ระดมเครื่องสูบน้ำ

อ่าน: 2550

เมื่อน้ำเหนือบ่ามาล้นกำแพงกั้นน้ำที่หลักหก ปทุมธานี เหมือนกรุงเทพมีรูรั่วอันใหญ่ เวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ ก็ยังเปิดบ้านรับให้น้ำเข้าไปสู่ตัวเมืองชั้นใน

เมื่อคราวประตูน้ำบางโฉมศรีแตก ใช้เวลาเกือบสามสัปดาห์จนน้ำทะลักเข้ามาเต็มทุ่งทางตะวันออกของแม่น้ำ เจ้าพระยา ทุกวินาทีที่ล่าช้าไป หมายถึงน้ำปริมาณมหาศาลทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ประสบการณ์เลวร้ายผ่านไป ก็ยังไม่เข็ด พอน้ำลงมากรุงเทพ การติดตั้งบิ๊กแบ็ก ก็เถียงกันอยู่นั่นแหละว่าใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือน้ำยังเข้ามาเรื่อยๆ สูบยังไงก็ไม่หมดหรอกครับ

แต่ถึงสูบไม่หมด ก็ยังต้องสูบอยู่ดี เพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินกว่ารถยนต์จะวิ่งไม่ได้ หากการคมนาคมขนส่งหยุดลง แล้วทุกคนเดินทางไม่ได้ การที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจ จะไม่ง่ายเหมือนมั่นใจแบบคิดเอาเอง

เมื่อวานนี้ ศปภ.ระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชน ขอเครื่องสูบน้ำที่มีขนาดไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว ใครจะค่อนแคะอย่างไร ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ คิดเสียวันนี้ ก็ยังดีกว่าไม่พยายามหาทางออกอะไรเลย

บ้านผมไม่มีปั๊มขนาด 6 นิ้ว และไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีบ้านใครที่มีปั๊มขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่บ้านเหมือนกัน

ปั๊มน้ำซึ่งอยู่ในเขตที่น้ำไม่ท่วม ศปภ.คงระดมมาหมดแล้ว (ถ้ายังก็ควรทำซะ) ศึกน้ำของจังหวัดในที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างยังอีกไกลครับ ไม่จบลงง่ายๆ อย่าหลอกตัวเองเลย

ในส่วนของ กทม. ก็เป็นอาการเดียวกัน คือน้ำบ่าลงมา ต้องสูบออกเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำ สูงกว่าระดับน้ำที่คลองในเมือง ทำให้เปิดประตูระบายน้ำไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น น้ำก็ท่วมเมืองแล้ว

ตอนนี้ กทม.ควรระดมทุกอย่างที่หาได้มาช่วย ซึ่งจะต้องเตรียมการหลายอย่างพร้อมๆ กันไป เช่น

  1. ปั๊มน้ำทุกชนิด ทุกขนาด ไม่ว่าจากโรงงานอุตสาหกรรม ตึกสูง คอนโด อพาร์ตเม้นท์ ที่จมน้ำและคนอพยพไปหมดแล้ว ขอยืมมาช่วยให้หมด — ไม่ต้องการปั๊มแรงดันสูงๆ เหมือนปั๊มน้ำสำหรับตึก 30 ชั้น แต่ต้องการแรงดันเพียงยกน้ำจากคลองข้ามประตูระบายน้ำไปทิ้งในแม่น้ำสูงสัก 2-3 เมตรเท่านั้น แต่ถ้าสูบน้ำได้ปริมาตรเยอะจะดีกว่าพวกแรงดันสูง
  2. ปั๊มน้ำที่ระดมมา คงจะร้อยพ่อพันแม่ หากไม่ทำอะไร ก็จะไปกระจุกแน่นประตูระบายน้ำ ดังนั้นเพื่อให้ปั๊มตัวเล็กๆ หลายร้อยหลายพันตัวช่วยระบายน้ำได้ กทม.ควรจะทำรางเหล็กสำหรับระบายน้ำ เพื่อให้ปั๊มเล็กๆ สูบน้ำจากคลองมาทิ้งไว้บนราง แล้วรางเทน้ำออกไปนอกคันกั้นน้ำ เอาแนวคิด crowdsourcing มาใช้
  3. เนื่องจากปั๊มเป็นของชาวบ้านและเอกชน การที่เขาให้ยืมมาใช้ กทม.ก็ต้องรับผิดชอบต่อปั๊มของเขา จะดีมากเลยหาก กทม.มีสัญญามาตรฐานสำหรับขอยืมปั๊ม โดยระบุชื่อผู้ให้ยืม สถานที่ติดตั้ง ตลอดจน duty cycle (เช่นไม่เกิน 75%) เพื่อให้ปั๊มที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการทำงานตลอดเวลา ได้มีจังหวะพักบ้าง หากเสียหาย สัญญาก็ต้องระบุความรับผิดชอบครับ
  4. แนวคลองสำคัญคือ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางซื่อ คลองสามเสน คลองที่ล้อมเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งสองชั้น คลองพระโขนง คลองต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าน้ำจะผ่านไปแล้วหรือไม่ ก็ยังต้องสูบน้ำต่อไป เพื่อเอาน้ำออกจากกรุงเทพชั้นในให้ได้มากที่สุด
  5. จุดวิกฤต(ในความคิดของผม) คือคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี ท่าเรือคลองเตย และโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่บางนา แม้ว่าทุกแห่งจะป้องกันตัวอย่างดีที่สุดแล้ว ยังไงก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้น้ำท่วมไปถึงครับ

เปลี่ยน กทม. เป็น ศปภ. ก็เป็นอาการเดียวกันนะครับ อย่าตั้งเงื่อนไขว่าจะเอาแต่ปั๊มใหญ่ โดยเมินความช่วยเหลือจากปั๊มเล็กๆ เลย มันจะเหมือนกับมองไม่เห็นหัวชาวบ้านตัวเล็กๆ

« « Prev : เตรียมการกู้ชาติ

Next : ความมหัศจรรย์ของคลองลัดโพธิ์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ระดมเครื่องสูบน้ำ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.080518007278442 sec
Sidebar: 0.21707797050476 sec