ยืนยัน
กะจะไปเงียบๆ ทำหน้าที่เสร็จแล้วรีบกลับ เจอทวิตทักทายซะแล้ว
ทั้งงาน Thailand ICT Awards (TICTA 2010) เจอแต่คนคุ้นเคย ถูกทักแทบทุกหัวมุมแฮะ ป็อบเหมือนกันนะเนี่ย
หน้าที่กรรมการก็คือคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปร่วมในงาน Asia-Pacific ICT Alliances (APICTA) ซึ่งมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอยู่แล้วครับ วันนี้ไปดูการทำงานจริงเพื่อให้แน่ใจว่า การนำเสนอในวันที่คัดเลือก ไม่ใช่การวาดฝันในอากาศให้กรรมการฟัง ทั้งนี้ในวันที่คัดเลือก ไม่สามารถสาธิตได้เพราะว่ากติกาคือนำเสนอ ทุกทีมมีเวลาเท่ากันหมด และใช้เวลาอย่างเต็มที่แล้ว
ในวันนี้เนื่องจากมีเวลาไม่จำกัด จึงถือโอกาสเดินดู พูดคุย แนะแนวคิดธุรกิจกับบริษัทต่างๆ ทั้งในกลุ่มที่ผมเป็นกรรมการ และกลุ่มอื่นๆ ด้วย
ผมคิดว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้แสดงผลงานในครั้งนี้ มีโอกาสดีที่จะแลกเปลี่ยนธุรกิจกัน ต่างคนต่างมีดีในส่วนของตัวเอง แต่ก็ไม่ค่อยได้คิดเรื่องความเชื่อมโยงกับบริษัทอื่นเพื่อให้ทั้งสองฝ่าย มี portfolio ที่สมบูรณ์ขึ้น ถ้าหากว่าเราจะต้องเขียนทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการทั้งหมดเองแล้ว อาจจะหมดแรงตายไปเสียก่อน สู้ไปหาคนที่เขาทำอย่างนี้แล้วเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน อาจจะดีกว่า
กลุ่มที่ผมเป็นกรรมการ ผ่านเข้ามาสี่บริษัท แนะให้จับคู่กัน
คู่แรก ทั้งสองบริษัทมีลูกค้าต่างประเทศสั่งซื้อแล้ว ฝ่ายหนึ่งมีระบบ traceability ที่น่าชื่นชม อีกฝ่ายหนึ่งมีระบบควบคุมและอุปกรณ์ซึ่งตรวจสอบการรักษาคุณภาพของสินค้าทางการเกษตร ต่างฝ่ายต่างไม่มีสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งมี ถ้าทำงานร่วมกันได้ ทั้งคู่ก็จะมีข้อเสนอที่กว้างกว่า และมีกำลังในการขายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
อีกคู่หนึ่ง บริษัทแรกทำ ERP คือเป็นระบบงานตั้งแต่รถส่งพืชผลทางการเกษตรเลี้ยวเข้าประตูโรงงานมา มีคิวการเท ตำแหน่งเท วัดปริมาณ ออกตั๋วเพื่อมารับเงิน ระบบบัญชี ระบบสต๊อค ฯลฯ งานของบริษัทนี้เป็นส่วนของโรงงาน ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเป็น GIS Mashup ติดตามปริมาณน้ำ ปุ๋ย แทรกเตอร์ (ติด GPS) ฯลฯ ซึ่งเป็นการจัดไร่ทางฝั่งเกษตรกร ถ้าร่วมมือกัน ก็จะควบคุมคุณภาพได้ตลอดกระบวนการตั้งแต่ก่อนจะเริ่มปลูกเลย (ดิน น้ำ พันธุ์) แต่ถ้าแยกกันทำ ต่างฝ่ายต่างต้องเรียนรู้อีกเยอะ อาจจะหมดแรงตายไปก่อนเขียนเสร็จ — สองบริษัทนี้ แนะเรื่องปุ๋ยสั่งตัดไปให้ด้วยครับ
ในงานมี 17 กลุ่ม กลุ่มละ 4 บริษัท มีงานของนักเรียน/มหาวิทยาลัยบ้าง แต่ที่เหลือ 40-50 บริษัท ถ้าเดินดูแลกเปลี่ยนกันเอง ก็คงจะมีโอกาสดีกว่า business matching อย่างที่ทำกันเป็นการทั่วไป
เท่าที่คุย ทุกบริษัทชอบให้อวยพรว่า ขอให้ขายได้เยอะๆ มีบริษัทหนึ่งบอกว่าอวยพรแบบนี้ ดีกว่าให้ชนะการประกวดเสียอีก
สำหรับหน้าที่ในวันนี้ ก็ยืนยันคะแนนที่ให้ไปครับ ไม่ยึกยักเปลี่ยนแปลง เมื่อตอนให้คะแนน ได้ฟัง ได้ซักถาม ได้พิจารณาประเมินตามเกณฑ์แล้ว วันนี้เพียงแต่มาดูว่าเป็นของจริงเท่านั้น แล้วผมก็ไม่มีอำนาจ หน้าที่ หรือสิทธิ์ ที่จะยืนยัน ปฏิเสธ หรือแก้ไขคะแนนที่กรรมการท่านอื่นให้
Next : ระบบจัดการด้านการรักษาความปลอดภัยของสังคม » »
3 ความคิดเห็น
แจ๋วค่ะ ความฝันที่อยากเห็น Precision Agriculture เริ่มใกล้เข้ามาแล้ว อิอิอิ
ถ้าใส่ความรู้ลงไป Precision Agriculture ก็เกิดขึ้นได้นะครับ
เคยไปดูโครงการหลวงดอยคำเหมือนกันค่ะ เห็นระบบควบคุม การตัดแต่ง การขนส่ง ที่น่าทึ่ง รวมทั้งการดูแลทั้งน้ำ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงแต่ควบคุมระยะเวลาอย่างชัดเจน และก็เห็นจุดอ่อนคือไม่สามารถสแกนและสอบทวนเส้นทางอย่างที่พี่รุมกอดบอกนั่นแหละค่ะ ถ้าแก้ไขจุดนี้ก็ถือว่าเป็นระบบ Food chain ที่แสดงต้นน้ำ-ปลายน้ำที่สมบูรณ์อีกอันหนึ่งเลย
เราขาดการเชื่อมต่อข้อมูลรวมทั้งโลจิสติกที่คุ้มค่า เพราะโครงการหลวงของชร.ก่อนหน้านี้ก็ต้องส่งไปแพ็คที่ชม.แล้วส่งกลับมาขายที่ชร.อีกรอบ ทำให้ราคาค่อนข้างสูง เบิร์ดสนใจเรื่องของที่ตกเกรด เพราะในระบบฟาร์มใหญ่ ของที่ตกเกรดจะถูกคัดออกไปต่างหาก แต่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้ในหลายทางน่ะค่ะ รวมทั้งขายในราคาที่แตกต่างไปแต่เพื่อคนในท้องถิ่น
การวางแผนการผลิตรวมทั้งศึกษาตลาดก็เช่นกัน ถ้าสามารถจัดโซนนิ่งได้เราจะรู้ว่าที่ไหนผลิตอะไรได้เท่าไร เรารู้กายภาพพื้นฐาน(ดิน น้ำ จุลินทรีย์ ฯลฯ) ปริมาณน้ำฝน ภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของโรค แมลงต่าง ๆก็คงช่วยได้เยอะค่ะ …อย่างนี้ค่อยน่าสนุกหน่อย