ไม่ท่วมเอาเท่าไหร่…
อ่าน: 3166สิบชั่วโมงก่อนเขียนบันทึกนี้ ได้รับจดหมายส่งต่อฉบับหนึ่ง ขอตัดตอนส่วนเสียงสะท้อนของชาวบ้านแถวบางระกำมาให้อ่านกัน…
…ถ้าเลือกได้ไม่มีใครอยากอยู่ไปวันๆด้วย “ถุงยังชีพ” หรอก ป้าก็อยากทำมาหากิน
แต่ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าปีก่อนๆ ปกติก็กันยา-ตุลาโน่นอะปีนี้มันท่วมตั้งแต่กรกฎาเลย
ข้าวทั้งนาไม่ได้เกี่ยวสักเม็ด บางคนไม่เข้าใจเค้าก็ว่าเราไม่เตรียมพร้อมเอง
ทั้งที่รู้ว่ามันท่วมมาทุกปี ป้าอยู่มาจนป่านนี้ทำไมจะไม่รู้
คนข้างนอกมองพวกเราว่าเราไม่ช่วยเหลือตัวเอง เอะอะก็ขอถุงยังชีพ
เค้าไม่มาดูไหนจะว่าพวกเราอีกว่าได้เยอะจนไปตั้งร้านขายได้แล้วมั้ง
ที่เค้าว่ากันบางระกำโมเดลอะไรนั่นอะป้าไม่รู้เรื่องหรอก
รู้แต่ว่าวันนี้ก็เดือนร้อนกันอยู่…
รู้สึกอย่างไรที่ส่งถุงยังชีพไป โดยไม่รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไรครับ เสียงสะท้อนแบบนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกันกับเสียงที่อาสาสมัครที่ลงพื้นที่อื่นได้ยินมา (และมีอาสาสมัครที่ไม่ได้ยินเรื่องแบบนี้เช่นกัน)
ถุงยังชีพนั้นมีประโยชน์ แต่มีมากเกินไปกลับเป็นภาระ ทางส่วนผู้บริจาคก็อยากจะช่วย ขอให้ช่วยได้บ้าง ก็คงดีกว่านิ่งดูดายในขณะที่ผู้ประสบภัยอยู่ในความทุกข์ยาก ลืมคิดไปว่าตนคิดแบบคนเมือง สิ่งของที่ส่งไปโดยไม่รู้ความต้องการนั้น หลายกรณีไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประสบภัย
อย่าไปว่าป้าคนนี้เรื่องมากเลยครับ ควรดูตัวเองด้วยเหมือนกัน เพื่อที่น้ำใจของท่านจะได้เกิดประโยชน์สมดังความตั้งใจ
ทีนี้ ที่ป้าว่ารู้จักพื้นที่ดี (ว่าน้ำท่วมทุกปี) ผมคิดต่างออกไปครับ ผมว่าป้ายังไม่รู้ว่าทำไมน้ำจึงท่วม… แต่ถึงรู้ ก็เกินกำลังของป้าที่จะทำอะไรครับ
เมื่อฝนตกเป็นวงกว้าง น้ำฝนตกลงในอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัยและอุทยานแห่งชาติรามคำแหง ผ่าน อ.เมืองสุโขทัยไปทางตะวันออก ผ่าน อ.กงไกรลาศ และ อ.บางระกำ แต่ดูเส้นแม่น้ำซิครับ ยึกยือหาที่เปรียบได้ยาก เหมือนภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
แม่น้ำวัง ไหลมาจากแพร่ ผ่าน อ.ลอง (ท่วม) อ.วังชิ้น (ท่วม) เข้าสุโขทัยที่ อ.ศรีสัชนาลัย จากนั้นไหลผ่าน อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง จน อ.เมือง (สุโขทัย) แล้วจึงเทไปทางตะวันออก แม่น้ำตอนนี้หงิกงอ ทำให้น้ำไหลได้ช้า เมื่อน้ำไหลช้า น้ำก็ยกตัวล้นตลิ่ง เกิดเป็นน้ำท่วมซ้ำซาก ปีที่แล้วท่วม ปีนี้ก็ท่วมอีกเพราะในเมื่อน้ำยังไหลอยู่บนแม่น้ำยึกยือเหมือนเดิม น้ำก็จะล้นตลิ่งเหมือนเดิม และท่วมเหมือนเดิม
ถ้าจะแก้ ก็รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกลำน้ำ ตลอดจนวัชพืชริมตลิ่งที่ทำให้น้ำไหลช้าและเกิดการปั่นป่วน (turbulence) ครับ ขืนยังปล่อยให้น้ำไหลได้ช้าอย่างนี้ ปีหน้าก็ท่วมอีก ยิ่งกว่านั้น พื้นที่จังหวัดสุโขทัยเป็นพื้นที่รับน้ำฝน ปริมาตรน้ำที่เพิ่มขึ้นในแม่น้ำเท่ากับพื้นที่คูณกับปริมาณฝน ดังนั้นหายจะชลอผลของน้ำฝนที่ตกในบริเวณนี้ ก็ทำฝายตัวเล็กๆ หลายร้อยหลายพันตัว (ในหลวงทำฝาย 35 ตัวที่นครนายก ในราคารวมสองแสนบาทเท่านั้น อบต.ไหนทำฝายตัวละหมื่น-แสน-ล้าน ควรเรียนรู้บ้าง)
เพราะว่าแม่น้ำที่คดเคี้ยวจะมีความจุต่ำลง หากเราชลอการเพิ่มปริมาณน้ำจากฝนด้วยฝาย แม่น้ำก็จะไม่ยกตัวล้นตลิ่ง และน้ำก็จะไม่ท่วมครับ เขื่อนแก่งเสือเต้นอาจจะควบคุมปริมาณน้ำทางต้นน้ำได้ แต่ไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำจากฝนระหว่างทางได้เลย ดังนั้นการสร้างเขื่อนจึงไม่น่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมบางระกำได้ วิถีบางระกำ (ขอบคุณลิงก์จาก iwhale)
เมื่อเราย้อนแม่น้ำวังขึ้นไปดูทางเหนือ อ.วังชิ้น และ อ.ลอง ก็ท่วมหนักเช่นกัน และสาเหตุก็คล้ายๆ กัน ทั้ง ลอง และวังชิ้นมีสภาพเป็นหุบ มีภูเขาทั้งทางตะวันตกและตะวันออก เมื่อฝนตก ไม่ได้ตกเฉพาะที่ราบ แต่ตกบนเขาด้วย น้ำที่ตกบนเขา ก็ไหลลงสู่ที่ต่ำ (ต่ำที่สุดคือแม่น้ำยมที่ไหลผ่านทั้งสองอำเภอ) แต่เนื่องจากแม่น้ำคดเคี้ยวมีความจุต่ำเนื่อจากน้ำไหลช้า น้ำในแม่น้ำจึงยกตัวพ้นตลิ่งกลายเป็นน้ำท่วม
แม่น้ำยังยึกยือ แถมยังไม่มีการชลอน้ำที่ไหลมาจากภูเขา ทั้งวังชิ้นและลอง ก็จะท่วมอยู่อย่างนี้ละครับ เหตุเหมือนเดิม ผลก็เหมือนเดิม
ย้อนกลับไปดูน่านบ้าง อำเภอที่ท่วมหนักๆ อาการเดียวกันทั้งนั้น อ.ท่าวังผา อ.เมือง อ.ภูเพียง อ.เวียงสา
ลำน้ำโค้งตวัด[1] (อังกฤษ: meandering channel[2]) เป็นลักษณะทางธรณีสัณฐานชนิดหนึ่งของทางน้ำ ซึ่งลักษณะจะเป็นทางน้ำที่คดเคี้ยวคล้ายงูเลื้อย บ้างจึงเรียกว่าลำน้ำงูเลื้อย (snaking stream) ทางน้ำแบบนี้เกิดจากกระบวนการฟลูเวียล (Fluvial) ซึ่งจะพบบริเวณที่ราบลุ่มที่ความชันน้อยมาก จะเป็นบริเวณที่กำลังจะลงทะเลทาง น้ำจะมีการกัดเซาะทางลึกน้อยกว่าทางด้านข้าง เพราะจากต้นน้ำที่มีความชันมากทางน้ำก็จะมีพลังงานมาก แต่เมื่อมาถึงบริเวณที่ราบลุ่มความชันลดลงทางน้ำจึงต้องมีการกวัดแกว่งออก ทางด้านข้างเพื่อรักษาความเสถียรของมัน กระแสน้ำที่ปะทะกับตลิ่งด้านหนึ่งจะทำให้เกิดการกัดเซาะแต่จะไปเกิดการตก สะสมตัวในตลิ่งฝั่งตรงข้ามแทน แต่การกวัดแกว่งนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพตำแหน่งของท้องน้ำอยู่ในขอบเขต ไม่เกินเส้นกวัดแกว่งปกติซึ่งถ้าเวลาผ่านไปเส้นก็จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งตามไปด้วย
1 ความคิดเห็น
[...] ดูภาพถ่ายจากดาวเทียมแล้ว จะเห็นว่าอาการหนักไม่แพ้ที่ราบลุ่มภาคกลางเลย น้ำตรงนี้ส่วนใหญ่ไหลไปลงอ่าวผ่านแม่น้ำบางปะกง แต่ว่าเส้นทางคดเคี้ยวมาก ทำให้ความจุของลำน้ำค่อนข้างน้อย (เหมือนแม่น้ำยมตรงบางระกำ) [...]