อย่ารอ: การสร้างแพลอยน้ำเพื่อช่วยน้ำท่วมด้วยท่อพีวีซี…อีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายๆ

อ่าน: 6975

จดหมายส่งต่อครับ เมืองไทยมีคนที่คิดว่าตัวมีความรู้ตั้งมากมาย แต่ความรู้นั้นถ้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ จะมีความหมายอะไรครับ มีความรู้แล้วควรช่วยคนอื่นด้วย

การสร้างแพลอยน้ำเพื่อช่วยน้ำท่วมด้วยท่อพีวีซี…อีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายๆ

วันนี้วันอาทิตย์ ที่แม้พระยะโฮวายังหยุดพักผ่อน แต่ผมเพิ่งไปสอนมาสี่ ชม.รวด วิชา “การเปลี่ยนรูปพลังงาน” เหนื่อยแฮ่กๆ  แถม นศ. ก็ดวงตาไร้แวว ก็ยิ่งเหนื่อยใจไปใหญ่

สอนกลับมาก็มาคิดช่วยน้ำท่วมต่อ  ตามประสาด๊อกเตอร์รากหญ้า (ฉายาที่คุณแม่ผม ..รากหญ้าจบปอสี… ตั้งให้ด้วยความเอ็นดู เพราะท่านเห็นว่าผมนี้มันทำอะไรแต่รากหญ้า เรื่องหรูหราแบบด๊อกท่านอื่น ไม่เห็นทำเป็นกะเขาเลย)

ผมได้เสนอการใช้ขวดน้ำขนาดใหญ่ ๒๐ ลิตรในการสร้างแพลอยน้ำมาแล้ว และได้ทดลองสร้างได้ผลมาแล้ว โดยใช้ขวด ๑๐ ใบ ใช้กิ่งไม้กระถิน โดยแพนี้รับนน.ได้ประมาณ 200 กก. ถ้ารวมนน.แพด้วยอาจเหลือเพียง  170 กก.  ก็สามารถใช้งานได้ดี  เมื่อน้ำลดแล้วอาจใช้ในการถ่อไปเกี่ยวข้าวที่น้ำท่วม ที่คอรวงโผล่พ้นน้ำ และกำลังจะเน่าตายเสียก่อน

วันนี้ผมมาได้คิดว่า ถ้าหาขวดน้ำไม่ได้ ก็ใช้ท่อพีวีซีก็ได้ ผมได้สำรวจข้อมูลดูแล้ว ลองเลือกท่อขนาด  8 นิ้ว มาตรฐาน มอก. ที่ทนแรงดันขนาด 5 กก. (อย่างบางที่สุดในตลาด ซึ่งผมเห็นว่าแม้บางก็พอเพียงแล้ว และดีที่สุดด้วย ทำให้ไม่หนักเกินไป ทำให้มีแรงลอยตัวสูง) ลองเอามาคำนวณหาแรงลอยตัว เมื่อหักน้ำหนักท่อแล้ว พบว่าท่อขนาดนี้ และบางขนาดนี้ จะสร้างแรงลอยตัวได้ 34.6 กก. ต่อความยาว 1 เมตร  ท่อขนาดอื่นๆก็คำนวณได้ไม่ยาก แต่ต้องทราบความใหญ่ ความหนาของท่อ และความหนาแน่นของเนื้อวัสดุ (ซึ่งผมใช้ ถพ. ของเนื้อพีวีซีที่ ๑.๔)   โดยทั่วไปแล้วท่อใหญ่ท่อเดียวจะดีกว่าท่อเล็กๆหลายท่อมารวมกัน ทั้งในเรื่องของแรงลอยตัวและราคา โดยท่อขนาด 16 นิ้วจะมีแรงลอยตัวมากกว่าท่อ 8 นิ้วประมาณ 4 เท่า (ไม่ใช่สองเท่านะครับ)

ดังนั้นถ้าเราใช้ท่อขนาด 8 นิ้วยาว 2 เมตรจำนวน 4 ท่อมาต่อเป็นแพ เราจะได้แรงลอยตัวถึงประมาณ 280 กก.  (บรรทุกคน นน. 60 กก. จำนวน 4 คนได้)  โดยทางที่ดีควรทำเป็นแพสี่เหลี่ยม เอาท่อทั้งสี่มามัดต่อกันเป็นโครงสี่เหลี่ยม (มัดด้วยยางในจักรยาน หรือเศษผ้าขาวม้าหรือผ้าปูที่นอนที่ฉีกเป็นเส้นๆ)   ส่วนช่องตรงกลางก็พาดด้วยไม้เบาๆ เช่น ไม้ไผ่ผ่าซีก

สำหรับหัวท้ายของท่อต้องอุดกันน้ำรั่วเข้าด้วยนะครับ  ถ้าหาได้ควรใช้ยางในรถยนต์ปิด แล้วรัดให้แน่น  ถ้าหายางในไม่ได้ ก็อาจใช้ปฏิภาณคิดเอาเอง เช่น 1) ยางในจักรยานทาบรอบขอบท่อแล้วอัดด้วยก้นจาน ชาม พร้อมรัดอัดให้แน่นด้วยยางในจักรยาน 2)  ใบไม้อัดใส่ถุงพลาสติกแล้วเอาไปอุดไว้ให้แน่น 3) …

เอาไปทำแพเพื่อถ่อไปเกี่ยวข้าวได้เด๊อ นักการเมืองจะเอาไปหาเสียงก็ไม่สงวนลิกขะสิดเด๊อ สิ บ่อกไห่

สำหรับการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถ้ามีที่ว่างพอขอแนะนำให้เอาด้านปลายแหลมของสี่เหลี่ยมพุ่งไปข้างหน้า จะถ่อ พาย ได้ง่ายกว่า เพราะมีแรงต้านน้ำน้อยกว่าการเอาด้านหน้าไปดันน้ำ

บ่ายวันนี้ท่านรองอธิการฝ่ายกิจการทั่วไป มทส. (ดร.รังสรรค์)  โทรมาหา ขอให้ผมช่วยหาทางอบแห้งข้าวเปลือกที่ชาวบ้านเกี่ยวมาจากน้ำท่วมด้วย เพราะท่านทราบมาว่าขณะนี้ชาวบ้านลอยคอไปเกี่ยวข้าวเอามาตากไว้หน้าโรงเรียน ตากบนดิน แล้วต้องนอนเฝ้าข้าวหลายวันหลายคืน  ซึ่งเรื่องนี้ผมถนัดอยู่แล้ว เพราะเป็นด๊อกเตอร์รากหญ้าที่คิดเรื่องนี้มา 10 กว่าปีแล้ว เสียแต่ว่านศ.ของผมกำลังสอบ เลยไม่รู้ว่าจะเกณฑ์แรงงานมาช่วยสร้างเครื่องต้นแบบได้อย่างไรดี

อดใจสักแป๊บ ..ถ้าไม่เบื่อเรื่องรากหญ้าเสียก่อนเดี๋ยวผมจะเขียนมาเล่าให้ฟัง (และช่วยเผยแพร่ต่อด้วย)

…ทวิช จิตรสมบูรณ์  (๓๐ ตค. ๕๓)

« « Prev : ข้อมูลอุทกภัย

Next : อย่ารอ: เครื่องอบแห้งข้าวเปลือกอนาถาเพื่อช่วยชาวนาที่น้ำท่วม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 October 2010 เวลา 21:43

    สุดยอด
    เห็นแพที่ใช้ขวดน้ำในทีวีแล้ว ใช้ได้ดี เอาไปบอกให้ อบต ในเขตน้ำท่วมบางจุดแล้ว คงแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่งทีเดียว อีกตัวหนึ่งที่เห็นชาวบ้านใช้แต่ยังไม่มีใครลองออกแบบ คือใช้โฟมเก่าหนาๆ ที่เห็นชาวบ้านไม่ได้ทำเรือนะครับ แต่เอาไว้พยุงลอยคอทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขนย้ายสิ่งของข้ามฝั่งแบบง่ายๆ ฯ หากเอามาดัดแปลงเป็นเรือ โดยมีโครงสร้างคล้ายๆเรือที่ใช้ถังก็น่าจะใช้ได้ นะครับ

    สมัยก่อนเราเคยใช้ต้นกล้วย เอามามัดเป็นแพ แต่หายากในบางจุด ไม้ไผ่ก็ได้ แต่ต้องเป็นไม้ไผ่ลำใหญ่ ส่วนมากมีที่ภาคกลาง ทางอีสานจะมีไผ่ป่า แต่ลำไม่ใหญ่ สำหรับโฟมนั้นหาได้จากแหล่งรับซื้อของเก่า หรือขอรับบริจาคตามห้าง หรือร้านในเมืองได้ พอสมควร

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 31 October 2010 เวลา 22:22
    ถุงพลาสติก (หลายชั้นกันแตก) เป่าลมแล้วมัดปากให้แน่น ก็อาจจะใช้ได้ครับพี่

    อากาศ 1 ลิตร สร้างแรงยก 1 กก. ผมลองใช้ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.25 ลิตร ตวงน้ำใส่ถุงพลาสติกที่ได้มาจากห้างสรรพสินค้า — เติมไป 5 ขวด (6.25 ลิตร) ได้ประมาณครึ่งถุง อีกครึ่งหนึ่งมาบรรจบกันแล้วเหลือที่พอจะมัดปาก

    หมายความว่าหากเป่าลมใส่ถุง แล้วมัดปากให้แน่น แต่ละถุงก็สร้างแรงยกได้ 6 กก. ใช้ 20 ถุง ยกได้ 120 กก.ครับ

  • #3 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 November 2010 เวลา 11:55

    ขอบคุณท่าน ด๊อกเตอร์รากหญ้า ที่คิดเรื่องดี ๆ มาฝากครับ ขอให้ช่วยเหลือ คนรากหญ้าต่อไปนาน ๆ นะครับ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 November 2010 เวลา 23:53

    เมื่อเห็นภาพน้ำท่วมหาดใหญ่แล้ว คิดไปว่าเวลาน้ำไหลแรงและเชี่ยวอย่างนั้น ไม่รู้ใช้แพแบบนี้จะทานแรงน้ำได้แค่ไหนเนอะ

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 November 2010 เวลา 1:05
    ไม่ไหวหรอกครับ พี่ทวิชเขียนหลังน้ำท่วมโคราชแล้ว กำลังท่วมภาคกลางอยู่ส่วนหนึ่ง แล้วกำลังไหลไปพิมายอีกส่วนหนึ่ง

    ทั้งสองภูมิภาค มีลักษณะน้ำนิ่ง ความลาดเอียงต่ำ เหมาะกับใช้ในภาคอีสานและภาคกลางซึ่งเป็นน้ำท่วมขัง ไม่ยอมไหลไปไหน ซึ่งขืนเป็นแบบนี้ ก็จะท่วมอยู่นาน หากชาวบ้านยังรอแต่ความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ ก็จะลำบากมากขึ้นครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.15173196792603 sec
Sidebar: 0.14898896217346 sec