ข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ
อ่าน: 4304เนื่องจากข้อจำกัดในพื้นที่ ข่าวตามสื่อมวลชนให้ได้แต่ภาพใหญ่ของความเสียหาย และด้วยวงจรของการทำและนำเสนอ ข่าวตามสื่อก็จะเป็นสถานการณ์ที่ย้อนหลังเสมอ ด้วยลักษณะของการประมวลภาพข่าวและข่าวสาร แต่ก็สามารถจะให้ภาพสุ่มของสถานการณ์ ที่ผู้สื่อข่าวพอจะเข้าไปยังพื้นที่ได้ แต่บริเวณที่ผู้สื่อข่าวเข้าไม่ถึง ก็จะขาดหายไป
ดังนั้นในภัยพิบัติที่เกิดเป็นวงกว้าง จะมีพื้นที่ที่ตกหล่นเสมอ ซึ่งหากว่าเน็ตยังอยู่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยังอีกมีทวิตเตอร์เป็นช่องทางหนึ่ง ที่จะรายงานสถานการณ์ที่แท้จริงออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่หากเน็ตไม่อยู่แล้ว ข่าวสารยังต้องอาศัยทีมสำรวจส่วนหน้า บุกลงไปในพื้นที่ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องความทั่วถึงและความล่าช้า ซึ่งภัยพิบัติทำให้เข้าพื้นที่ได้ลำบาก
นี่จึงเป็นที่มาของการสื่อสารฉุกเฉิน แต่ถึงแม้เมืองไทยจะมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงไอซีทีและกทช.ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขอบเขตยังจำกัดอยู่แค่การนำระบบสื่อสาร ให้กลับมาอยู่ในสภาพพร้อมใช้เท่านั้น
การสื่อสารที่ดีจะต้องเข้าใจตรงกันทั้งผู้ส่งและผู้รับ ข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติ ควรจะมีทั้งตำแหน่ง(พิกัด) เวลา สถานการณ์ ความช่วยเหลือที่ต้องการ และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อที่ว่าความช่วยเหลือที่ส่งไปยังพื้นที่ จะไม่น้อยเกินไป(จนเกิดการแย่งชิงแตกแยกในชุมชน) หรือมากเกินไป(แล้วผู้ประสบภัยนำไปขายทำให้ผู้บริจาคเกิดความเสียใจ) — ทวิตเตอร์ดูเหมาะดี ส่งจากโทรศัพท์มือถือจากพื้นที่ประสบภัยก็ได้ แต่ก็มีปริมาณการรีทวิตมากมายจนข้อความสำคัญจางหายไปหมด ประกอบกับมีความยาวจำกัด จึงขาดความแม่นยำ
เหตุการณ์จากพายุคาทรินาซึ่งองค์การจัดการภัยพิบัติของสหรัฐ (FEMA) พึ่งพาเทคโนโลยีเกินไปนั้น เป็นบทเรียนสำคัญที่สอนว่าเทคโนโลยี ไม่สามารถต้านภัยธรรมชาติได้ ระบบ web services ของ FEMA จะดูข้อมูลอะไรก็มีหมด แต่พอไฟดับ เจ๊งหมดเหมือนกัน แล้วสิ่งที่อยู่รอดได้ คือวิทยุสมัครเล่นใช้ถ่านไฟฉาย ทำงานร่วมกับสถานีฐานจากนอกเขตภัยพิบัติครับ (คณะกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยของสังคม (TC 223) ของ ISO เลือกข้อเสนอของ OpenCARE เหนือข้อเสนอไฮเทคต่างๆ จากสหรัฐและสหภาพยุโรปในเวที ISO ก็ด้วยเหตุนี้ — OpenCARE ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบเท่าที่จำเป็นต่อความแม่นยำ บวกกับเครือข่ายทั้งรัฐและภาคประชาชน เปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง และประสานงานกัน เป็น crowd sourcing ข้ามกำแพงขององค์กร)
2 ความคิดเห็น
ยิ่งถ้าโลกในอนาคตเป็นยังงี้ พอไฟดับคงยุ่งกันใหญ่นะคะ คุณ LOGOS
A Day Made of Glass… Made possible by Corning.
ไฟฟ้านำความสะดวกมาให้เรา แล้วพออะไรๆ มีแต่ตัวเรา คนอื่น สิ่งอื่นก็ค่อยๆ ลดความสำคัญลงไป