รู้ทันจิตแบบเข้าใจง่าย
อ่าน: 7994ปฏิจจสมุปบาท ปัจจัยต่อเนื่องกันมา 12 องค์ของทุกข์ ดูจะเป็นสิ่งที่นักศึกษาพุทธศาสตร์ พยายามจำและทำความเข้าใจ
แต่ท่องได้ ก็ไม่พ้นทุกข์หรอกครับ การศึกษาทางปริยัติ ช่วยให้จัดความรู้เป็นหมวดหมู่ ความเข้าใจที่แท้จริง กลับต้องปฏิบัติเอง
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก, อะกาลิโก, เอหิปัสสิโก, โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหี ติ
พระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้
เมื่อวาน ออกไปนอกบ้าน แวะไปหาหนังสือธรรมะเพื่อส่งไปให้ผู้ที่ผมนับถือ เจอหนังสือธรรมไหลไปสู่ธรรม ของพระอาจารย์มิตซุโอะ คเวสโก (สายพระอาจารย์ชา สุภัทโท) ซึ่งมีหน้ากลางเป็นรูปแผนภูมิที่เข้าใจง่ายครับ
ท่านผู้สนใจจะอ่านพระธรรมเทศนาอันนี้ อ่านได้จากลิงก์ข้างบน ในบันทึกนี้ ผมขอตัดตอน นำข้อความสามบทสุดท้ายมาแสดงไว้เท่านั้น
ทุกข์ หรือ สุข มีค่าเท่ากัน
โลกธรรม ๘ ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลก และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามธรรมนั้น คือ
มีลาภ เสื่อมลาภ
มียศ เสื่อมยศ
มีสรรเสริญ มีนินทา
มีสุข มีทุกข์ทั้งนี้ หลวงพ่อชาเคยให้โอวาทเปรียบเทียบไว้ว่า ผู้ใดยึดในทุกข์ ก็ประดุจโดนงูเห่ากัด ผู้ใดยึดในสุข ก็เสมือนจับงูเห่าข้างหาง และจะโดนมันแว้งกัดเอาในภายหลัง
ดังนั้นความสุขกับความทุกข์ อารมณ์ชอบใจกับไม่ชอบใจนั้น จึงมีค่าเท่ากัน ถ้าหลงยึดเข้าแล้วก็ให้โทษแก่เราเหมือนๆ กัน เมื่อเราคุ้มครองจิตโดยอาศัย สติดี สัมปชัญญะดี ความพากเพียรถูกต้องพรั่งพร้อมด้วยความเกรงกลัว ความละอายต่อบาป และความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่รุนแรงแล้ว เราย่อมจะเป็นผู้อยู่เหนืออารมณ์ ด้วยจิตที่รู้ ตื่น และเบิกบาน
รู้ว่า โลกธรรม ๘ เกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป โดยที่ใจของเราไม่เกิดความหวั่นไหวคล้อยตามไปด้วย เปรียบเหมือนเราอยู่ในบ้านที่ปลอดภัย และอบอุ่น ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร ฝนจะตกหรือแดดจะออก อากาศจะร้อนหรือหนาว บรรยากาศจะสงบนิ่งหรือมีพายุพัด เราเพียงแต่มองดูความเป็นไปจากทางหน้าต่างเท่านั้น
โลกธรรมที่เกิดขึ้นกับเราก็เหมือนธรรมชาติ เหมือนลมฟ้าอากาศ เป็นสิ่งไม่อยู่ในอำนาจการควบคุมของเรา เราทำได้แต่เพียงพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนั้น
แต่บางครั้งบ้านของเราก็เกือบจะพังเหมือนกัน เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ได้รับทุกข์ บางครั้งเราก็ถูกกระทบจากสิ่งเหล่านี้อย่างรุนแรง แต่เราก็ต้องอดทน และให้เวลาเป็นเครื่องแก้ แม้จะเกิดความฟุ้งซ่านวุ่นวาย ความเดือดร้อนใจเพียงใดก็ตาม ให้ตั้งสติ พิจารณาทบทวนความคิดของตัวเองให้ถูกต้อง
คิดให้เป็น คิดให้ดี คิดให้ถูก
เมื่อคิดถูกต้อง สอดคล้องกับหลักธรรมแล้ว จิตใจของเราจะค่อยๆ เย็นลงเอง ข้อสำคัญมันจึงอยู่ที่ความคิด ถ้าคิดผิด เกิดความทุกข์ทันที แต่ถ้าคิดดี คิดถูก ก็ให้ความสุขแก่ตนเองได้ อย่างนี้เรียกว่า ใจเป็นศีล คือ ตั้งเจตนาให้ถูกต้องต่อความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง
เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่ แม้จะมีศรัทธามาก เคยฟังเทศน์ฟังธรรมบ่อยครั้ง หรือศึกษาปฏิบัติธรรมมานานมากแล้ว ก็ยังอาจจะจับหลักไม่ได้ เพราะธรรมะยังไม่เข้าถึงใจ นั่นเอง
เมื่อใดก็ตามที่ประสบกับความทุกข์ เราต้องนึกถึงพุทธภาษิต ที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่ว่า
“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ธรรมเหล่านั้นย่อมดับไปด้วยเหตุ”
เหตุอยู่ที่ใจของเรา
พระบรมศาสดาทรงสอนการเกิดและการดับของธรรมทั้งหลายทั้งปวง โดยสรุปรวมอยู่ในหลักอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ความทุกข์ความไม่สบายใจอยู่ที่ไหน อยู่ในใจของเรานี้เองใช่ไหม ทุกข์อยู่ที่ไหน เหตุก็อยู่ที่นั่น เมื่อทุกข์เกิดแต่เหตุ ท่านจึงสอนให้ละเหตุอันนั้น ฟังให้ดีๆ นะ ท่านให้ละสมุทัย ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่บางคนเข้าใจผิด ไปโทษปัจจัย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เหตุกับปัจจัยไม่ใช่อย่างเดียวกัน
เช่น ถ้าใครนินทา เราเกิดความรู้สึกน้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นทุกข์ ตามธรรมดาเราก็มักจะคิดไปว่า ทำไมเขาพูดอย่างนั้น เราได้ช่วยเหลือ ทำดีกับเขาอย่างโน้นอย่างนี้แล้ว เขาไม่น่าจะพูดถึงเราอย่างนั้นเลย จากนั้นเราก็คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วก็ยิ่งไม่สบายใจ คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความรู้สึกน้อยใจ คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความทุกข์ ในที่สุดก็เกิดความอาฆาตพยาบาท อย่างนี้เรียกว่า คิดผิด
ท่านสอนว่า ให้แก้ที่เหตุ คือแก้ที่กิเลสตัณหา อุปาทานของตัวเอง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่ถูกใจเรานั้น เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ไม่ใช่สิ่งที่เราจะห้ามได้ เราแก้ไขสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่ได้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงแก้ไขไม่ได้ พระองค์ให้ทรงแก้ที่เหตุ และเหตุก็อยู่ที่ใจของเรานี่เอง
เราอาจจะเปรียบได้ กับการเพาะปลูกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง เมล็ดพันธุ์นี้เป็นเหตุ เมื่อปัจจัย คือ น้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิ พรั่งพร้อมพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอก และแตกหน่อออกมาเป็นต้นไม้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดีและปัจจัยพร้อมพอดี ก็จะเกิดดอกออกผลขึ้นในที่สุด
ถ้าเราไม่ต้องการดอก ผล หรือต้นไม้ ก็ทำลายเมล็ดพันธุ์ หรือต้นไม้นั้นเสีย ก็จบเรื่อง คือ ทำลายเหตุ ผลก็ไม่เกิด ไม่ใช่ว่าพยายามไปแก้ที่ปัจจัย ที่ธรรมชาติ เช่นไม่ให้มีฝนตก ไม่ให้มีแสงสว่าง ไม่ให้มีอุณหภูมิพอเหมาะ หรืออื่นๆ ถ้าทำอย่างนั้น เราจะเหนื่อยเปล่าๆ
เมื่อเราได้เห็นได้ยินอะไรแล้ว ให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา เพื่อพิจารณาดูที่เหตุ ตรงที่รับอารมณ์ ตรงที่มีความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ แล้วกำหนดรู้ ให้เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็จบ ไม่เกิดเป็นปัญหา ไม่เกิดทุกข์ พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง
ความรู้สึกนั้นเป็นของที่ไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราควรระมัดระวังจิตที่นึกคิดทะยานอยาก จนเป็นตัณหาขึ้นมานี้ให้ดี ถ้าเราควบคุมจิตได้ ตัณหาก็จะไม่เกิด ตัณหาเกิดจากเหตุภายในของตัวเอง เมื่อเกิดอารมณ์ ก็ให้รีบกำหนดรู้ เป็นสักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้เห็น เป็นอารมณ์ที่หนึ่ง
ถ้าไม่สามารถหยุดอยู่ในอารมณ์ขั้นนี้ได้ จิตก็จะปรุงแต่งไปเป็นอารมณ์ที่สอง คือ เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ เป็นเวทนาขึ้นมา และถ้าไกลออกไปจากนี้อีกก็จะเป็นอารมณ์ที่สาม เกิดเป็นความนึกคิดทะยานอยาก
เพื่อจะไม่ให้เกินอารมณ์ที่สามออกไปอีก คือ แม้จะนึกคิดทะยานอยากไปอย่างโน้นอย่างนี้ ก็หยุดเอาไว้เสีย ไม่ยึดถือเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งเป็นอุปาทานขึ้นมา อย่างนี้ก็จะยังไม่เกิดทุกข์ เรียกได้ว่ามีใจเป็นศีล ใจเป็นธรรม มีจิตใจที่เข้าถึงอริยสัจ มีความตั้งใจดี ตั้งใจถูก หรือว่าคิดถูกนั่นเอง
คำว่า “คิดถูก” นี้ ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดอารมณ์ครอบงำจิตใจของตัวเองแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะคิดให้ถูกได้ เราจึงต้องปฏิบัติจนเกิดปัญญา เห็นโทษของกิเลสในตัวเองนั่นแหละ จึงจะคิดถูกได้อย่างแท้จริง
สำหรับอาตมานั้น ปัจจุบันบวชมาได้ ๑๖ พรรษาแล้ว (พ.ศ. ๒๕๓๔) ในพรรษาที่ ๔ นั้น หลวงพ่อชายังแข็งแรงดีอยู่ ท่านส่งอาตมาไปจำพรรษาที่วัดถ้ำแสงเพชร อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ในปัจจุบัน) ช่วงนั้นถือว่ายังบวชใหม่ๆ ศรัทธาก็เต็มที่ สนใจการปฏิบัติทุกรูปแบบ เช่น อดอาหาร ฉันแต่น้ำฝนอย่างเดียวเป็นเวลา ๓๐ วัน เพื่อปรารภความเพียร เป็นต้น การปฏิบัติอย่างนี้ก็ได้ประสบการณ์แปลกๆ หลายอย่างเหมือนกัน แต่ที่มีประโยชน์มากที่สุด คือ ได้เห็นอารมณ์เรื่องอาหารอย่างชัดเจน
ตามธรรมดาเมื่อเราเกิดอารมณ์ หรือเกิดตัณหาทะยานอยาก ก็มักจะเกิดความคิดเป็นมโนภาพขึ้นในจิตใจ โดยถือว่าเป็นความสุขของเรา เช่น เมื่อหิวข้าว ก็คิดไปตามตัณหา โดยคิดเรื่องอาหาร อย่างไหนอร่อย ร้านไหนทำอร่อย เป็นต้น ถ้ามีเพื่อน ก็พูดคุยกันถึงเรื่องเหล่านี้อย่างมีความสุข
เมื่อเราคิดเรื่องอาหาร ร่างกายของเราก็ผลิตน้ำย่อยออกมา ทำให้แสบท้อง เกิดความทุกข์ทางกายและทางใจเพิ่มขึ้นมาอีก แต่เมื่อไม่คิดก็ไม่เป็นอะไร
นี้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความคิดนี้มีโทษ ความคิดนี้เป็นสมุทัยคือ เหตุให้เกิดทุกข์ ทั้งทางกายและทางใจโดยแท้
เมื่อใดที่ยังไม่คิดก็ไม่เป็นไร ต่อเมื่อคิดเท่านั้น ถึงจะเป็นทุกข์ จึงทำให้รู้ว่า การคิดตามตัณหานี่เอง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เลยกลัวความคิดของตัวเอง พอกลัวมากๆ ก็ส่งผลให้สติว่องไว และปัญญาคมกล้าขึ้น จนกระทั่งตัดได้เลย คือนึกเมื่อไรก็ตัดได้เมื่อนั้น มีลักษณะรู้เท่าทันอารมณ์ในช่วงนั้น แต่ก็เฉพาะเรื่องอาหาร เรื่องอย่างอื่นยังเฉื่อยชาอยู่ เพราะจิตยังไม่เห็นโทษของกิเลส
การรู้จักสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองนี้ จึงสำคัญมาก ทำให้เกิดปัญญา เป็นการพิจารณาใคร่ครวญธรรมะขึ้นมา และถ้ามีความพากเพียรในการเจริญสติ สัมปชัญญะ ก็จะเกิดกำลังในการรู้เท่าทันอารมณ์ขึ้นมาเอง
เมื่อกำลังโกรธ เรารู้อยู่ว่าไม่น่าจะโกรธ
แต่บางทีสอนใจตัวเองอย่างไร ก็ไม่หายโกรธ
เหตุที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะรู้อยู่ แต่ยังรู้ไม่ทัน รู้ไม่เท่าความจริงรู้เท่า-ทันอารมณ์
การดูอารมณ์นี้ เราจะต้องดูให้รู้เท่าทันอารมณ์ด้วย ที่ว่า รู้เท่าทัน นี้ มีความหมายลึกซึ้ง คือ รู้ทันอารมณ์เท่านั้นยังไม่พอ ต้อง รู้ทัน แล้วก็ รู้เท่า อารมณ์ด้วย
รู้เท่า เป็นเรื่องของปัญญา รู้เท่าตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้มีโทษ เป็นของไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หรือ เอาจริงเอาจังจนเกิดเป็นตัณหาอุปาทานขึ้นมา
ปัญญานี้เปรียบประดุจดาบ สามารถตัดทำลายต้นตอของปัญหาได้ เหมือนกับว่า มีขโมยเข้ามาในบ้านของเรา เรารู้ทันแล้ว แต่บางทีก็ยังจับตัวไม่ได้ เพราะเขามีกำลังมีอาวุธมากกว่า
เราจึงต้องมีอาวุธที่เหนือกว่าเขา จึงจะจับเขาได้ อารมณ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่า ก็จัดการได้ถูกวิธีโดยไม่มีปัญหา การเผชิญหน้ากับอารมณ์นั้น สติกับปัญญา ต้องทำงานร่วมกัน จึงจะเกิดผล
โดยสรุปแล้ว ในการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์ที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจก็ตาม ให้เรากำหนดรู้อารมณ์นั้น โดยมีสติรู้ทัน มีปัญญารู้เท่า ว่าสิ่งเหล่านี้มีโทษ ยึดถือเข้าไปแล้วเป็นอันตราย เป็นทุกข์ในภายหลัง เมื่อจิตรู้อย่างนี้แล้ว จิตก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นไปเอง
ตรงตามพุทธประสงค์ว่า “เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺ สนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา” ผู้ใดรู้จักควบคุมจิตของตน ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงแห่งมาร
ด้วยการปฏิบัติดังนี้เอง ที่จะเป็นการสร้างเหตุชักนำตัวเรา ให้ไหลไปสู่กระแสธารแห่งธรรมะ มีสภาวะจิตที่อยู่เหนืออารมณ์ สามารถอยู่ในโลกได้อย่างชนิดที่ไม่โดนเขี้ยวของโลกขบกัด และประสบความสงบสุขในชีวิตอย่างยั่งยืนยาวนาน
« « Prev : พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
Next : บทเรียนจาก Star Trek » »
3 ความคิดเห็น
ความคิดไม่ดีเป็นพิษเป็นโทษ
คิดในทางดีไว้ก่อน ทบทวน ทบต้น ทบดอก นะโยม
มีธรรมะ แต่ไม่ธรรมโม ไม่ทำไม ก็เหมือนไม่มีอะไร
ดื้อตาใส ใช้แว่นยี่ห้อไหนก็ยาก
ลำบากกายก็เรื่องหนึ่ง ลำบากใจก็เรื่องหนึ่ง
2 แรงบวกก็ยิ่งยุ่ง ยุ่งเหยิง ยุ่งชะมัดญาติ ยุ่งๆๆๆ
ไม่ตายง่ายๆเหมือนยุงถูกไบก้อน
จิตก็เหมือนยุง มีมุ้งกางก็ว่าดี
แต่ผีตองเหลืองเมืองน่านไม่มีทั้งมุ้งและไบก้อน แต่ก็ไม่เป็นโรคไข้เลือดออก
รึว่ายุงไม่กัดผีตองเหลือง
รึว่าผีตองเหลืองมีวิธีป้องกันยุงที่เราไม่รู้จัก
เป็นไปได้ไหมสถานการบังคับ คับขัน จะชวนให้ใส่ใจเรื่องนิวรณ์มากขึ้น
ง่วงแล้ว..ไม่มียุงกวน แต่ก็มีเรื่องอื่นกวนอยู่ร่ำไป เพราะไม่เด็ดขาดวิธีอุ้มงู หรือจับหางงู
เรื่องที่ค้างคาใจ ขอฝากไว้ที่ อิ อิ ..
ตามอายาจนสูตรในพระไตรปิฎก เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงเห็นว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้น ลึกซึ่งจนยากคนที่มีกิเลสทั้งหลายจะเข้าใจ ทรงดำริจะไม่แสดงแก่ใคร
ทุททโส ทุรานุโพโธ สฺนโต ปณีโต
อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวทนีโย
อาลยสมุทิตา อาลยรามายโข
ปชาย อาลยรตาย อาลยมุทิตาย
ทุททฺสํ อิทํ อิทปฺปจฺจยตา ปฏิจฺจสมุปฺปาโท
เห็นยาก รู้ตามยาก สงบ ประณีต
หยั่งไม่ได้ด้วยตรรกะ ละเอียด บัณฑิตเท่านั้นที่พึงรู้
หมู่สัตว์นี้ยินดีในอาลัย(กิเลส) สนุกในอาลัย
หมกมุ่นในอาลัย การที่หมู่สัตว์ผู้ยินดี สนุก หมกมุ่น
อยู่ในอาลัย จะเห็น(เข้าใจ)ธรรมะ คือ
ปฏิจจสมุปบาท (หรือ) อิทัปปัจจยตานี้เป็นไปได้ยาก
สหัมบดีพรหม มาอาราธนาพระพุทธองค์ให้เทศนาโปรดสัตว์ (ต่อไปเมื่อทำบุญทำทาน ก็อย่าลืมถวายกุศลแก่สหัมบดีพรหมด้วยนะครับ) พระพุทธองค์เปรียบหมู่สัตว์เหมือนบัว =3= เหล่า [อุบล ปทุม บุณฑริก] บัวทั้งสามประเภทต่างเจริญงอกงามได้ ทุกคนเป็น “เวไนยสัตว์” (ฝึกได้ สั่งสอนได้) ทั้งนั้น
บันทึกนี้เป็นเรื่องทุกข์ และทางดับทุกข์ครับ
ไม่ดีเป็นทุกข์ แต่ดีก็เป็นทุกข์ในอนาคต(เมื่อ”ดี”เปลี่ยนแปลงไปตามโลกธรรม) ความสุข/ความพอใจก็ไม่จีรังครับ
สาธุ
สาธุ
สาธุ
ขอให้ทุกท่านสามารถ ก้าวจากปริยัติ ไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล มีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปครับ