วุ่นวายไปทำไม
อ่าน: 3860ค.ศ. 1665 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช La Rochefoucauld (1613-1680) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “Il est plus honteux de se défier de ses amis que d’en être trompé.” พอแปลได้ว่า การไม่เชื่อถือมิตรเป็นเรื่องน่าอับอายยิ่งกว่าการที่จะถูกเขาทรยศเสียอีก ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์โคลงอธิบายความไว้ว่า
๏ การระแวงใจแห่งผู้ เป็นมิตร สหายแฮ ๏ คือใครมีมิตรแล้ว ระแวงจิต |
๏ กลัวอายเพราะมิตรจัก ไม่ซื่อ ตรงแฮ ๏ ผู้ใดดูถูกมิตร ดูถูก ตนเอง |
๏ มิตรร้ายผิมุ่งร้าย ต่อเรา ๏ ภาษิตจึงได้กล่าว คติบอก |
๏ มุ่งหมายจิตมั่นด้วย มิตรธรรม ถึงหากเพื่อนทุจริต หลอกให้ อย่าวิตกแต่จำ ไว้เพื่อ จะคบมิตรอื่นไซร้ จะได้รู้พรรณ ๚ะ๛ |
สังคมยุโรปในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการนั้น ผู้ลากมากดีต่างเชื่อถือในเกียรติยศ จะคบใครก็มักจะเลือกคนมีเกียรติเสมอกัน (ไม่ว่า “เกียรติ” จะหมายถึงอะไรก็ตาม — อย่าลืมว่าเรื่องนี้เกือบสามร้อยห้าสิบปีมาแล้วนะครับ) ความเป็นเพื่อนมักดูกันนานๆ เป็นเรื่องลึกซึ้งนะครับ ส่วนที่ฉาบฉวยน่ะ เรียกว่าแค่เป็นคนรู้จักกันเท่านั้น
ทีนี้พอเกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ น้ำใจหลั่งไหลมาโดยไม่ได้นัดหมายกัน ไม่มีระบบรองรับ แต่ก็ผ่านไปได้เพราะความเชื่อใจกัน เวลาอลหม่านต่างคนต่างไม่คิดอะไรมาก ต้องการเพียงแต่จะนำความช่วยเหลือไปสู่ผู้ประสบภัยโดยเร็วเท่านั้น จึงปรากฏเหลือบทั้งแบบที่เนียนและไม่เนียนขึ้นมา
ขณะนี้แม้จะดูเหมือนระดับน้ำลดลงในหลายพื้นที่ แต่ความเร่งด่วนและความจำเป็นยังมีเท่าเดิม เพราะยังมีคนเดือดร้อนอีกเป็นล้านคน งานฟื้นฟูยังอีกยาวนานนะครับ
จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเมื่อเช้าวันนี้
๖.๑.๑ สถานการณ์อุทกภัยระหว่างวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน อันเนื่องมา จากอิทธิพลของ ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ภาคกลาง และ ภาคตะวันออก และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ดังนี้
ปัจจุบันจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น ๑๐ จังหวัด ๓๑ อำเภอ ๒๖๗ ตำบล ๑,๗๘๐ หมู่บ้าน ๑๕๙,๙๔๒ ครัวเรือน ๕๓๓,๖๙๕ คน ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี
ระหว่างวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น ๓๙ จังหวัด ๔๑๗ อำเภอ ๓,๐๓๘ ตำบล ๒๕,๘๗๙ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑,๙๗๘,๐๘๘ ครัวเรือน ๖,๙๓๔,๗๑๙ คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย ๖,๗๔๒,๑๖๖ ไร่
จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างฟื้นฟู จำนวน ๒๙ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก ชลบุรี ลำพูน เชียงใหม่ สระแก้ว นครนายก กำแพงเพชร พิษณุโลก หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครปฐม อุทัยธานี บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา อ่างทอง ชัยภูมิ นครสวรรค์ นครราชสีมา สุรินทร์ ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และจังหวัดสระบุรี
ขณะนี้ พลังของอาสาสมัครส่วนใหญ่ จะระดมรวมกันมาในช่วงวันหยุด (ยกเว้นอาสาบ้าพลังซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม ที่ต้องยกย่องสำหรับการทุ่มเททำอยู่ทุกวัน เดือนกว่ามาแล้ว) เมื่อพ้นช่วงของความอลหม่านไป มองย้อนหลังกลับไป ก็จะพบว่าระบบจัดการความช่วยเหลือหลวมครับ
เป็นธรรมชาติของคน ที่พอว่างปุ๊บจิตฟุ้งซ่านทันที ด้วยระบบทีี่หลวมอยู่อย่างนี้ ผมคิดว่ากลับจะทำให้อาสาสมัครที่มาด้วยน้ำใจ ทำการรวบรวมข้าวของเงินทองกลายเป็นเป้าไปนะครับ เรื่องอย่างนี้เหมือนดูถูกน้ำใจอาสาสมัคร แต่ว่าหากมีระบบที่โปร่งใสขึ้นมา ก็จะป้องกันอาสาสมัครที่ทำงานได้ส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีคนทำงาน ไม่ว่าจะเพราะเสียใจ หมดกำลังใจ หรือไม่เข้าใจกัน ผลจะตกอยู่กับผู้ประสบภัยครับ
ดังนั้นในครึ่งหลังของบันทึก [ทำช้าดีกว่าไม่ทำ] จึงได้เสนอระบบบัญชีจัดการเงินบริจาคขึ้น ทำให้รายรับและรายจ่ายโปร่งใสตรงไปตรงมา เป็นบัญชีนิติบุคคล มีการตรวจสอบโดยบัญชี และตรวจอีกทีโดยกรมสรรพากร ส่วนผู้บริจาคตรวจสอบได้ทางเว็บ ทั้งนี้เพื่อ protect คนทำงานครับ เงินไม่ใหญ่เท่าน้ำใจ แต่เพราะเงิน อาจมีคนเข้าใจอาสาสมัครไปในทางไม่ดีได้ จึงต้องทำเรื่องนี้อย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาที่สุดเพื่อให้ทุกคนสบายใจ
วันนี้จึงได้นัดกรรมการมูลนิธิอีกสองท่านคือ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กับ ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ ไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาค แต่เปิดสองบัญชีเลย!
บัญชีแรก
เป็นบัญชีตามบันทึกทำช้าดีกว่าไม่ทำ ซึ่งใบเสร็จที่ออกให้ ควรจะใช้หักค่าลดหย่อนบุคคล/ค่าใช้จ่ายนิติบุคคลได้ตามประกาศของกรมสรรพากร อันนี้จะช่วยให้บริษัทห้างร้าน สามารถบริจาคได้โดยไม่เป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม จะเปิดช่องให้นิติบุคคล สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้มากขึ้น
แล้วมันก็เป็นเรื่องอีกครับ คือติดต่อกรมสรรพากรแล้ว ทางกรมให้ยื่นกับสรรพากรพื้นที่ พอไปยื่นกับสรรพากรพื้นที่ ปรากฏว่าสรรพากรพื้นที่ไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน งงกันไปพักหนึ่ง ก็ได้ขั้นตอนที่ถูกต้องแล้ว และสรรพากรพื้นที่ส่งเรื่องไปกรมแล้ว แต่ว่าพอถามว่าการหักค่าลดหย่อน/ค่าใช้จ่ายมีผลทันทีเลยหรือไม่ เอิ๊ก งงกันอีกแล้ว (ไม่อยากโทษเจ้าหน้าที่เพราะเรื่องนี้ มั่วไม่ได้) ในประกาศกรมสรรพากรใช้คำว่าแจ้งอธิบดี ก็ไม่ควรจะต้องอนุมัติ สรรพากรพื้นที่มีความเห็นอย่างนี้เช่นกัน แต่พอเช็คไปทางกรม ทางกรมบอกต้องอนุมัติ เลยไม่รู้ว่าจะต้องรอถึงเมื่อไหร่
แต่ประกาศของกรมสรรพากร [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย] ขีดเส้นตายเอาไว้ว่าให้บริจาคเงินก่อนสิ้นปี ให้แยกบัญชี และให้ใช้เงินให้หมดก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมปีหน้าด้วยครับ
ดังนั้นแม้จะเปิดบัญชีธนาคารแล้ว เลขบัญชีอันนี้ ยังไม่พร้อมจะเปิดเผยครับ เพราะว่าถ้าบอกไป อาจสร้างความคาดหวังผิดๆ ว่าใบเสร็จจะนำไปหักภาษีได้อย่างแน่นอน (ซึ่งจะต้องรอกรมสรรพากรยืนยันก่อนครับ)
เรื่องภาษีนั้น ความหมายก็คือ สมมุติเราเสียภาษี t% แล้วเราบริจาคเงินช่วยอุทกภัย m บาท เงินจะไปสู่ผู้ประสบภัย m บาท เราออกเงินไป m บาท แล้วรัฐจะคืนให้ในแง่ที่เสียภาษีน้อยลง m(t) บาท ตกลงเงิน m บาทที่ไปช่วยอุทกภัยนั้น เราออก m(1-t) บาท และรัฐออก m(t) บาท เช่นเราเสียภาษีในอัตรา 20% บริจาคช่วยน้ำท่วม 1000 บาท พอไปเสียภาษีต้นปีหน้า รัฐคืนเงินให้ 200 บาท กลายเป็นเราออก 800 บาท รัฐออก 200 บาท เหมือนกับเป็นการขอให้รัฐนำเงินภาษีของเราไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยเราเป็นผู้ระบุการใช้เงินผ่านการบริจาค ไม่ได้ผ่านการจัดสรรเงินตามกลไกของรัฐ
บัญชีนี้ก็ยังมีปัญหาซับซ้อนอีกครับ คือว่าการใช้เงินเพื่อผู้ประสบภัยนั้น ผมคิดว่าก้ำกึ่งมาก เช่น ค่าขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์นับหรือเปล่า ค่าเดินทางของอาสาสมัครไปช่วยกันซ่อมบ้านหรือปลูกข้าวนับไหม ฯลฯ ยิ่งกว่านั้นประกาศกรมสรรพากรยังระบุว่าให้ใช้เงินให้หมดตอนสิ้นเดือนพฤษภาคมปีหน้า ทีนี้การฟื้นฟูอาจไม่จบในห้าเดือนหรอกนะครับ ความเสียหายมหาศาลอย่างนี้ จะเอาเงินอัดลงไปอย่างเดียวได้อย่างไร ก็เลยเป็นที่มาของบัญชีที่สอง
บัญชีที่สอง
บัญชีที่สองนี้จะใช้หักภาษีแบบการบริจาคที่บัญชีแรกไม่ได้ แต่มูลนิธิจะทำให้โปร่งใสเหมือนกัน เปิดบัญชีนี้ขึ้นมาเพื่อดูแลอาสาสมัครที่ลงพื้นที่ ใช้ร่วมกับบัญชีแรกในกรณีที่เงินไม่พอ และไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้เงินทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคมปีหน้า ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าการฟื้นฟูยังอีกยาวนานครับ — เงินบริจาคผ่านบัญชีนี้มีเป้าหมายที่การฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัย และการทำให้ความช่วยเหลือไปสู่ผู้ประสบภัยได้
เงินในบัญชีที่สองนี้ ก็เหมือนกับเงินบริจาคที่หยอดตู้รับบริจาคทั่วไป แต่ว่าใช้โอนเงินมาเข้าบัญชี อาจใส่เศษสตางค์เพื่อให้รู้ด้วยก็ได้ว่าบริจาคมาเป็นรายการไหน ที่ขอให้ใช้วิธีโอนเงินเข้าบัญชีเพราะสามารถจะแสดงภาพความเคลื่อนไหวของสมุดคู่ฝาก (passbook) เอาไว้บนเว็บได้ทุกรายการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ผู้บริจาคสามารถตรวจสอบได้เอง
ธนาคารเป็นผู้ลงรายการทั้งรับทั้งจ่ายให้ตัวเลขปรากฏในสมุดคู่ฝาก จากนั้นทางบัญชีจะตรวจสอบการใช้จ่าย มีผู้สอบบัญชีคอยตรวจสอบ ตามด้วยกรมสรรพากรอีกชั้นหนึ่ง (ที่จริงกระทรวงวัฒนธรรมก็ต้องการตัวเลขด้วย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับรองมูลนิธิเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ตามความในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ทะเบียนเลขที่ ๒๑๔๖) ดังนั้นเงินจะไม่รั่วไหลไปไหนหากไม่มีเอกสารการจ่ายเงินอย่างถูกต้อง
ท้ายนี้มูลนิธิจะไม่เก็บเงินบริจาคผ่านบัญชีนี้ไว้เช่นเดียวกับบัญชีแรกครับ
บัญชีนี้เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ เลขที่บัญชี 402-177853-3 ครับ กรณีโอนเงินจากต่างประเทศผ่าน SWIFT ใช้ SWIFT Code: SICOTHBK
ที่ทำการ: มูลนิธิโอเพ่นแคร์ ชั้น 11 อาคารเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เลขที่ 99/24 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 www.opencare.org
ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่ง ว่าช่องทางที่เขียนมาข้างบนนี้เป็นทางเลือกครับ ท่านผู้อยากช่วยเหลือผู้ประสบภัย สามารถเลือกใช้ช่องทางที่ท่านสะดวกได้ทุกช่องทาง ตามแต่ท่านจะเห็นสมควร
« « Prev : การออกแบบเพื่อฟื้นฟูเหตุภัยพิบัติ
Next : กาลักน้ำ » »
4 ความคิดเห็น
เริ่มอ่านก็นึกว่ามาแปลกวันนี้ เพราะมิใช่เรื่องน้ำท่วม พออ่านๆ ไป ก็สำเนียกได้ว่าไม่แปลกเพราะเป็นเรื่องน้ำท่วมอีกนั้นแหละ…
รายชื่อจังหวัดตามที่ระบุไว้ ไม่เห็นจังหวัดทางภาคใต้ อาจเป็นว่าปัญหาทางภาคใต้คงมีระบบช่วยเหลือตัวเองได้…
“ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน เก็บดอกไม้ร่วมต้น สร้างกุศลร่วมกัน” หมายถึงว่าเป็นพวกเดียวกัน การช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบภัยพิบัติในครั้งนี้ อาจสะท้อนคำพังเพยนี้ได้เป็นอย่างดี…
เจริญพร
ผมก็ไม่ได้สังเกตเลยครับว่าไม่มีจังหวัดทางภาคใต้ ผมหลุดไปเองครับ ปภ.เขาแยกไว้อีกหัวข้อหนึ่ง
[...] [วุ่นวายไปทำไม] เจอลุงเอก ประธานมูลนิธิ [...]
[...] ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องเขียนเรื่องนี้เป็นครั้งที่สาม แต่จะไม่เล่าเบื้องหลังซ้ำอีกหรอกนะครับ ถ้าสนใจ ตามอ่านได้เองที่ [มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย] [ทำช้าดีกว่าไม่ทำ] [วุ่นวายไปทำไม] [...]