กาลักน้ำ

อ่าน: 8199

น้ำท่วมมาเดือนกว่าแล้ว บางพื้นที่ของสุโขทัย+พิษณุโลกกว่าสองเดือนแล้ว แต่ยังมีพื้นที่ที่น้ำท่วมขังกระจายอยู่เป็นวงกว้าง

ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูล่าช้า ตัวผู้ประสบภัยเองสภาพจิตใจยิ่งย่ำแย่ไปหมด น้ำไม่ลดเหมือนไม่มีความหวัง

เมื่อวานไปเปิดบัญชีตามบันทึก [วุ่นวายไปทำไม] เจอลุงเอก ประธานมูลนิธิ (ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า) ลุงเอกงานยุ่งมากแต่เล่าว่าเพิ่งไป อ.บางบาล อยุธยามา น้ำยังปริ่มถนนอยู่เลย

ผมก็ปากหนักไป ดันไม่ได้ถามว่าลุงเอกไปมาเมื่อไหร่ พอกลับมาบ้าน ก็มาเช็คดูระดับน้ำ ปรากฏว่ามาตรวัด C36 (คลองบางหลวง อ.บางบาล) อยู่ต่ำกว่าตลิ่งตั้งหลายเมตร

ถ้าตัวเลขนี้ถูกต้อง ลองนึกถึงใจชาวบ้านแถวนั้นดูนะครับ เห็นอยู่ว่าน้ำท่วมบ้าน ท่วมหนัก และท่วมมานานแล้ว แล้วก็ยังไม่ยอมลดลงเสียที ในขณะที่ระดับน้ำในคลอง ต่ำกว่าตลิ่งตั้งเยอะ ก็ยังทำอะไรไม่ได้ (ก็มันติดถนนนี่หว่า! แค่ข้ามถนนไปก็ไม่ท่วมแล้ว!!!) เวลาน้ำบ่าเข้ามา มันข้ามถนนมาได้ แต่พอข้ามถนนมาแล้ว น้ำไหลกลับไม่ได้ครับ เพราะว่าถนนเมืองไทยเป็นถนนที่ยกสูง เอาไว้ป้องกันน้ำท่วม

การนำน้ำออกไปจากพื้นที่ วิธีที่เหมาะที่สุดนั้นคือปล่อยไปตามแรงโน้มถ่วง ก็มีปัญหาอีกเพราะมีถนนทุกพื้นที่แล้วถนนก็ยกสูงไปหมด ดังนั้นน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาเวลาน้ำหลาก จึงไหลไปไหนไม่ได้ กลายเป็นน้ำท่วมขังอยู่นานแล้ว ไม่ลดเสียที

จะระบายน้ำออกไป ก็ต้องสูบออกครับ แต่ว่าเนื่องจากพื้นที่กว้างขวางมาก จะเอาเครื่องสูบน้ำจากไหนมาถึงจะพอ

ดังนั้น จึงเสนอให้ใช้กาลักน้ำครับ วิธีการง่ายๆ ที่เด็กนักเรียนก็รู้

ถ้าระดับน้ำของสองฝั่งถนนหรือคันนา ต่างกันพอสมควร เราใช้สายยางขนาด 2 นิ้ว ดูดได้ง่ายๆ เอาสายยางจุ่มน้ำจนอากาศข้างในออกหมด ปิดทั้งสองรูไว้หรือยกขึ้นก็ได้ ปลายหนึ่งไปปล่อยลงอีกฝั่งถนนที่น้ำต่ำกว่า ทิ้งปลายฝั่งนี้ไว้เยอะๆ จากนั้นจึงรีบเอาอีกปลายหนึ่งจุ่มลงในน้ำฝั่งที่ท่วมขัง

ถ้าระดับน้ำฝั่งที่ท่วมขัง กับระดับฝั่งที่ปล่อยน้ำออก ต่างกัน 1 เมตร สายยางที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว จะสูบน้ำออกได้หนึ่งลูกบาศก์เมตรในเวลา 1.86 นาที — หวังว่าผมคงคำนวณไม่ผิด — น้ำท่วม 40 ไร่ สูงเฉลี่ย 1 เมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำ 64000 ลูกบาศก์เมตร ใช้สายยางสองนิ้วจำนวนยี่สิบเส้น ใช้เวลาสูบน้ำ 4.13 วัน ก็จะแห้งครับ… อย่างนี้จึงจะพอมีกำลังใจบ้าง

สายยางนี้ รถวิ่งทับได้ ถ้าจะให้เร็วขึ้นก็เพิ่มจำนวนสายยางเข้าไปครับ

หลักการของกาลักน้ำ (Siphon) ยกน้ำได้ข้ามถนน/สิ่งกีดขวางได้สูงถึง 10 เมตรตามทฤษฎี การคำนวณตามสมการของเบอร์นูลี

ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ จะมีถนนคั่นคลองหรอกนะครับ ดังนั้นเวลาใช้กาลักน้ำ ก็อาจจะมีน้ำไหลผ่านพื้นที่ไปลงคลองหรือแม่น้ำบ้าง แต่ก็ขอให้เห็นใจชาวบ้านที่น้ำท่วมขังมานานเถิดครับ

ดูทางน้ำให้ดี อย่าสูบวนไปวนมานะครับ

« « Prev : วุ่นวายไปทำไม

Next : รอดได้ ยิ่งกว่าซ่อมได้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 November 2010 เวลา 4:40

    ทำไม คนตั้งชื่อ จึงเรียกว่า กาลักน้ำ มีที่ไปที่มาอย่างไร?

  • #2 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 November 2010 เวลา 9:37

    อตีเต กาเล ปางเมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองรัชชสมบัติ ณ กรุงพาราณสี มีกาตัวหนึ่งอาศัยอยู่ชายป่าใกล้กระท่อมนายพราน ก็แลกาตัวนี้สังเกตว่า คราใดที่นายพรานกลับมาจากป่า มักจะหยิบกระบอกไม้ใผ่บรรจุน้ำมาดื่มเสมอ มันจึงใคร่จะกินน้ำในกระบอกไม้ใผ่บ้าง แต่มิอาจทำได้เนื่องจากปากกระบอกเล็กเกินไป ดังนั้น มันจึงไปคาบเอาหลอดไม้อ้อมาใส่ในกระบอก แล้วใช้ปากงับที่หลอดไม้อ้อให้โค้งลงมาด้านล่าง แล้วก็ใช้ปากดูดที่ปลายหลอดด้านล่าง น้ำในกระบอกจึงไหลออกมา กาตัวนี้จึงได้กินน้ำสมความตั้งใจ…

    เพลาเย็นของวันนั้น นายพรานกลับมาจากป่า เห็นไม้อ้อเสียบอยู่ในกระบอกและน้ำไหลออกจากกระบอกหมด สำคัญว่าเป็นเด็กๆ ลูกนายพรานบ้านใกล้ๆ มาเล่น จึงมิได้ใส่ใจ แต่เมื่อกลับจากป่าอีกในตอนเย็นของวันต่อๆ มา เจอหลอดไม้อ้อเสียบอยู่และน้ำไหลออกหมดเสมอ จึงคิดว่า “เราจักกำหนดจับผู้ที่กระทำการณ์นี้” ดังนั้น วันต่อมาจึงทำทีเหมือนเข้าไปล่าสัตว์ในป่าแต่ซุ่มอยู่ใกล้ๆ กระท่อม เฝ้าสังเกตการณ์อยู่…

    ฝ่ายกาตัวนั้น เมื่อมีความต้องการด้วยน้ำ ก็ทำอาการเหมือนดังกล่าว นายพรานเห็นดังนั้น จึงไล่กาไป แล้วก็เริ่มทำฝาปิดกระบอกน้ำตั้งแต่นั้นมา…

    ในสมัยต่อมา เกิดน้ำพุผุดขึ้นมาบนยอดเขา น้ำพุนั้นไหลมาขังอยู่ในแอ่งบนยอดเขา พระเจ้าพรหมทัตใคร่ที่จะนำน้ำมาใช้ในพระราชวังในฤดูแล้ง จึงมีรับสั่งให้คนหาบน้ำลงมาจากภูเขา สร้างความลำบากให้บรรดาเจ้าหน้าที่อย่างมาก นายพรานคนนี้ผ่านมา จึงเข้าไปบอกกับอำมาตย์ผู้ควบคุมการขนน้ำว่า ขออาสาจัดการให้น้ำไหลลงไปยังพระราชวังโดยไม่ต้องหาบ แล้วก็อธิบายให้อำมาตย์ดำเนินการ โดยใช้ลำไม้ใผ่แทนไม้อ้อแล้วเลียนแบบตามอาการที่กาเคยทำกับกระบอกน้ำของตน น้ำจึงไหลจากแอ่งบนภูเขาไปสู่ปราสาทราชวังโดยสะดวก ไม่ต้องเกณฑ์คนมาหาบอย่างแต่ก่อน…

    พระเจ้าพรหมทัตทราบวิธีการนี้ จึงรับสั่งเรียกนายพรานให้มาเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า “วิธีการนี้ ชื่ออะไร และเจ้าไปเรียนมาจากอาจารย์ท่านใด ?”
    นายพรานจึงกราบทูลว่า “ชื่อว่ากาลักน้ำ หม่อมฉันสังเกตจากกาตัวหนึ่งที่ขโยมน้ำจากกระบอกน้ำพระเจ้าข้า” ครั้นแล้วนายพรานจึงเล่ารายละเอียดให้พระราชาทรงสดับ…

    วิธีการนี้ จึงชื่อว่า “กาลักน้ำ” ตั้งแต่นั้นมา

    เจริญพร
    (ปล. เรื่องนี้แต่งวันนี้เอง)

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 November 2010 เวลา 11:15

    สุดยอดของคำตอบ สาธุ

  • #4 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 November 2010 เวลา 20:38

    สาธุครับ 555 ตรง ปล.

  • #5 handyman ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 January 2011 เวลา 20:06

    เป็นคำตอบที่ไม่เคยรู้ที่ใดมาก่อน กราบขอบพระคุณครับ
    พูดถึงกาลักน้ำ ตอนเด็กๆใช้ก้านมะละกอขนาดต่างกันสองอันมาตัดเจาะ สวมต่อกันและใช้ดินเหนียวอุดรอยต่อ .. เล่นกันสนุกสนานครับ  วันก่อนนึกครึ้มใจ เลยลองทำมาถ่ายเทน้ำจากอ่างปลาให้น้องเว็บไซต์ .. ทำไปทั้งๆที่มีเศษสายยางอยู่ข้างๆ .. เพื่ออะไรก็น่าจะพอเดาถูกนะครับ

  • #6 ลานซักล้าง » กาลักน้ำ รดน้ำต้นไม้ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 December 2011 เวลา 4:52

    [...] [กาลักน้ำ] แล้ว [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.42339110374451 sec
Sidebar: 0.4056088924408 sec