ข้อมูลอุทกภัย
อุทกภัยครั้งนี้ เกิดความเสียหายหนักเป็นวงกว้าง เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในลุ่มน้ำหลายแห่งพร้อมกัน ทั้งลุ่มน้ำป่าสัก มูล ชี สะแกกรัง เจ้าพระยา และท่าจีน
เนื่องจากมีผู้ประสบภัยกระจายอยู่ใน 38 จังหวัด แม้ในขณะที่เขียนบันทึกนี้ มีจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อยู่ 22 จังหวัด ก็ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่ที่น้ำเคยท่วมใน 16 จังหวัดที่ไม่มีน้ำท่วมแล้ว จะกลับสู่ภาวะปกติ ที่จริงความช่วยเหลือในพื้นที่เหล่านี้ จะเปลี่ยนจากการช่วยให้มีชีวิตรอดปลอดภัย ไปเป็นการฟื้นฟูและสร้างชีวิตขึ้นมาใหม่ อีกทั้งจังหวัดซึ่งอยู่ในเส้นทางน้ำไหลซึ่งยังไม่ปรากฏในรายการ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย
วันนี้ช่วงเช้า ผมเข้าไป วอร์รูมน้ำท่วมอีก ไปพบปะแลกเปลี่ยนกับทีมทำข้อมูลของ คชอ.มา วันนี้มาคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือ ทีมทำข้อมูล EIS (Executive Information System) และ ไมโครซอฟท์ ทีมนี้พยายามจะรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจให้กับวอร์รูมน้ำท่วม มีบล็อคไดอะแกรมตามรูปทางขวา
มีทีมจาก ESRI ซึ่งมีข้อมูลเชิงแผนที่ (GIS) ที่มี base map และ layer จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้อมูลนี้มีประโยชน์มาก เนื่องจากไฟฟ้าเข้าถึงตรงไหน ก็แปลว่ามีคนอยู่ตรงนั้น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเข้าไปดูได้อย่างไร
อีกทีมหนึ่งก็เป็น Change Fusion และ Opendream ซึ่งเป็นทีมที่ทำ pm.go.th/flood
ผมเห็นว่าข้อมูลใดที่ส่งให้วอร์รูม สาธารณชนก็ควรจะได้รับข้อมูลนั้นด้วยเช่นกัน ในเวลานี้เนื่องจากมีผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก และผู้ประสบภัยบางส่วน ก็ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ดังนั้นน่าจะระดมสรรพกำลังทั้งจากภาครัฐและเอกชนไปช่วย แต่หากไม่มีข้อมูลว่าพื้นที่ใดต้องการความช่วยเหลือแบบไหนแล้ว ความช่วยเหลือก็จะขาดความแม่นยำไป บางพื้นที่อาจได้มากเกินไปหรือได้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่บางพื้นที่อาจมีความช่วยเหลือน้อยเกินไป
ช่วงบ่ายก็แบ่งทีมไปกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไปคุยเรื่องข้อมูล พบว่ามีเจ้าหน้าที่ทำงานกันอยู่ตลอดเวลา และน่าเห็นใจมากครับ
ข้อมูลในส่วนของ ปภ.หลั่งไหลมาจากพื้นที่ประสบภัย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างมีงานล้นมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องส่งข้อมูลเข้ากรมด้วย ดังนั้นข้อมูลที่มาจึงเหมือนมีลำดับความสำคัญน้อยกว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งถูกต้องแล้วในความเห็นของผม; เรื่องนี้กลับมาสร้างปัญหาขึ้นที่กรมอีกทอดหนึ่ง คือทำอย่างไรจึงจะย่อยและรวบรวมข้อมูล ตลอดจนตรวจสอบความถูกต้อง ให้เป็นสถานการณ์ที่แท้จริงในทุกขณะได้ทัน
ต้องไม่ลืมว่าอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้ ต่างกับสึนามิที่เกิดคลื่นสามระรอกแล้วเปลี่ยนเป็นการบรรเทาทุกข์ อุทกภัยครั้งนี้ พื้นที่ประสบภัย เปลี่ยนแปลงไปตามเคลื่อนตัวของมวลน้ำ พื้นที่ที่น้ำลดลงแล้วใช้ต้องการการฟื้นฟู พื้นที่ที่น้ำยังท่วมอยู่ต้องการการช่วยให้รอดอยู่ได้และการบรรเทาทุกข์ ส่วนพื้นที่ในทางน้ำแต่น้ำยังไม่ท่วมต้องการการป้องกัน พื้นที่ทั้งหมดกว้างใหญ่ ทรัพยากรทั้งคน อาหาร เครื่องจักร ต่างไม่เพียงพอสักอย่าง
อย่างไรก็ตาม ปภ.ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือได้ จากทหาร ตำรวจ จังหวัด อปท. อาสาสมัคร ชุมชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
ด้วยความโกลาหลทั้งหมดที่เกิดขึ้น หากจะได้ข้อมูลมาเพื่อการตัดสินใจใดๆ ก็ตาม ผมเห็นว่าไม่ควรเพิ่มภาระให้กับ ปภ.อีกหรอกครับ แค่นี้ก็หนักหนาพอแล้ว อุทกภัยครั้งนี้ หลังน้ำลดยังมีงานหนักรออยู่อีกมาก คือเรื่องการฟื้นฟู ซึ่งจะต้องทำกันอีกยาวนาน คนเกือบสี่ล้านคนได้รับผลกระทำ ถ้าครึ่งหนึ่งกลายเป็นคนตกงาน จะดูแลกันยังไง
อาสาสมัครที่จะลงพื้นที่ กรุณาอ่านรายงานสาธารณภัยประจำวันก่อนที่นี่ครับ จะสามารถกำหนดตำบล อำเภอ จังหวัดที่เป็นพื้้นที่ประสบภัยได้ การส่งความช่วยเหลือ จะเลือกให้เหมาะกับสถานการณ์ได้
Next : อย่ารอ: การสร้างแพลอยน้ำเพื่อช่วยน้ำท่วมด้วยท่อพีวีซี…อีกหนึ่งทางเลือกที่ง่ายๆ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ข้อมูลอุทกภัย"