ความคิดเกี่ยวกับนนทบุรีฝั่งตะวันตก
อ่าน: 4005ดูแผนที่สถานการณ์ขอบเขตของน้ำท่วมจาก สทอภ. และจาก Bing แล้ว นนทบุรีฝั่งตะวันตกแทบหาที่แห้งไม่ได้เลย
คลิกบนรูปเพื่อดูภาพขยาย
พื้นที่ส่วนนี้ เคยเป็นสวนมาก่อน ทุเรียนนนทบุรีก็ขึ้นชื่อ แต่เมื่อเมืองขยายตัว พื้นที่สวนก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร กลายเป็นชุมชนของผู้มาตั้งรกรากใหม่ เครือข่ายของลำคลองยังมีอยู่ครับ แต่แคบและตื้นตามสภาพการใช้งานในอดีตบวกกับการไม่ได้บำรุงรักษา
วันนี้มีข่าวชาวบ้านประมาณพันคนประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด ต้องการให้ระบายน้ำลงไปในคลองมหาสวัสดิ์ ผมคิด(เอาเอง)ว่าคลองมหาสวัสดิ์ก็ทำงานเอาน้ำไปลงแม่น้ำท่าจีนเต็มที่อยู่แล้ว แม้ว่าตรงที่ไปดูอาจจะเห็นระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งบ้าง ก็ไม่ได้แปลว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งตลอดลำคลอง การใส่น้ำลงไปอีก จะทำให้น้ำล้นลำคลองลงไปท่วมบ้านเรือนชาวบ้านที่อื่น — เรื่องผมคิดถูกหรือไม่เป็นเรื่องกระจอกครับ ประเด็นที่อยากให้คิดกันก็คือ ต่อให้เห็นประจักษ์ว่าน้ำต่ำกว่าตลิ่งของคลองมหาสวัสดิ์ ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่าคลองยังรับน้ำได้อีก เพราะไม่ได้ไปดูตลอดลำคลอง แล้วไม่รู้ว่าเปิดประตูระบายน้ำมากขึ้น คลองมหาสวัสดิ์และแม่น้ำท่าจีนจะรับไหวหรือไม่
อยากชวนให้ชาวนนทบุรีฝั่งตะวันตก หันมามองเครือข่ายของลำคลองที่ไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันออกบ้างครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงปากคลอง อาจจะมีประตูระบายน้ำปิดอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถ้าน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำในแม่น้ำสูงกว่าในคลอง ขืนเปิดประตู น้ำจากไม่น้ำก็ไหลเข้าท่วมแน่นอน หนักเข้าไปอีก
แต่จังหวะนี้น้ำทะเลไม่หนุนแล้ว น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะลดระดับลง (มีเวลา 7 วัน) CCTV ของกรมชลประทานที่ปากเกร็ดแสดงระดับน้ำ 2.6 เมตร (ที่กล้องนี้ผมเคยเห็นน้ำระดับ 3.2 เมตร) พื้นดินแถวบางใหญ่สูงกว่านั้นพอสมควร จึงมีคำถามว่าทำไมน้ำจึงไม่ไหลออกไปทางเจ้าพระยา?
อะไรขวางทางไว้ก็เอาออกสิครับ
ถ้าจะทำนะ มีอะไรให้ทำเยอะแยะเลย นอกจากแก้ปัญหาของตัวเองแล้ว ยังช่วยชาวฝั่งธน ชาวสมุทรสาครด้วย อีกทั้งน้ำที่ล้นลงมาจากปทุมธานี (ตอนนี้คงไม่มากแล้ว) ก็จะมีทางระบายออกไปลงเจ้าพระยา… แต่ว่าถ้าจะรอคนอื่นทำ คงได้รอสมใจแน่ครับ
ถ้าระบายน้ำได้ด้วยแรงโน้มถ่วง เร่งความเร็วน้ำในคลองด้วยเครื่องผลักดันน้ำ ก็จะเหลือพื้นที่ที่เป็นแอ่งกระทะ ซึ่งต้องสูบออก แต่เราควรสูบเท่าที่จำเป็น ถ้ามีทางอื่นที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ก็ใช้ไปก่อนครับ
« « Prev : ความคิดเกี่ยวกับกรณีของหมู่บ้านเมืองเอก
Next : ผลักดันน้ำแบบเหมาะสม » »
2 ความคิดเห็น
เคยไปอยู่ที่บางใหญ่ 5-6 วันก็ยอมรับว่าคนที่นั่นเดือด-ร้อนจริงๆแหละค่ะ เพียงแต่แปลกใจว่าวันกลับ น้ำที่ถนนลดลง แต่น้ำที่ศูนย์รร.เฉลิมพระเกียรติฯไม่ขยับเลย แถมอีก2-3 วันต่อมา น้ำถนนที่ว่าลดกลับเพิ่มขึ้นอีก น้ำมาจากไหน ทำไมเหมือนมันไหลวน ไม่มีทางออก
วันนี้อ่าน”น้ำท่วมที่ดอน(เมือง) แต่แห้งที่หนอง(งูเห่า)” http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000148870 ยิ่งปลงอนิจจัง กับเรื่องราวเหมือนลิงแก้แห ที่พัลวันจนไม่รู้ว่าจะหยิบตรงไหนมาตั้งแต่ต้น เพราะพื้นที่ท่วมขังอยู่ในขณะนี้เป็นที่สูงกว่ากทม.ฝั่งพระนครและฝั่งตะวันออก(หนองงูเห่า และสมุทรปราการ) เฮ้อ!
ซึ่งก่อนหน้านี้อ่านเนชั่นสุดสัปดาห์เกี่ยวกับ ผศ.ดร.ชินวัชร์ พูดถึง <<>> แต่ไม่สามารถหาลิ้งค์ชัดๆได้ เลยเอาลิ้งค์ที่ใกล้เคียงมาฝาก http://maha-arai.blogspot.com/2011/11/blog-post.html
คงไม่มีใครหรืออะไรที่เกิดเดี่ยวๆแล้วกลายเป็นปัจจัยของทั้งหมดได้เนาะคะ เพียงแต่เราจะเรียนรู้จากมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง