เหยียบเพื่อชาติ
เมื่อสองอาทิตย์ก่อน ผมเคยเขียนถึงปั๊มน้ำกู้ชาติ ความคิดตอนนั้นคือน้ำท่วมเป็นวงกว้างมาก มีหลายพื้นที่ที่ท่วมบ้านเรือนประชาชนแบบไม่ได้ตั้งตัว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าฝนจะหยุดตกหรือยัง ถ้าเกิดยืดเยื้อ ก็ต้องมีพื้นที่แห้งไว้อยู่กันบ้าง ผมคิดถึงบ้านเรือนตามริมน้ำ ที่เจอน้ำทะเลหนุนแถมมีน้ำหลากมาจากทางเหนือมาผสมแรง ตั้งตัวไม่ทัน อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะใช้ได้ก็คือเอาไว้สูบน้ำหลังแนวกระสอบทราย ซึ่งมีการรั่วได้บ้าง ใช้ปั๊มมือก็เป็นทางออกในกรณีที่ไม่มีปั๊มน้ำ หรือไม่มีน้ำมัน/ไฟฟ้าสำหรับปั๊มน้ำ
สถานการณ์ในวันนี้ต่างออกไป ถึงแม้น้ำจะยังท่วมอยู่เหมือนเดิม
น้ำท่วมวันนี้เป็นน้ำท่วมขัง จะท่วมอยู่เป็นเวลานาน ถ้าหากไม่รีบเอาน้ำออกจากพื้นที่ ก็จะทำให้ชีวิตชาวบ้านทุกข์ยาก เครียดหนัก — น้ำท่วมขังเกิดขึ้นเพราะขอบแอ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นของแอ่ง หลายครั้งทีเดียวที่ขอบแอ่งนั่นแหละ เป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ดังนั้นหากสร้างปั๊มที่มี head ต่ำ กล่าวคือยกน้ำขึ้นสูงได้เพียงสองเมตร แค่ยกน้ำข้ามขอบแอ่ง (เช่นข้ามถนน) แล้วปล่อยให้ไหลไปตามภูมิประเทศ ก็จะบรรเทาความทุกข์ยากลงได้บ้าง ครั้งนี้เราไม่ต้องการปั๊มแรงดันสูง แต่ต้องการปั๊มที่สูบน้ำออกได้เป็นปริมาณมากๆ
ปั๊มน้ำกู้ชาติใช้กำลังแขน ด้วยสภาพร่างกายของคน แขนทำไม่ได้นานหรอกครับ ดังนั้นจึงเหมาะกับพื้นที่เล็กๆ เช่นห้องชั้นล่าง แต่กรณีน้ำท่วมขังนั้น น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง จะต้องถ่ายน้ำออกเป็นปริมาณมาก
ที่ดีที่สุดนั้น คือถ่ายออกด้วยแรงโน้มถ่วง ซึ่งก็มีปัญหาอีกล่ะ เพราะว่าสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่ง (ถึงได้มีน้ำขัง) แล้วจะถ่ายออกด้วยแรงโน้มถ่วงได้อย่างไร
ถ้าน้ำท่วม 1 ตารางกิโลเมตร สูงแค่เข่า (50 ซม.) คิดเป็นปริมาณน้ำห้าแสนลูกบาศก์เมตร ถ้าต้องยกน้ำนี้ข้ามถนนสูง 2 เมตร ต้องใช้กำลังล้านวัตต์…เอื๊อก… ต่อให้ใช้ปั๊มที่ใช้น้ำมันหรือไฟฟ้า ก็ยังใช้เวลาอีกนานครับ แล้วเนื่องจากน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างมาก ผมคิดว่าต้องหาทางออกที่แต่ละหมู่บ้านพอทำได้เองไม่ยากนัก
แทนที่จะหวังให้ทุกตารางนิ้วแห้งหมด เอาให้พื้นที่อยู่อาศัยแห้งก่อนดีกว่าไหมครับ
ถ้ามีถนนผ่ากลางหมู่บ้านที่น้ำแห้งแล้ว บ้านเรือนตั้งเรียงรายกันอยู่เป็นกระจุกสองฝั่งถนน ยาวสัก 80 เมตร แต่ละฝั่งสร้างคันดินล้อม กว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร สูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมอยู่สักฟุต ดังนั้นแต่ละฝั่งถนน ก็จะมีคันดินล้อมอยู่ข้างละ 800 ตารางเมตร ทีนี้ ถ้าน้ำท่วมอยู่ 1 เมตร คิดเป็นน้ำที่จะต้องสูบออกจากคันดินฝั่งละ 800 ลูกบาศก์เมตร… เออ อย่างนี้พอมีกำลังใจหน่อยนะครับ
ถ้าใช้ปั๊มน้ำกู้ชาติ สูบน้ำออกได้ด้วยอัตรา 172 ลิตร/นาที น้ำ 800 ลูกบาศก์เมตร ก็ต้องใช้เวลาสูบ 77.5 ชั่วโมง สองฝั่งถนนก็เป็น 155 ชั่วโมง (สูบวันละ 8 ชั่วโมง ใช้เวลา 20 วัน!) — แก้ได้ด้วยการใช้ปั๊มหลายตัวครับ แต่ไม่รู้จะมีใครสูบไหวหรือเปล่า เพราะใช้แขนสูบ กินแรงมาก แต่ก็ยังดีกว่านั่งรอไปเรื่อยๆ โดยไม่ทำอะไร
อรัมภบทมายืนยาว ก็เพียงแต่จะบอกว่าคุยกับ @iwhale เมื่อตอนค่ำวันนี้ว่ามีปั๊มอีกแบบหนึ่ง ใช้คนเหยียบ เหมาะกับลักษณะ low head/high volume เรียกว่า treadle pump ครับ — อันนี้ที่จริงก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ครูบาบอกผมให้เขียนนานแล้ว-ตั้งแต่ยังแล้งอยู่เลย แต่ผมก็ไปเขียนเรื่องอื่นตลอดมา จนกระทั่งวันนี้ครับ
มีองค์กรเอกชนเข้าไปในประเทศกำลังพัฒนา เอาความคิดเรื่อง treadle pump ไปเผยแพร่ ใช้สูบน้ำบาดาลจากแหล่งตื้นไปใช้ในการเกษตร และประสบความสำเร็จมากในเนปาล ต่อมาก็เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ในชมพูทวีปและอัฟริกา แต่องค์กรเอกชนพวกนี้ ไม่แจกฟรีหรอกครับ เขาขายในราคาต่ำ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจถึงคุณค่าของน้ำ
ในกรณีน้ำท่วม เราใช้หลักการเดียวกัน ปั๊มน้ำจากผิวดิน ข้ามคันดินเมตรสองเมตร ซึ่งตื้นกว่าสูบน้ำบาดาลเสียอีกดั้งนั้นก็จะไม่กินแรงเท่า หรือว่าถ้ากินแรงเท่ากัน เราก็สูบน้ำออกไปจากพื้นที่ได้ปริมาตรมากกว่า
treadle pump เปลี่ยนน้ำหนักตัวกับคานเป็นกำลังกลในการขยับลูกสูบขึ้นลง ทำให้กระบอกสูบทำหน้าที่เป็นปั๊มน้ำด้วยความช่วยเหลือของเช็ควาล์วสองตัว (ทางน้ำเข้าและทางน้ำออก) เนื่องจากคนมีสองขา ดังนั้นเค้าก็ใช้กระบอกสูบสองอันวางขนานกัน เหยียบซ้ายที-ขวาที จึงได้ปริมาณน้ำเป็นสองเท่าของปั๊มมือซึ่งมีกระบอกสูบเดียว
ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากเราไม่ต้องการความสูงมากนัก ดังนั้นก็จึงสามารถใช้่พื้นที่หน้าตัดของกระบอกสูบใหญ่ขึ้นได้ ทำให้ขนน้ำออกไปได้เป็นปริมาณมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น กระบอกสูบใช้ท่อพีวีซีพื้นที่เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ช่วงชัก 30 ซม. หนึ่งกระบอกสูบสูบน้ำได้ 5.3 ลิตรในแต่ละรอบ ถ้าสองกระบอกสูบ ย่ำซ้าย-ขวาหนึ่งรอบ สูบน้ำได้ 10.6 ลิตร ถ้านาทีหนึ่งย่ำซ้า-ขวาได้ 30 รอบ (ช้ากว่าปั๊มมือ) ปั๊มน้ำได้ 317 ลิตร/นาที — 800 ลูกบาศก์เมตร สองฝั่ง ก็ใช้เวลา 84 ชั่วโมง ซึ่งถ้าไม่ทันใจ ก็เพิ่มจำนวนปั๊มเข้าไปอีก
เด็กก็ใช้ปั๊มแบบนี้ได้ แต่คนที่น้ำหนักตัวเยอะ มาลองเหยียบปั๊มแบบนี้ผลัดละครึ่งชั่วโมง ก็น่าจะเหมาะกว่า — สองแรงมองกันไปมองกันมาก็เทอร์โบได้ครับ สองคนทางซ้าย น้ำหนักรวมกัน 150 กก.
ส่วนที่ต้องแข็งแรงคือคานที่ใช้เหยียบ มีการออกแบบหลายอันที่ใช้เหล็กแต่ก็ไม่จำเป็นหรอกนะครับ มีสองส่วนที่ต้องใช้โลหะคือ แกนหมุนของคานเหยียบ ตรงนั้นรับน้ำหนักคน แล้วอีกจุดหนึ่งคือส่วนที่เชื่อมระหว่างคานกับตัวลูกสูบ อันหลังนี่ใช้โลหะเพื่อจะบังคับให้ลูกสูบเลื่อนขึ้นลงตามคานเหยียบ
ส่วนเช็ควาล์ว ไม่ต้องซื้อครับ ใช้วิธีแบบเดียวกันในบันทึกปั๊มน้ำกู้ชาติได้
ดูไปดูมาแล้ว ต้นทุนการทำกระบอกสูบสองอันบวกกับซื้อส่วนที่เป็นเหล็กที่ต้องใช้ ไม่น่าจะแพงเกินต้นทุนของปั๊มมือหรอกนะครับ แต่ว่าปั๊มน้ำได้มากกว่าเกือบเท่าตัว เบาแรงกว่าเยอะ — แต่ว่าต้องไปแสวงหาส่วนอื่นๆ เอาเองในพื้นที่ ถ้าประกอบเสร็จหมดเลย ก็คงไม่เหมาะจะขนส่ง
« « Prev : พื้นที่ของ “มือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ”
3 ความคิดเห็น
-ยังมีอีกแบบหนึ่งนะครับ
ใช้จักรยานเก่ามาติดเข้ากับปัมท์น้ำคันชัก (ปรกติใช้ไฟฟ้า) ภาคเหนือใช้สูบน้ำบาดาลประจำบ้าน
มีคนหัวแหลมเอาปัมท์เก่าพวกนี้มาดัดแปลง เวลาสูบน้ำก็ขึ้นนั่งปั่นจักรยาน สายพานล้อหลังไปพ่วงกับ
ลูเล่เครื่องสูบน้ำ น้ำก็จะไหลออกมา ถ้าต่อสายยางก็จะมีน้ำพุ่งไปรดต้นไม้
มีหลายโรงเรียนทำปัมท์จักรยานที่ว่านี้ ให้เด็กๆแข่งกันถีบสูบน้ำ/ออกกำลังกาย
สูบน้ำจากบาดาล-จากน้ำท่วมในบ้าน-จากสระน้ำเข้าถังเก็บ
โรงเรียนที่มีสระน้ำ ให้เด็กๆปลูกผัก ทำแปลงเกษตรจะเหมาะมาก
ราคาดัดแปลงประมาณเครื่องละ 1,500-2,000บาท
ถ้าติดตั้งเป็นแถว อาจจะเป็นเครื่องออกกำลังประจำโรงเรียน/หมู่บ้านได้ดี
เป็นเทคนิคง่ายๆ ช่างในหมู่บ้านทำได้ เสียก็ซ่อมเองได้
งานอย่างนี้ ใช้ความรู้มัธยม ให้อาชีวะผลิต จะเหมาะครับ
[...] ได้ไอเดียมาจากความคิดเห็นของครูบาและจากบันทึกสูบน้ำจากแหล่งลึก [...]