jDrones

อ่าน: 3203

ตั้งแต่น้ำท่วมกลางปีที่แล้ว ผมตีฆ้องร้องป่าวเรื่องแผนที่สถานการณ์มาตลอด แต่ไม่มีหน่วยงานใดทำสักแห่ง

แล้วการบรรเทาทุกข์ก็เหมือนใช้คนตาฝ้าฟางทำ มีทั้งซ้ำซ้อน น้อยไป มากไป ถี่ไป ห่างไป สารพัดปัญหา แต่ไม่มีความพอดีเลย ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร ที่ไหน ด้วยปริมาณเท่าไหร่ เรื่องนี้ บ่นไปก็เท่านั้นล่ะครับ เหมือนเอาน้ำรดหิน ถ้าหากจะทำอะไรให้มีประสิทธิผลมากขึ้น คงต้องทำเอง พอทำแล้วก็จะมีปอบมาขโมยงานเหล่านี้ไป แต่ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะว่าเราได้ทำในสิ่งที่สมควรทำแล้ว

ในเบื้องแรก ถึงขนาดต้องไป “ขอความร่วมมือ” กับผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางอากาศ ได้ภาพน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ช่วงนั้นไม่มีภัยจึงไม่ได้ทำแผนที่สถานการณ์ — ต่อมาภายหลังพอเกิดภัยขึ้น เราเชิญผู้เชี่ยวชาญไป ทีนี้มีค่าใช้จ่าย คือว่าเขาต้องบินกลับเข้ามาในเมืองไทยก่อนกำหนด และการทำอย่างนี้ก็เป็นวิชาชีพปกติของเขา เตรียมเครื่องมือ ระบบสำรอง ประกันภัย ทีมงาน ฯลฯ ค่าจ้างบินถ่ายรูป (kapook.com เป็นสปอนเซอร์ควักให้) อาจพอซ่อมบ้านได้สักโหล หรือสร้างใหม่ได้สักหลังสองหลัง

อืม… แล้วถ้าเกิดต้องทบทวนแผนที่สถานการณ์ทุกๆ 3 วันล่ะครับ ค่าจ้างตรงนี้ จะไม่มากกว่าเงินที่เอาไปช่วยชาวบ้านหรือ? ก็ต้องหาทางออกที่ประหยัดกว่าครับ… แต่มีปัญหาพื้นฐานคือการบินนั้น ต้องใช้ผู้บังคับที่มีประสบการณ์พอสมควรทีเดียว เนื่องจากอากาศในพื้นที่ที่เกิดภัยธรรมชาติ มักมีความแปรปรวน

กรณีนี้นี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือพื้นที่ที่สำรวจได้ จะจำกัดเพียงแค่ที่สัญญาณวิทยุไปถึงและสายตาของผู้บังคับมองเห็นเท่านั้น หากต้องการบินสำรวจในวงกว้างเพื่อทำแผนที่สถานการณ์ เครื่องบินก็จะต้องบินออกนอกรัศมีของวิทยุ ในกรณีนี้ เราใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการบินอย่างกึ่งอิสระได้ คือกำหนดจุดบินผ่าน (waypoints) ที่ให้เครื่องบิน บินไปถ่ายรูป

พอดีมีนักวิจัยอิสระชาวฟินแลนด์ชื่อ Jani Hirvinen อยู่ในเมืองไทย Jani เป็นหนึ่งใน core team ของ DIYdrones.com ซึ่ง DIYdrones ก็เป็นเว็บของกลุ่มนักเล่นเครื่องบินบังคับวิทยุสมัครเล่น มีผู้ก่อตั้งชื่อ Chris Anderson หัวหน้าบรรณาธิการของนิตยสาร Wired ผู้เขียนหนังสือ The Long Tail และ FREE อันมีชื่อเสียง ด้วยความที่เป็นหนึ่งใน core team ของ DIYdrones Jani จึงเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบควบคุมการบินอัตโนมัติของ DIYdrones และจัดจำหน่ายทั่วโลก

วันนี้ ไปเยี่ยม Jani เพื่อไปตรวจสอบความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เขาทำ

ระบบควบคุมนี้ มีหลายส่วนอันประกอบไปด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์แบบ multi-rotor (quadcopter hexacopter tricopter) สถานีฐาน ระบบ telemetry กล้อง ระบบวางแผนการบิน นอกจากนี้ ระบบต่างๆ ยังสามารถใช้กับเครื่องบินที่ใช้ปีก (fixed wing) รถ เรือ หรือบัลลูนได้อีกด้วย ระบบควบคุมใช้ทั้ง GPS accelerator และ airspeed คำนวณโดยคอมพิวเตอร์บนเครื่อง

คือพูดง่ายๆ ว่ามันเป็นระบบควบคุม UAV อัตโนมัติครับ ดังนั้นการทำงานก็จะเป็น

  1. ตั้งพิกัดที่จะให้บินกวาดถ่ายรูป
  2. ปล่อยเครื่องบิน คนบังคับตอนบินขึ้น
  3. คอมพิวเตอร์นำเครื่องบินไปบินถ่ายรูปตามพิกัดที่กำหนด ตามความสูงที่กำหนด แก้ไขความแปรปรวนของลมโดยอัตโนมัติ รูป/หนังที่ถ่ายเก็บไว้ในหน่วยความจำในบนเครื่องบิน ที่จริงจะให้ส่งภาพลงมาเลยก็ได้ แต่ติดขัดที่ระยะรับส่งของวิทยุ — ผู้บังคับ สามารถ override การควบคุมเครื่องบินเมื่อไหร่ก็ได้ ตราบใดที่สัญญาณวิทยุไปถึง ถ้าสัญญาณวิทยุขาดไป คอมพิวเตอร์จะเข้าควบคุมเครื่องบินทันที ทำให้เครื่องบินไม่ตก
  4. ถ่ายเสร็จก็บินกลับ คนบังคับเครื่องบินตอนจะเอาเครื่องลง (ไม่เสี่ยงตอน take-off และ landing เพราะข้อจำกัดของภูมิประเทศ)
  5. ถ่ายโอนรูปมาเข้าโปรแกรมต่อภาพ

ถ้าทำตอนนี้ ค่าอุปกรณ์คงพอๆ กับการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบินให้ครั้งหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากมันเป็นอุปกรณ์ เราจึงบินถ่ายใหม่ได้หลายๆ ครั้ง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

« « Prev : อย่าเอาแต่คิดฟุ้งซ่าน ตรวจสอบความจริงซะ

Next : เตรียมพร้อมรับภัย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.62077689170837 sec
Sidebar: 0.47599101066589 sec