ประชุมเครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ภาคประชาชน
อ่าน: 3761ไม่ได้เขียนบันทึกเสียหลายวันเนื่องจากร่างกายไม่พร้อมที่จะนั่งเขียนนานๆ นะครับ
แต่วันนี้ เริ่มออกไปแรดได้ โดยไปร่วมประชุมเครือข่ายรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน ภาคประชาชน อาการตอนเช้ายังไม่ค่อยดี เลยนอนต่อ ตื่นมาอีกที ตายล่ะหว่า เลยเวลานัดแล้ว ก็ต้องรีบแจ้นออกไปประชุมโดยไม่กินข้าวปลา
ไปถึงที่ประชุม กำลังแจก pizza กันอยู่ มี agenda วางอยู่บนโต๊ะ แต่ยังไม่ได้คุยกันอย่างจริงจัง(มั๊ง) พอนั่งได้สักครู่ก็เริ่มเปิดประชุมครับ เสร็จแล้วโยนไมค์มาที่ผม…เอิ๊ก ซึ่งก็ได้ใช้เวลาพูดถึงการวางแผนด้วยสถานการณ์ (scenario planning: คอมพิวเตอร์แปลเป็นไทย หรือ ไม่แปล) กระบวนการแบบนี้ จะช่วยจัดการความยุ่งยากซับซ้อนลงได้มากจนพอเห็นภาพใหญ่ ว่ามีอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง และในแต่ละกรณีควรจะเตรียมตัวอย่างไร
อันนี้ตรงกับงานของมูลนิธิที่ทำอยู่ คือการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งไม่ได้เน้นหนักที่การบรรเทาทุกข์ แต่เป็นการจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ล่วงหน้า ลดผลกระทบอันอาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เมื่อเกิดภัยแล้ว ถึงยังไงก็เสียหายไม่ว่าจะบรรเทาทุกข์ได้เร็วเพียงใด งานป้องกันจึงมีความสำคัญมาก (และถูกมองข้ามมากเช่นกัน)
ผมไม่ได้หวังให้ผู้ร่วมประชุมเชื่อหรือทำตามหรอกครับ แค่ฉุกคิด ปรับปรุง หรือทำในสิ่งที่ดีกว่า ก็ดีใจแล้ว… เอ่อ…จะเขียนเล่าทั้งหมดก็ไม่ไหว นั่งแล้วยังโงนเงนอยู่บ้าง ขอจบดื้อๆ แค่นี้ครับ
อย่างไรก็ตาม ผมได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทที่พระราชทานมาในปีที่ผมเรียนจบ มาฝากไว้ในห้องประชุมให้เป็นแง่คิด (ข้อความนำมาจากบันทึกเก่าซึ่งเขียนไว้หลายปีแล้ว)
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๙ กรกฎาคม ๒๕๒๔
การที่ได้อุตสาหะศึกษาค้นคว้าวิชาการจนถึงขั้นสูงอย่างนี้ เท่ากับแต่ละคนได้สร้างสมกำลังอันแรงกล้าขึ้นไว้ในตัว คือกำลังแห่งความรู้ กำลังแห่งความรู้นี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ที่จะส่งเสริมให้ปฏิบัติการต่างๆได้ดีขึ้นมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้สามารถสร้างสรรค์สะสมผลประโยชน์สำหรับตัวได้มากมาย ทั้งในทางที่ถูกและทางที่ผิด ถ้าใช้กำลังไปในทางที่ถูกต้อง ก็ได้รับผลดี ที่เป็นประโยชน์แท้จริงอันพึงประสงค์ ถ้าใช้ไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ก็ได้รับผลร้าย เป็นความเสียหายทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น ผู้มีกำลังความรู้ความสามารถสูง จึงต้องวินิจฉัยให้ออกว่าควรจะใช้กำลังของตนไปในทางใด และสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์ มิใช่ประโยชน์นั้น เป็นอย่างไร จักได้สามารถควบคุมการใช้กำลังของตนให้เหมาะสมเที่ยงตรงได้ การวินิจฉัยและควบคุมการใช้กำลังโดยถูกต้องดังนี้ เป็นหน้าที่อย่างสำคัญยิ่งของผู้มีกำลังความรู้ทุกๆคน ยิ่งรู้สูงรู้มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบมากและสูงขึ้นเท่านั้น จึงจะสร้างสรรค์ความเจริญ ความดีงาม และความมั่นคงผาสุกได้สำเร็จดังที่มาดหมาย
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔
ความรับผิดชอบดังกล่าวนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ ๓ ข้อ ข้อแรก จะต้องระวังตั้งใจใช้กำลังเพื่อสร้างประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว ให้ได้ทั้งประโยชน์ตน ทั้งประโยชน์ส่วนรวม พร้อมกันนั้นก็จะต้องคอยป้องกันและแก้ไขอยู่ตลอดเวลา มิให้ความเสียหายเกิดขึ้น และข้อสาม ซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งจะต้องพยายามสร้างเสริมกำลังนั้นให้หนักแน่นมั่นคง และทวีขึ้น ซึ่งมีทางทำได้หลายทาง ทางที่เหมาะอย่างหนึ่งก็โดยพยายามทำประโยชน์ เสียสละเพื่อผู้อื่นและส่วนรวมให้มากขึ้น การปฏิบัติงานด้วยความเสียสละอย่างนั้น ยิ่งกระทำมากเท่าใด จะช่วยให้เกิดความสามารถและความเชี่ยวชำนาญขึ้นเท่านั้น ทั้งเมื่อเคยชินกับการประพฤติปฏิบัติความดีแล้ว ก็จะสามารถป้องกันความชั่วและความเสื่อมเสียทั้งปวงได้อย่างดีที่สุดด้วย จึงขอให้บัณฑิตทั้งปวงนำไปพิจารณาใคร่ครวญดูให้เห็นชัด เพื่อประโยชน์ในกาลภายหน้าของตน ๆ
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔
การเสียสละทำงานทำดีเพื่อการสร้างสรรค์ ด้วยความรับผิดชอบเต็มที่นั้นช่วยให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลดีอย่างหนึ่ง คือมีผู้ศรัทธาเชื่อถือ และนิยมยกย่องอย่างกว้างขวาง บุคคลเหล่านั้นเมื่อศรัทธาเชื่อถือในตัวผู้ปฏิบัติดีแล้ว ย่อมจะรับเอาความคิดจิตใจของผู้ปฏิบัติดี ที่นิยมยึดมั่นในความดี เข้าไว้ด้วยแล้วน้อมนำมาปฏิบัติชอบปฏิบัติดีด้วยตนเอง ดังนี้ ก็จะมีผู้ที่ศรัทธาในความดีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เมื่อคนส่วนใหญ่มีศรัทธาความเชื่อมั่นในคุณความดีร่วมกันและเสมอกันแล้ว ก็จะเกิดเป็นความสามัคคีปรองดองเป็นปึกแผ่นขึ้น ความสามัคคีเป็นปึกแผ่นนี้คือกำลังอันแข็งกล้าที่สุดในแผ่นดิน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะบันดาลให้คนในชาติมีสมานฉันท์ มุ่งมั่นที่จะร่วมกำลังกันสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงของบ้านเมือง ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้นทุกสถาน
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๙
งานสิ่งใดสาขาใดที่ท่านจะออกไปปฏิบัตินั้น ไม่มีสักสิ่งเดียวที่จะสำเร็จสมบูรณ์ได้ในตัวเอง หากจะต้องเกี่ยวเนื่องถึงงานอื่น ๆ อีกหลายๆด้าน. ทั้งนี้เพราะงานต่าง ๆ นั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า แท้จริงย่อมเป็นปัจจัยส่งเสริมเกื้อกูลกันอยู่เป็นส่วนมาก และย่อมประกอบกันเข้าเป็นงานส่วนรวมอันเดียวกันของบ้านเมืองด้วย ดังนั้นงานแต่ละชิ้นแต่ละส่วน จึงต้องปฏิบัติให้ประสานสอดคล้องกัน ทั้งให้สำเร็จและให้พัฒนาไปพร้อมๆกัน โดยเท่าเทียมกัน เพื่อมิให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหยุดชะงักและพาให้ส่วนรวมรวนเรล่าช้าไปทั้งกระบวน. ท่านทั้งหลายควรจักได้เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ที่จะปฏิบัติงานประสานกับบุคคลอื่นฝ่ายอื่นอย่างขะมักเขม้นและฉลาดเหมาะสม
« « Prev : เตามือถือประสิทธิภาพสูง
Next : โลกร้อนจากมุมของพลังงานแสง » »
10 ความคิดเห็น
แข็งแฮง ออกไปประชุมได้ ก็คลายใจ
จะได้ไปไหนๆ หรือนั่งเขียนลานปัญญาออกมาอีก
ขอให้แข็งแฮงยิ่งขึ้นไปๆนะครับ อิ อิ..
ครูบาเองก็ดูแลสุขภาพด้วยนะครับ เพราะถ้าร่างกายไปไม่ไหว สิ่งดีที่คิดว่าจะทำนั้นก็จะไม่ได้ทำ
อ่านคำสอนในหลวงต่อนิสิตเมื่อ ๒๕๒๔ แล้ว ทำให้ผมต้องหงอย เพราะคิดได้ว่าสิ่งที่ผมได้นำมาเสนอในบทความ เริ่มประมาณ ๒๕๓๕ ก็ทำนองเดียวกัน คือ ทำอะไรต้องได้ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
ที่สำคัญคือประโยชน์ตนมาก่อน
อย่างเช่นท่านแอดมิน ก็ถูกแล้วที่นอนสบาย จนไปประชุมสาย
ถ้าไปก่อนเวลา (ปรโยชน์ท่าน) แล้วเราต้องป่วยมากกว่านั้น ก็เสียประโยชน์ท่าน
วันหลังมีเวลา ขอให้แวะมาหากันเด๊อครับ มียาผีบอกจะให้กิน หายดีนักแล
อ้อ…เรื่อง ภัยธรรมชาติ น่าเรียนรู้จากนิวซีแลนด์ให้มาก กย.ปีก่อน 7.1 ริกเตอร์ถล่มไครส์เชิรสต์ บ้านเมืองเสียหายหนัก แต่ไม่ตายสักคน เพราะมายามดึก อาทิตย์ก่อนมาเวลาทำงาน 6.8 ริก ตายไป 120 ถ้าเป็นในอังกฤษน่าตายเป็นพัน
แสดงว่าเขากันไว้ดีกว่าแก้ ไทยเรามีน้ำท่วม ไฟไหม้ สินามิ มันกันง่ายกว่าแผ่นดินไหวมาก ที่ยากกว่าคือจะกันไม่ให้นักการเมืองเลว และ โง่ เข้าไปสร้างภัยพิบัติให้ชาติได้อย่างไรเสียมากกว่า
หายดีโดยเร็วนะครับ
สมัยสึนามิ ปี 2547 กระทรวงสาธารณสุขถอดบทเรียนเอาไว้ดีมาก ปัจจุบันเว็บไซต์ที่เคย bookmark เอาไว้ได้หายไปแล้ว ส่วนกระทรวงอื่น มีการถอดบทเรียนตามกระบวนการและ KPI ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถอดแล้ว เอาไปกองไว้ตรงไหนนะครับ ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะแบบนี้ ไม่รู้จะปกปิดไว้ทำไม มีชุดความรู้เรื่องการกู้ภัยทางน้ำอยู่บนเว็บไซต์ของกองทัพบก! อันนั้นก็ดีมากครับ ผมไปเจอผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ในกรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (ซึ่งเป็นภาคีกับมูลนิธิ) ก็ยังกล่าวถึงเอกสารชุดนี้ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จำได้ครับ แต่พอเก่าแล้ว ก็หลุดหน้าเว็บไป — ความรู้ไม่ใช่ข่าว เก่าหรือใหม่ก็มีค่าเหมือนกัน
เรื่องเศร้าที่สุดคือน้ำท่วมใหญ่ค่อนประเทศ แต่กลับไม่มีน้ำจะบริโภค อันนี้เป็นเพราะเราประมาทครับ — น้ำประปาดื่มได้ แต่พอไม่มีน้ำประปา ก็ไม่มีอะไรดื่มเหมือนกัน — ต้องส่งน้ำดื่มซึ่งทั้งใหญ่และหนัก มาช่วยจากพื้นที่ไกลๆ — ความช่วยเหลือดีแล้ว แต่ถ้าช่วยตัวเองได้จะดีกว่าอีก เพราะจะได้ไปช่วยเรื่องอื่นเพื่มขึ้นได้
ที่ไม่รู้จะพูดยังไงครับ คือสกายวอล์ค 50 กม.ทั่วกรุงเทพ มูลค่าสี่หมื่นล้าน ทำไว้หนีน้ำท่วมมั๊ง (comment นี้ ใช้เวลาเขียน 45 นาทีนะครับ)
น่าคิดคือ น้ำท่วม แต่ขาดน้ำกิน
ผมมีเทคโนโลยีที่คิดเอง ทำเอง เรื่องกลั่นน้ำ ที่มีปสภ. สูงกว่าปกติ 2 เท่า
แม้แต่ฉี่ของตัวเอง ก็เอามากลั่นเป็นน้ำสะอาดดื่มได้
กลับมาเขียนบล็อกได้แล้วแสดงว่ามือหายชาแล้วซินะ เพิ่งฟื้นกรุณารักษ์และดูแลตัวเองให้มากหน่อยนะค่ะ เกรงใจคุณแม่ที่ห่วงใย ท่านสูงวัยนะคะ
ช่วงวิกฤติน้ำท่วมปลายปีที่แล้ว มีปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับบริโภคมาก ไฟฟ้าก็ไม่มี ช่วงนั้นก็พยายามหาทางแก้ไขบรรเทา โดยแนะให้รองน้ำฝนมากิน+ทำอาหาร หรือถ้าฝนไม่ตกในบริเวณนั้น ก็หาวิธีเปลี่ยนน้ำที่ท่วมให้มีคุณภาพพอจะบริโภคประทังแก้ขัดไปก่อน ใช้เครื่องกรองน้ำดินเผา [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม] วิธีการในบันทึกนั้น “เกือบ” จะเป็นเทคโนโลยีชาวบ้าน แต่เค้าใช้สารละลาย silver colloid (silver nano) มาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งวุ่นวายไปนิดหนึ่ง ตอนนั้นมีบริษัทจดทะเบียนรู้ข่าวเข้า บอกจะสั่งไปแจกในพื้นที่น้ำท่วมพันชุด…เอิ๊ก แต่ผมทำให้ไม่ได้แม้ว่าบ้านจะอยู่ไม่ไกลจากแหล่งเครื่องปั้นดินเผาแถวปากเกร็ด ทั้งนี้เพราะเรื่องน้ำกินมั่วไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย ต้องทำต้นแบบแล้วส่งไปทดสอบมาตรฐานน้ำดื่มก่อนครับ ไม่ทันการณ์ เรื่องก็เลยเงียบไป
ภายหลังเปลี่ยนสารละลาย silver colloid มาเป็นวิธีตากแดด 6-8 ชั่วโมงแทนครับ [แสงแดดฆ่าเชื้อโรค] เป็นขั้นตอนกรองสารแขวนลอยก่อน แล้วตากแดดฆ่าเชื้อโรคอีกทีหนึ่ง แต่เนื่องจากวิธีนี้เป็นการกรอง จึงไม่สามารถกรองสารเคมี (เช่นปุ๋ยเคมี หรือ arsenide จากเหมืองเก่าได้) ถ้าเป็นการกลั่น ก็จะแก้ปัญหานี้ไปได้ครับ
บางที ภัยแล้งที่ต้องหาน้ำบาดาลมาบริโภคเพราะน้ำผิวดินแห้งไปหมด อาจจะมีความต้องการน้ำสะอาดอีกก็ได้ครับ ได้เรื่องคุยกันอีกเรื่องหนึ่งแล้ว
#6 ขอบพระคุณครับพี่ ที่ชาครึ่งตัว ยังไม่หายแต่ก็ดีขึ้นมากแล้วนะครับ พอขับรถได้ใกล้ๆ อย่างปลอดภัย จะไม่พยายามซ่าครับ (พูดอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว)
น้ำกลั่นนี้ทำด้วยแสงแดดครับ ทำยากๆ ก็ได้ถ้าต้องการปสภ. สูง ทำง่ายๆก็ดี ไม่ยากเลย สะอาดแน่ๆ ไม่ต้องมีสารเคมีให้ยุ่งยาก น้ำฉี่ของตัวเองก็ใช้ได้ ผมทำวิจัยแบบยาจกมานานแล้ว มีนศ.ป ตรี โท ช่วยมานาน ทำเป็นปริญญาเอกก็ได้ โดยใช้ math model ยุ่งยาก
เรื่องแล้งก็น่าสนครับ นานมาแล้วผมพิสูจน์ง่ายๆ ว่า น้ำค้างที่เกาะใบไม้ตอนเช้า ส่วนใหญ่มาจากดินครับ ไม่ได้มาจากไอน้ำในอากาศตามที่หนังสือวิทยาศาสตร์ไทยสอน (ตามฝรั่ง)
ดังนั้นในหน้าแล้ง น่าจะกลั่นน้ำจากดินแล้งได้ แน่ๆ เพราะข้างบนแล้ง แต่ข้างล่างมีน้ำใต้ดินเสมอ จนส่งมาระเหยที่ผิวดิน จนเกิดน้ำค้างใต้ใบไม้ได้ในหน้าหนาวที่แห้งแล้ง
[...] การวางแผนเชิงสถานการณ์ (scenario planning) [...]