อบรมนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

อ่าน: 3736

นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณาาจารย์นำโดย แพทย์หญิงชลลดา บุษยรัตน์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มาเยี่ยมสวนป่าระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เดินทางกลับไปแล้วครับ ภาพกิจกรรมดูได้บนเฟสบุ๊ค

เป็นการอบรม(แบบไม่อบรม)ที่สนุกดีครับ การมาเรียนที่สวนป่านั้น เป็นการเรียนแบบผู้ใหญ่ ต้องสังเกต ฉุกใจคิด และสรุปเอง ผิดถูกไม่เป็นไร ยังได้เรียน ต้องพูด ต้องซักเอง วิทยากรไม่ใช่ผู้มาปล่อยของ ภาวนา โอม…จงเชื่อ จงรู้

วิทยากรชาวเฮมาช่วยกันจากทั่วประเทศ มีหมอจอมป่วน(พิษณุโลก) อาเปลี่ยน(กัมพูชา) พี่หมอเจ๊(กระบี่) พี่สร้อย(เชียงใหม่) พี่ครูอึ่ง(ลำพูน) และครูอาราม(ลำพูน) น้ำอึ่งอ๊อบ(เชียงใหม่)มาไกลจึงจี้มอเตอร์ไซค์เข้ามาสวนป่า ได้เจอกันตอนนักศึกษาจะลากลับ ทีมวิทยากรมีหลากหลายความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์

สวนป่าไม่ใช่โรงเรียนแพทย์ แต่เป็นโรงเรียนชีวิตต่างหาก ห้องเรียนอยู่นอกอาคาร กลุ่มนี้โชคดีที่อากาศไม่ร้อนมาก จึงได้เรียนกันนอกห้องตลอดเวลา

เรียนในห้อง ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง ได้ความจริง
เอาความรู้บวกความจริง ได้ความรู้จริง
— ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือคนนอกระบบ

อ่านต่อ »


หลบไปพัก

อ่าน: 5060

ผมมาสวนป่าเมื่อวันที่ 13 กค. เที่ยวนี้กะจะอยู่สัก 3 สัปดาห์ แต่ก็มีเหตุให้วิงเวียน เกิดอาการโลกหมุน (ธรรมดาเรียกบ้านหมุน แต่มาอยู่หมู่บ้านโลก ก็เลยเป็นโลกหมุน)

จนเมื่อวันที่ 18 ก็เกิดอาการมากมาย ตามคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ บอกว่าตัวเหลือง ซีด เหงื่อกาฬแตก ตัวเย็น ปากซีด แม่หวีเลยพาส่งโรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์​ (ชื่อก็บอกแล้วว่าไม่ใช่โรงพยาบาลของรัฐ)

นอนคืนแรก ไม่มีอาการวิงเวียนอีก แต่ยังไม่ได้ออกจาก รพ. หมอยังให้ยาฆ่าเชื้อทางสายน้ำเกลือ (สงสัยไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหมอรังสีวินิจฉัยว่าอาจเป็นปอดบวม) เช้าขึ้นครูบา แม่หวี และน้องเนตร (สาวลุยสวนป่าคนเดียว) มาเยี่ยม ครูบาว่าดีใจที่เห็นรอยยิ้มสดชื่น เนตรว่าปากเป็นสีชมพูแล้ว นอนคืนที่สอง รุ่งขึ้นแม่หวี ป้าสอนมาเยี่ยม ก็ไม่มีอะไร จนพ้นคืนวันที่ 20 จึงออกจากโรงพยาบาลมาได้ มีสามสาวมารับกลับสวนป่า เพื่อความสบายใจของทุกคน ผมย้ายจากกระต๊อบมานอนที่อาคารใหญ่ แล้วก็เอา wifi repeater ตามมาด้วย ทำให้ในปัจจุบันนี้ ทุกห้องนอนในอาคารใหญ่ ตลอดจนห้องเรียนชั้นล่าง ใช้ wifi ได้หมดแล้ว

กลับมาบ้านเฮาที่สวนป่า รู้สึกสดชื่นดี ไม่วิงเวียน เดินไปเดินมาก็ไม่วิงเวียน หาเรื่องขับรถทุกวัน พยายามมองหาสัญญาณบอกเหตุก็ไม่มี

ที่ห้อง ER วันแรก นอนได้สักพัก ความดันลดลงสู่ระดับปกติ 120/70 ผลตรวจเลือดแสดงว่าเลือดข้นเกินเกณฑ์ CBC 52% อาจทำให้วิงเวียนได้ และอาจทำให้หลอดเลือดสมองอุดตันได้อีก ตอนนี้กลับมากิน aspirin ทำให้เลือดไม่แข็งตัว หมายความว่าเป็นแผลแล้วเลือดจะหยุดยากขึ้น เฮ้อ ไม่เหมาะกับระยะลุยสร้างบ้านและปลูกต้นไม้เลย แต่ทำไงได้ สร้างเสร็จช้า ดีกว่าเสร็จเร็วแต่ไม่ได้อยู่นะครับ

ขอขอบพระคุณทุกคนที่มาช่วยดูแลในช่วงที่ผมช่วยตัวเองไม่ได้ (ทั้งสวนป่าเลย) ขอโทษที่ทำให้วุ่นวาย ขอโทษแฟนคลับที่หายไปสองคืน ขอโทษคนที่เฝ้าภาพทางช้างเผือกแต่ไม่มีรูปใหม่ ช่วงนี้คงไม่เขียนอะไรมากหรอกครับ แล้วก็ตอบไม่ไหวด้วย เหตุการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ขอพักก่อน เรื่องนี้ผมไม่ได้บอกใคร ไม่อยากให้กังวลโดยที่ทำอะไรไม่ได้ คือไป รพ.แต่ตัว แบตมือถือกำลังจะหมด และอยากนอนพักด้วย

อ่านต่อ »


เตรียมตัวเป็นไหม

อ่าน: 2769

ชื่อบันทึกนี้ เป็นคำถามที่ผมไม่ต้องการคำตอบ แต่มุ่งให้ผู้อ่านแต่ละท่าน ถามตัวเอง ตอบตัวเอง และกระทำสิ่งที่สมควร

รูปข้างบนเป็นหน้าแรกของหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ ชื่อ ready.gov ด้านล่าง ขึ้นแบนเนอร์ของสามเว็บไซต์ ซึ่งที่จริงแล้ว ทั้งสามก็เป็นเว็บของ FEMA (องค์กรจัดการภัยพิบัติของสหรัฐ) ทั้งหมด FEMA เองเคยล้มเหลวเรื่องการจัดการภัยพิบัติมาหลายครั้ง แต่เขาเรียนรู้และปรับปรุง คราวนี้ดูดีกว่าเก่าเยอะครับ

อ่านต่อ »


วันที่มีแต่กลางคืน

อ่าน: 4803

มานั่งคิดดู การจัดการภัยพิบัติตามหลักการ เปรียบเหมือนกลางวันและกลางคืน กล่าวคือจะมีทั้งส่วนการเตรียมการได้ก่อนเกิดภัย เช่นปรับเปลี่ยนโครงสร้าง จัดการความเสี่ยง เป็นภาคกลางวันที่สามารถทำอะไรล่วงหน้าไปได้ (ถ้าใช้ความรู้ ก็จะไม่แพงอย่างที่คิด) และมีอีกส่วน คือเมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์ เยียวยา ฟื้นฟู ซึ่งทั้งหนักหนาและยาวนาน เปรียบเหมือนกลางคืน มองอะไรไม่เห็น ทำอะไรก็ลำบาก

ในเมืองไทยนี้ มีแต่กลางคืน เราไปเข้าใจว่าการบรรเทาทุกข์เป็นการจัดการภัยพิบัติ​ซึ่งไม่ใช่หรอกครับ เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น พอเป็นเรื่องเยียวยา ฟื้นฟู ก็ไม่ค่อยจะมีใครอาสาทำกัน เพราะหนัก ลำบาก โดดเดี่ยวและแพงมาก…

ระบบความคิดของเราผิดเพี้ยนนะครับ วันหนึ่งจะมีแต่กลางคืนได้อย่างไร?

อ่านต่อ »


รังสียูวี

9 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 24 May 2011 เวลา 15:55 ในหมวดหมู่ การแพทย์ สุขภาพ สุขภาวะ #
อ่าน: 3740

ผมไม่ได้เป็นคนที่รักสวยรักงามจนกลัวผิวเสีย และเมืองไทยก็เป็นเมืองร้อน มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิดแล้ว

แต่ช่วงนี้แดดร้อนจนแสบ ยูวีจากแสงแดดในปริมาณที่มาก สามารถทำอันตรายต่อผิวหนังและประสาทตาได้

รูปทางขวาเป็นการคาดการณ์ UV Index ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งมีสเกลและสีตามรหัสสากล ดังนี้

UV Index สี ความเสี่ยง เวลาในแดด (นาที)
0-2 เขียว ปกติ มักไม่มีอันตรายต่อคนปกติ ใส่แว่นกันแดดในกรณีที่มีแสงจ้า/แสงสะท้อน 30-60
3-5 เหลือง เสี่ยงเสี่ยงต่ำ ใส่แว่นกันแดด ทาครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30 เข้าที่ร่มช่วงเที่ยง 30
6-7 ส้ม เสี่ยงสูง ใส่แว่นกันแดด ทาครีมกันแดดที่มี SPF มากกว่า 30 เสื้อแขนยาว หมวกปีกกว้าง หลีกเลี่ยงแดดระหว่าง 10-15 น. ใช้ร่ม 20
8-10 แดง เสี่ยงสูงมาก เหมือนข้างบน หลีกเลี่ยงแดดและกีฬากลางแจ้ง (ผิวไหม้แล้ว) 15
11 ขึ้นไป ม่วง อันตรายมาก ทำทุกอย่างเท่าที่นึกออก น้อยกว่า 15

อาการที่ตามแดดมากเกินไป คือผิวไหม้ — แต่ไม่ใช่ว่าถ้าผิวไม่ไหม้แล้ว ถือว่ายังทนได้; ค่าข้างบน แนะนำตามผิวฝรั่ง คนไทยทนได้มากกว่านี้ เพื่อความปลอดภัย ก็ใช้คำแนะนำตามตารางก็แล้วกันครับ

ถ้าเมฆมาก UV Index อาจลดได้สัก 1-3 ระดับ

อ่านต่อ »


อาหารสำหรับกรณีฉุกเฉิน

อ่าน: 5180

อนุสนธิจากกรณีเหตุภัยพิบัติต่อเนื่องในญี่ปุ่น ความเสียหายลุกลาม จากเหตุหนึ่งนำสู่อีกเหตุหนึ่ง กระทบกันเป็นทอดๆ

น้ำสะอาดและอาหารเป็นปัญหาใหญ่ครับ กรณีของน้ำเป็นความเสี่ยงเรื่องกัมมันตภาพรังสี ปนเปื้อนในอากาศ และตกลงมาสู่แหล่งน้ำผิวดินตาม ดังนั้นน้ำสะอาด สำหรับผู้ที่อยู่ใกล้พื้นที่ประสบภัยพิบัติจึงเป็นปัญหา ครั้นจะส่งน้ำจากพื้นที่อื่นเข้าไปช่วย ก็เป็นเรื่องโกลาหลเหมือนตอนที่เราส่งน้ำดื่มไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมนั่นล่ะครับ

ในส่วนของอาหาร อาหารสดมีปัญหาจากการปนเปื้อนกัมมันตรังสี ลูกสาวหมอป่วนซึ่งอยู่ร้อยกิโลเมตรทางใต้ของโตเกียวบอก ยังโอเค แต่ขนมปังขาดแคลนเพราะเขาส่งไปช่วยเขตภัยพิบัติ

“ทำไมขนมปัง” แค่คำถามนี้ ก็ถอดบทเรียนได้แล้วครับ ไฟฟ้าไม่มี ก๊าซหุงต้มไม่มี บ้านเรือนเสียหาย ผู้คนอพยพไปยังศูนย์พักพิงหลายหมื่นคน ความช่วยเหลือที่ส่งไปยังพื้นที่เป็นเรื่องลำบาก การประกอบอาหารแทบเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นอะไรที่กินได้ ให้พลังงานแก่ร่างกายโดยไม่ต้องหุงหา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการที่สุดครับ

ผมน่ะทำอาหารไม่เป็น ขึ้นกับความกรุณาของคนอื่นที่ทำอาหารให้กินมาตลอด กินอาหารก็ไม่ปรุง ทำมาอย่างไรก็กินอย่างนั้น (จริงๆ นะ) แต่ดันอ่านเจอ วิธีการทำ health bars คิดว่าไม่เลวแฮะ ให้พลังงานแก่ร่างกายสำหรับกรณีขาดแคลนจริงๆ พอประทังชีวิตไปได้สักพัก ก็เอามาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันครับ จะส่งไปช่วยหรือจะเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ก็แล้วแต่จะพิจารณากันเอง

อ่านต่อ »


เตาจรวด

อ่าน: 5117

อันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรหรอกครับ แต่นำมาเขียนอีกเพราะผมไม่คิดว่าการเผาฟืนในที่โล่งแจ้งเพื่อสร้างความอบอุ่น จะเป็นวิธีการที่ดี ควันไฟมีอันตรายต่อผู้ที่สูดดม แม้จะไม่เห็นผลในทันใด แต่ก็คล้ายกับการสูบบุหรี่ — แต่เวลามันหนาวจับขั้วหัวใจ จะบอกไม่ให้ก่อกองไฟแล้วดันไม่มีวิธีอื่นทดแทน อย่างนี้คงคุยกันไม่รู้เรื่อง

เตานี้เป็นเตาธรรมดา คล้ายเตาอั้งโล่นั่นแหละครับ เปิดช่องให้อากาศเข้าทางเดียว และให้ความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ออกทางเดียวคือทางปล่องด้านบน เรียกว่า rocket stove ใช้เศษกิ่งไม้เล็กๆ เป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องใช้ฟืนดุ้นใหญ่ ซึ่งต้องไปตัดต้นไม้ต้นใหญ่มาเพื่อที่จะติดไฟนานๆ

การทำปล่องเอาไว้ ทำให้เกิด stack effect [ปล่อง] เป็นแรงดูดเปลวไฟและลมร้อนออกทางด้านบน ทำให้เตาดูดอากาศเข้ามายังห้องเผาไหม้จากด้านล่าง เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ขึ้น (เปลี่ยนเชื่อเพลิงไปเป็นความร้อนได้ดีขึ้น) ควันน้อยหรือไม่มีควัน

สามารถสร้างได้ง่ายๆ โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น จะเป็นการก่อดินก็ได้ หรือจะใช้อิฐก่อ ก็แล้วแต่สะดวก

อ่านต่อ »


ผนังที่เป็นฉนวน

อ่าน: 6091

เมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่าเคยมีการระดมทำผ้าห่ม โดยการเอากระดาษหนังสือพิมพ์ ทาแป้งเปียก มาต่อกัน เย็บขอบเป็นผืนใหญ่

หลักการก็คืออากาศ(นิ่ง) ระหว่างชั้นของหนังสือพิมพ์ กลายเป็นฉนวนความร้อน ป้องกันความเย็นจากภายนอก และรักษาความอบอุ่นของร่างกายไว้ภายใน แต่ผ้าห่มแบบนี้ ไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากหมึกพิมพ์เลอะเทอะเสื้อผ้า ซักออกยาก แถมมีตะกั่วผสมอยู่ในหมึกพิมพ์อีกด้วย ในสมัยนั้น ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เด็กในเมืองที่ครูสั่งให้หากระดาษหนังสือพิมพ์(เก่าๆ)ทำกันยังไง เพราะหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนปัจจุบัน

แต่ผมยังคิดว่าหลักการของฉนวนอากาศ ยังใช้ได้อยู่ โดยแทนที่จะเอามาห่ม ก็ใช้แผ่นกระดาษปะฝาผนัง เพิ่มค่า R ให้ผนัง ซึ่งนอกจะป้องกันความเย็นจากนอกบ้าน เก็บรักษาความอบอุ่นไว้ในบ้านแล้ว ก็ยังกันลมเย็นจากรอยแยกตามช่องผนังไม้ (นึกถึงบ้านชาวเขา ซึ่งเป็นไม้ขัดกัน ฯลฯ) เวลาใช้กระดาษเป็นฉนวนติดผนังแล้ว ก็สามารถลดการสัมผัสผิวหนังลงไปได้ ช่วยป้องกันความหนาวเย็นแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะลงไปผิงไฟไม่ไหว

ตามโรงเรียน สามารถใช้กระดาษหลายชั้นปิดผนัง (ระวังน้ำหนัก) ปิดทับหน้าต่างกระจกซึ่งเป็นจุดที่ห้องสูญเสียความร้อนมาก

  • Plastic sheeting ฝรั่งใช้พลาสสิกแผ่นทำแบบเดียวกัน
  • Cold Climate Emergency Shelter Systems ที่พักฉุกเฉินสำหรับอากาศหนาว เป็นเหมือนเต้นท์แบบครึ่งทรงกระบอก ใช้ท่อพีวีซีขนาดเล็ก มางอให้โค้งเป็นครึ่งวงกลมใช้เป็นโครงหลังคา (งอได้ง่ายๆ) แล้วเอาผ้าเต้นท์ ไยไฟเบอร์ หรืออย่างกรณีไม่มีงบสร้างจริงๆ ก็ใช้กระดาษเก่าหลายชั้นคลุมเป็นหลังคาแทนได้

อ่านต่อ »


แสงแดดฆ่าเชื้อโรค

อ่าน: 7828

จากบันทึก [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม] เมื่อสองเดือนก่อน เป็นโศกนาฏกรรมทีเดียว ที่มีน้ำเต็มไปหมด แต่กลับเอามาดื่มไม่ได้ ต้องขนน้ำดื่มจำนวนมากมาเป็นระยะทางเป็นร้อยกิโลเมตร

ในบันทึกนั้น มีข้อเสนอสร้างเครื่องกรองเซรามิค (ดินเผานั่นแหละครับ แต่เรียกให้เท่) แต่เค้าใช้ซิลเวอร์คอลลอยด์ทาที่ผิวให้ซึมลงไปในเนื้อของฟิลเตอร์ เพื่อไปฆ่าเชื้อโรค แต่วิธีนี้มีปัญหาในการเตรียมสารละลาย ทั้งความเข้่มข้น และการทดสอบ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งควรทำให้ผ่านด้วย… ไม่ใช่เลี่ยงบาลี แบบที่พนักงานขายตรงบางคน ขายเครื่องกรองน้ำ แล้วบอกว่าลูกค้าเอาน้ำไปดื่มเอง ตัวเครื่องกรองน้ำไม่ใช่เครื่องกรองน้ำดื่ม แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีคำเตือนใดๆ ทั้งที่กล่อง ที่ตัวภาชนะ และในคู่มือ… เครื่องกรองน้ำแบบ RO ใช้ไม่ได้หากน้ำไม่มีแรงดันนะครับ

ปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสะอาดสำหรับบริโภค นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น

นอกจากการกรองสีและสารแขวนลอยแล้ว ก่อนจะนำน้ำไปบริโภค ก็ต้องฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน

สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้ำแห่งชาติ สวิสเซอร์แลนด์ ได้คิดวิธีการง่ายๆ เรียกว่า SODIS (Solar Water Disinfection) โดยการเอาน้ำใส่ขวดใส ตากแดดไว้หกชั่วโมง ปล่อยให้รังสี UVA ในแสงแดดฆ่าเชื้อโรค

ง่ายๆ แค่นั้น!

อ่านต่อ »


อีกด้านหนึ่งของน้ำ

อ่าน: 4437

มอร์นิ่งทอล์ควันนี้เจอประเด็นคุณภาพของน้ำ ผมก็ไม่รู้ว่าผู้ประสบอุทกภัยใช้น้ำจากที่ไหนกินหรือทำอาหารกันหรอกนะครับ รู้สึกหวาดเสียวมาก

เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวว่าเฮติ เกิดอหิวาต์ ทั้งๆ ที่หายไปจากเฮติมาหลายสิบปีแล้ว กรณีน้ำท่วม อาจจะมีความเสี่ยงจากอหิวาต์หรือท้องร่วงอย่างแรงมากกว่าแผ่นดินไหวเสียอีก แต่บทเรียนจากเฮติเช่นกัน พูดถึง Oral Rehydration Therapy (ORT หรือ ORS Oral Rehydration Solution) เป็นการให้น้ำและเกลือแร่ เพื่อบรรเทาอาการสูญเสียน้ำจากอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง (อหิวาต์)

หากผู้ประสบภัย (หรืออาสาสมัครที่ออกไปช่วยเหลือ) มีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง จะต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน แต่ถ้าหากไปไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะต้องระวังอาการช็อคจากการสูญเสียน้ำ ถ้ามีผงเกลือแร่กับน้ำสะอาด ก็ให้ผู้ป่วยดื่มในปริมาณตามฉลาก แต่ถ้าไม่มี อาจเตรียมสารละลายข้างล่างให้ดื่มทดแทนแล้วรีบนำส่งสถานพยาบาลโดยเร็วนะครับ

  • ผู้เตรียมสารละลาย ล้างมือให้สะอาด
  • เกลือแกง (เกลือทะเล ผสมไอโอดีนหรือไม่ก็ได้) 1 ช้อนชา — 1 ช้อนชา ประมาณ 1 ฝาเบียร์ครับ
  • น้ำตาลทราย 4 ช้อนชา
  • น้ำ 1 ลิตร หากไม่แน่ใจคุณภาพน้ำ ให้ต้มเสียก่อน หรือไม่ก็ใช้น้ำมะพร้าวอ่อนครับ
  • ผสมให้เข้ากัน แล้วให้ผู้ป่วยดื่มในอัตรา 5 ml/กก./ชม. เช่นผู้ป่วยน้ำหนัก 60 กก. ก็ให้ดื่มสารละลายนี้ 300 ml/ชั่วโมง (ประมาณ 1 กระป๋องน้ำอัดลม ซึ่งมีปริมาตร 325 ml)

อ่านต่อ »



Main: 1.1099491119385 sec
Sidebar: 0.62552404403687 sec