ควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่
จากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดปัญหาที่ญี่ปุ่น หลังจากที่แผ่นดินไหวและสึนามิ ทำให้ระบบหล่อเย็นมีปัญหา เตาปฏิกรณ์ร้อนเกินไป ระเบิด รังสีรั่วไหล ฯลฯ ก็เป็นเหตุให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าควรสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่
แฟนบล็อกที่จับแนวทางการเขียนของผมได้ คงรู้อยู่แล้วว่าคำถามถูก-ผิดแบบนี้ ผมไม่ค่อยตอบหรอกนะครับ ผมไม่ได้กำลังทำข้อสอบอยู่นะ
แต่จะตั้งคำถามกลับ
ในปัจจุบัน การผลิตพลังงานไฟฟ้า ยังจำเป็นที่จะต้องใช้รัฐวิสาหกิจทำอยู่หรือไม่
เรามีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ) ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า มีโรงไฟฟ้าเอกชนขายไฟฟ้าให้ กฟผ โดย กฟผ ขายไฟฟ้าต่อให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) เราซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดย กฟผ ลงทุนร่วม แล้วนำมาขายต่อเช่นกัน
ก็ไม่รู้ว่าควรจะเรียกเป็นการส่งเสริมดีหรือไม่ แต่ว่าการไฟฟ้าซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนด้วย “ค่าเพิ่ม” หมายความว่าไม่ว่าค่าไฟฟ้าจะเป็นเท่าไร ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ก็จะสามารถขายไฟฟ้าในราคาที่สูงกว่าราคาขายปลีกของการไฟฟ้า เป็นระยะเวลาเท่ากับที่ได้รับการส่งเสริม (ซึ่งขึ้นกับกำลังการผลิตและชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้)
เรื่องนี้ดูเผินๆ เหมือนดีนะครับ แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ กลับมีโควต้า เหตุผลก็พอฟังได้ เพราะว่ารัฐซื้อไฟฟ้าในราคาอุดหนุน (ยอมขาดทุน) แต่พออะไรที่มีโควต้าแล้ว มันก็เปิดช่องสำหรับความไม่ตรงไปตรงมา! ผมไม่ได้ยืนยันว่ามันเกิดขึ้น หรือปฏิเสธว่ามันไม่เกิดขึ้นนะครับ ผู้สนใจตรวจสอบได้เอง
ถ้าหากคิดว่าเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทำไมไม่ปล่อยให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ขายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบโดยไม่มีโควต้าครับ จะคิดค่าผ่านสายก็คิดไป แต่ต้องยอมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าตั้งเสาหรือเดินสายส่งไฟฟ้าได้เองด้วย เรียกว่าเปิดเสรีเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับกิจการไฟฟ้า เปลี่ยนแนวทางเป็นแบบรัฐวิสาหกิจที่ทำกิจการโทรคมนาคมทำ: จะเป็นคนขายส่งอย่างเดียวก็เป็นไป จะเป็นผู้รวบรวมก็ได้ หรือยังจะขายปลีกต่อไปก็ยังโอเคนะครับ แต่เมื่อมีกำไร/คืนทุกหมดแล้ว ควรเลิกผูกขาดเสียที
ผมคิดว่าที่มี adder ให้เป็นการอุดหนุนนั้น แม้จะเป็นแรงจูงใจในการลงทุน แต่ก็อาจไม่จำเป็นนัก เพราะว่าหากทำแล้วไม่มีกำไร ก็ไม่มีใครทำอยู่ดี ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สามารถลดต้นทุนได้โดยการดูแลสภาพแวดล้อม ให้เอื้ออำนวยต่อการผลิตพลังงานได้ด้วยต้นทุนต่ำ
ที่จริงการมีแหล่งผลิตใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งแล้วส่งไฟฟ้าไปทั่วนั้น กลับไม่ค่อยดีเนื่องจากมีความสูญเสียในสายส่ง แถมถ้าเกิดอะไรขึ้นกับแหล่งผลิต ก็จะกระทบคนในวงกว้าง ที่บ้านผม ไฟฟ้าไม่ค่อยดับหรอกครับ แต่จากการที่เดินทางไปยังหลายพื้นที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่าไฟฟ้าไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่
แนวคิดที่น่าจะดีกว่านั้นคือมีแหล่งผลิตเล็ก กระจายอยู่ทุกพื้นที่ แหล่งผลิตไฟฟ้าเล็กๆ นั้น จ่ายพลังงานให้กับพื้นที่ของตนเป็นหลัก ลดความสูญเสียในระบบสายส่ง ถ้ามีพลังงานเหลือจึงขายให้กับพื้นที่อื่น และถ้าหากการผลิตไฟฟ้าเกิดขัดข้องเช่นจะต้องปิดเพื่อการซ่อมบำรุง ก็ยังสามารถดึงไฟฟ้าจากเครือข่ายจ่ายไฟฟ้ามาบริการชาวบ้านได้
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
เทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก้าวหน้าไปมาก แม้ดูสถิติความปลอดภัยแล้ว ก็จะพบว่ามีความปลอดภัยสูง หากแต่อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอนะครับ อุบัติ แปลว่าเกิดขึ้น
เวลาเกิดความผิดพลาดแล้ว มักมีความเสียหายใหญ่หลวงตามมา ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ มีกำลังการผลิตสูง เป็นพันเมกะวัตต์ เพื่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
การผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็จะใช้การควบคุมการแตกตัวทางนิวเคลียร์ ซึ่งเกิดความร้อนขึ้นตามธรรมชาติ ถ่ายความร้อนไปให้ของไหล แล้วนำของไหลร้อน ไปสร้างไอน้ำ เอาไปปั่นไฟอีกถ่ายหนึ่ง หากควบคุมได้ดี ก็จะไม่มีอันตราย เมื่อไหร่ที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อนั้นก็ยุ่งครับ ถ้ากำลังไฟฟ้ามีหน่วยเป็นพันเมกะวัตต์ ความร้อนที่ไหลเวียนอยู่ในระบบยิ่งมีกำลังมากกว่านั้นอีก (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเปลี่ยนพลังงานความร้อน ไปเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ 100% มันจะต้องมีการสูญเสียบ้าง)
ในส่วนของความปลอดภัยจากมุมมองของผมนะครับ ถ้าเราลดพลังงานความร้อนที่เตาปฏิกรณ์สร้างออกมา ซึ่งแน่นอนว่าพลังงานไฟฟ้าก็ลดลงไปด้วย เปลี่ยนไปใช้พวก micro nuclear reactor แต่มีหลายตัวกระจายกันออกไป จริงอยู่ที่งบประมาณการสร้างแต่ละโรง จะไม่สะใจบางคนเหมือนเดิม แต่ละตัวผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 MW ดูแลพื้นที่ใกล้ๆ แทนที่จะดูแลไฟฟ้าทั้งภาค
แต่ราคาการสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ได้ลดลงเป็นสัดส่วนเดียวกับกำลังไฟฟ้าที่ลดลง คงต้องหาวิธีการอื่นซึ่งผมไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้หรอกครับ ไม่เก่งพอ แต่สงสัยว่าจะต้องเริ่มคิดไปเรื่อยๆ เช่นแทนที่จะใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ 235U ซึ่งมีครึ่งชีวิต 710 ล้านปี ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นไอโซโทปของธาตุอื่นที่หาได้ในเมืองไทย เช่น 40K ที่มีครึ่งชีวิต 1,260 ล้านปี — ยิ่งมีครึ่งชีวิตสั้น ก็แปลว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ปล่อยอนุภาคออกมามาก และเกิดปฏิกริยารุนแรง (ควบคุมได้ยากขึ้น) — โปแตสเซียม 40K มีอยู่ในธรรมชาติด้วยสัดส่วน 0.0118% ครับ
ข้อเสนอนี้ มาจากความที่ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับนิวเคลียร์แต่ดันไปอ่านเอกสารนี้ ก็เลยเพ้อเจ้อไปใหญ่ เช่นถ้า enrich 100 เท่า ก็อาจได้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติจริงๆ … ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ
ที่ยังต้องมองพลังงานนิวเคลียร์ (มองแปลว่าพิจารณาให้ถ่องแท้ครับ) ก็เพราะว่าเมืองไทยใช้ไฟฟ้ากันแบบไม่บันยะบันยัง [พลังงาน: เอาจริงแบบเล่นๆ] เราจัดหาพลังงานจากนอกประเทศมาตลอด ถ้ามันไม่มีเรื่องยุ่งระหว่างประเทศก็ยังค่อนข้างโอเคนะครับ คือหามาได้เท่าไหร่ เอาไปจ่ายเป็นค่าพลังงานหมด ปีละหลายแสนล้านบาท ถึงกระนั้น ก็ยังพออยู่ได้ แต่ถ้าเราจัดหาพลังงานได้จากในประเทศเอง และ/หรือ คอรัปชั่นน้อยลง ก็จะมีกำลังพัฒนาบ้านเมืองมากขึ้น
« « Prev : ถอดบทเรียนสึนามิที่ญี่ปุ่น 2011-03-11
Next : อาหารสำหรับกรณีฉุกเฉิน » »
4 ความคิดเห็น
ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ก็อยากจะคิดแบบชาวบ้านๆ
ต้นไม้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เรียกว่ากระบวนการสังเคราะห์แสง พลังงานแสงอาทิตย์ก่อให้เกิดลม คลื่น ลมฟ้าอากาศ วัฏจักรของน้ำ ห่วงโซ่อาหาร ฯลฯ แล้วเราก็เอาพลังงานมือสองมาใช้อีกทีหนึ่ง
นิวเคลียร์เป็นพลังงานธรรมชาติ ที่เร่งนำมาใช้อย่างไม่เป็นธรรมชาติครับ ถ้าควบคุมความไม่เป็นธรรมชาติได้ ก็โอเค
ผมเป็นนัก กรีน กะเขาคนหนึ่ง แต่กลับเห็นด้วยกับนิวเคลียร์นะครับ (ถ้ามีปัจจัยถึงพร้อม) เรื่องมันยาวมากคงไม่ขอบรรยาย เพียงแต่ขอสรุปว่านิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ปลอดภัยที่สุด ปลอดภัยกว่ากังหันลม หรือ Photto voltaic เสียอีกกระมัง ไม่ต้องเอ่ยถึงโรงงานไฟฟ้ากังหันก๊าซหรือไอน้ำ ซึ่งนิวเคลียร์ปลอดภัยกว่า 100 เท่า ไม่ต่างอะไรกับเครื่องบินที่ปลอดภัยกว่ารถยนต์ 100 เท่า แต่พอเครื่องบินตกนานๆครั้งมันเป็นส่วนรถคว่ำตายกันทุกวินาทีทั่วโลกกลับไม่เป็นข่าว
แต่นิวเคลียร์ในประเทศแผ่นดินไหวมากนั้น ไม่เห็นด้วยครับ
ในความปลอดภัย ก็มีความไม่ปลอดภัยผสมอยู่
ในความไม่ปลอดภัย ก็มีความปลอดภัยแฝงอยู่เช่นกัน
เพราะอุบัติเหตุคงไม่ใช่เพียงแค่เราระวังตัว เตรียมพร้อม แต่ยังมีปัจจัยอีกเช่นกันครับ ที่ส่งผลต่ออุบัติเหตุนั้น หรือส่งผลต่อสิ่งปกติที่เราคิดว่ามันไม่มีปัญหาแล้วทำให้เหตุเหล่านั้นอุบัติขึ้น
ถามว่าประเทศไทยนั้น เหมาะจะมีพลังงานนิวเคลียร์หรือไม่ ถามอีกว่าตรงไหนเหมาะ แล้วเหมาะได้แค่ช่วงเวลาไหน แล้วสภาพเปลือกโลกที่เป็นอยู่เสื่อมเมื่อไหร่ วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือ สร้างตรงไหนก็ตามให้เอาคนทีมงาน กรรมการที่คิดจะสร้างไปอยู๋ร่วมกับเตาเผาด้วยเลย และให้อยู่ในนั้น ไม่ต่ำกว่าช่วงเวลาของเตาเผาอยู่ด้วย อย่างน้อยเดินละ 80-90% ครับ ไม่ใช่คนคิด คนบริหาร ไปอยู่อีกที่ ต้องอยู่ในบริบทเดียวกับชาวบ้านครับ แล้วจะทำให้ชาวบ้านอุ่นใจว่า มีคนมาร่วมเสี่ยงภัยด้วยกับเค้า มาร่วมรับสารต่างๆ หากรั่วไหลเหมือนๆ เค้า ไม่ว่าจะโรงงานไฟฟ้าแบบใด ญี่ปุ่นทำแบบนั้น ถามว่าคนไทยพร้อมแล้วหรือยังสำหรับจิตสำนึกรับผิดชอบแบบนี้
ในดีมีด้อยในด้อยมีดีเสมอ เพียงแต่จะใช้ในทางบวกอย่างไร
พลังงานแสงอาทิตย์ ทำอะไรได้เยอะ แต่หากเราโลภมากมันก็ไม่พอใช้ครับ เพราะว่าโลภจะนำไปสู่ความไม่พอเสมอ
แต่หากเราค่อยๆ คิดทำ เรียนรู้ธรรมชาติกว่านี้ กินค่อยๆ เคี้ยว ไม่กินมูมมามผมว่าจะทำให้โลกนี้หมุนช้ากว่าเดิมเยอะครับ (หมุนช้าในที่นี้คือกิเลสของคนหมุนช้ากว่าเดิมเยอะ)
เวลาเราจะคิดสร้างอะไร ก็ควรจะคิดให้ไกลๆ คิดในกรณีที่ไม่มีวันเกิดด้วยเพราะ ไม่มีวันเกิดอาจจะหมายถึง มันเกิดในเวลากลางคืนก็ได้ ภัยจะมากันในวันที่คนไม่พร้อมนั่นละ เพราะมาตอนนั้นทำลายได้เยอะกว่า อิๆๆ แต่โลกเรานี้เกิดมาเพื่อพรวนดินน้ำลมไฟ ให้เข้ากันอย่างสมดุล คนเรามีพลังสมองเยอะแต่ช่วงชีวิตสั้นมากหากเทียบกับสมุนไพรหลายๆ ชนิด
อย่างตอนนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ท่าศาลา หัวไทร ก็กำลังจะสร้างกัน กำลังประท้วงกัน นี่ละครับมีแต่คนหวังดีกับประชาชนทั้งนั้น ชอบเอาอะไรที่เค้าไม่ต้องการไปให้อยู่เสมอๆ เพราะเป้าหมายของคนหลากหลายกลุ่มมันต่างกัน แล้วความพอดีจะอยู่ตรงไหนครับ เราสุขใจที่มีไฟฟ้ามาอำนวยกิเลสเรา หรือเราสุขใจที่เราเห็นรอยยิ้มของคนไทยจนเกิดความสุขกันแน่ครับ
เขียนมาไม่ใช่เพื่อด่าหรือว่าใคร แต่บอกเพื่อฝากคิดทบทวนเผื่อว่ามีใครมาอ่านเจอบ้างครับ