รถสื่อสารฉุกเฉิน ไม่ได้กู้ภัยแต่จำเป็น!!!
อ่าน: 4165ไม่ว่าจะเป็นภัยระดับไหน เป็นเรื่องยากที่จะมียานพาหนะที่พร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ครับ แต่การเข้าพื้นที่ด้วยความไม่พร้อม นอกจากช่วยเหลือผู้ประสบภัยไม่ได้แล้ว ยังอาจทำให้ผู้ประสบภัยผิดหวังซ้ำสองก็ได้ รถกู้ภัยที่มีทุกอย่างพร้อม ก็จะมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก จะเข้าพื้นที่ประสบภัยได้ลำบาก
โดยทั่วไป จะเป็นการเหมาะสมกว่าหากส่งหน่วยตรวจการขนาดเล็กที่คล่องตัว เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อเก็บข้อมูลเที่ยวหนึ่งก่อน เมื่อรู้ความต้องการตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ประสบภัยแล้ว จึงนำเอาความช่วยเหลือเข้าไป
หน่วยตรวจการขนาดเล็กแบบนี้ มีงานวิจัยของเนคเทคเคยทำไว้หลังเหตุการณ์สึนามิ เรียกว่ารถสื่อสารฉุกเฉิน (Emergency and Education Communications Vehicle - EECV) ซึ่งมีใช้อยู่ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสภากาชาดไทย ถ้าผมจำไม่ผิด รถ EECV เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 ลงพื้นที่จริงเมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ในปี 2549
จากข้อมูลการนำเสนอในงานประชุมประจำปีของ สวทช.ปี 2549 (NAC 2006) รถ EECV มีคุณลักษณะดังนี้
- ระบบขับเคลื่อน และกลไกรถสื่อสารฉุกเฉิน (6 ล้อ) ที่สามารถลุยน้ำในระดับ ความลึก 70 เซนติเมตร ได้ตลอดวันปีนเขาได้ที่ระดับความลาดชันเป็นมุมสูงสุด 40 องศาน้ำหนักบรรทุก 4.8 ตันรัศมีของวงเลี้ยว 5.1 เมตร
- เสาอากาศเป็นแบบ telescopic ปลอดสนิม สูงประมาณ 18 เมตร เก็บไว้ที่หลังคารถเพื่อการเดินทางได้ระบบสื่อสารรัศมีการบริการในชุมชน 300 เมตร (2-3 กิโลเมตรในสภาพกลางแจ้งโดยใช้อุปกรณ์ RWBA หรือ เสาอากาศเพิ่มเติม)
- ระยะทางของการสื่อสารทางไกลแบบไร้สายไปยังอำเภอที่มีวงจรสื่อสาร ประมาณ 20 กิโลเมตรการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมจำนวนจอภาพที่รับได้ 30 จอภาพ (โดยจะบรรจุ 25 จอภาพมาพร้อมกับรถ)
- จำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่เปิดบริการฉุกเฉินให้ได้ 30 เลขหมาย (ติดตั้งช่องต่อโทรศัพท์ให้ได้ 30 คู่สายหรือ 1 E1)
- ระบบจัดการพลังงานเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก 220V 50Hz 1 Phase 6KVA พร้อมถังน้ำมัน เพื่อใช้งานกับระบบสื่อสารอย่างต่อเนื่องได้เป็นเวลา 3 วันปลั๊กต่อไฟฟ้าจากภายนอกแบบ IP44 32Amp พร้อมสาย Inverter ขนาด 2.5KVA
- UPS จ่ายระบบสื่อสาร ขนาด 800VA Back up time 3 ชั่วโมง หรือตลอดเวลาขณะเครื่องยนต์ทำงาน
วันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนไป ถ้าผมได้ออกแบบรถสื่อสารฉุกเฉินใหม่ สเป็คคงเปลี่ยนครับ
- รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ท่อไอเสียอยู่สูง ลุยน้ำ ขึ้นเขาลงห้วยได้ [คำแนะนำเพิ่มเติมจาก @wwibul: รู้สึกว่า แค่ท่อไอเสียสูงไม่พอ ส่วนพัดลมดูดอากาศผ่านตัวกรองก็ต้องสูงด้วยครับ ไม่งั้น ดับกลางน้ำเหมือนกัน]
- จานดาวเทียมสื่อสารแบบติดตั้งได้เองในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์
- Router
- Linux/Mac notebook ใช้ OpenBTS (Asterisk® VoIP PBX USRP) OpenBTS ทำตัวเป็นชุมสาย GSM แต่ว่าโทรศัพท์แต่ละเครื่องจะมีหมายเลข IMSI ซึ่งเก็บอยู่ใน SIM โทรศัพท์ GSM แต่ละเครื่องที่จะใช้ในพื้นที่กู้ภัยร่วมกับ OpenBTS จะต้องมาลงทะเบียนใน Asterisk ด้วยหมายเลข IMSI — ในขณะนี้ OpenBTS ยังไม่สนับสนุน GPRS/EDGE จึงใช้ได้แต่เสียง
- เครื่องปั่นไฟใช้น้ำมันขนาด 220V/2kW (หนัก ~40 กก.) พร้อมน้ำมันเพียงพอสำหรับ 4 ชั่วโมง
- น้ำดื่ม 48 ลิตร อาหารแห้งสำหรับ 30 มื้อ ไฟแช็ค 100 อัน ยาสามัญประจำบ้าน ชุดปฐมพยาบาลประจำรถ
- เฮลิคอปเตอร์สำหรับบินถ่ายภาพทางอากาศ ติดโทรศัพท์มือถือ Android มี GPS มี Wifi ในตัว และถ่ายวิดีโอได้ — บินถ่ายวิดีโออัตโนมัติที่ความสูง 300 เมตร เป็นวงกลมซ้อนๆ กันอยู่ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่รถ จะได้การสำรวจทางอากาศที่รวดเร็วในพื้นที่หลายตารางกิโลเมตรรอบๆ จุดจอดรถ
- การใช้งานเปลี่ยนจากแบบรถ EECV ที่ปักหลักอยู่กับ”ฐาน” ไปเป็นการบุกเข้าพื้นที่ธุรกันดาร ไม่ให้ใครตกสำรวจ — รีบเข้า รีบออก สำรวจความเสียหายอย่างรวดเร็ว แล้วนำความจริงออกมา เพื่อให้ทีมช่วยเหลือที่จะเข้าไปใหม่เตรียมตัวได้อย่างเหมาะสม
Next : ข้อมูล(ใหม่)ของระบบกระแสน้ำในมหาสมุทร » »
1 ความคิดเห็น
[...] [รถสื่อสารฉุกเฉิน ไม่ได้กู้ภัยแต่จำ...] [...]