รอดได้ ยิ่งกว่าซ่อมได้

อ่าน: 6142

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของคนไทย ไม่เข้าใจสเกลของตนครับ ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ใช้เงินเป็นใหญ่ มีเงินซื้ออะไรได้หมด (จริงหรือ?)

คนมีเงินนั้นมีลักษณะที่อธิบายได้ง่ายๆ สองอย่างว่า (1) เป็นคนที่ไม่จ่าย+ไม่ซื้อในสิ่งไม่มีประโยชน์หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ซื้อ และ (2) เป็นคนที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย — แต่ไม่ได้แปลว่าว่ามีรายได้มากอย่างที่มักจะเข้าใจ (และอิจฉา) กันหรอกนะครับ เพราะว่าตัวเราเองนั่นล่ะครับที่เป็นคนกำหนดค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราจะมีเงินเหลือเก็บก็ต่อเมื่อรู้จักประมาณกำลังของตน

ลองดูเศรษฐกิจในหมู่บ้าน จะซื้อผักซื้อเนื้อสัตว์จากรถขายผัก รถขายผักเองก็ต้องมีกำไรไปจ่ายค่าน้ำมันและเลี้ยงชีพตนเอง กลายเป็นการซื้อผักกลับต้องจ่ายเงินเลี้ยงคนขายผักด้วย รถขายผักมีอะไรให้เลือกมากหรือก็เปล่า ซื้อผักเดิมๆ หมู ไก่ ไข่เดิมๆ นั่นแหละครับ ในเมื่อซื้อของเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วทำไมไม่ปลูกเอง เลี้ยงเอง? (ผมก็ไม่ทำครับ แต่ผมมีพอ)

เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่นะครับ ลองดูสินค้าที่ซื้อขายกันในชุมชนให้ดี มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตได้เองในชุมชน ผมคิดว่าว่าไม่เยอะนะ!! ถ้าการคมนาคมขนส่งถูกตัดขาด (น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำมันแพง ฯลฯ) แล้วชุมชนที่พึ่งสินค้าจากนอกพื้นที่ จะทำอย่างไร

ของที่เราชอบให้เหตุผลว่า “จำเป็น” นั้น จำเป็นจริงหรือเปล่า อย่างเวลาน้ำท่วมแล้วไปซื้อไม่ได้นี่ ตายไหมครับ (ถ้าตายแล้วไม่ต้องมาตอบผม)

พื้นที่ที่น้ำท่วม ไม่ว่าจะยังท่วมอยู่หรือน้ำลดแล้ว ควรจะร่วมกันถอดบทเรียน ในขณะที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ ท่านผ่านสถานการณ์นั้นมาได้อย่างไร ได้ทำอะไรแน่นอนครับว่าในช่วงที่ฝ่าวิกฤตนั้นไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม ผู้ประสบภัยสามารถตอบแทนความช่วยเหลือจากภายนอกได้ ด้วยการสร้างชุดความรู้เพื่อแนะนำวิธีการอยู่รอดต่างๆ ขึ้นมาครับ

ปัจจัย ๔ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นสิ่งจำเป็น แต่ที่จำเป็นยิ่งยวดคือระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ก่อนครับ เมื่อเอาน้ำออกแล้ว จะได้ไปหาปัจจัย ๔ ที่ยังขาดแคลนอยู่ได้ ลดความเสี่ยงจากสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมา

สำหรับพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว มีงานหนักในการฟื้นฟูซึ่งยังต้องการความช่วยเหลืออีกมาก วันนี้ภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้น แต่ความช่วยเหลือไม่ทันใจเสมอล่ะครับ… อย่าให้ถึงขั้นเรียกร้อง ลงไปดิ้นพราดๆ เหมือนเด็กเอาแต่ใจตัวเลย อยากได้อะไร ก็ทำซิครับ

การอยู่รวมกันเป็นสังคม จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีพื้นที่ใดเลยที่ผลิตสินค้าได้ทุกอย่างที่คนในพื้นที่นั้นต้องการ จากทรัพยากรภายในพื้นที่เท่านั้น ในเมื่อชุมชนมากมายในสังคมไทยยังเดือดร้อน ถ้าเราช่วยได้ก็สมควรช่วยครับ คนเรามีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน แล้วความเดือดร้อนมีมากมายเหลือคณานับ คงมีสักเรื่องที่ช่วยได้ซิน่า มีคนเดือดร้อนกว่าแปดล้านคน

พื้นที่ที่น้ำลดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูซึ่งอาศัยเวลา ไม่เหมือนอย่างเป็นไข้ ฉีดยาเข็มเดียวหาย

การฟื้นฟูเหมือนปลูกต้นไม้ ใช้เวลาพอสมควร ใช้การบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้นไม้ที่ปลูกแต่ละต้น ถึงจะเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่ละต้นก็ไม่เคยเหมือนกันเลย ในเมื่อสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เอากลับมาไม่ได้ สร้างใหม่อีกครั้งก็ไม่เหมือนเดิม — วันนี้กลับเป็นโอกาสที่จะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ว่าที่จะสร้างขึ้นมาใหม่แล้ว จะสร้างให้เป็นอย่างไร ของเดิมที่เสียหายไป มีอะไรดี อะไรไม่ดี ตรงไหนควรปรับปรุง ตรงไหนควรเปลี่ยนแปลง ฯลฯ มีโอกาสแล้ว ทำไมไม่สร้างสิ่งที่ดีกว่าเดิม

การฟื้นฟูชีวิต บำรุงดูแลรักษาใจ สร้างความหวัง ให้ความรู้ ชี้ช่องทาง *แต่ว่า* ความช่วยเหลือเหล่านี้ จะไม่มาตลอดไปหรอกครับ ในที่สุดแล้ว ผู้ประสบภัยจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้

อุทกภัยใหญ่ครั้งนี้ ทำให้สังคมไทยทั้งหมดจะต้องคิดร่วมกัน ว่าหากโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลาย ถึงมีเงินแต่ก็ซื้ออะไรไม่ได้ แต่ละชุมชนจะมีชีวิตรอดได้อย่างไร

« « Prev : กาลักน้ำ

Next : ไร่นาหลังน้ำลด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 November 2010 เวลา 11:16

    เรื่องพึ่งตนเองนี่แน่นอนเสมอไม่ว่าเมื่อไหร่ ตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะแยะเพียงแต่ว่าเราจะเอาจริงกันหรือยังเนาะคะ ยิ่งสถานการณ์มาตอกย้ำความจำเป็นเข้าไปอีก ก็ยิ่งต้องพิจารณากันอย่างจริงจัง

    ขอย้อนหลังไปสงสัยช่วงซ่อมแซมหน่อยนะคะ เนื่องจากสถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษาของรัฐทั่วทุกภาคของประเทศจะมีศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชม หรือ Fixit Center อยู่แล้ว http://www.fixit-center.net/
    (ป่านนี้น่าจะขยายไปได้ร้อยกว่าแห่งแล้วมังคะ) ตั้งขึ้นเพื่อให้สถานศึกษาแห่งนั้นจัดกิจกรรมบริการชุมชนได้ตรงกับข้อกำหนดของการประเมินคุณภาพของสถานศึกษาด้านการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน

    มี 3 ภารกิจที่สอดรับกับสถานการณ์นั่นคือ บริการซ่อม พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ชุมชน และส่งเสริมสุขอนามัยชุมชน โดยบริการที่มีให้ก็ตรงกับสาขาวิชาที่สถาบันอาชีวศึกษานั้น ๆ เปิดสอนซึ่งมีทั้ง ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ช่างยนต์ ช่างอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ช่างโลหะ โยธา พยาบาล ฯลฯ
    อ้อ สาขาการต่อเรือไฟเบอร์กลาสก็มีด้วยนะนั่น!

    ถ้าได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่หรือในพื้นที่ใกล้เคียงก็จะเป็นกำลังสำคัญได้เลยเนาะคะ

    งบประมาณก็ของรัฐ
    ผู้ที่เดือดร้อนจากภัยพิบัติก็ได้รับความช่วยเหลือแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
    เด็กนักเรียนก็ได้ฝึกฝีมือและปลูกฝังคุณลักษณะของความเป็นพลเมืองด้านจิตสาธารณะ
    สถานศึกษาก็ได้หน้า ได้ผลงานตามเกณฑ์ (ที่ถูกกำหนด) เอาไว้เสนอตอนถูกประเมินคุณภาพ

    เพียงแต่หน่วยงานต้นสังกัดสั่งการและผลักดันอย่างจริงจังเท่านั้นเอง
    นี่นา
    :(

  • #2 iwhale ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 November 2010 เวลา 17:53

    อ่าน Entry นี้แล้วจึงได้โทรศัพท์ติอต่อ ท่านผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือของอาชีวศึกษา (Fixit)
    เบื้องต้นยินดีนำทีมอาชีวะทั่วประเทศร่วมซ่อมสร้างกับภาคประชาชนแล้วครับ
    รายละเอียดจะเรียนหารือต่อไป ขอบคุณมากครับที่แนะนำ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 November 2010 เวลา 19:45
    เป็นข่าวดีมากเลยครับ

    http://www.facebook.com/profile.php?id=100001260845225


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.8564560413361 sec
Sidebar: 0.13877201080322 sec