ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่เนคเทคครบรอบ 25 ปี

โดย Logos เมื่อ 15 September 2011 เวลา 17:00 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4001

วันนี้ มีงาน NECTEC-ACE ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสที่เนคเทคสถาปนาครบรอบ 25 ปี (ตามมติ ครม. เนคเทคตั้งในวันที่ 16 กันยายน 2529 เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์)

ทางเนคเทคก็ชวนผมไปขึ้นเวทีในฐานะที่คุ้นเคยกับเนคเทคมานาน ขอรับฟังมุมมองอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เวทีนี้มีอาจารย์บรรยงค์ สุวรรณผ่อง  ที่ปรึกษาชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี รศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต, ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการนโยบาย ICT มหาวิทยาลัยศรีปทุม, คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กับผม

ที่จริงก็รู้จักกับวิทยากรทุกท่านมานานแล้วทั้งนั้นละครับ แต่เป็นรุ่นใหญ่ทั้งนั้นเลย (หรือว่าเราแก่แล้วหว่า) แต่อย่างไรก็ต้องค้นข้อมูล ย้อนกลับไปตรวจสอบหน่อย ว่าผมเกี่ยวข้องกับเนคเทคอย่างไร แค่ไหน เมื่อไหร่…

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ ไม่มีโอกาสได้พูดบนเวทีหรอกครับ มีเวลาน้อยมาก… และเขียนไม่ครบทุกเรื่องที่เตรียมไปด้วยครับ

ครั้งแรกสุดเลยที่เกี่ยวข้องกับเนคเทค ก็เป็นตอนที่เนคเทคเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องงานวิจัย วทท. ในปี 2531 สถานการณ์ในสมัยนั้น มี “การ์ดภาษาไทย” ซึ่งต่างบริษัทต่างทำ ใช้รหัสอักขระกันคนละแบบ ทำให้ผู้ใช้ถูกล็อกอยู่ด้วย “การ์ดภาษาไทย” โปรแกรมประยุกต์ก็เป็นแบบของใครของมัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันไม่ได้เพราะใช้รหัสอักขระกันคนละแบบ ถ้าจะใช้โปรแกรม Wordstar ก็ยังต้องถามต่อว่าของใคร งานวิจัยชิ้นนี้ อาจารย์ทวีศักดิ์ ซึ่งในขณะนั้น มธ.ขอยืมตัวมาช่วยราชการจาก มอ. เป็นหัวหน้าโครงการ และจะแก้ปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของภาษาไทย ส่วนผมนั้นเป็น Corporate Software Architect อยู่ในบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่ง (ยอดขายเท่ากับงบประมาณประเทศไทย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ผมรับผิดชอบภาษาเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งภาษาไทยด้วย ก็เลยไปฟังด้วย

แม้ว่างานชิ้นนี้ จะบรรลุเป้าประสงค์เป็นอย่างดี แต่ผมก็คิดว่ายังมีบางเรื่องซึ่งน่าจะปรับปรุงได้ ยกตัวอย่างเช่น วรรณยุกต์ ถ้าพิมพ์เบิ้ล (หรือไม่ได้ตังใจกด แต่แป้นพิมพ์แถมให้) แล้วบนจอปรากฏเพียงตัวเดียวเพราะว่าตัวหลังไปซ้อนกันตัวหน้า กรณีอย่างนี้ ถ้าพิมพ์ชื่อแล้วให้ค้นในฐานข้อมูล ก็จะไม่พบเพราะว่าข้อมูลสองชุดไม่เหมือนกัน จึงได้เสนอ “พฤติกรรมภาษาไทย” ให้พิจารณา… อาจารย์ทวีศักดิ์ ก็ใจกว้าง รับฟังด้วยดี แถมยังชวนให้มาทำเรื่องมาตรฐานไอทีด้วยกัน สมัยนั้นมีอาจารย์ครรชิตเป็นประธาน กว.536 (มาตรฐานไอที ของ สมอ.)

ต่อมาปี 2533 นักภาษาศาสตร์ของ Unicode Consortium เสนอให้เปลี่ยนระเบียบวิธีการเกี่ยวกับภาษาไทย เรียกว่า phonetic encoding ซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าภาษาไทย จัดอยู่ในกลุ่มภาษา Indic ดังนั้นควรจะ normalize เป็นรูป พยัญชนะต้น สระ ตัวสะกด และตัวตามต่างๆ ได้ เด็กๆ ก็สะกดแบบนั้น เช่น ร เ-ือ เรือ

แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอกครับ คำว่า กลาง จะสะกดอย่างไรเพราะ กล ควบกัน ก็เลยกลายเป็น ก <cluster mark> ล า ง แล้วจะไปหาปุ่ม <cluster mark> ที่ไหนบนแป้นพิมพ์; โรงเรียน ก็จะสะกดเป็น ร โ ง ร (เ-ีย) น มีปุ่มสระเอียไหม ต่อให้พิมพ์เป็น ร โ ง ร เ -ี ย น ได้ จะไม่ตะขิดตะขวงใจบ้างเชียวหรือ ว่าบนพิมพ์ดีดพิมพ์อย่างหนึ่ง บนคอมพิวเตอร์พิมพ์อีกอย่างหนึ่ง

แต่นั่นไม่ร้ายเท่ากับซอฟต์แวร์ภาษาไทยที่มีอยู่ จะใช้ไม่ได้ทั้งหมด แถมข้อความใดๆ ที่พิมพ์เอาไว้แล้ว ก็ต้องพิมพ์ใหม่ทั้งหมด พิมพ์ทะเบียนราษฎร์ใหม่หมดไม่สนุกหรอกครับ ชักจะเลยเถิดไปกันใหญ่

ผมละเบื่อพวกนักล่าอาณานิคมทางเทคโนโลยี แล้วไม่สนใจผลกระทบใดๆ จริงๆ เลย ยังจะมาพยายามหว่านล้อมอีก ว่าถ้าหากยอมใช้ phonetic encoding ที่เขาเสนอ เขาจะเขียนซอฟต์แวร์ที่แปลงข้อความ visual encoding แบบเก่าให้เป็นแบบ phonetic encoding ให้ ผมตอบไปว่าขอทดสอบหน่อย ผ่านไปยี่สิบกว่าปี จนปัจจุบันก็ยังไม่มีซอฟต์แวร์สำหรับแปลงข้อความแบบนั้นครับ

กว.536 รวมทีมสู้กับ Unicode Consortium บนอินเทอร์เน็ต (ในขณะนั้น เมืองไทยยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ตกันเลย มีใช้อยู่ในวงเล็กมาก) ไม่มีใครคิดว่าเราจะชนะเพราะ Unicode Consortium นั้นแข็งแกร่งเหลือเกิน ประกอบไปด้วยบริษัทคอมพิวเตอร์ บริษัทซอฟต์แวร์ขนาดยักษ์ทุกบริษัท สำนักมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ แต่สู้แล้วเราดันชนะ ในขณะที่ CJK Unification กลับแพ้ (อักขระจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลี ยุบมารวมกันเพราะรูปร่างคล้ายกัน) เราก็เลยมีภาษาไทยใน Unicode ในแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

นักภาษาศาสตร์ของ Unicode ยังอดบ่นไม่ได้ว่าเมืองไทยเล่นการเมืองเก่ง…เล่นกับผีอะไรครับ เราเอาความจริงเข้าสู้ต่างหาก พยายามชี้แจงทั้งเหตุและผล จนคนที่ฟังอยู่เริ่มเข้าใจและสนับสนุนต่างหาก ภายหลังก่อนโหวตมีนักพัฒนาของ Apple แก้ต่างแทนให้ด้วย บอกขอให้เคารพเจ้าของภาษา ซึ่งไม่ได้รู้จักภาษาของตนอย่างครึ่งๆ กลางๆ อิอิ

หลังจากชนะ ผมกับอาจารย์ทวีศักดิ์ก็คุยกัน ว่าพวกฝรั่งไปงุบงิบตกลงผลประโยชน์กันก่อนบนอินเทอร์เน็ต เมื่อเขาตกลงกันได้แล้ว ก็ส่งมาให้โหวต ต่อให้เราโหวตคัดค้านก็จะไม่มีใครฟัง เพราะเขาตกลงกันไปเสร็จเรียบร้อยก่อนแล้ว เราคงไม่โชคดีเหมือนครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าหากจะรักษาผลประโยชน์ของเมืองไทย ก็ต้องทันเกมพวกนี้ อาจารย์ทวีศักดิ์ซึ่งในขณะนั้นก็ย้ายมาทำงานที่เนคเทค จึงปรึกษากับอาจารย์ไพรัช เสนอขอเปลี่ยน Pulinet ซึ่งเนคเทคเป็นผู้ดูแลจัดการ จาก X.25 ไปเป็นอินเทอร์เน็ต เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ มีมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเป็นสมาชิกอยู่หลายแห่ง ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ แต่ในที่สุดก็สำเร็จ เนคเทคก็เลยเดินวงจรตรงไปสหรัฐในปี 2535 เป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายไทยสาร สกูลเน็ตไทยแลนด์ เครือข่ายกาญจนาภิเษก และอะไรต่างๆ อีกมากมาย

คิดย้อนดูแล้ว ก็ทำเรื่องใหญ่ๆ มาหลายเรื่องเหมือนกันนะเนี่ย อย่างน้อยก็ Unicode กับอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย ตอนเริ่มต้นมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย แต่ก็ทำ เพราะมันน่าจะทำ ใครเห็นหรือไม่เห็น เข้าใจหรือไม่เข้าใจ เรารู้อยู่แก่ใจว่าได้ทำอะไรไป และเกิดผลดีอะไรขึ้น ความภูมิใจนี้ อยู่กับตัวตลอด ไม่มีใครมาแย่งไปได้ ความสำเร็จเหล่านี้ ไม่มีทางทำได้ด้วยตัวคนเดียวหรอกครับ ถ้าร่วมมือกับใครไม่เป็น ก็อย่าหวังว่าจะทำอะไรอย่างนี้ได้เลย

ตอนนี้ยังไม่แก่มาก อาจจะมีกำลังพอทำได้อีกสักเรื่องหนึ่ง คือเรื่องการจัดการภัยพิบัติ… เรื่องนี้ไย้ใหญ่ ถ้าทำไม่ไหว ก็คงต้องฝากคลื่นลูกหลังไว้พิจารณาเอาเอง ทำต่อก็ได้ ทำใหม่ก็ได้ ทำให้ดีกว่าก็ยิ่งดี แต่ไม่ทำไม่ได้

ถ้าทำงานสร้างตัวมาแทบตาย เกิดจะต้องมาตาย พิการ หรือหมดตัวในภัยพิบัติ นั่นคือการสูญเปล่า น่าเสียดายนะครับ ถ้าไม่คิดทำเพื่อใคร ก็ขอให้ดูแลตัวเองได้ อย่าให้ตัวไปเป็นภาระของคนอื่นเลย

« « Prev : ชาวบ้านริมแม่น้ำ

Next : อย่าแผ่ว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2011 เวลา 0:03

    อ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ท่านอยู่ AIT ใช่ไหมครับ ผมฟังท่านพูดในหลายสถานที่ รวมทั้งที่ มข.ด้วย รู้สึกว่าท่านจะทำเรื่อง remote sensing ที่มีสมเด็จพระเทพฯไปเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะท่านสนใจมาก… ผมก็อยู่ในกลุ่ม User กลุ่มแรกๆที่ใช้คอม ซื้อ Laptop toshiba สมัย 8 bit ราคาตั้ง 6 หมื่น ใช้ Dos เครื่องยังอยู่เลยครับ ก็แค่ใช้ ไม่รู้เรื่อง Program อะไรต่ออะไรไม่รู้เรื่อง ที่ใช้เพราะทำงานกับโครงการที่มีฝรั่งนำเข้ามาใช้ เราก็พลอยใช้ด้วย จำได้ว่า แอบไปใช้เครื่อง Superbrain ของที่ทำงานสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่าพระ ขอนแก่น แอบไปใช้พิมพ์กลางคืน เป็น thesis ของยาหยีให้กับ Institute of Social Study (ISS) ของ The Netherlands รุ่นนั้นที่ไปเรียนมี คุณธีรยุทธ์ บุญมี, ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ด้วย สั่งพิมพ์ที่เครื่องพิมพ์ Olimpia ที่แป้นพิมพ์เป็นกลมๆ…..

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2011 เวลา 3:48
    #1 ใช่ครับพี่ อาจารย์ครรชิตเคยสอนอยู่ที่ AIT แต่นั่นนานมากแล้วนะครับ

    เล่าต่ออีกหน่อย… ผมเป็นอาสาสมัคร “กะกลางคืน” ที่เนคเทคตั้งแต่ปี 2533 ทำงานผ่านโมเด็มจากบ้าน ช่วงนั้นผมขอกรรมการผู้จัดการบริษัทฝรั่ง ทำ Technology Transfer Program และบริจาคคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ให้เนคเทคไปเครื่องหนึ่ง ซึ่งในปีถัดมาก็ใช้เครื่องนี้ใช้เป็นเว็บเซอร์เวอร์ตัวแรกของประเทศ http://www.nectec.or.th (ตั้งขึ้นเร็วกว่า http://www.nus.edu.sg เว็บตัวแรกของสิงคโปร์) โดยผมเป็นดูแลให้ และเมื่อเริ่มไทยสาร เครือข่ายของมหาวิทยาลัย ผมก็ยังช่วยอยู่เบื้องหลังตั้งแต่ปี 2534-39

    ITSC ตั้งในปี 38 ตามมติ ครม. เป็นส่วนราชการแบบพิเศษ ใต้กฏหมาย สวทช. และฝากบัญชีไว้ที่เนคเทค แต่การบริหารเป็นอิสระ ตอนนั้นก็ได้รับการชักชวนให้ไปทำเหมือนกัน แต่ผมปฏิเสธไปเพราะว่าที่มาช่วยนี้ก็เพียงแต่อยากช่วยครับ เนคเทคทำแล้วมีผลบวกต่อเมืองไทยก็พอใจแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรอีก อาจารย์ทวีศักดิ์ก็เลยต้องรับเป็น ผอ.ท่านแรก เลยกลายเป็นว่าเนคเทคทำอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์เพราะภาพมันเป็นอย่างนั้น แต่ปลายปี 38 อาจารย์ป่วยมาก รู้จักอาจารย์มาหลายปี ไม่อยากให้อาจารย์ทำงานหนักอย่างที่เคยทำมา ก็เลยตอบตกลงไปทำงานให้ ITSC แต่กว่าจะลาออกจากงานได้ ใช้เวลาอีก 8 เดือน

    ต้นปี 39 เนคเทคมอบโล่ให้อันหนึ่ง

    รับมาหลายรางวัลแล้ว แต่โล่นี้ผมภูมิใจมากนะครับ อ.พิเชฐ ผอ.สำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ เป็นตัวแทนมอบโล่และสถานะ ThaiSarn Fellowship ให้พร้อมกับบอกอะไรอีกมากมาย…

    Fellow คือเพื่อน การเป็นเพื่อนนั้น ไม่ใช่ว่าอวยกันตลอด ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ก็ต้องเตือนกันได้ ในขณะเดียวกัน การเป็นเพื่อนกัน คือการยอมรับและเคารพกันในแบบที่เป็น ไม่ใช่ว่าพยายามทำให้เพื่อนมาเหมือนเรา (อย่างนั้นเรียกว่า”พวก”มากกว่า)

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2011 เวลา 22:04

    อ่านเรื่องนี้แล้วชอบมาก อยากจะขอเอาไปลงในโมเดลอีสาน เกริ่นนำในหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง บริบทสารสนเทศชุมชน อิ

  • #4 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 September 2011 เวลา 0:28

    ในฐานะคนรุ่นหลัง…ขอคารวะ 3 จอกครับ

  • #5 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 September 2011 เวลา 7:04

    อ ่า น ไ ป พ ล า ง ก ็แ อ บ อ ม ย ิ ้ม ห น ้า บ า น ไ ป พ ล า ง
    ย ัง ง ง ๆ อ ย ู ่ว ่า ย ิ ้ม ท ำ ห ย ั ง ย ะ ห ล ่อ น ?

    ต ื ่น ม า เ ช ้า น ี ้ก ็ ร ู ้ส ึก แ น ่ ใ จ แ ล ้ว ล ่ะ ค ่ะ ว ่ า

    ม ัน ค ื อ ค ว า ม ย ิ น ด ี แ ล ะ ร ู ้ ส ึก เ ป ็ น เ ก ี ย ร ต ิี่
    ท ี ่ไ ด ้ ม ี โ อ ก า ศ

    เ ป ็ น เ พ ื ่ อ น ก ั บ ป ๋ า

    ด ้ว ย ค ว า ม ช ื ่ น ช ม แ ล ะ ข อ บ พ ร ะ ค ุ ณ ค ่ ะ

    (^_____________ ^)

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 September 2011 เวลา 7:13
    #3 เรื่องราวก็ผ่านไปแล้วครับ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครจำได้ ก็ไม่เป็นไร เมืองไทยมีอย่างที่ผมอยากให้มีก็พอแล้วครับ
    #4 ถ้าเป็นน้ำชา พอรับไหวครับ
    #5 พิ ม พ์ ย า ก ไ ห ม เ นี่ ย จ า น ปู

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.42987608909607 sec
Sidebar: 0.16180682182312 sec