พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

โดย Logos เมื่อ 9 March 2009 เวลา 15:24 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 4045

ประวัติพระธาตุแห่งแห้ง จังหวัดน่าน ตามที่ปรากฏในจารึกหน้าวัดครับ

บ้านเมืองแต่ละแห่ง มีประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ถ้ามีโอกาสผ่านไป ก็ควรศึกษาเพื่อให้เข้าใจความเป็นมาเป็นไป เห็นทั้งความเจริญรุ่งเรือง และความเสื่อม ตามกฏของไตรลักษณ์

ด้วยความเคารพต่อความแตกต่าง และความเฉพาะตัวของแต่ละชุมชน ยังมีข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากไม่รวมกัน ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็จะไม่มีใครที่มีกำลังพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่มีสาธารณูปโภค/อาหาร/การศึกษา/ความหลากหลาย/ภาษี/ทรัพยากร/สินค้าและบริการ ที่เพียงพอสำหรับทำนุบำรุงประชาชนในท้องถิ่นให้มีชีวิตที่ดี

เมื่อพิจารณาในแนวนี้ แนวคิดเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ดูจะเป็นไปเพื่ออำนาจในการปกครอง ซึ่งซ่อนอยู่หลังเหตุผลอื่นๆ ที่ยกมาอ้าง แม้ว่ารวมกันอาจตายหมู่ แต่แยกกันอยู่นั้นตายแหง — เช่นเดียวกันกับทุนนิยมสุดขั้วที่มุ่งกอบโกย เบียดเบียนผู้อื่น โดยหารู้ไม่ว่าในที่สุดแล้ว จะกลายเป็นการเบียดเบียนตัวเองและลูกหลานวงศ์ตระกูล กว่าจะรู้ตัว ก็สายเสียแล้ว

มัชฌิมาปฏิปทา — ทางสายกลาง เป็นทางที่ดีเสมอไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม

ประวัติพระธาตุแช่แห้ง

พระมหาธาตุแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า สร้างสมัยใด ในตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งพุทธกาล ภูเพียงแช่แห้งแห่งนี้ได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุข้อพระหัตถ์ด้านซ้าย และเศษของพระสรีรังคารธาตุมาประดิษฐานไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้สักการะตราบ ๕๐๐๐ พระวัสสา

เท่าที่สืบหา หลักฐานได้พระมหาธาตุแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.​๑๘๙๖ ตรงกับสมัยของพระยาการเมือง แห่งราชวงศ์ภูคา ครองเมืองน่าน (พ.ศ.๑๘๙๖-๑๙๐๖) พระองค์ได้เสด็จไปสร้างวัดหลวงอภัย ที่อาณาจักรสุโขทัย เมื่อภารกิจทั้งมวลเสร็จแล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทได้ถวายพระมหาชินธาตุเจ้า ๗ พระองค์ พระวรรณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด สุกใสดังแก้ว ๒ พระองค์ มีพระวรรณะดั่งมุก ๓ พระองค์ มีพระวรรณะดั่งทองคำ เท่าเมล็ดงาดำ ๒ พระองค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองอันงามประณีต อย่างละ ๒๐ องค์ ให้แก้พระยาการเมือง เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงเมืองน่าน ได้ทรงปรึกษากับพระมหาเถระธรรมบาล และเห็นสมควรประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้ที่เนินภูเพียงแช่แห้ง ระหว่างแม่น้ำเดี๋ยน (แม่น้ำเกี๋ยนปัจจุบัน) และแม่น้ำลิงค์​(น้ำลิ่งแม่น้ำน่านปัจจุบัน) พระยาการเมืองโปรดให้ช่างหล่อปูนเต้าปูนสำริดขนาดใหญ่แล้วทรงนำพระบรทสารีริกธาตุพร้อมด้วยพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองลงบรรจุไว้ปิดฝาสนิทพอกหุ้มด้วยสะดายจีน(ปูนผสมแบบโบราณ)เป็นก้อนกลมเกลี้ยงเหมือนศิลา เสร็จแล้วโปรดให้ขุดหลุมลึก ๑ วาแล้วอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ และพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองลงประดิษฐานไว้และก่ออิฐทับครอบเป็นเจดีย์สูง ๑ วา ตลอดรัชกาลของพระองค์ ทรงให้ความสำคัญแก่วัดนี้มากถึงกับย้ายจากวรนครเมืองพลัวมาสร้างเมืองใหม่ โดยมีวัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวัดหลวงประจำราชสำนัก หลักฐานการย้ายเมืองครั้งนั้นก็คือแนงกำแพงเมืองและคูโบราณที่สร้างไว้ถึง ๒ ชั้น เมื่อ พ.ศ.๑๙๐๒ อายุกว่า ๖๐๐ ปี ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เมื่อสิ้นราชวงศ์ภูคาแล้ว เมืองน่านจะถูกปกครองโดยเชียงใหม่ (พ.ศ.๑๙๙๓-พ.ศ.๒๑๐๑) หรือโดยพม่า (พ.ศ.๒๑๐๑-พ.ศ.๒๓๓๑) และที่สุดขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าพระธาตุแช่แห้งนี้ เจ้าผู้ครองนครน่านทุกพระองค์ที่ผ่านมาได้เอาพระทัยใส่ดูแลปฏิสังขรณ์ ซ่อมแซมสืบต่อกันมาจนได้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัวและมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ดังปรากฏให้เห็นตราบทุกวันนี้

พระมหาธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ มีความสำคัญทั้งในด้านแบบแผนทางศิลปกรรม เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จังหวัดน่าน มีความยาวของฐานล่าง ซึ่งเป็นฐานเขียงรูปแท่งสี่เหลี่ยม ด้านละ ๑๙.๒๕ เมตร และมีความสูงจากฐานล่างระดับพื้นดินจนถึงปลายสุดของดอกไม้ทิพย์ มีความสูง  ๔๓.๔๙ เมตร นับเป็นพระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแผ่นดินล้านนา เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือชองชาวจังหวัดน่านและพุทธศาสนิกชนทั่วไปจะมีงานนมัสการพระมหาธาตุทุกปีในวันเพ็ญเดือน ๖ เหนือ (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔) ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๖๑ ตอนที่ ๖๕ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ ประกาศขอบเขตในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๙๗ ตอนที่ ๑๕๙ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓

« « Prev : เมืองน่าน

Next : รู้ทันจิตแบบเข้าใจง่าย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 March 2009 เวลา 21:03
    • การมองประวัติศาสตร์ของนครน่านช่วงแว๊บๆ ในฐานะประเทศเล็กๆในอดีต ที่มีความชัดเจนเรื่องต้องการอยู่อย่างสงบเงียบ ทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างสูงส่ง จะเห็นได้จากความอลังการณ์ของวัดวาอาราม นิสัยใจคอผู้คน วิถีชุมชนที่มุ่งเดินสายกลาง อยู่แบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว
    • ไม่ได้วางรากฐานเรื่องพละกำลังการสู้รบ เพราะไม่ถนัด ชอบที่จะอยู่ในศีลกินในธรรม จุดนี้กลับเป็นความบอบบางในการที่จะรักษาอธิปไตยแห่งตน
    • ทำให้พม่าบ้าง สยามบ้าง รุกรานบีฑาบุกมาตีเป็นเมืองขึ้น นครน่านจึงร้างและรุ่งเรืองสลับกัน สุดท้ายก็มายืนอยู่ในจุดปัจจุบัน  ที่คนน่านมีการบ้านที่จะต้องรักษาความปกติสุขให้มั่นยืนตามความเชื่อมาแต่โบราณกาล
    • ทราบว่ามีกลุ่มคนฮักเมืองน่าน ยึนหยัดอยู่ตรงนี้ คงจะทำหน้าที่ดูแลเมืองที่สวยสง่านี้ให้คงอยู๋ตลอดไป.
  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 March 2009 เวลา 8:00

    เพิ่มเติมจากการเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฯน่านค่ะ

    น่านมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำด้วยหินจัดแสดงให้เห็น เดินไล่ดูเห็นว่าพัฒนาการเป็นชุมชนเมืองอย่างแท้จริงน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ที่เริ่มสร้างบ้านแปงเมืองและคงอยู่ในสมัยเดียวกับเชียงราย ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์มีอยู่ประมาณ 5 ชนเผ่าหลักๆ คือตองเหลือง ไทลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น(มั้ง)

    ด้วยเป็นเมืองต้นน้ำน่านที่เป็นแม่น้ำสำคัญ 1 ใน4 ของสาขาลำน้ำเจ้าพระยา จึงเป็นจุดสำคัญของการค้าและการเมือง แม้จะมีขุนเขาโอบล้อม แต่ก็เป็นที่ปรารถนาของหลายกลุ่มฝ่ายเพราะเชื่อมโยงไปสู่ลุ่มน้ำโขงของดินแดนล้านช้างได้ (เฮฯ 10 ที่น่านของพี่ภูคาน่าจะรวมหงสาของพี่เปลี่ยนด้วยเนาะคะ ไปซัก 5 วัน ลาพักผ่อน1 อาทิตย์เลยน่าจะดี อิอิอิ)

    อารยธรรมทางศิลปกรรมของเมืองน่านแสดงชัดเจนถึงการติดต่อกับสุโขทัย  หลักศิลาจารึกที่พบมีลักษณะตัวอักษรคล้ายสุโขทัยมากเลยค่ะ เครื่องถ้วยเคลือบก็น่าสนใจ พระก็มีลักษณะคล้ายสุโขทัย..และศิลปกรรมเริ่มเปลี่ยนรูปแบบมาทางล้านนาเมื่อผนวกดินแดนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20  เห็นภาพพิธีศพของเจ้าครองนครน่านก็เห็นความสำคัญของเมืองเล็กๆเมืองนี้ที่ยังมีความสำคัญเรื่อยมาแม้ในสมัยรัตนโกสินทร์

    งาช้างดำ มีตำนานกล่าวถึงว่ามาจากเมืองเชียงตุง(บรรณาการ?) บนงามีอักษรธรรมล้านนา มีน้ำหนัก15,000 (หน่วยไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร) หรือประมาณ 18 กก.ค่ะ ชอบครุฑที่แบกงาช้างดำ เพราะหน้าเค้ายิ้มดีจัง อิอิอิ ไม่เหมือนครุฑตัวอื่นๆ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 March 2009 เวลา 14:05
    แนวคิดเรื่องเขตแดน เกิดมาจากชาติตะวันตกพร้อมกับยุคล่าอาณานิคม เพื่อแสวงหาทรัพยากรมาป้อนให้กับอุตสาหกรรม เพราะชาวตะวันตกมีชีวิตที่ยากลำบาก มีหน้าหนาวที่ทารุณ จึงต้องสะสมไว้มากๆ ครับ

    การสอนประวัติศาสตร์กลับสร้างภาพเจ้าเมือง พ่อขุน กษัตริย์ มหากษัตริย์ กลายเป็นลำดับชนชั้นแสดงอำนาจ แสดงอาณาเขต ทั้งที่การคมนาคม การติดต่อสื่อสารไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง แต่การปกครองเมืองก็ยังสนใจอยู่พื้นที่จำกัดมาก เท่าที่สายตาจะมองเห็นเท่านั้น

    เมืองเล็กที่อยู่ไกลออกไป ส่งทรัพยากรเข้ามาเมืองที่ใหญ่กว่าในรูปของส่วย/อากร/บรรณาการ/การแลกเปลี่ยนค้าขาย แลกกับการปกป้องทางด้านความปลอดภัยจากสงคราม/โจร/ผู้ร้าย ทำให้อาณาจักรดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพากัน และเป็นการพึ่งพาบนการยอมรับในความแตกต่าง (บางทีเรียกว่าการเมือง)

    น่าเสียดายที่การสอนประวัติศาสตร์ แทนที่จะให้ความรู้ในแนวมานุษยวิทยา กลับไปเน้นปี/ลำดับเหตุการณ์/ลำดับราชวงศ์ และอำนาจ เสียโอกาสที่จะศึกษาพลวัตของสังคม ตลอดจนการพึ่งพากัน

    ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ศรีสัตนาคนหุตซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม แตกเป็นสองก๊กคือฝ่ายหลวงพระบาง และฝ่ายเวียงจันทร์ [ในคำนำ (๓) ของประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๒] แสดงว่าศรีสัตนาคนหุต ยังมีอิสระในทางการปกครองจากกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเวียงจันทร์ และหลวงพระบางต่างกล่าวอ้าวว่าตนคือศรีสัตนาคนหุต ล้านช้าง ร่มขาวทั้งคู่ แต่แผนที่สยาม รวมอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตเอาไว้ ไม่รู้จะเอาไปเบิ้ลกับใคร

    เวลาไทยบอกไทยลาวบ้านพี่เมืองน้อง ลาวจะบอกทำไมไทยต้องเป็นพี่(วะ)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14451599121094 sec
Sidebar: 0.51882696151733 sec