ถอดบทเรียนสึนามิที่ญี่ปุ่น 2011-03-11

อ่าน: 6155

การถอดบทเรียนที่ยากที่สุดแต่น่าจะได้ประโยชน์ที่สุด คือการถอดบทเรียนที่เราไม่ได้เรียน ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ ไม่เข้าใจบริบทและข้อจำกัดของสถานการณ์อย่างถ่องแท้ แต่สามารถเทียบเคียงกับสถานการณ์ของเราได้ เรียกว่าเรียนรู้จากบทเรียนชีวิตของคนอื่นก็แล้วกันครับ

เมื่อสี่ห้าปีก่อน ผมเคยถอดบทเรียนการจัดการสึนามิที่ญี่ปุ่นไว้ครั้งหนึ่ง คราวนี้ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปกว่าก่อน

ระบบประเมินแผ่นดินไหว

ที่ตั้งของญี่ปุ่น อยู่แถบรอยต่อของเปลือกโลก ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในบริเวณใกล้ๆ ได้ง่าย และเนื่องจากระยะทางใกล้มาก จึงเหลือเวลาเตือนภัย น้อยจริงๆ ระบบเตือนภัยของญี่ปุ่น ไม่มีเวลามากนักสำหรับการคำนวณอะไรมากมาย ถ้าประมาณได้ เขาจะประมาณการและประกาศก่อนทันที เพราะชีวิตคนสำคัญที่สุด ความถูกต้องตามมาทีหลังครับ

[บันทึกเหตุการณ์]

ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง แต่ทันทีที่เครื่องตรวจวัดตัวใดตัวหนึ่ง ตรวจจับการสั่นสะเทือนจากคลื่นปฐมภูมิ (p-wave) ได้ จะเริ่มการประมาณการความแรงและจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวทันที ถ้าตัวเลขเบื้องต้นทีความร้ายแรง เขาจะเริ่มกระบวนการเตือนภัยทันที

เมื่อผ่านไปสิบวินาที คลื่นปฐมภูมิเคลื่อนที่ไปเป็นวงกว้างมากขึ้น ย่อมผ่านเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น ส่วนเครื่องตรวจวัดที่คลื่นปฐมภูมิผ่านไปแล้ว อาจได้รับคลื่นทุติยภูมิ (s-wave) เป็นการยืนยันอีก ข้อมูลเหล่านี้นำไปคำนวณอย่างรวดเร็วได้อีก โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดเพียง 2-3 ตัว ก็จะให้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

เมื่อผ่านไปยี่สิบวินาที คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น ก็จะมีข้อมูลยืนยันมากขึ้น ซึ่งเขาเลือกข้อมูลจากสามถึงห้าสถานีเท่านั้น ไม่ได้บ้าตัวเลขและความถูกต้องเหมือนประเทศตะวันตก ถ้าเป็นแผ่นดินไหวที่ทำให้ชีวิตของคนเสี่ยงเกินความจำเป็น ก็จะต้องรีบเตือน รีบแนะนำให้ทำไปตามที่ซักซ้อมไว้ล่วงหน้าครับ

ทุกวินาทีมีค่าเสมอ เวลาไม่กี่วินาทีที่ได้มาจากการเตือนภัยที่เร็วขึ้น อาจไม่ทันที่จะวิ่งหนีออกมาจากตึก แต่ทันสำหรับหยุดการลงมีดผ่าตัด เอาคลิปหนีบเส้นเลือดไว้ก่อน หยุดและออกจากลิฟต์ หยุดระบบขนส่งมวลชน และหยุดการกระทำใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายจากการสั่นไหวที่รุนแรง

กรุงโตเกียวอยู่ห่างจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 373 กม. คลื่นแผ่นดินไหวเดินทางเร็ว 4 กม./วินาที ดังนั้นคลื่นจะไปถึงโตเกียวใน 93 วินาที แต่ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ส่งคำเตือนได้ใน 10 วินาทีหลังตรวจจับคลื่นปฐมภูมิได้จากเมืองที่อยู่ใกล้กว่าโตเกียวมาก มหานครโตเกียวจึงมีนาทีชีวิตเกิดขึ้น (~80 วินาที)

สำหรับเมืองไทย ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าจะมีระบบอย่างนี้ได้ยังไง มีแต่หน่วยงานแย่งกันรายงานจนแตกตื่นกันไปทั่วและใช้ข้อมูลมือสองจากประเทศมหาอำนาจ

ชาวบ้านเอง สามารถอาศัยความเครือข่ายร่วมมือนานาชาติที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้ วิธีการนี้ใช้ความคิดง่ายๆ ว่าโน๊ตบุ๊คบางชนิดมี accelerator (เครื่องวัดความเร่ง ซึ่งจับความสั่นสะเทือนได้อีกทีหนึ่ง) แต่เขาไม่เชื่อค่าของ accelerator จากเครื่องเพียงเครื่องเดียว เพราะโน๊ตบุ๊คขยับได้ แต่ถ้าโน๊ตบุ๊คหลายตัวในบริเวณใกล้เคียงกัน ส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนมาเป็นรูปแบบแบบเดียวกัน ก็น่าเชื่อได้ว่าเกิดแผ่นดินไหว

โครงการนี้ ใช้โน๊ตบุ๊ค Lenovo หรือ Macbook บางรุ่นที่มี accelerator ติดตั้งมาภายใน แต่ถ้าหากไม่มี ก็ยังสามารถซื้อเครื่องวัด (US$49) มาต่อ USB ได้ เชื่อมต่อเข้าเครือข่าย มีการตั้งเวลาให้ตรงกัน (NTP) ระบุพิกัด (GPS) แล้วต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อมูลที่วัดได้เมื่อต้องการต่อ ซึ่งไม่ได้บังคับให้ต่อเน็ตอยู่ตลอดเวลา

โครงการนี้ชื่อ the Quake-Catcher Network (QCN) มีโปรแกรมให้โหลดมาใช้ฟรี และใช้ distributed GRID (BOINC) เป็นเครือข่ายในการคำนวณ

QCN จับแผ่นดินไหวในลาวและพม่าได้ ในขณะที่เครือข่ายเตือนภัยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทั่วโลก มักละเลยเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีคนอยู่มาก และไหวไม่แรง

สถานการณ์ก่อนกลียุค

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะระเบิด (สระในภาษาญี่ปุ่น มี อะ อิ อุ เอะ โอะ จำไว้) เนื่องจากระบบหล่อเย็นล้มเหลว ไฟฟ้าขาดแคลนจนต้องเริ่มปันส่วนไฟฟ้า ลองนึกถึงภูมิศาสตร์ของญี่ปุ่นนะครับ เมืองท่าใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันออกทั้งนั้น โดนสึนามิทั้งนั้น เรือบรรทุกน้ำมันจะเทียบท่าและขนถ่ายนำมันผ่านท่อกันอย่างไร

อุณหภูมิ 4°C ความต้องการไฟฟ้ามีสูงเนื่องจากอากาศหนาว มีหิมะตก เมื่อไฟฟ้าไม่พอ น้ำมันสำรองถึงแม้ว่ายังมีอยู่ ก็เติมไม่ได้เพราะปั๊มน้ำมันใช้ไฟฟ้าทั้งนั้น เมื่อไม่มีน้ำมัน การขนส่งหยุดลง เมืองซึ่งไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงพลเมืองได้และต้องพึ่งอาหารซึ่งขนส่งมาจากเขตชนบททั้งนั้น จะอยู่กันได้อย่างไร

ลองนึกถึงภัยพิบัติขนาดใหญ่ในหลายประเทศซิครับ นิวออลีนส์คราวพายุคาทรีนา เฮติ ชิลี มีปล้นสดมภ์กันทั้งนั้น จะหาแบบเข้าคิวซื้อของแบบญี่ปุ่นนั้น ไม่มีหรอกครับ แต่ถ้าข้าวของขาดแคลนหนักๆ ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ย้อนมองเมืองไทยแล้วหัวเราะไม่ออก น้ำมันเราเข้าทางท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง มาบตาพุด สูงกว่าระดับน้ำทะเลสักสองสามเมตรมั๊งครับ การรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ใหญ่ที่สุดในประเทศ อยู่แถวบางนา สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เท่าไหร่ (1-2 เมตร) ถ้าสึนามิหรือสตอร์มเสริชเข้าละก็ หัวเราะไม่ออกเลย… ผมว่าอันนี้หน้าที่กระทรวงพลังงานนะครับ

ถ้าไม่มีไฟฟ้า การขนส่งหยุดลง ท่านมีน้ำมันถังเดียว ท่านจะไปอยู่ตรงไหน ??? ความรู้ที่ท่านมี ใช้อะไรได้หรือเปล่า ถึงร่ำรวยล้นฟ้าแต่เงินในธนาคาร ถ้าไม่มีไฟฟ้า ก็เบิกไม่ได้หรอกนะครับ และต่อให้ถือเงินสดไว้ ก็ไม่รู้จะซื้ออะไรเหมือนกัน เพราะมันไม่มีอะไรขาย สถานการณ์ยิ่งกว่ากับดักเงินเฟ้อที่นักการคลัง/นักเศรษฐศาสตร์กลัวกันเสียอีก เพราะมันจะเกิดอย่างปัจจุบันทันด่วน แก้ไขไม่ทัน ต้องป้องกันสถานเดียว

« « Prev : สึนามิกับความรู้ที่ลืมเลือน

Next : ควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2011 เวลา 0:13

    สังคมมนุษย์ต้องเดินไปสู่ปัญหานั้นแน่นอน  ป้องกันไว้ดีกว่าอย่างว่าแหละ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2011 เวลา 0:20
    แฮ่ ไปอยู่บ้านไร่ ไปอยู่บ้านนอก อยู่แล้วทำอะไรเป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ แถมมันเป็นพืชเชิงเดี่ยวทั้งนั้น จะกินอะไรก็เลือกไม่ได้ อิอิ

    ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักเมืองไทยเลยครับ แล้วก็ไม่เรียนรู้เสียด้วย พอปิดเทอม ไปเที่ยวต่างประเทศกันทั้งนั้น…

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2011 เวลา 11:00

    หลานสาวของพี่อยู่ที่โตเกียว…เราติดต่อกันได้ผ่าน fb และโทรศัพท์ได้ในตอนหลัง
    ข้อมูลจากพื้นที่คือ
    1 ขณะเกิดเหตุ ..professor บอกให้ทุกคนอยู่กับที่ เปิดประตูหน้าต่างให้หมด สงบฟังเหตุการณ์
    2 professor ประกาศหยุดการpresent งาน ให้ทุกคนกลับบ้าน คนที่กลับไม่ได้พักที่มหาวิทยาลัย คนที่บ้านใกล้กลับบ้านไปเอาอาหารและเครื่องดื่มมาอยู่เป็นเพื่อน
    3 เมื่อรถไฟหยุดเดิน คนก็เดินกลับ บางคนเดินกลับกว่า 10 กิโล เงียบๆ ไม่มีโวยวาย
    4 ข่าวในประเทศไม่มีกั๊กข่าว ข่าวจะบอกความจริง ติดตามได้ทางทีวี เน็ต เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายตามประกาศ
    5 การส่งข่าวภายในและจากภายนอกประเทศ มีความสำคัญ สำหรับการตัดสินใจ
    6 เศรษฐกิจดำเนินไป เมื่อสามารถทำได้
    รถไฟกลับมาเป็นปกติ บริการสาธารณะต่างๆ ปกติ ในวันรุ่งขึ้น…นั่นคือโตเกียว…นั่นคือญี่ปุ่นค่ะ

    เท่าที่ทราบเขามีการซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ เด็กๆ ถูกเตรียมพร้อมเรื่องนี้มาจนรับรู้ได้อัตโนมัติ
    ถ้าถอดบทเรียนแค่พฤติกรรมคนยามเกิดเหตุฉุกเฉิน…จะเห็นว่าการป้องกันเขาทำทุกจุด …ป้องกันก่อนเกิด เรียนรู้การป้องกันอันตรายขั้นต่อไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ และป้องกันการเกิดความรุนแรงมากขึ้น..ขณะเดียวกัน การให้ข่าวจากภาครัฐสามารถตรวจสอบข้อมูลที่แท้จริงได้ เชื่อถือได้

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 March 2011 เวลา 18:30
    การเปิดประตูหน้าต่างเอาไว้ ก็เพราะกรอบประตูหน้าต่างอาจบิดงอจากแรงสั่นสะเทือน แล้วอาจจะเปิดไม่ออกนะครับ ดังนั้นประตูหน้าต่างที่ปิดอยู่ อาจทำให้ห้องกลายเป็นกรงขังไปเลยได้

    ภาครัฐมีหน้าที่ให้ความจริงกับประชาชน ชาวบ้านไม่โง่หรอกครับ เขาตัดสินใจได้

    (ถามท่านจอมป่วนแล้ว เจ้าของลานซากุระปลอดภัยดีครับ)

    การผ่านพ้นวิกฤต ไม่ใช่แค่ผ่านพ้นภัยที่(กำลัง)เกิดขึ้น แต่ยังหมายถึงสามารถทำในสิ่งที่ต้องทำ หลังจากภัยและวิกฤตนั้นผ่านพ้นไปแล้วได้ด้วยครับ

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 March 2011 เวลา 5:51
    “ทำไมไม่มีปล้นสะดม” โครงสร้างสังคมญี่ปุ่น เกื้อหนุนพฤติกรรม http://slate.me/hleVFb
  • #6 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 March 2011 เวลา 10:20

    ได้ความรู้ดีจริงๆ ขอบคุณเจ้าของบล๊อกค่ะ

  • #7 ลานซักล้าง » เฝ้าระวังความสั่น ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 August 2011 เวลา 3:15

    [...] S-wave ซึ่งมักจะมีความรุนแรงทำลายล้าง [ถอดบทเรียนสึนามิที่ญี่ปุ่น 2011-03-11] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.099267959594727 sec
Sidebar: 0.13978910446167 sec