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทยนั้น เพี้ยนมาก! เรามักเชื่อเมื่อมีคนมาบอก เหมือนเข้าไปเรียนในห้องเรียน เราไม่ได้พยายามอย่างจริงจังที่จะเรียนรู้ เพียงแต่จะรอคนมาบอก เอาความรู้มายัดเยียดใส่หัวสมอง [กาลามสูตร คำสำคัญ:กาลามสูตร]
อธิบายหลักการของกรวยแห่งประสบการณ์ คร่่าวๆ ก็คือ ยิ่งสูงอยู่ใกล้ยอดกรวย ก็ยิ่งเรียนรู้ได้น้อยครับ เป็นการรับข้อมูลทางเดียว แต่ยิ่งเลื่อนลงล่าง ก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรียนจากของจริง จากการปฏิบัติ สังคมไทยคิดอย่างเดียวมานานเกินไปแล้ว — ก็ทำไมอยู่ข้างบนถึงจะต้องดีกว่าล่ะครับ
บางทีอาจจะเป็นเพราะคนไทย ประสบความทุกข์ยากมามาก จนไม่อยากจะเจ็บปวดอีกต่อไป ใครมาพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ฝากความหวังไว้กับเทวดา ขูดถูต้นไม้ขอเลขเด็ด ไหว้สัตว์ที่มีอวัยวะเกินธรรมชาติ
เครือข่าย (เน็ต หรืออินเทอร์เน็ต) มีความหลากหลาย มีทั้งสิ่งดีและสิ่งไม่ดี แต่ถ้าหากเรารู้เท่าทัน รู้จักเลือกสรร ก็สามารถจะพิจารณาคัดกรองเอาสิ่งที่ดี ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
แต่ประโยชน์ที่แท้จริง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปฏิบัติแล้วเท่านั้นครับ
แค่คิดดี มีความรู้อันถูกต้องนั้น เป็นประโยชน์แบบแห้งๆ เหมือนมีเมล็ดพันธ์ที่ดี แต่ไม่เอาไปปลูก ก็ย่อมไม่ได้ผลมากิน มาขาย
ถ้าชอบอ่านหนังสือ ลองอ่านเรื่องเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ส่วนถ้าชอบดูหนังดูโทรทัศน์ ลองหามหา’ลัย เหมืองแร่ มาดูซิครับ
ชุมชนออนไลน์
ชุมชนออนไลน์ รวมกันอยู่ด้วยการเลือกสรรอย่างอิสระของสมาชิกในชุมชนนั้น ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่มีบุคคลใดที่สามารถจะจูงจมูกชุมชนออนไลน์ไปในทางหนึ่งทางใดทั้งกลุ่มก้อน ได้ทั้งหมด
ถ้าเป็นเช่นนั้น ชุมชนออนไลน์เคลื่อนที่ไปทางใด? ตอบง่ายๆ ก็มุ่งสู่เป้าประสงค์ของชุมชนนั่นล่ะ
แต่ยังมีปัญหาใหญ่ซึ่งชุมชนออนไลน์มักไม่ให้ความสำคัญ คือเป้าหมายคืออะไร
ในการเดินทางจาก จุด A ไปยัง จุด B มีได้หลายวิธี ภายใต้ Newtonian Physics (ไม่มีผลของสนามความโน้มถ่วงกำลังสูงจนแสงเดินทางโค้งได้) เส้นทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือเส้นตรง
ถ้าเราจะกำหนดทิศทางเพื่อจะเดินจาก จุด A ไปยัง จุด B เราต้องรู้เสียก่อนว่า จุด A และ จุด B อยู่ตรงไหน
- จุด A คือจุดที่เรายืนอยู่
- จุด B คือจุดหมาย
- เวคเตอร์จาก A ไป B คือทิศทางที่จะเดินไป
- ถ้าไม่รู้ A ก็ไม่รู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร
- ถ้าไม่รู้ B ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน ไปทำอะไร เพื่ออะไร
- ถ้าไม่รู้เวคเตอร์ AB ก็จะไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ไปอย่างไร
แต่สังคมออนไลน์นั้น มีความแตกต่างกัน จุดยืนของผู้ใช้แต่ละท่าน ก็ไม่เหมือนกัน เป้าหมายหากมองจากมุมส่วนตัวก็ไม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมารวมกันตัวกันเป็นชุมชนได้ ก็จะมี common goal อยู่อย่างหนึ่ง คือความอยู่รอดของชุมชนนั้นเอง ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้ เป้าประสงค์ส่วนตัวของแต่ละคนก็ไม่มีความหมาย แต่ถ้าชุมชนอยู่ได้ ผู้ใช้แต่ละท่านจึงสามารถเดินสู่เป้าหมายส่วนตัวได้
- ถ้า A และ B คือจุดที่เรายืนอยู่
- G คือเป้าหมายร่วมของชุมชน
- การ เดินทางจากจุดที่เรายืนอยู่ไปยังเป้าหมายนั้น อาจเลือกได้หลายทาง เพราะสมาชิกของชุมชนแต่ละท่าน มีความรู้ และประสบการณ์ไม่เหมือนกัน
- แต่ตราบใดที่เป็นหมาย G ชัดเจน จะช้าหรือเร็ว สมาชิกของชุมชนต่างก็สามารถเดินถึงเป้าหมายได้
- ไม่ แปลกว่าในบางขณะจะมีจุดยืนร่วมกัน (จุด C) แต่ในบางขณะอาจจะแยกกันเดิน (CDG และ CEFG) ทั้งสองสายไปบรรจบกันที่ G อยู่ดีหากแต่ละสาย เข้าใจเป้าหมายร่วมของชุมชน
- แต่หากเป้าหมายไม่ชัดเจน ชุมชนก็จะแตกสลาย แยกตัวออกไปเป็นชุมชนเล็กๆ ไม่มีพลัง
ในลักษณะของสังคมที่ซับซ้อนจนไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่มีกำลังจะบังคับให้ทุกคน ปฏิบัติแบบเดียวกัน การขับเคลื่อนสังคมแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำของแต่ละกลุ่ม จะต้องมีจุดหมายปลายทางร่วมกัน แต่วิธีการอาจแตกต่างกันได้
การเร่งให้บรรลุเป้าหมายร่วมของสังคมออนไลน์นั้น น่าจะใช้ Network Effect ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ถ้าไม่มีเป้าหมายร่วม สังคมนั้นก็จะไม่สามารถรวมตัวกันอยู่ได้นาน จะไม่มีการรวมพลัง และจะแตกสลายไปในที่สุด เพราะว่าผู้ใช้เน็ตมีอิสระมาก ไม่มีใครจับทุกคนมามัดรวมกันไว้ครับ
ส ม า ชิ ก เ ลื อ ก ชุ ม ช น ชุ ม ช น เ ลื อ ก ส ม า ชิ ก
เช่นเดียวกับปัญหาของชุมชน ก็ต้องแก้ด้วยสมาชิกของชุมชนครับ (ธรรมดาผมเขียนบันทึกในทุกบล็อก พยายามหลีกเลี่ยงคำว่า “ต้อง” แบบ assertive นี้ที่สุด แต่คราวนี้ เลี่ยงไม่ได้จริงๆครับ)
ท่านจะได้อะไร
ไม่ว่าท่านจะอยากได้อะไร ท่านจะได้ “อยาก” อย่างนั้นเสมอครับ
ถ้าท่านจะได้สิ่งที่อยากนั้นมาจริงๆ บางทีลงมือทำอาจจะมีโอกาสมากกว่านั่งรอไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรรับประกันหรอกว่าเมื่อลงมือทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ — แต่ถ้าคิดว่าไม่ทำแล้วจะสำเร็จนี่ เชื่อว่าสำเร็จได้ยากกว่าครับ
อ ย า ก ไ ด้ อ ะ ไ ร ก็ ทํ า ใ ห้ เ ป็ น อ ย่ า ง นั้ น ค รั บ — หวังแต่ไม่ทำ ก็หมดหวัง
« « Prev : ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 1)
2 ความคิดเห็น
บางทีอาจจะเป็นเพราะคนไทย ประสบความทุกข์ยากมามาก จนไม่อยากจะเจ็บปวดอีกต่อไป ใครมาพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ฝากความหวังไว้กับเทวดา ขูดถูต้นไม้ขอเลขเด็ด ไหว้สัตว์ที่มีอวัยวะเกินธรรมชาติ
เป้นไปได้ว่าการปลูกฝังธรรมเนียมชีวิตตั้งแต่สมัยโบราณที่เป็นเรื่องของการสงครามทั้งหลายที่มีการกวาดต้อนผู้คนต่างเมืองเข้ามาเป็นบริวารใหม่ การปรับตัวใหม่มีความทุกข์ยากที่ถูกถ่ายทอดพลังเอาไว้ตกทอดต่อมาให้ยึดติดธรรมเนียมความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้ผ่านคนรุ่นต่อรุ่น สังเกตดูหนังจักรๆวงศ์ๆมันก็เล่าเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมเนียมนี้ในเรื่องของการได้มีวาสนากว่าที่จะได้มีวาสนาตามที่หวัง มีอะไรหลายอย่างที่ผ่านเข้ามาทุกข์ที่พานพบแต่ละอย่างน่าสะพึงกลัว บางเรื่องเจียนตายแล้วรอดมาได้ มันเป็นชีวิตที่สะท้อนมาว่าสามัญชน ไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดิน หรือ เจ้าชีวิต ล้วนแต่มีพิษของความทุกข์เข้ามาสู่ วิธีแก้ไขของเจ้าชีวิตในเรื่องใช้วิธีแก้โดยพึ่งพาเทวดา มิไยหรือที่จะไม่ทำให้ข้าแผ่นดินที่เห็นๆทำตามไปด้วย แล้วเรื่องพรรณนี้ถ่ายทอดมาตลอดผ่านทางสื่อทั้งหลาย มุมหนึ่งเพลิดเพลินไปกับจินตนาการแต่มุมหนึ่งนั้นก็ปลูกฝังเอาไว้ให้เรียนรู้ว่ากำจัดทุกข์ให้ง่ายและดูได้ผลทำอย่างไรได้อีก เป็นเรื่องของบัวสี่เหล่าที่ต้องการครู แต่ว่าครูนั้นหรือก็ไม่อยู่ห้อมล้อมให้ถูกที่ถูกทาง ถูกที่ หมายถึง อยู่ใกล้และมองเห็นบัวไหนช่วยอย่างไรให้แก้ทุกข์ได้ ถูกทาง คือ “เป็น” ในการสอนให้รู้…อ้าว….ออกไปเรื่องอะไรนี่
สิ่งควรวางดันไปยึดถือ กลายเป็นคนแบกโลก อมทุกข์ สิ่งความยึดถือสืบทอดกลับทิ้งไป กลายเป็นคนไม่มีราก ผิวเผิน ฉาบฉวย เปลี่ยนสีได้เหมือนจิ้งจก