อย่ารอ: เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกอนาถาเพื่อช่วยชาวนาที่น้ำท่วม
เทคโนโลยีชาวบ้าน ทำได้เองง่ายๆ ไม่ต้องพึ่งใคร ไม่ต้องรอใคร (ไม่ทำก็ไม่เป็นไรครับ)
เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกอนาถาเพื่อช่วยชาวนาที่น้ำท่วม
น้ำท่วมนาเสียหายหลายแสนไร่ทั่วไทย แต่ข้าวที่กำลังสุกนั้นไม่ได้เน่าตายเสียทีเดียว พอน้ำลดแล้ว ข้าวก็ยังอยู่ได้ระยะหนึ่งก่อนที่คอรวงและเมล็ดข้าวจะเน่าตายเสียก่อน ถ้าลอยคอไปเกี่ยวข้าวได้ทัน แล้วเอามาตากแห้งได้ทันก่อนที่จะเน่า ก็พอได้มีข้าวเอาไว้กินกันตายทีเดียวแหละ
ไม่ต้องลอยคอก็ได้ เอาแพขวดน้ำ หรือ แพท่อพีวิซีที่ผมได้เสนอไว้ ถ่อไปเกี่ยวข้าวก็ได้สะดวกกว่ากันเยอะเลย
พอเกี่ยวมาได้แล้ว แทนที่จะเอาไปตากบนลานสนามบอลหน้าโรงเรียน ก็มาสร้างเครื่องอบแห้งพลังแดดแบบง่ายๆ ที่สามารถอบแห้งได้เร็วกว่าตากบนลาน 3-4 เท่า ลงทุนน้อยมาก ลงแรงก็ไม่มาก ดังนี้ครับ…..
ให้สร้างแคร่ไม้ขึ้นมา ยกพื้นสูงประมาณ 1 ฟุตก็พอแล้ว ใหญ่เล็กแล้วแต่จะชอบ (แนะนำว่ากว้างสัก 1.5 ม. ยาวสักสี่เมตรน่าจะดี) พื้นแคร่พาดด้วยไม้รวกเล็กๆ ห่างกันสัก 10 ซม.ตลอดแนว ทำเป็นตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบ 10 ซม x 10 ซม. โดยประมาณ จากนั้นปูลาดด้วยตาข่ายในล่อน (ซึ่งตาข่ายนี้ชาวบ้านที่ตากข้าวก็ใช้ปูลาดในการตากบนพื้นดินอยู่แล้ว ใช้ตาข่ายตาห่างดีกว่าตาถี่) ขึงตาข่ายให้ตึงโดยการเหน็บเย็บชายไว้ตามขอบแคร่ไม้
(ถ้าปูด้วยตาข่ายลวดกรงไก่แทนไม้รวกก็จะยิ่งดี อากาศจะระบายได้ดีกว่า )
เอาข้าวเปลือกเปียกเทเกลี่ยลงไปบนตาข่ายในล่อนให้สม่ำเสมอ ความหนาประมาณ 10 ซม.
ที่ตรงกลางขอบด้านแคบของแคร่ ให้ยกเสาสูงขึ้นกว่าแนวพื้นแคร่ประมาณ 50 ซม. ขึงเสาทั้งสองด้วยเชือก (ทำเป็นราวตากผ้า) แล้วให้เอาพลาสติกดำคลุมไว้ ทำเป็นแบบหลังคาเต็นท์ถ้าได้พลาสติกไสยิ่งดี ถ้าไม่มีใช้แผ่นสังกะสีก็ได้ ถ้าไม่มีจริงๆ แผ่นพลาสติกสีอะไรก็ได้ แม้แต่ทางมะพร้าว หลังคาจากก็พอไหว ดีกว่าไม่คลุมอะไรเลย ผ้าดำก็ได้นะ
แนวสันหลังคานั้นควรวางไว้ในแนวลมที่พัดผ่านจะดีที่สุด (ดีกว่าวางขวางลม)
จากนั้นก็นอนเฝ้า (กันขโมย ไอ้ขโมยเนี่ยมันเอี้ยขนาดนี้เลยหรือ ) หรือจ้างคนเฝ้าแล้วเดินทางไปอบต. ไปรับเงินช่วยเหลือจากนักการเมืองได้เลยครับ (ถูกหักค่าหัวคิวก็ไม่ว่ากัน)
ประมาณ สองสามวัน ข้าวที่เปียกโชกน่าจะแห้งสนิท ระดับ 15% มาตรฐานเปียกเลยเจียวนะ (ศัพท์เต๊กหนิกเล็กน้อย อย่าเพิ่งหมั่นไส้นะ เพราะความชื้นระดับนี้จะทำให้เก็บรักษาได้ไปอีกนาน ไม่เน่าเสียก่อน)
ถ้าตากบนพื้นดินที่ความหนาข้าวเปลือกขนาดนี้ ท่านจะต้องใช้เวลา 5-6 วัน และยังต้องคอยพลิกกลับข้าวตลอดเวลา ทุกๆ ชั่วโมง แต่แบบที่เสนอนี้ท่านไม่ต้องพลิกข้าวให้เหนื่อยยากเลยครับ แถมเร็วกว่าสอง (ผมทดลองมาแล้วกับพริกขี้หนู แต่ยังไม่เคยทดลองกับข้าวเปลือก เชื่อว่าแนวโน้มน่าจะเหมือนกัน)
อีกอย่างที่ยังไม่เคยทดลอง แต่คิดว่าน่าจะช่วยเร่งเวลาการอบแห้งอีกสองเท่า คือ การก่อไฟใต้แคร่ …เฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น เพราะกลางวันเรามีพระอาทิตย์แล้ว
โดยต้องขุดดินลงเป็นร่องสามเหลี่ยม กว้าง 20 ซม. ลึกประมาณ 10 ซม. แล้วเอาฟืนเผาไฟ (ดุ้นยาว เช่นไม้ไผ่ ไม้กระถิน) ไปวางไว้ตลอดแนว ตามความยาวของแคร่ จากนั้นเอาแผ่นสังกะสีไปปิดไว้ให้กว้างเท่าความกว้างของแคร่ ต้องมีแผ่นนี้นะครับ ไม่งั้นจะร้อนเกินไปจนข้าวตรงกลางแคร่ไหม้เสียหมด ความร้อนจากไฟจะแผ่ไปสู่แผ่นสังกะสี แล้วแผ่ไปยังอากาศ เฉลี่ยความร้อนไปทั่ว ทำให้อากาศใต้แคร่อุ่นลอยตัวเข้าไปในเนื้อข้าว ไปไล่ความชื้นออก (ต้องปิดรอบแคร่ด้านยาวด้วย กันความร้อนออก แต่เปิดด้านแคบไว้ให้อากาศเข้ามา)
ถ้าทำแบบนี้ช่วย อาจเพียงวันเดียวก็แห้งสนิทแล้ว ช่วยเปิดพื้นสนามบอลรร. ให้ชาวนาคนอื่นได้มาใช้บริการพื้นที่อบแห้งของโรงเรียนบ้าง
หลักการทำงานของเครื่องอบแห้งนี้คือ ความร้อนจากแสงแดดจะส่งผ่านมาสู่อากาศภายในด้วยหลักการของเรือนกระจก (greenhouse effect) ทำให้อากาศร้อน ซึ่งช่วยให้เกิดการระเหยน้ำได้ดีกว่าปกติ เพราะความชื้นสัมพัทธ์อากาศลดลง ส่วนอากาศเย็นใต้ถุนของแคร่จะถูกเหนี่ยวนำให้ไหลขึ้นผ่านชั้นข้าวเปลือกออกสู่ด้านบน ก็ช่วยทำให้ข้าวเปลือกตลอดทั้งชั้นแห้งเร็วกว่าการกองบินดินมาก ทั้งนี้โดยไม่ต้องพลิกกลับกองข้าวให้เหนื่อยยาก อีกทั้งลมที่พัดผ่านตามแนวยาวของหลังคา ผ่านช่องเปิดที่หน้าจั่วของหลังคา ก็จะยิ่งช่วยพาความชื้นออกไปได้เร็วขึ้นกว่าปกติ
โชคดีชาวนาไทย ขอให้รวยๆ แล้วอย่าลืมไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคราวหน้าโดยไม่รับเงินด้วยเด๊อ เป็นศักดิ์ศรีของชาวอีสานบ้านเฮากันถ้วนหน้า
…ทวิช จ. (๓๐ ตค. ๕๓)
« « Prev : อย่ารอ: การสร้างแพลอยน้ำเพื่อช่วยน้ำท่วมด้วยท่อพีวีซี…อีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายๆ
Next : เครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภาคประชาชน » »
1 ความคิดเห็น
มานอนข้างริมโขง โรงแรมลานนา หรือลานช้าง จำบ่ได้
แม่น้ำโขงไม่ได้ท่วมมากอย่างที่คิด ยังเห็นหาดทรายโผล่
คืนนี้จะออกแอ่วเวียงจันทร์ยามราตรี
ถ้าไม่โดนจับขังคุกขี้ไก่เสียก่อน แล้วจะมาเล่าต่อ อิอิ