อนุสนธิจากแผ่นดินไหวในเฮติ
ผมเจตนาไม่เขียนเรื่องนี้ในขณะที่เกิดเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ คืออยากเทียบความคิดกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ว่าห่างไกลกันแค่ไหนครับ
สถานการณ์คือ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 เวลา 04:53:10 ตามเวลาประเทศไทย มีแผ่นดินไหวขนาด M7 ห่างจากเมือง Port-au-Prince (ในประเทศเฮติ) 23 กม. เป็นแผ่นดินไหวบนบกที่อยู่ตื้น จึงเกิดความเสียหายกับบ้านเรือนมาก โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ ระบบโทรคมนาคมไม่เหลือ (ยกเว้นยิงตรงผ่านดาวเทียม) เฮติตั้งอยู่บนรอยแยกพอดี จึงมีความเสี่ยงนี้เป็นธรรมชาติ บ้านเรือนไม่ค่อยมีตึกสูง ถึงเป็นตึกเตี้ย ก็ถล่มลงเป็นจำนวนมาก
จนถึงขณะที่เขียนนี้ ผ่านไปแล้ว 10 วัน โครงสร้างพื้นฐานยังไม่กลับมา
- สนามบินในพื้นที่รองรับเครื่องบินได้วันละร้อยเที่ยว ในขณะที่มีความช่วยเหลือต้องการส่งเข้าไปกว่าพันเที่ยว การแก้ไข: เปิดสนามบินสำรองห่างออกไป 40 กม แล้วขอใช้สนามบินอีกสองแห่งในโดมินิกัน (ประเทศติดกัน)
- ท่าเรือซึ่งเป็นทางผ่านของความช่วยเหลือล็อตใหญ่และน้ำมัน ทหารอเมริกันเพิ่งซ่อมเสร็จ คาดว่าคงอีกวันสองวันกว่าเรือจะเดินทางเข้าไปเทียบได้
- ไฟฟ้า: หายไปชั่วขณะ
- โทรศัพท์: ยังไม่มี ยกเว้นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม
- อินเทอร์เน็ต: ไม่มี ถ้ามี วิดีโอข่าวจะเร็วกว่านี้
- โรงพยาบาล: ถูกทำลาย ไม่น่าจะมีไฟฟ้า ผู้บาดเจ็บล้มตายมาก โรงพยาบาลสนามมีจำนวนไม่พอ
- อาหาร: ไม่พอ น้ำสะอาดไม่พอ
- เงิน: ไม่มี ถึงมีก็ไม่มีความหมาย
- ที่พัก: ไม่มี ที่พักชั่วคราวมีจำนวนไม่พอ
- เศรษฐกิจ: ย่อยยับ
อย่างนี้จึงเรียกวิกฤต เป็นสถานการณ์ซึ่งชีวิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เงินไม่มีความหมาย ถึงมีเงินก็ไม่รู้จะเอาไปซื้ออะไร ธุรกิจบริการหยุดหมด การซื้อขายสินค้าเจอปัญหาเรื่องการขนส่ง-เดินทาง อาหารเข้าสู่พื้นที่ประสบภัยไม่ได้ ติดต่อสื่อสารไม่ได้ ตามหาครอบครัวและญาติไม่ได้ เต็มไปด้วยความโกลาหล
นี่เป็นสเกลของภัยพิบัติขนาดใหญ่ ซึ่งต่อให้เตรียมพร้อมอย่างไร ก็ยากที่จะรับมือได้ดี แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะละเลยการเตรียมพร้อม
ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัวเอง
เหตุแผ่นดินไหว ยังไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ แม้เมืองไทยจะตั้งอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลยเสียทีเดียว เรามีรอยแยกที่เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง หมายความว่ามันเกิดอีกได้ จังหวัดทางตะวันตกและทางเหนือ เสี่ยงมากกว่าเขตอื่นเพราะมีรอยแยกอยู่
กรุงเทพนั้นเป็นกรณีที่น่าสนใจ มีคนอยู่อย่างหนาแน่น พื้นดินตรงนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน แล้วเราก็สร้างตึกสูง (ซึ่งมีน้ำหนักมาก) ลงไปบนรากฐานที่คิดว่าแข็งแรง แต่ใต้รากฐานที่เห็นว่าแข็งแรงนั้น กลับไม่ได้แข็งแรงเลย เป็นโคลน เลนมาก่อน ถ้าน้ำใต้ดินแห้งซึ่งผมไม่รู้ว่าจะแห้งได้อย่างไรนะครับ ก็จะกลายเป็นโพรงอย่างสนุกสนาน การก่อสร้างบรมบรรพต (ภูเขาทอง วัดสระเกศ) ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 รัชกาล เพราะดินอ่อนมาก
เมื่อปี 2550 เมืองไทยมีเตียงในโรงพยาบาลแสนสี่หมื่นเตียง ไม่มีรายงานการเตรียมความพร้อมเรื่องการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือที่พักชั่วคราว ซึ่งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยง (อบต. อบจ. เทศบาล) อาจจะมองเรื่องนี้เหมือนเป็นการประกันภัยหมู่ มี capacity คิดเป็นร้อยละของจำนวนประชากรในท้องถิ่น
น้ำสะอาดและอาหาร ก็ควรหาได้ในท้องถิ่น อย่าพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอกเลยครับ ส่งเสริมให้ประชาชน “เก็บกิน” สิ่งใกล้ตัวได้
ภัยพิบัติไม่ได้เกิดบ่อยๆ แต่เมื่อเกิดแล้ว เสียหายหนัก ผู้ไม่ประมาท (และไม่ตาย) ก็จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ แม้ไม่เหมือนเดิมทีเดียว
« « Prev : เตรียมพิมพ์ “เจ้าเป็นไผ ๑” ครั้งใหม่
2 ความคิดเห็น
ถึงจะยังไม่เกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินไทยก็ไหวหวั่นจากกรณีอื่นอยู่แล้ว
ถ้าแผ่นดินไหวจริง คนต่างจังหวัดจะแก้กฤติได้พอสมควร
เพราะมีส่วนพึ่งตัวเองได้บ้าง
เช่นการเตรียมความพร้อมที่มีอยู่ในวิถีประจำวันส่วนหนึ่ง
เอาแค่ ไม่มีไฟฟ้าอย่างเดียว ก็จะยุ่งยากต่างกันมาก
คนกรุงจะวางแผนส่วนครอบครัวอย่างไร
คิดว่ายากกว่าคนชนบทหลายเท่านัก
วิกฤติที่ต่างกัน คือสัดส่วนที่ระบบจัดการให้เอง
อยู่ที่ไหน ก็มีความเสี่ยง เราต้องเข้าใจความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ซึ่งไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะเตรียมตัวแบบเดียวกันไม่ได้ครับ