ปลูกผักในกระถางเพื่อการรีไซเคิลน้ำ
พืชผักที่เป็นอาหารมักเป็นพืชล้มลุก — ในเมื่อเป็นพืชล้มลุก รากก็ไม่ไชลงลึก แต่มักเป็นรากฝอยอยู่บริเวณผิวดิน แต่เพราะว่ารากแผ่อยู่ตื้น จึงหาน้ำได้น้อย ประกอบกับแดดเผาผิวดิน พืชผักจึงต้องการน้ำมากพอสมควร จึงจะเติบโต
เราเอาผักมาปลูกในกระถางก็ได้ น้ำส่วนเกินที่รดให้แก่ผัก ซึ่งซึมลงเกินความลึกของราก สามารถนำกลับมารดใหม่ผ่านทางรูก้นกระถางได้ แต่ว่ามูลค่ากระถาง ก็ดูจะไม่คุ้มราคาผักอยู่แล้ว
บันทึกนี้เสนอความคิดบ้าบอ ให้เอาแผ่นพลาสติก (มีขนาด 48- 54- และ 72 นิ้ว; ยาว 40 50 และ 60 หลา) — ยกตัวอย่างเช่น ขนาดกว้าง 4.5 ฟุต ยาว 120 ฟุต ราคา 110 บาท — แขวนปลายตามแนวยาว เป็นรางที่มีหน้าตัดเป็นรูปตัว V เอาดินใส่ตรงกลางเพื่อปลูกผัก ในที่สุด น้ำที่รดลงในราง จะไหลไปรวมกันที่ก้นตัว V ซึ่งถ้าเอียงเล็กน้อย เราก็ไปดักน้ำที่ปลาย แล้วนำน้ำมารดผักใหม่ได้
วิธีการนี้ก็ไม่สมบูรณ์หรอกครับ พลาสติกที่ยกมาเป็นตัวอย่าง น่าจะเป็นพลาสติกห่อปกหนังสือเสียมากกว่า เวลาโดน UV จากแสงแดด คงจะกรอบ-เปื่อย-แตก ซึ่งที่จริงเราก็ขุดลงไปฝังดินก็ได้ ส่วนถังเก็บน้ำ ก็อยู่ต่ำกว่านั้นลงไปอีก ถึงพลาสติกจะกรอบหรือรั่วเป็นรู หากไม่เกิดที่ก้นตัววี ก็ไม่เป็นไรนะครับ รีไซเคิลน้ำได้อยู่ดี
« « Prev : เมืองใหญ่กับแหล่งสำรองน้ำจืด
Next : ภาษาเป็นหน้าต่างมองธรรมชาติของมนุษย์ » »
2 ความคิดเห็น
ตอนนี้กำลัง “บ้า”ปลูกผักสวนครัวในกระถางค่ะ กุยช่ายแขวนเป็นราวแทนไม้ประดับที่ระเบียงชั้นสอง (มองไกล ๆ สวยนะเออ) พอรดน้ำทีนึงน้ำที่ไหลออกจากรูก้นกระถางก็จะไหลไปรดผักบุ้งในกระถางที่วางรอรับน้ำเป็นแถวอยู่ที่พื้นระเบียง พอน้ำซึมออกจากก้นกระถางผักบุ้ง ก็ไหลไปตามร่องวิ่งไปตามรางลงร่องกันสาดไปรดต้นไทรญี่ปุ่นต้นใหญ่ที่ปลูกไว้หน้าบ้านพอดี กลุ่มไม้ประดับแถวนั้นก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย พอช่วงเย็นก็รดเพิ่มอีกนิดหน่อย เข้าหน้าร้อนนี้คงต้องรดน้ำเพิ่มขึ้นตามเคย
ยืนรดน้ำไปก็คิดหาวิธีจะเจี๋ยนพวกไม้ประดับทิ้งทีละต้นสองต้นเพื่อเปลี่ยนเป็นผักสวนครัวให้โม้ดอ่ะค่ะ แหะ แหะ