บทเรียนจาก Star Trek

อ่าน: 5175

Star Trek เป็นหนังชุดแบบ SciFi ในโทรทัศน์ เริ่มสร้่างในปี 1966 มีทั้งหมด 726 ตอน และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ต่อมาอีกสิบชุด (ชุดที่ 11 มีกำหนดฉายเดือนธันวาคม 2551) มนุษย์ชาติใน Star Trek ตามความคิดของ Gene Roddenberry ผู้สร้าง ค่อนข้างจะเป็นอุดมคติ และมีโครงสร้างทางสังคมที่แตกต่างกับสิ่งที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากสังคมทุนนิยมที่เห็นต่อประโยชน์ส่วนตนก่อนสิ่ง อื่นทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักคิด นักฝัน เสรีชน ติด Star Trek ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก — อาจจะเป็นวิธีหนีไปจากโลกของความเป็นจริงที่เผชิญอยู่ — พวกนี้เรียกตัวเองว่า Trekkies

“Space, the final frontier. These are the voyages of the starship Enterprise. Its five-year mission: To explore strange new worlds. To seek out new life and new civilizations. To boldly go where no man has gone before.

เรื่องราวของ Star Trek เริ่ม หลังจากสงครามโลกครั้งที่สาม จากการที่ Zephram Cochrane ค้นพบวิธีเดินทางที่เร็วกว่าแสงในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 21; ชาว Vulcan ได้พบ warp signature (ร่องรอยของอนุภาคซึ่งใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์เข้าสู่ความเร็วแสง) และได้เริ่มติดต่อกับมนุษย์อย่างเปิดเผย

ต่อมาในศตวรรษที่ 22 ชาว Vulcan มนุษย์ และเผ่าพันธ์อื่น ก็ได้ร่วมกันตั้ง สหพันธ์แห่งดาวเคราะห์ the United Fedreation of Planets หรือเรียกสั้นๆ ว่า the Federation หรือ สหพันธ์ฯ ; การปฏิบัติการของตัวละครที่อยู่ในสหพันธ์ เป็นไปตาม Prime Directive ซึ่งกล่าวไว้ว่า The Prime Directive dictates that there can be no interference with the internal affairs of other civilizations. …ฟังดูเหมือนอาเซียนยังไงก็ไม่รู้!

ถึงแม้ว่าตัวละครในฝ่ายสหพันธ์ฯ ตามจินตนาการของ Roddenberry จะดูเป็นอุดมคติ มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายไม่ใช่หรือ หากจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากหนัง

สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครเป็นอย่างไร/เป็นอะไร แต่เป็นที่หลักศีลธรรมและโครงสร้างทางสังคมที่สนับสนุนให้รางวัลแก่สมาชิก ของสังคมให้ดำรงตนอยู่ในอุดมคติได้ โดยที่แต่ละคนยังเป็นปัจเจกชนที่แตกต่างกัน

ในองค์กรก็คล้ายๆ กับ Starship Enterprise บุคลากรต่างปฏิบัติหน้าที่ที่แตกต่างกัน หากทุกคนคิด/ทำ/เป็นเหมือนกันหมด ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมีคนจำนวนมากมารวมกัน เพราะว่าลูกเรือของ Enterprise ไม่ใช่สาวโรงงาน

Enterprise มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน ว่า “To explore strange new worlds. To seek out new life and new civilizations. To boldly go where no man has gone before.ซึ่งนั่นกลับเป็นความไม่ชัดเจนแบบแฟนละครในประเทศสาระขัณฑ์ชอบคาดหวัง

ความชัดเจนในที่นี้เป็นเรื่องของทิศทางของเป้าหมาย (direction) ไม่ใช่ที่หมาย (destination)

คุณธรรม

สิ่งแรกที่สังเกตเห็นได้ คือตัวละครหลัก (ลูกเรือ Enterprise) ประพฤติตนตามครรลองคลองธรรม พวกเขาดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมายปลายทาง ทำงานเพื่องาน กล้าหาญ ซื่อสัตย์ มีเกียรติ รักความยุติธรรม และเสียสละตนเพื่อส่วนรวม เขาไม่ถือประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ของส่วนรวม

คุณค่าที่เขาเหล่านั้นยึดถือ เป็นคุณค่าในอุดมคติที่แสดงออกมาในรูปที่คนแสดงออกได้ และเป็นภาพสะท้อนของสังคมอันแข็งแกร่ง แม้ว่าบางทีตัวละครแต่ละตัวอาจมี “อาการหลุด” ออกจากกรอบคุณธรรมบ้างเช่นเดียวกับคนทั่วๆไป แต่ก็สามารถ “กลับมาได้เอง” ในเวลาไม่นาน

คุณธรรมหลักใน Star Trek มีอยู่สามอย่าง คือความถูกต้องตรงไปตรงมา (Data) ความรักและความเป็นมนุษย์ (Troi) และความกล้าหาญเกียรติศักดิ์ศรี (Worf) Star Trek ในแต่ละตอนผสมปนเปความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรมทั้งสามให้ผู้ชมได้ชั่งน้ำหนักเอาเอง

Riker มีทั้งความตรงไปตรงมา ความรักความอบอุ่นแบบมนุษย์ และความกล้าหาญ แต่คุณลักษณะเหล่านี้อยู่ในระดับที่สมดุลย์กว่าใน Picard ซึ่งเป็นคนแบบที่ Star Trek เสนอให้เป็นต้นแบบของมนุษย์ในอุดมคติ

สำหรับเผ่าพันธ์อื่นๆ ก็มีลักษณะเฉพาะที่สะท้อนสังคมและคุณค่าที่แตกต่างกันออกไป เช่น ชาว Vulcan ให้คุณค่าแก่ความเป็นจริงและตรรกะ ชาว Betazoid เน้นเรื่องความรักและความเข้าใจถึงอารมณ์ความคิดของผู้อื่น ส่วนชาว Klingon ให้คุณค่าแก่ความกล้าหาญและเกียรติ

คุณธรรมเหล่านี้ แสดงด้วยตัวละครตั้งแต่ชุดแรก คือ ความจริง/ตรรกะ (Spock) ความรัก/ความรู้สึกโอบอ้อมอารี (McCoy) และความกล้าหาญ (Kirk)

เป้าประสงค์

ตัวละครใน Star Trek ทำงานเพื่องาน เพื่อปรับปรุงตนไปสู่คนที่ดีขึ้น แต่ละคนมีองค์ประกอบส่วนตัวระหว่าง ความหลงไหล ความชำนาญพิเศษ ความต้องการ และเป้าหมาย ทำให้ทุกคนแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อนำคนเหล่านี้มารวมกัน กลับเป็นองค์ประกอบที่เสริม และปิดจุดอ่อนของกันและกัน

พวกเขาไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน แม้ว่าในหลายตอนมีการอ้างถึงหน่วยทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Federation Unit ก็ตาม แต่เงินเป็นเรื่องไม่สำคัญ เพราะว่าการสะสมเงินและสิ่งของไม่ได้รับการยกย่องตลอดเรื่อง สถานะทางสังคมขึ้นอยู่กับผลสำเร็จและคุณค่าของผลงาน

แม้ว่าใน Star Trek จะมี “replicator” ซึ่งสร้างวัตถุ ทำให้ความต้องการทางวัตถุของตัวละครหมดไป ในเมื่อไม่มีปัญหาเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของชีวิตอีกต่อไป ตัวละครก็มีสิทธิที่จะขี้เกียจไม่ทำอะไรเลยก็ได้ แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้น เขาทั้งหมดกลับทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อเป้าหมายของส่วนรวม

หากท่านเป็นตัวละครใน Star Trek ล่ะ ท่านจะเลือกทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างนั้นหรือไม่?

ความสามารถ ทักษะ และการปฏิบัติ

ตัวละครใน Star Trek มีความสามารถ และมีทักษะสูงเป็นอย่างยิ่ง แต่ละคนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และของผู้อื่น พัฒนาจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของตน ทำให้เหมาะกับงานที่ตนรับผิดชอบ แต่ละคนไม่ได้ต้องการจะเป็นคนอื่นเลย เพราะว่าคนแต่ละคนแตกต่างกัน

สถานะทางสังคมขึ้นกับความสามารถและผล งาน (ซึ่งสะท้อนอยู่ในตำแหน่ง) ไม่มีการแบ่งแยกตามอายุ เพศ เผ่าพันธ์ ผลงานมีค่าสูงสุด และผู้ที่มีผลงานและความรับผิดชอบก้าวหน้าได้เสมอ

โครงสร้างทางสังคมแบบนี้วัดที่ผลงาน ผู้ที่ทำได้เหนือความคาดหมายประเภทดาวรุ่ง เช่น Wesley Crusher ลูกหมอ Crusher ได้รับการสนับสนุนแม้จะอายุน้อยแทนที่จะถูกต่อต้าน สะกัดดาวรุ่งด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา (ความกลัวว่าจะมีคนมาแซงหรือตนจะสูญเสียความสำคัญ)

การรู้จักตนและความนับถือตนเอง

ตัวละครทั้งหมด มีความภาคภูมิใจ (self-esteem) ในตัวเองสูง รู้ตัวว่ามีค่าต่อส่วนรวมไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่คิดลอกแบบใครเพราะตระหนักว่าตัวก็มีดีเหมือนกัน ถึงชีวิตก็มีความสุขสบายแต่กลับไม่มีใครเมาที่นอน ขี้เกียจ-ไม่ทำงาน

ต่างคนต่างมีแรงผลักดันของตัวเองเพื่อพัฒนาตนให้เป็นคนที่มีค่ายิ่งขึ้นต่อส่วนรวม ไม่จะเป็นต้องอิจฉาริษยาใคร เพราะว่าแต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน และต่างพึ่งพากัน โดยไม่ล้มทับกัน ไม่กล่าวโทษผู้อื่นสำหรับเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นกับตน

ช่างต่างกับสังคมสารขัณฑ์เสียเหลือเกิน ที่เป็นสังคมชี้นิ้วให้คนอื่นทำแต่ตัวเองกลับไม่ทำอะไร ขี้เกียจ อิจฉาตาร้อนกลัวว่าคนอื่นจะได้ดี  ข้อแม้เยอะ มีเหตุผลต่างๆ นานาที่จะไม่ทำ ไม่เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติ

ความเคารพนับถือกันและกัน

สังคม Star Trek แยกแยะงานเป็นงาน เวลาพักทุกคนเป็นเพื่อนกัน ไม่มีฟอร์มอีกแล้ว เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวมองเห็นแก่นแท้ของกันและกัน ไม่ว่าจะในเวลางานหรือนอกเวลางาน ต่างคนต่างนับถือกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง และยอมรับเพื่อนได้แบบที่เขาเป็น

ความเป็นระเบียบ

ห้องพักและสถานีที่ทำงานของทุกคนเป็นระเบียบตลอดเวลา ทุกอย่างถูกจัดตามการใช้งานที่สะดวกที่สุด ไม่มีความหรูหราฟุ่มเฟือย

แม้ว่าจะสังเคราะห์อาหารได้จาก replicator แต่ก็ไม่มีใครอ้วน เพราะความมีมากเกินไป ไม่ได้ช่วยให้ใครมีค่ากว่าคนอื่นอยู่ดี

ความไม่จำเป็นในการเสริมสร้างภาพลักษณ์และการไม่มีการตลาด

แม้ว่า Star Trek จะเป็นเรื่องในจินตนาการ แต่ตลอดทั้งเรื่อง กลับไม่พบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง หรือมีโฆษณาแอบแฝงใดๆ เหมือนรายการโทรทัศน์สาระขัณฑ์

สังคม Star Trek เป็นสังคมแห่งการปฏิบัติ ดีหรือไม่ดีก็วัดกันตรงนั้นครับ ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์โอ้อวดกัน ถ้าดีจริงแต่คนอื่นไม่เห็น แบบนั้นดีจริงหรือครับ

ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง

Star Trek เป็นเรื่องในจินตนาการ เป็นการเสนอรูปแบบของสังคมอุดมคติแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อน

ท่านอ่านบันทึกนี้ แล้วท่านได้อะไรบ้าง?

ถ้าเปลี่ยน Enterprise เป็นหน่วยของท่าน และเปลี่ยนลูกเรือเป็นพนักงาน เปลีั่ยนองค์กรเป็น Star Fleet หรือเป็นสหพันธ์ฯ จะใกล้เคียงกันขนาดไหน; ท่านมีความต้องการให้องค์กรของท่านเป็นอุดมคติขนาดไหน และท่านจะต้องทำอะไร-อย่างไรเพื่อให้เกิดลักษณะแบบนั้นขึ้นบ้าง แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ คำบ่นความโกรธขึ้งทั้งหลายที่ท่านมีต่อองค์กรและเพื่อนร่วมงาน จะทำให้อะไรดีขึ้นมาหรือครับ?

แล้วถ้าเปลี่ยนกรอบใหญ่เป็นประเทศสาระขัณฑ์ล่ะครับ ประเทศนั้นจะดีขึ้นได้เองเพียงแต่ประชาชนแสดงความปรารถนาดีและไม่ต้องทำอะไร อย่างนั้นหรือครับ?

« « Prev : รู้ทันจิตแบบเข้าใจง่าย

Next : ดิน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "บทเรียนจาก Star Trek"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.19042205810547 sec
Sidebar: 0.15384101867676 sec