หลบภัย (3) — ฮวงจุ้ย
อ่าน: 7342ถ้าหากว่าจะต้องใช้หลุมหลบภัย เรื่องอื่นเป็นความสำคัญที่รองลงไปจากความปลอดภัยและความอยู่รอดครับ แต่ว่าทำเลที่ตั้งของหลุมหลบภัยนั้น บอกล่วงหน้าได้ว่าเวลาจะใช้หลบภัยนั้น ใช้ได้หรือไม่
ในเวลาที่ลงไปอยู่ในหลุมหลบภัยนั้น ทุกคนถูกตัดขาดจากภายนอก จะต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่มีอยู่ในหลุมหลบภัยเท่านั้น สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญต่อทุกคน หากคนใดคนหนึ่งป่วย ก็จะเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับทุกคนในที่หลบภัยนั้น มีผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจพอเพียงกันเยอะแยะ ใครเป็นของจริง คนนั้นนำพาคนรอดได้ครับ
ที่ตั้งของหลุมหลบภัย จะต้องเป็นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง แล้วถ้าอยู่ใต้ดิน ก็ต้องอยู่สูงกว่าระดับน้ำใต้ดินเช่นกัน ขืนสร้างจนเสร็จแล้วน้ำท่วม ก็เป็นการสูญเปล่าครับ
หลุมหลบภัยใต้ดิน มีดินเป็นฉนวนกั้นความร้อน-ความเย็น อุณหภูมิภายใน จะเป็นอุณหภูมิของดิน ซึ่งก็มีผู้ทำเป็นบ้านอยู่อาศัยไปเลยเหมือนกัน เหมือนบ้าน Hobbit ในหนังลอร์ดออฟเดอะริงส์
หลักการที่ใช้ดินคลุมแล้วปลูกต้นไม้กันความร้อนนั้น ขยายต่อเป็นหลักการหลังคาเขียว
ที่พัก-ที่อยู่อาศัยที่อยู่ใต้ดินนั้น มีแรงกระทำที่ผนัง จึงต้องการความแข็งแรงที่ผนังมาก เรื่องนี้แตกต่างกับสิ่งปลูกสร้างบนผิวดินที่เราคุ้นเคยกันซึ่งรับแรงกด (น้ำหนัก) ที่ลงมาตรงๆ
โครงสร้างที่ดีสำหรับรับแรงด้านข้าง คือทรงกระบอก แบบเดียวกับอุโมงค์ทั่วไป หรืออุโมงค์ใต้น้ำ
ส่วน “บริการหลุมหลบภัย” ที่แพงระยับ เลิศหรูดูดีมีชาติตระกูล แต่ดูท่าจะไม่ค่อยเวิร์คคือ Vivos ครับ เขาเคลมว่าสามารถป้องกันภัยได้ 13 อย่างคือ
- การระเบิดที่สร้างแรงดัน 45 psi (3 เท่าของความดันบรรยากาศ)
- แผ่นดินไหวความแรง 10 ริกเตอร์
- ลมพายุความเร็ว 450 ไมล์/ชม (720 กม/ชม)
- ระเบิดนิวเคลียร์ขนาด 50 เมกะตัน ระเบิดในอากาศที่ห่างออกไป 10 ไมล์ (16 กม)
- การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (solar flare) ซึ่งมีพลังงานเกินล้านโวลท์ — ตรงนี้ผมว่าคำทำเว็บมั่วครับ หน่วยน่าจะเป็น MeV (mega electronvolt) ซึ่งถ้าตัวเลขที่เคลมคือ 1 MeV ก็จะน้อยไป ส่วนถ้าเป็นล้าน MeV ก็จะเว่อร์มากไปสำหรับ solar flare — แต่ถ้าเป็นรังสีคอสมิคขนาดพลังงาน ล้าน MeV หรือ 1012 eV ก็ยังไม่ใช่ระดับปลอดภัยอยู่ดี
- การจมจากน้ำท่วม
- ไฟ(ป่า)ภายนอกซึ่งมีอุณหภูมิ 1,250°F (680°C ซึ่งสูงกว่าจุดหลอมเหลวของอลูมิเนียม)
- ขั้วแม่เหล็กโลกเปลี่ยน
- อาวุธรังสี เคมี หรืออาวุธชีวภาพ
- การโจมตีโดยอาวุธต่อที่หลบภัย เพื่อบุกเข้ามาในที่หลบภัย
- หิมะหรือน้ำฝนถล่มหนัก
- ลูกเห็บหนัก 100 ปอนด์ตกลงมาที่ความเร็ว 100 ไมล์/ชม (ลูกเห็บหนัก 45 กก ตกด้วยความเร็ว 160 กม/ชม)
- กลายเป็นป้อมเพื่อป้องกันอนารยชนบุกเข้ามา ในกรณีที่โครงสร้างของสังคมถูกทำลายไปหมด
กล่าวโดยคร่าวๆ ระบบของ Vivos เป็นระบบปิดตาย ใช้กับภัยซึ่งรู้ล่วงหน้าสามวัน เช่นดาวหางจะชนโลกแล้วรู้ตัวก่อน ภูเขาไฟระเบิดแบบมหาวินาศซึ่งมีเวลาอยู่หลายวัน ก่อนที่การเดินทางจะเป็นไปไม่ได้ ภาวะสงครามหรือการจราจลโค่นล้มรัฐบาล ที่บานปลายจนหาทางออกไม่ได้ไม่ว่าโดยฝ่ายใดก็ตาม ฯลฯ
ผู้ที่เป็นสมาชิก Vivos มีหน้าที่เดินทางไปยังหลุมหลบภัยให้ทันเวลา เมื่อถึงกำหนดแล้ว เขาจะปิดตามหลุมหลบภัย แปลงสภาพเป็น biosphere รอจนสภาพข้างนอกสงบ จึงเปิดออกมา
ผู้ที่เป็นสมาชิก จ่ายเงินไปเพื่อซื้อสิทธิ์เข้าไปอยู่ในหลุมหลบภัย เงินค่าสมาชิกก็นำไปซื้อของมากักตุนไว้ในหลุมหลบภัย หมุนเวียนเปลี่ยนเอาของใหม่ไปแทนของที่หมดอายุแล้ว เรียกว่าพยายามเตรียมหลุมหลบภัยให้ “พร้อม” ไว้
มีปัญหาพื้นฐานอยู่หลายอย่าง
- คำว่าเตรียมพร้อมนั้น พร้อมสำหรับอะไร
- ถ้าเป็นภัยแบบทำลายล้าง ถึงออกมาได้ ก็ไม่เหลืออะไร
- โมเดลของหลุมหลบภัยเป็นแบบกักตุนไว้ใช้ เขาเคลมว่าอยู่ได้หนึ่งปี สมมุติว่าจริง เมื่อของหมดแล้วทำอย่างไรต่อ ถ้าต้องอยู่ในนั้นหนึ่งปี เมื่อออกมาแล้ว จะพบกับอะไร จะทำอะไรต่อ
ผมไม่ได้ปฏิเสธหลักการนี้ทั้งหมดหรอกครับ หลายเรื่องก็น่าสนใจ เอาวิดีโอทัวร์มาให้ดู ซึ่งหากจะดูอันอื่น ก็เชิญที่นี่ครับ
สำหรับฝรั่งที่รวย เค้ารวยจริงๆ ซึ่งถ้าหากบริการนี้มีกลุ่มเป้าหมายไปที่ลูกค้าระดับอภิมหาเศรษฐีอย่างนั้น ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ที่จริงมันเป็นสิทธิของเขาทั้งนั้น… แต่ถ้าเป็นผม คงทำอย่างอื่นแทน
« « Prev : หลบภัย (2) — ที่พักใต้ดิน
Next : หลบภัย (4) — หลังภัยใหญ่ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "หลบภัย (3) — ฮวงจุ้ย"