หน่วงน้ำป่า

โดย Logos เมื่อ 14 July 2011 เวลา 2:17 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3043

สืบเนื่องจากบันทึกเรื่อง [ปัญหาชวนคิดของน้ำป่า] มีการเปลี่ยนแปลงในเขตลุ่มลำตะคองอีกอย่างหนึ่ง คือน้ำป่าไหลจากน้ำตกเหวสุวัต ผ่านหมูสี ขนงพระ หนองน้ำแดง ปากช่อง และจันทึกไปลงเขื่อนลำตะคอง ด้วยอัตราที่เร็วกว่าในอดีตมาก ทำให้ชาวบ้านแถบนั้น มีเวลาขนของและอพยพหนีน้ำไม่มากนัก

วิธีแก้ไขก็น่าจะเป็นการติดตั้งจุดตรวจวัดลึกเข้าไปในป่า เพื่อตรวจจับน้ำป่าให้เร็วขึ้น แต่การติดเครื่องมือวัดในป่านั้น มีปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่ง คือในป่าไม่ใช่เมือง จะไปหวังความสะดวกเรื่องไฟฟ้าและโทรคมนาคมไม่ได้ วิธีที่น่าจะดีคือติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนแถวน้ำตกเหวสุวัต ซึ่งมีลานจอดรถ มีร้านขายของ มีไฟฟ้า มีสัญญาณโทรศัพท์ เมื่อพบว่าฝนตกหนัก อาจจะมีเวลาสักชั่วโมงสองชั่วโมงกว่าน้ำป่าจะมาถึงน้ำตกเหวสุวัต แล้วยังมีระยะอีก 6-7 กม.กว่าจะไหลไปถึงหมูสีซึ่งมีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่หนาแน่น เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน ติดอยู่บริเวณที่จอดรถที่มีไฟฟ้าและมีสัญญาณวิทยุได้ แต่ถ้าติดเครื่องวัดระดับน้ำ ต้องลงไปติดแถวน้ำตก ทำให้เสียทัศนียภาพ แถมยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอุปกรณ์อีกต่างหาก ปริมาณน้ำฝน x พื้นที่รับน้ำฝน คือปริมาณน้ำที่จะไหลมาเพิ่มในลำน้ำ

ทีนี้ปัญหาคือเมื่อน้ำป่ามา จุดวัดระดับน้ำจุดที่ลึกที่สุดคือหมูสี แต่น้ำไหลเร็วกว่าในอดีตมาก สภาพตลิ่งเปลี่ยนแปลงไปด้วยการถมพื้นที่ชุ่มน้ำ การถางพืชริมตลิ่ง พืชน้ำ การขุดแก่งหินในร่องน้ำเอาไปประดับ เมื่อสภาพนิเวศน์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น น้ำป่าจึงมีความเร็วเพิ่มขึ้นทั้งที่ความลาดเอียงยังเป็นเช่นเดิม

ถ้าน้ำค่อยๆ ไหลมา มันก็จะไม่ล้นตลิ่งหรอกครับ แต่ถ้าไหลพรวดมาเกินความจุของลำน้ำ น้ำก็จะยกตัวขึ้นเหนือตลิ่งเนื่องจากไหลออกไปตามร่องน้ำไม่ทัน ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ถ้าถามว่ามีวิธีกั้นน้ำป่าเอาไว้ไหม ใช้ฝายคงไม่พอทานกำลังน้ำป่าหรอกนะครับ ถ้าจะใช้ก็ต้องหลายๆ ฝายตลอดพื้นที่รับน้ำฝนช่วยกัน แต่เรื่องนี้ทำได้ยากเนื่องจากต้นน้ำอยู่ในป่าอุทยานแห่งชาติ จะใช้แก้มลิงก็ต้องการพื้นที่มหาศาล (ที่แพงอีกต่างหาก)

เมื่อในอดีตไม่มีปัญหามากเท่าปัจจุบัน เราก็ควรย้อนกลับไปดูว่าการบุกรุกเปลี่ยนแปลงสภาพของร่องน้ำนั้น ส่งผลเสียหายขนาดไหน แล้วสิ่งที่ทำไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไร

คิดจะหน่วงน้ำป่านี่ จะบ้าเหรอ แต่ในเมื่อมีคนเดือดร้อน ไม่ลองก็ไม่รู้นะครับ เราอาจสร้างความปั่นป่วน (turbulence) ให้น้ำชนกันเอง ลดโมเมนตัมลงบ้าง ทำให้น้ำไหลช้าลง วิธีการง่ายๆ คือ

  1. ทำให้ท้องน้ำขรุขระ เอาหินใหญ่ไปทิ้งไว้ก้นคลอง เมื่อน้ำไหลมาเจอก้อนหินที่ก้นคลอง ก็จะเบี่ยงเบน เปลี่ยนทาง ทำให้น้ำไหลชนกันเอง — ให้น้ำไหลขึ้นข้างบน จะยิ่งดีกว่าให้น้ำแทรกออกด้านข้างซึ่งจะทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่ง
  2. ปักเสาให้น้ำหมุนหลังจากไหลผ่านไป Eddy
  3. บังคับน้ำให้หมุนกลับไปกลับมา โดยการเอาคานไปขวางลำน้ำ Eddy covariance
  4. ปลูกต้นไม้-หญ้าแฝกในคลอง กันตลิ่งพังและชะลอความแรงของน้ำ Flow resistance of stream bank vegetation
  5. ใช้พลังงานของน้ำ ดูดน้ำสลับอากาศลงไปไว้ใต้ท้องน้ำ แล้วปล่อยลูกอากาศหรือม่านอากาศ แทรกออกมาเป็นจังหวะ บุ๋งๆๆๆ อากาศถูกแรงน้ำอัด จึงทำให้น้ำในกระแสเดียวกัน มีความเร็วไม่เท่ากัน เกิดชนกันกลายเป็น turbulence (อืม จะเป็นไปได้หรือเนี่ย)
  6. เอาโคนด้านปลายแหลมไปขวางทางน้ำ (ท่าทางจะพังเร็ว)
  7. ปั่นไฟฟ้าซะเลย ไฟฟ้าที่ปั่นได้จากพลังน้ำ คือการดูดเอาพลังงานจลน์ของน้ำออกมาใช้ น้ำจะไหลช้าลงเอง

การเล่นกับพลังของน้ำป่า ไม่ใช่เรื่องเล่นนะครับ จะเอาอะไรไปขวางน้ำป่า จะต้องระวังเรื่องความแข็งแรง

« « Prev : วัดปริมาณน้ำฝน

Next : เตรียมตัวเป็นไหม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 July 2011 เวลา 19:33
    เผื่อว่าจะไม่ได้ดูในลิงก์ให้ละเอียดนะครับ มีวิดีโอคลิปน่าสนใจสองอัน
    1. กระแสน้ำไหลอ้อมพืชที่ปลูกริมตลิง แล้วไหลวนย้อนศรกลับมาด้านหลัง Eddy http://rivers.bee.oregonstate.edu/IMAGES/flow_resistance/P3190005.AVI
    2. กระแสน้ำ ไหลทะลุเข้าไปในพืชที่ปลูกแน่นริมตลิ่ง แต่ใบไม้อยู่สูงกว่าระดับน้ำ น้ำที่ไหลผ่านต้นไม้ มีแรงดันโยกลำต้นให้แกว่ง เกิดคลื่น ชะลอความเร็วของน้ำลงได้ http://rivers.bee.oregonstate.edu/IMAGES/flow_resistance/P1140034.AVI
  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 July 2011 เวลา 19:41

    การขวางน้ำ ให้ช้าลง น้ำจะยิ่งท่วมมากขึ้น ทางต้นน้ำ เพราะต้นน้ำมันไหลมามาก เราไปหน่วงมันไว้ มันไหลออกไปไม่ทัน มันก็ต้องพองออก ลามไหลไปท่วมพื้นที่

    การทำให้เกิด turbulence ก็คือการสร้างแรงเสียดทาน (แรงต้าน) โมเมนตัม (ความเร็ว) ในการไหลก็จะลดลง ตามกฎข้อที่สองของนิวตัน ดังนั้นปริมาณการไหล(ออก) ก็จะลดลง แต่การท่วมพื้นที่ต้นน้ำก็จะมากขึ้น

    ถ้ายอมรับสภาพการท่วมทางต้นน้ำนี้ได้ก็ใช่เลยครับ

    วิธีง่ายๆที่ผมพอนึกออกคือ เอาถุงทรายไปถมกันเป็นเขื่อนให้เป็นคอคอดในพื้นที่ที่เหมาะสมที่พอยอมรับความเสียหายได้ เรื่องนี้ถ้าทำวิจัยคำนวณสักนิดก็ไม่ยากเลยที่ตัดสินใจว่า จะปิดกั้นทางน้ำสักเท่าไร ในสภาวะการไหลหลากที่ต่างกัน เพื่อให้บรรเทาความเสียหาย ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำให้ได้มากที่สุด

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 July 2011 เวลา 21:28
    เรื่องหน่วงน้ำแล้วทำให้น้ำท่วมนั้น ให้ความเห็นไปแล้วตั้งแต่ตอนประชุมครับ จึงเป็นปัญหาที่ต้องเก็บกลับมาคิด

    เมื่อน้ำป่าไหลมาแล้ว จะบอกว่าอย่างเพิ่งมาก็ไม่ได้ ขึ้นไปทำอะไรในป่าเขาใหญ่ไม่ได้(ป่าอุทยาน) หาพื้นที่แก้มลิงไม่ได้(แพง) สร้างเขื่อนไม่ได้(ประชาพิจารณ์) ฝายก็ไม่แข็งแรงพอ

    เหวสุวัตสูง 650 ม.รนก. หมูสีสูง 400 ม. แต่ปากช่องนั้นสูงเพียง 350 ม.นะครับ น้ำป่ามาจากน้ำตกถึงหมูสีระยะประมาณ 15 กม.ด้วย head 250 ม. … จากหมูสีไปปากช่อง ลำน้ำคดเคี้ยวระยะทางประมาณ 30 กม. แต่มี head เพียง 50 ม. อาการนี้น่ากลัวครับ เมื่อสองอาทิตย์ก่อน เพิ่งมีน้ำป่าดังปรากฏเป็นข่าว ชาวบ้านหวั่นไหวมากเพราะเพิ่งเจอมาครั้งหนึ่งเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไร

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 July 2011 เวลา 0:18

    ในทางชลศาสตร์ 30 กม. แล้วมี head 50 ม. นี้ถือว่ามากมหาศาลนะครับ

    ที่สำคัญคือ จากปากช่องไปลำตะคองนี้สิครับ head มันจะเท่าไร ผมว่าไม่น่าเกิน 2-3 เมตรด้วยซ้ำไป ในระยะทาง 40 กม. เห็นจะได้ และนี่แหละมันทำให้น้ำระบายออกไม่ทัน เพราะ head ต่ำ ก็ท่วมปากช่อง ก่อนจะล้นไหลไปท่วมสีคิ้ว โคราชต่อไป

    จากกทม. ไปถึงชัยนาท ระยะทาง 300 กม. ผมเคยสำรวจเล่น head ประมาณ 10 เมตรเท่านั้นเอง หรือ 30 กม. ต่อเมตร แม่น้ำเจ้าพระยาจึงไหลเอื่อยๆ

    ตอนน้ำท่วมใหญ่ ผมพยายามจะหา contour พื้นที่ของเมืองโคราช ก็หาไม่เจอ เพื่อนำมาประกอบการคิดวางแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่จริงๆแล้วต้องดูภาพรวมระดับมาโครทั้งจังหวัดประกอบด้วย

    ผอ.ลำตะคอง ที่ไปเจอโดยบังเอิญขณะที่ผมออกสำรวจน้ำท่วมโคราชแบบอิสระชน ใช้งบส่วนตัวตระเวณไปทั่ว ท่านบอกว่า ไม่ได้ปล่อยน้ำละตะคองออกมาเลยนะ แสดงว่าน้ำจากเขาใหญ่ ที่ไหลลงลำตะคอง อาจไม่ได้มีส่วนทำให้น้ำท่วมโคราช อย่างที่ใครหลายคนคิด แต่มันหลั่งมาจากพื้นที่รับน้ำรอบตัวเมืองนี่แหละ ประกอบกับถนน ช่วยปันน้ำมาเพิ่มก็ยิ่งไปกันใหญ่ ผมถ่ายรูปไว้มากหลาย เห็นชัดๆว่าระดับน้ำด้านซ้ายกับด้านขวาของถนนมิตรภาพมีระดับต่างกัน

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 July 2011 เวลา 0:44
    เมืองไทยไม่มีแผนที่ความสูงครับ มีของฟรีที่ http://srtm.csi.cgiar.org/SELECTION/inputCoord.asp (เม้งบอกมา) แต่ไม่ละเอียดเพราะหนึ่งจุดคือ 92.5 x 92.5 เมตร — รายละเอียดใน [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (5)]

    พี่ลองเล่น http://maps.google.com/maps?q=%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95+%E0%B8%AD.%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87+%E0%B8%88.%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%B2+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2&hl=en&ie=UTF8&sll=14.534403,101.392822&sspn=0.837478,1.18515&t=p&z=11 ดูก็ได้ครับ ซูมลงไปอีกจึงเห็น contour line แต่ว่า contour line ห่างกัน 50 เมตรนะครับ — ระยะทางจากปากช่องไปลำตะคองประมาณ 10 กม. ครับ

    โมเดลน้ำไหล (และเขื่อนแตก) เม้งทำไว้ครับ แต่เข้าใจว่าไม่ได้ลองสำหรับบริเวณนี้ ความลึกของร่องน้ำก็ไม่รู้

  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 July 2011 เวลา 1:44

    ขอบคุณมากครับ คอนทัวร์แถวเขาใหญ่ละเอียดดี 50 เมตร เหลือเฟือมากๆ แต่แถวเมืองโคราชคอนทัวร์ห่างมากนะครับ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

    ผมเคยคิดจะวางแผนการขุดคลองชลประทานเชื่อมแม่น้ำทุกสายเข้าด้วยกัน แล้วก้กน้ำไว้ตามลุ่มดินธรรมชาติ ถ้ามีแผนที่คอนทัวร์ทั้งประเทศ เราจะสามารถขุดอย่างประโยชน์สูงประหยัดสุด ไปเอ่ยปากชวนนักวิชาการน้ำให้มาทำโครงการนี้ ก็ไม่มีใครสน

    นอกจากชลประทานเพื่อการเกษตรแล้ว มันยังช่วยบรรเทาภัยน้ำท่วมด้วย

    ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ โครงการสัก 50ปี ประเทศไทยก็จะบริบูรณ์พูนน้ำ ทำเกษตรปีละสามครั้งได้หมด แถมมีแหล่งน้ำเป็นที่สันทนาการ ร่มเย็น แต่ เหอะๆ นักการเมืองไทยมันคิดอะไรได้ไม่เกิน 4 ปีหรอก ส่วนนักวิชาการไทย ไม่เคยคิดอะไรเกินสี่เดือน (หนึ่งภาคการศึกษา) หึหึ

  • #7 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 July 2011 เวลา 1:52

    โครงการที่ผมเคยคิดไว้คือ เราทำคอนทัวร์เป็นเฉดสีทั่วประเทศไทยและเพื่อนบ้านด้วย จากนั้นเอาเส้นลายล่มน้ำน้อยใหญ่พาดผ่าน มีเฉดสีบอกระดับอัตราการไหลของแต่ละลุ่มน้ำด้วย

    มีเพียงแต่นี้ เราจะสามารถวางยุทธศาสตร์การกักน้ำ กั้นเขื่อน หรือ ขุดคลองเชื่อม ต่อไปยังแอ่งดินต่ำตามธรรมชาติ และทำอะไรได้อีกมากหลาย

    ผมพูดอย่างไรพวกนักวิชาการน้ำเขาก็ไม่เก็ท ไม่สนใจจะทำวิจัยกัน สนกันแต่จะไปเป็นผู้บริหารผูกไทหล่อ นั่งห้องแอร์ หรือไม่ก็รอเกษียณ

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 July 2011 เวลา 2:12
    ฮาๆๆๆ ไม่อยากวิจารณ์ครับ คิดว่าเหนื่อเปล่า

    Google มี Elevation Web Service ครับ แต่ผมคิด(เอาเอง)ว่าเค้าคงใช้ของฟรีข้างบน มา interpolate เอา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ก็จะไม่ได้ความสูงของถนน ตึก หรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ แต่ยังไม่ได้ลองเล่นนะครับ

    https://code.google.com/apis/maps/documentation/elevation/

  • #9 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 July 2011 เวลา 0:39

    ตามอ่านแล้วเกิดไอเดียว่ามีทางเป็นไปได้ ถ้าเรื่องนี้แม่ยกอย่างอาจารย์หลินฮุ่ยเข้ามาช่วยเชื่อมโยง ดร.โฆษิต ล้อศิริรัตน์ นักเรียนร่วมรุ่น สสสส.2 ผู้เป็นลูกศิษย์ซึ่งทำงานอยู่กรมชลประทาน ให้ได้รับรู้เรื่องที่คุยกันในบันทึกนี้ค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.15526604652405 sec
Sidebar: 0.20161581039429 sec