ความช่วยเหลือแบบบูรณาการ
ไม่รู้จะเวิร์คหรือเปล่านะครับ แต่บันทึกนี้ เป็นเรื่องที่ 40 แล้วตั้งแต่น้ำท่วม ซึ่งตลอดเดือนที่ผ่านมา ผมเขียนแต่เรื่องน้ำท่วมอย่างเดียวเลย
มีข่าวว่าวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ประสบภัยขึ้นราคาโดยเฉพาอย่างยิ่งทางใต้ อันนี้จะทำให้ความช่วยเหลือช่วยคนได้น้อยลง ดังนั้นด้วยความคิดพิสดาร ผมจึงเสนอ complex scheme ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย แต่
- น่าจะลดราคาวัสดุก่อสร้างลงได้
- สวนยางที่ประสบวาตภัย จะขายเศษไม้ได้ ซึ่งต้นใหญ่ๆ ทางราชการช่วยรับซื้ออยู่แล้ว
- จ้างงานผู้ประสบภัย
- ซื้อวัตถุดิบ มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายให้แก่ผู้ประสบภัยที่ต้องการในราคาถูก กำไรมาจ้างผู้ประสบภัยผลิต ให้มีเงินหมุนเวียนในครอบครัว
- ตั้งแหล่งผลิตชั่วคราวในพื้นที่ ลดค่าขนส่ง
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ สืบเนื่องจากบันทึก [อิฐกระดาษ อิฐต้นไม้] ซึ่งเขียนเมื่อตอนฝนตกหนักบริเวณเขาใหญ่ แต่น้ำยังไม่ทะลักไปท่วมปากช่อง/ปักธงชัย บันทึกนั้นใช้เซลลูโลสผสมในปูนซีเมนต์ ทำให้ยังคงความแข็งแรงอยู่ได้ แต่ใช้ปูนน้อยลงครับ เหมือนกับเวลาสร้างบ้านดิน เขาเอาดินพอกฟาง ซึ่งฟางคือเซลลูโลสนั่นแหละ มันจะยึดดินให้เกาะอยู่ด้วยกันล่ะครับ [อิฐมวลเบา กันร้อน กันหนาว]
- หาที่ผลิตที่ไม่ไกลจากพื้นที่ประสบภัย แดดยิ่งแรงก็ยิ่งดี แต่ถ้าฝนตกจะแย่หน่อย เพราะว่ามันต้องตากแดดครับ
- ชาวบ้านที่มีเศษไม้ ศูนย์ผลิตรับซื้อเศษไม้ที่ทุบจนแหลกแล้ว (กก.ละ 3 บาท หรืออะไรทำนองนั้น รถกระบะบรรทุกมา 500 กก.ขายได้พันห้า) เมื่อเอาเศษไม้มาขาย ศูนย์ผลิตจ้างต่อเลยไม่ให้มาแล้วเสียเที่ยว มีงานทุบไม้ให้แหลก ผสม ปั่น เทลงบล็อก แกะแบบ ขน ฯลฯ ไม่ใช้ทักษะอะไร เรียนทุกขั้นตอนแล้วไปทำเองที่ตำบลของตัวเองก็ได้-ถ้าหากว่าน้ำลดแล้ว เพราะต้องการที่ตากแดด
- ศูนย์ผลิตขายเป็นอิฐในราคาถูก ไปสู่พื้นที่ประสบภัยที่กำลังฟื้นฟูที่อยู่ใกล้เคียง
สูตรผสม ทดลองปรับเอาได้ครับ อันนี้เป็นสัดส่วนเล็กคิดต่อปูนถุงเดียว
- ปูนปอร์ทแลนด์ ไม่ผสมทราย หนึ่งถุง 50 กก.
- ทราย 33.7 กก.
- ไม้ทุบจนแหลก 31.5 กก.
- น้ำ 845.3 ลิตร (แต่แถวนั้นน้ำท่วมอยู่ไม่ใช่หรือ?)
ผสมจนเข้ากัน แล้วเทใส่แบบ; แกะแบบออก แล้วตากให้แห้ง
ปูน 140 บาท? ทรายไม่รู้->หาเอาแถวนั้น เศษไม้ทุบแหลกรับซื้อกก.ละ 3 บาท รวม 95 บาท น้ำหาได้ฟรี ค่าแรงก้อนละสองบาท 60 บาท รวมต้นทุน 295 บาท ทำอิฐได้ 30 ก้อน ต้นทุนก้อนละ 9.8 บาท แต่ก้อนเบ้อเริ่มเทิ่ม — ตั้งราคาขายให้ถูกครับ เอากำไรนิดเดียวเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนก็พอ แต่ว่าชาวบ้านขายเศษไม้ได้-ไม่ปล่อยให้สูญเปล่า เมื่อเอาไม้มาส่งแล้ว แทนที่จะวิ่งรถเปล่ากลับบ้าน ก็ยังรับจ้างผลิตได้ถ้าจะทำ แต่ถ้าไม่ยอมรับจ้าง(ซึ่งงานไม่หนักอะไร) ก็สามารถซื้ออิฐผลิตแล้วกลับไปบ้านได้
ทั้งหมดนี้เขียนพอเป็นไอเดียเท่านั้นนะครับ ต้นทุนต่างๆ สุ่มเช็คจากอินเทอร์เน็ต
ถ้าเอาไปทำได้ เอาไปเลยครับ ควรจะทดลองดูก่อนทำในสเกลใหญ่ แต่ผมอยากย้ำว่าขอให้ตั้งราคาขายให้ต่ำ จะสร้างทางเลือกสำหรับวัสดุก่อสร้างขึ้นมา ช่วยให้โอกาสผู้คนสร้างความหวังขึ้นมาใหม่ครับ
Next : ความแตกต่างบนเป้าหมายเดียวกัน » »
4 ความคิดเห็น
ไอเดียเจ๋งจริงๆครับ
น่าส่งเสริมทำอิฐมวลเบาแบบที่เล่า
เอามาทำรั้วก็ได้ ทำบ้านได้ ดูแบบโจจันได เจ้าพ่อบ้านดิน
ออกแบบเก๋มาก
ช่วงนักศึกษาแพทย์มาจะให้ฝึกทำอิฐนี้