ภาษีกับการบริจาค
อ่าน: 5159เมื่อคืน เขียนเรื่อง”เงินบริจาคที่นำไปหักภาษีเงินได้ได้” เอาไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะ แต่ที่บล็อกนั้น ผู้ที่ไม่ใช้สมาชิกลานปัญญาอ่านไม่ได้ ก็เลยย้ายมาที่นี่ เรื่องเริ่มต้นที่ว่ามีองค์การสาธารณกุศลเป็นจำนวนมาก ที่กรมสรรพากรไม่ได้รับรู้ว่าเป็นองค์การสาธารณกุศล เรื่องนี้ทำให้ผู้ที่บริจาคเงินและสิ่งของให้องค์การสาธารณกุศลเหล่านี้ ไม่สามารถนำมูลค่าที่บริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้
กรมสรรพากรจะรับรู้ก็ต่อเมื่อนำชื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก่อนที่จะทำอย่างนั้น องค์การสาธารณกุศลก็จะต้องพิสูจน์ตัวเองว่ากระทำการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ใช้สิ่งที่ได้รับบริจาค (รวมทั้งเงินด้วย) เพื่อสาธารณประโยชน์จริงๆ มีบัญชีเดียว+ทำอย่างถูกต้อง มีผลงานตามเงื่อนไขของกรมสรรพากรเป็นเวลาอย่างน้อยสามรอบบัญชีเสียก่อน แล้วจึงขอให้กรมสรรพากรประเมิน (ซึ่งอาจจะได้หรือไม่ได้)
การที่ไม่สามารถนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้ได้นั้น ก็อาจจะทำให้ผู้บริจาคบางท่าน ไม่ว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล พะวงว่าสิ่งที่บริจาค ไปถึงมือประชาชนผู้ทุกข์ยากจริงหรือไม่ แล้วการนำมูลค่าของการบริจาคไปหักภาษีเงินได้นั้น เป็นประหนึ่งว่าผู้บริจาคบังคับให้รัฐช่วยเหลือองค์กรที่บริจาคให้ เป็นมูลค่าเท่ากับมูลค่าของการบริจาคคูณด้วยอัตราภาษีสูงสุดที่ผู้บริจาคชำระ (คือผู้บริจาคได้เงินคืนจากรัฐเป็นจำนวนเท่านั้น เมื่อตอนคืนภาษี) เช่นผู้บริจาคซึ่งเสียภาษีในอัตรา 37% บริจาคเงินหนึ่งล้านบาท ถ้าผู้รับบริจาคเป็นองค์การสาธารณกุศลที่กรมสรรพากรยอมรับ สิ้นปีผู้บริจาคสามารถขอรับเงินคืนจากกรมสรรพากรได้ 370,000 บาท รวมที่จ่ายออกไป 630,000 บาท ส่วนผู้รับบริจาคได้เงินเต็ม 1,000,000 บาท (และรัฐจ่ายให้องค์กรนี้ 370,000)
การหักค่าลดหย่อนเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษี เป็นไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 ครับ ถ้าไม่ระบุในนี้ จะนำไปหักค่าใช้จ่ายสำหรับคำนวณรายได้พึงประเมินไม่ได้
สำหรับการหักค่าลดหย่อน “ที่ไม่ปกติ” เป็นไปตามมาตรา 47(7) ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน
มาตรา 47(7)(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ ให้หักได้เท่ากับจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้พึงประเมินที่หักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
มาตรา 47(7)(ข) เป็นเงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประกาศนั้นอยู่ตรงนี้ — เมื่ออ่านประกาศดู จะพบว่าองค์การสาธารณกุศลที่นำเงินบริจาคไปหักภาษีได้ *จะต้องมีชื่อระบุอยู่ในข้อ 3* (ในขณะที่เขียนนี้มี 675 ชื่อเท่านั้น)
ดังนั้นแม้จะมีชื่อเป็นมูลนิธิ (ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฏหมาย และวัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ออกใบอนุญาต) ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นองค์การสาธารณกุศลที่กรมสรรพากรยอมรับ และเงินบริจาคไม่สามารถจะนำไปหักภาษีได้
ส่วน ข้อ 2 ทวิ ในประกาศเดียวกัน กำหนดให้สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนโดยบริษัทหรือห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น และสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3(4)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 254) พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ มีประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรอีกฉบับหนึ่ง เรื่องการหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษา ซึ่งนำเงินบริจาคไปหักได้สองเท่า บริจาคให้โรงเรียนเอกชนก็หักได้ แต่ซ่อนเงื่อนลึกลับซับซ้อน (อย่างบริจาคคอมพิวเตอร์นี่ เอามูลค่าไปหักภาษีได้เป็นสองเท่าของมูลค่าที่บริจาคครับ) — โดยที่ “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาของ องค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
ข้อความอาจซ้ำไปซ้ำมา อ่านยาก เพราะผมลอกมาจากประกาศเป็นภาษากฏหมายครับ
« « Prev : ยิ่งศึกษาพุทธศาสนาจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา
Next : บั้งไฟ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ภาษีกับการบริจาค"