เมืองใหญ่กับแหล่งสำรองน้ำจืด

โดย Logos เมื่อ 13 February 2011 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 6195

ที่ไหนๆ ในโลก ก็ใช้น้ำผิวดิน เนื่องจากสะดวกในการนำมาใช้

แต่ว่าน้ำผิวดินทั้งโลกนั้น คิดเป็นเพียง 0.9% ของปริมาณน้ำจืดที่มีอยู่ — 30.1% ปริมาณน้ำจืดเป็นน้ำใต้ดิน ส่วนที่เหลือยังอยู่ในรูปน้ำแข็งและธารน้ำแข็งซึ่งบ้านเราไม่มี

เขตเมืองนั้น มีอาคารสิ่งปลูกสร้าง+ถนนหนทางปกคลุมดินอยู่เป็นพื้นที่กว้าง การพัฒนาแบบนี้สร้างปัญหาคือไม่มีการเติมน้ำใต้ดิน ปริมาณน้ำสำรองที่อยู่ใต้ดินก็ลดลงตามกาลเวลา เมื่อระดับน้ำใต้ดินลดลง แผ่นดินก็จะทรุดลงด้วย พอน้ำหลากมา ก็รีบสูบทิ้งไปให้เร็วที่สุด ดินก็ยิ่งทรุดเร็ว

เมืองไทยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยกว่าปีละ 1600 มม. ถ้าคูณด้วยพื้นที่แผ่นดินของประเทศ ปริมาณน้ำฝนจะเป็นกว่า 8 เท่าของความจุเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศรวมกัน ดังนั้นเราควรจะมีน้ำเพียงพอ แต่ที่ไม่พอเป็นเพราะเราปล่อยน้ำทิ้งไปเฉยๆ

เทศบาล 170 แห่ง (ไม่รวมกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเทศบาลเต็มพื้นที่จังหวัด) แค่ดูจำนวนประชากรในเขตเทศบาล คูณด้วยน้ำจืด 15 ลิตรต่อคนต่อวัน แล้วเทียบกับแหล่งน้ำจืดสำรอง แล้วก็น่าตกใจครับ ถ้าโชคไม่ดีที่ไม่มีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำอยู่ใกล้ๆ อาศัยแม่น้ำ ลำธาร และน้ำบาดาล จะอยู่กันไปได้สักกี่วัน??? ถ้าแม่น้ำมีน้ำลดลง จะอยู่กันได้สักกี่วัน

UNESCO ได้ตีพิมพ์รายงานซึ่งระบุถึงแหล่งน้ำใต้ดิน (aquafier) [แผนที่อยู่ตรงนี้ครับ]

ปรากฏว่าลุ่มน้ำที่มีการเติมน้ำใต้ดิน (โดยธรรมชาติ) คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา แควน้อย+ใหญ่ บางปะกง มูล ตาปี(สุราษฎร์) ตะกั่วป่า(พังงา) ตลอดจนที่ราบชายฝั่งทะเลบางแห่ง

ความหมายของรูปนี้ ก็คือพื้นที่สีเทา แม้ว่าอาจจะพบน้ำบาดาลตื้นๆ ขนาดไม่ใหญ่ หรือมีเฉพาะที่ซึ่งมีเป็นกะเปาะได้บ้าง แต่ก็คงจะต้องพึ่งแหล่งน้ำผิวดินเป็นหลักนะครับ ทั้งนี้แม้จะมีภูเขา(ไม่สูง)อยู่บ้าง แต่ต้นไม้บนภูเขาก็ถูกไถเกลี้ยง ทำให้ไม่มีต้นไม้ไว้ชะลอน้ำฝน และไม่มีรากนำน้ำลงใต้ดิน ทำให้ฝนที่ตกลงมา ไหลบ่าลงตามความลาดชันอย่างรวดเร็ว เหลือซึมลงใต้ดินได้น้อย แถมดินบนภูเขาถูกแดดเผา ก็จะแตกระแหง ถูกน้ำพัดพาเอาความอุดมสมบูรณ์ลงไปตามกระแสน้ำ หรือไม่ก็กลายเป็นดินดาน ยิ่งแต่หนักเข้าไปใหญ่

เวลาน้ำซึมลงดินได้น้อย ก็หมายความว่ามีน้ำผุดซึ่งเป็นต้นแม่น้ำลำธารน้อย แม่น้ำที่มีต้นน้ำเป็นน้ำผุดน้อย เวลาฝนตกหนักก็จะไหลเชี่ยวอย่างแรง ส่วนเวลาฝนไม่ตก ก็เกือบจะแห้งขอด ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ขึ้นกับปริมาณฝน

ต่างกับภูเขาที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ชะลอน้ำฝนเอาไว้ ทำให้น้ำมีเวลาซึมลงใต้ดิน(ได้บ้าง)ไปเป็นน้ำผุด ซึ่งหมายความว่าเมื่อฝนตกหนัก ปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำลำธาร จะไม่มากเท่ากับภูเขาหัวโล้น แต่ในเวลาที่ฝนไม่ตกต่อกันเป็นเวลานาน ยังมีน้ำผุดทะยอยปล่อยน้ำออกมาจากแม่น้ำลำธาร

มีแผนที่อีกแผ่นหนึ่งโดยมหาวิทยาลัยบริทิชโคลัมเบีย ซึ่งรวบรวมพื้น/ดิน/หินชนิดต่างๆ ทั่วโลก แล้วทำแผนที่อัตราที่น้ำสามารถจะซึมลงดินได้ [แผนที่ครับ]

แผนที่นี้ แสดงว่าพื้นที่อีสานทั้งหมด และลุ่มน้ำยม+น่าน น้ำซึมลงดินไม่ค่อยดี อันนี้ล่ะครับ ผมแปลกใจ!!! หาคำอธิบายไม่ได้ จะว่าเป็นหินทั้งหมดก็ไม่ใช่ จะเป็นดินดานหมดก็เหลือเชื่อ แต่ถ้าเป็นดินดานอยู่ใต้ดิน ยิ่งน่าทำ [เขื่อน] เอาไว้ใต้ดินครับ

« « Prev : โจดี้ วิลเลียมส์ พูดเรื่องสังคมสันติสุข

Next : ปลูกผักในกระถางเพื่อการรีไซเคิลน้ำ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เมืองใหญ่กับแหล่งสำรองน้ำจืด"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10883593559265 sec
Sidebar: 0.18565607070923 sec