พื้นที่ของ “มือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ”

อ่าน: 3496

คำว่ามือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญนั้น เป็นมือสมัครเล่นที่มีความเชี่ยวชาญ Expert Amateur เป็นผู้ที่มีความสนใจใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และลงมือทำด้วยตนเองจนเกิดความเชี่ยวชาญ แม้ไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรง แต่ก็ศึกษาเอาเองด้วยความสนใจส่วนตัวได้

ในโครงสร้างภาษานั้น ภาษาไทยจะวางคำหลักไว้ข้างหน้า แล้วคำขยายไว้ข้างหลัง เช่นดอกไม้สีชมพู หมายถึงดอกไม้ที่มีสีชมพู เช่นเดียวกัน มือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ ก็หมายถึงมือสมัครเล่นที่มีความเชี่ยวชาญจากความสนใจใฝ่รู้ ฝึกฝนมาด้วยตนเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติ; ต่างกับภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่มีรากมาจากภาษาละตินที่วางคำหลักไว้ข้างหลัง Pink Flower หมายถึง Flower ที่มีสี Pink หรือว่า Expert Amateur หมายถึง Amateur ที่มีความเป็น Expert ในเรื่องที่เขาเป็นครับ

ชีวิตคนเราไม่ได้มีด้านเดียว เช่นเรียนบัญชีมา ก็ไม่ได้เป็นนักบัญชีอย่างเดียว บางทีทำกับข้าวเก่ง บางทีขายประกัน-ขายตรงเป็นรายได้เสริม บางทีถ่ายรูปเก่ง ฯลฯ

ความคิดที่ว่าคนเราจะต้องเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่ง เป็นแนวคิดในยุคอุตสาหกรรมก้าวกระโดด ซึ่งนั่นเริ่มในช่วงฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อหกสิบกว่าปีมาแล้ว ประเทศที่ร่วมสงครามไม่ว่าชนะหรือแพ้ ต่างเจ๊งด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องเร่งการผลิตออกมา กระจายสินค้าไปทั่ว อวดอ้างต่างๆ นานา เป็นจุดเริ่มต้นของ “การตลาดยุคใหม่”

แต่บางทีคนเราก็แยกไม่ออกระหว่างสินค้าอุตสาหกรรมกับความเป็นมนุษย์

คนเราเป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันด้วยความแตกต่าง เพราะว่าหากทุกคนทำและเป็นเหมือนกันหมด ทุกคนจะตายหมดครับ สังคมมนุษย์แบ่งกันทำ ไม่ใช่ผลัดกันทำ อย่าไปคาดหวังให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา อย่าไปบังคับให้ใครเป็นอะไรที่เขาไม่เป็นเลยครับ มันฝืนธรรมชาติ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติต่อเขาแบบเพื่อนมนุษย์ได้ ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา อย่าทำให้ตัวเองทุกข์กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้นะครับ

ถ้าปรารถนาดีต่อคนที่ไม่รู้จริงๆ ก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นไปเรื่อยๆ ซิครับ ชี้ทั้งเหตุทั้งผล ยกตัวอย่าง ชี้ช่องทาง ให้ความจริงแต่ไม่ต้องให้ความเห็น (แยกแยะ ให้ออกด้วย) แล้วถ้ามันไม่เป็นไปแบบที่เราคาดหวัง ก็ไม่เห็นต้องไปเสียใจอะไรนะครับ — การพิพากษาคนอื่นที่เราไม่รู้จักว่าห่วย ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้อะไรเพิ่มขึ้นมาเลย — มันก็แค่ความพยายามยกตัวเองให้สูงขึ้น โดยการกดคนอื่นลงเท่านั้นเอง

– จากบันทึก [ไม่โง่]

อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์และการแบ่งปันกันในสังคมมนุษย์นั้น เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นอยู่กับจิตใจของแต่ละคนเอง บางคนรู้ก็ไม่แบ่งเพราะกลัวคนอื่นได้ดีเท่าตัว (คือคิดแบบคนมี self-esteem ต่ำ) บางคนไม่แบ่งเพราะกลัวคนอื่นรู้ว่าไม่ได้รู้อะไรจริง ฯลฯ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การแบ่งปันหรือไม่แบ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลนะครับ มันไม่ใช่สิ่งที่จะไปบังคับให้คนอื่นทำเหมือนตัวเรา ถ้าจะแบ่ง เขาแบ่งเอง

อยากชี้ให้ดูตัวอย่างของมือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญสักสองสามอย่าง

เมื่อสี่ปีก่อน ทีมโอเพ่นแคร์ตามไปเชียร์คณะผู้แทนไทยในการประชุมเรื่อง Disaster Communications ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก เลขาธิการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ในเวลานั้น (HS1WFK) ที่ตามไปเชียร์นั้น เป็นเพราะ HS1WFK อยู่ในทีมโอเพ่นแคร์มาตั้งแต่ต้นครับ — ตอนนั้นผมเป็นซีอีโอบริษัทจดทะเบียนอยู่ แม้จะวางระบบวางแนวทางทุกอย่าง ผมก็ไม่สามารถปลีกเวลามาทำเรื่องนี้เองได้ทั้งหมด เนื่องจากแพงเกินไป

ครึ่งหลังของวันที่สอง มีการนำเสนอเรื่องเครือข่าย TARES (Thailand Amateur Radio Emergency Services) โดยเลขาธิการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น ว่าเป็นเหมือนของเล่น หรือเป็นของมือสมัครเล่น ที่จริงแล้วกิจการวิทยุสมัครเล่น เป็นงานอดิเรกของมืออาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ และรู้จักกฏระเบียบ ตลอดจนมารยาทในการใช้เป็นอย่างดี (สไลด์ 3) กิจการวิทยุสมัครเล่นได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติทั่วโลกตลอดมา (สไลด์ 16) และในช่วงที่เกิดสึนามิ ก็ได้เกิดเครือข่ายข้อมูลขึ้นทั่วโลก (สไลด์ 7-13) ในส่วนของการเตือนภัย เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สามารถแจ้งข่าวถึงคนล้านสองแสนคนภายในสิบห้านาที (สไลด์ 20-24) — [ประเด็นจากการประชุม ITU/ESCAP เรื่อง Disaster Communications ตอนที่ 1]

นอกจากนั้น ก็ยังไปเชียร์ เนคเทค/สวทช. ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ อุทกภัย+ดินถล่ม ต.น้ำก้อ เพชรบูรณ์ปี 2544 สึนามิ 2547 อุทกภัยใหญ่+ดินถล่มปี 2549

ตอนบ่าย อาจจะเรียกได้ว่า เป็นช่วงไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้ทีเดียว ในช่วง session 8 นี้ มีการนำเสนอเรื่อง Emergency and Education Communication Vehicle (EECV) โดย สวทช. รถ EECV เป็นการต่อยอดจากงานวิจัย RWBA (Rural Wireless Broadband Access อ่านว่าเราบ้า) ที่ทำโดยเนคเทค เพื่อให้บริการทั้งเสียงและข้อมูลในพื้นที่ประสบภัย เพื่อผู้ประสบภัย และการจัดการการบรรเทาทุกข์

เว็บไซต์รวมงานที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการภัยพิบัติของเนคเทค/สวทช. อยู่ที่ emergency.thai.net — [ประเด็นจากการประชุม ITU/ESCAP เรื่อง Disaster Communications ตอนที่ 2]

ถ้าถามว่าเป็นหน้าที่หรือเปล่า มันก็ไม่ใช่หรอกครับ แต่ทำ! ทำแล้วได้อะไร ไม่ได้ในรูปเงินหรือกล่องหรอกครับ ทำแล้วใครจะเห็นหรือไม่เห็นก็แล้วแต่นะ แต่คนทำรู้ว่ามีประโยชน์ต่อผู้อื่น แล้วได้ลงมือทำจริง ไม่มีใครบังคับหรือขอให้ทำ ต่างคนต่างตัดสินใจได้เอง

ที่ไม่ต้องการพบพานเลย คือมีคนมาสั่งแบบที่ไม่รู้ว่าเราทำอะไรได้ดี ทำอะไรไม่ได้ ไม่รู้ข้อจำกัดของเรา แต่จะเอาแบบที่ตัวต้องการเท่านั้น — แหม ถ้าสิ่งที่ต้องการเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด+ขาดไม่ได้เลย ทำไมไม่ลงมือทำบ้างล่ะครับ เมื่อทำเองแล้วคงไม่มีเวลามาว่างสั่งใครหรอกนะ อิอิ

ลองดูเว็บไซต์ Instructables.com เป็นเว็บของ Opensource Hardware ผู้ที่อยากแบ่งปัน สามารถลงมือเขียนวิธีการเรื่องอะไรก็ได้ เมื่อเขียนแล้ว จะมีผู้วิจารณ์เพื่อที่ว่าจะปรับปรุง ต่อยอด กลายเป็นสิ่งที่ดีกว่า เรียกว่าเป็นการร่วมกันเรียนรู้ได้

Instructables is a web-based documentation platform where passionate people share what they do and how they do it, and learn from and collaborate with others. The seeds of Instructables germinated at the MIT Media Lab as the future founders of Squid Labs built places to share their projects and help others. Read more about the history…

มี Opensource Hardware แล้ว ก็ต้องมี Opensource Software แน่นอนครับ การใช้งานคอมพิวเตอร์และไอทีที่กว้างขวางอยู่ในปัจจุบันนี้ อยู่บนแนวคิดของการเปิดเผย ร่วมกันพัฒนา ร่วมกันใช้ ต่อยอด ปรับปรุง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกินความซับซ้อนของสมองมนุษย์กลุ่มเล็กๆ จะทำไหว — ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่า commercial software จะเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ดี แต่ผมคิดว่าแนวร่วมกันเรียนรู้ ร่วมกันต่อยอด จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากกว่า และโตได้เร็วกว่าครับ

งานอาสาสมัคร ก็เป็น Opensource Concerted Efforts การยอมรับความแตกต่างในความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ของกันและกัน เป็นการให้เกียรติกันสูงสุดแล้ว

แต่สิ่งที่เรามักมองมือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ค่อยออก เพราะพวกนี้ มักจะทำเครื่องมือ ที่ให้ผู้อื่นมาต่อยอดอีกทีหนึ่ง เป็นการสร้าง enabler เพื่อมาปลดล็อค ระเบิดคอขวด — ที่มันเกิดสถานการณ์อย่างนี้ขึ้น เพราะว่ามือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ จะเข้ามาคลุกวงในเป็นจังหวะ แต่มักมองปัญหาจากวงนอก ไม่เมาหมัด จึงมีความคิดอิสระ และมีมุมมองที่ไม่ติดอยู่กับข้อจำกัด

เล่าเรื่องดึกดำบรรพ์ให้ฟังอีกเรื่องก็แล้วกันครับ เมื่อเกือบสามสิบปีก่อน IBM PC เปิดตัวในปี 1981 บริษัท Roland ผลิตเครื่องดนตรีหลายอย่าง แต่เค้าก็ไปร่วมกับผู้ผลิต synthesizer หลายแห่ง กำหนดมาตรฐาน MIDI ออกมาในปี 1982 เพื่อให้ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน สามารถควบคุม synthesizer ได้ (ในสมัยนั้น มีแต่ synthesizer ที่ต่อกับ MIDI เท่านั้น แต่มีไมโครคอมพิวเตอร์หลากหลายยี่ห้อ)

MIDI Controller ตัวแรกของโลกนั้น Roland เป็นผู้ผลิตในปี 1984 เรียกว่า MPU-401 ผมไปหาตัวแทนจำหน่ายขอซื้อ เค้าบอกว่าไม่มี ไม่รู้จัก (ผมรู้จักเพราะผมสั่งแมกกาซีนมาจากต่างประเทศ) ก็เลยเล่าเรื่องที่รู้มาให้ฟัง ไปครั้งที่สอง ก็ยังไม่มีขาย แต่คราวนี้ผมเอาแมกกาซีนไปด้วย ก็เลยให้เขาสั่งเข้ามาให้ ไปครั้งที่สามไปรับของ ปรากฏว่าตัวแทนจำหน่ายกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ไปแล้วครับ พยายามสอนผมอีกแน่ะ…ฮา

ถึงตอนนี้ hardware ก็เจ๊งไปแล้ว (ใช้ XT bus หรือที่เรียกว่า ISA) ส่วนซอฟต์แวร์ก็หาเครื่องใช้งานไม่ได้ เพราะว่าต้องใช้กับ MS-DOS 2.0 ใช้กับ Windows ไม่ว่าจะรุ่นอะไรยังไม่ได้เลยครับ

MPU-401 ทั้งใหญ่และแพง แต่ได้รับความนิยมเนื่องจากความบึกแถมยังเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้หลายแบบ ถ้าไม่มี MPU-401 ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่ก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน

« « Prev : ลดความเสี่ยงจากดินถล่ม?!

Next : เหยียบเพื่อชาติ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "พื้นที่ของ “มือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ”"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10243201255798 sec
Sidebar: 0.14441895484924 sec