ระบบจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของสังคม
อ่าน: 3576วันนี้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1042 (มาตรฐานระบบจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของสังคม) กระทรวงอุตสาหกรรม — เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเตรียมพร้อม จัดเตรียมแผน ฝึกซ้อม ก่อนที่สถานการณ์จริงจะเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ด้วยผลของเหตุการณ์ หรือด้วยความอลหม่าน จะทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ยิ่งทิ้งไว้นาน ก็ยิ่งแก้ไขลำบากขึ้น และมีคนเดือดร้อนมากขึ้นครับ
ฟังดูคำว่า มาตรฐานระบบจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของสังคม รู้สึกจะเป็นการทำเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องใหญ่ แต่ละคำมีความหมายกว้างขวางใหญ่โตนะครับ ซึ่งนั่นไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า
- ภัยพิบัติ หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คน ไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ (รวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจ การเดินทาง จ่ายสาธารณูปโภคไม่ได้ ลมฟ้าอากาศ การก่อการร้าย การประท้วงโดยไม่สงบ หรือแม้แต่การจราจรที่หนาแน่นผิดปกติเป็นเวลานาน ฯลฯ) จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อม ดูแล วางแผนป้องกันหรือผ่อนคลาย
- สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่การออกมาตรฐาน ออกคำแนะนำ หรือออกประกาศ และไม่ได้ใช้กับด้านอุตสาหกรรมเท่านั้น สมอ.เป็นหน่วยงานเทียบเคียงกับ ISO จึงไม่มีหน่วยงานใดที่เหมาะกว่า สมอ.ที่จะรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อออกคำแนะนำ
งานของ กว.1042 นี้ ทำคู่ขนานอยู่กับ Technical Committee 223 ขององค์การมาตรฐานโลก (ISO) และได้ออกมาตรฐานแรกชื่อ ระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ - ข้อกำหนด ออกมาเป็น มอก.22301-2553 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 127 ตอนพิเศษ 71ง วันที่ 7 มิถุนายน 2553; ผมพยายามจะค้นมาตรฐานนี้ออกมาให้อ่านกัน แต่ว่าเข้าเว็บไซต์ของราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ (ตามเคย)
ก็ตัดตอนมาให้ดูนิดหน่อยนะครับ
1. ขอบข่าย
1.1 มาตรฐานนี้ ระบุข้อกำหนดในระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย การวางแผน การดำเนินการ การติดตาม การทบทวน การฝึกซ้อม การรักษาไว้ และการปรับปรุงระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่ได้จัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจทั้งหมดขององค์กร
1.2 มาตรฐานนี้ใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับสภาวะทางธุรกิจและความซับซ้อนในการดำเนินการขององค์กร โดยคำนึงถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการ
ดังนั้นหมายความว่ากิจการที่มีความสำคัญยิ่งยวด และกิจการที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เช่นกิจการสาธารณูปโภคสาธารณูปการ กิจการในตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสาร ตลาดสินค้าล่วงหน้า กิจการกู้ธุรกิจ (Disaster Recovery Service) หรือกิจการที่มีจุดตาย (single point of failure) น่าจะลองพิจารณาดูครับ เป็นมาตรฐานที่ไม่บังคับให้ทำ แต่เป็นเหมือนคำแนะนำคร่าวๆ ที่เกิดมาจากแนวปฏิบัติที่ดี — หมายความว่ากลั่นมาจากประสบการณ์ของคนอื่น ที่เคยผ่านสถานการณ์มาแล้ว
มาตรฐานชุดนี้ มอก.22301-2533 เป็นมาตรฐานแรกที่ออกมา เทียบเคียงได้กับ ISO 22301 International Business Continuity Standard ซึ่งร่างโดย ISO/TC 223
กว.1042 นี้ มีขนาดใหญ่โตกว่า กว.อื่นๆ ถึงเท่าตัว ทั้งนี้เป็นเพราะขอบข่ายของมาตรฐานกว้างขวาง ครอบคลุมลักษณะและขนาดขององค์กรที่หลากหลายมาก แต่เมื่อพิจารณาจากผลงาน (ผมอ่านเอกสารย้อนหลัง) ก็ยอมรับว่าประทับใจครับ; การประชุมตรงประเด็น ไม่ได้รวบรัด แต่ว่าไม่ออกนอกประเด็นเลย ใช้เวลาไม่มาก มีการติดตามผลจากครั้งก่อน มี action item ที่แน่นอน
ถ้าหา มอก.22301-2533 มาอ่านได้ ผมว่าน่าอ่านนะครับ จะทำหรือไม่ทำก็แล้วแต่ แต่เมื่ออ่านแล้ว จะมองเห็นความเสี่ยงเชิงระบบได้ง่ายขึ้น แล้ว Business Continuity ก็ไม่ใช่ความต่อเนื่องของธุรกิจ แต่เป็นความต่อเนื่องของการดำเนินงานขององค์กร
« « Prev : ยืนยัน
Next : มาบ่อย » »
2 ความคิดเห็น
คิดไม่ถึงว่าประเทศี้จะมี
-มาตรฐานระบบ
-จัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของสังคม
>> สังคมป่วย จึงสนใจว่าเขาจะมีความรู้เรื่องนี้อย่างไร?
>> คงจะติดตาม ศึกษา ห่างๆ ต่่อๆๆไป
ความปลอดภัยของสังคม เป็นเรื่องร้ายแรง ที่แตกตัวแตกต่างกัน โดยเฉพาะความแตกต่างทางลัทธิ -ความคิด-ความรู้สึก
คววามรู้สึกของสังคมๆๆๆๆๆๆๆๆ จะเป็นฉันใด ถึงจะรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และร่วมใจ กัในที่สุด
หน้าที่คนไทย ต่อ ประเทศไทย จะสร้างด้วยระบบและมาตรฐานใด ถึงจะเป็นมรรคเป็นผล
อันนี้เช่นเดียวกับเรื่องสมานฉันท์+ปฏิรูป ซึ่งผมก็คิดว่ากรรมการทุกท่านเข้าใจประเด็นนี้ดีทีเดียว ว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ไม่ใช่ผู้วิเศษจะมาเนรมิตให้เกิดอย่างโน้นอย่างนี้ แบบที่ชอบพูดเสียดสีกันนะครับ