โครงการ “รวมพลังรับมือภัยพิบัติ”
อ่าน: 3060โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ โดยความสนับสนุนของ สสส. ได้มาทำเวิร์คช็อปที่สวนป่า ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ. 2556 โดยเชิญตัวจริงเสียงจริงในภาคประชาชนมาจากทุกภูมิภาค โครงการรวมพลังฯ จองคิวสวนป่าล่วงหน้ามานาน ทีมของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีซึ่งขอมาเรียนรู้ที่สวนป่าช้าไปหน่อยจึงต้องเลื่อนออกไป ถึงกระนั้นก็ยังเป็นจังหวะที่ช้าไปนิดหนึ่ง ถ้ามาอาทิตย์ก่อนหน้านี้ อากาศจะเย็นสบายทีเดียว
เราอยู่ในถิ่นฐานใด ก็มีหน้าที่ต่อถิ่นฐานนั้น หน้าที่ของเรา ไม่สามารถยกให้คนอื่นทำได้ ถึงจะซื้อความสะดวกเอาโดยจ้างคนมาทำแทนให้ เราก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของเราอยู่ดี
ผมก็เคยได้ยินกิตติศัพท์ของหลายท่านมา คราวนี้ได้เจอตัวจริง รู้สึกยินดีมาก รู้สึกว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา มีอีคิวสูง ไม่ต้องสร้างภาพ ไม่บ่นเป็นหมีกินผึ้ง และลงมือทำจริงเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม โดยเฉพาะผู้ประสบภัย ผู้กำลังทุกข์ยาก และผู้ด้อยโอกาส
การทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในภาวะวิกฤตินั้น ต้องเจอกับอะไรมากมาย แต่ละคนก็เข้าเนื้อกันไปเยอะ ส่วนใหญ่จะเน้นในส่วนของภาวะวิกฤติสีแดง แน่นอนว่าภาวะวิกฤตินั้น ต้องใส่ทุกอย่างลงไปเพื่อนำผู้ประสบภัยออกจากความทุกข์ยากให้เร็วที่สุด ดังนั้นช่วงสีแดงจึงจำเป็นต้องทำให้สั้นที่สุด ไม่ต้องลีลาดราม่ามาก แต่การใส่ทรัพยากรจำนวนมากลงไปในพื้นที่นั้น ไม่แน่ว่าผลจะออกมาดี การทำงานกันหลายๆ คนโดยไม่มีการประสานกันนั้น ทั้งมั่ว ซ้ำซ้อน ล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ หลักของการจัดการภาวะวิกฤติจึงพึ่งการประสานงานเป็นอย่างมาก จำเป็นต้องซ้อม ต้องวางแผนล่วงหน้า และจะดีที่สุดหากไม่มีภาวะวิกฤติเลย ไม่ต้องทำส่วนนี้เลย
หลังจากผ่านภาวะวิกฤติแล้ว ก็จะข้ามไปสู่กระบวนการฟื้นฟูสีชมพู การฟื้นฟูที่นำชาวบ้านกลับไปสู่จุดเดิมนั้น ถือว่าล้มเหลว เพราะว่าถ้าดีเท่าเดิม ก็เสี่ยงเหมือนเดิม เกิดภัยได้เช่นเดิม เกิดแล้วเกิดอีก ช่วยแล้วช่วยอีก ฟื้นฟูแล้วฟื้นฟูอีก ไม่จบสิ้น การฟื้นฟูควรจะทำให้ดีกว่าเดิม เสี่ยงน้อยกว่าเดิม
ต่อมาเป็นส่วนของการเตรียมการป้องกันสีน้ำเงิน ส่วนนี้คือการแก้ไขความเสี่ยงและเตรียมระบบป้องกันต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สถานที่ปลอดภัย คลังและที่พักสำรอง แหล่งอาหารและแหล่งน้ำดื่มสำรอง ฯลฯ มีข้อมูลงบประมาณของ อปท. ว่างบซ่อมสร้าง (สีชมพู) คิดเป็น 6% ของงบประมาณทั้งหมด แต่งบป้องกันมีเพียง 2% การจัดงบประมาณอย่างนี้เท่ากับว่าปล่อยให้ชาวบ้านเสี่ยงหมดตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ขอซ่อมเพื่อให้ชาวบ้านเลือกเข้ามาอีกมากกว่าจะดูแลชาวบ้านอย่างดี
ส่วนสุดท้ายเป็นการเตรียมพร้อมเฝ้าะวังสีเหลือง ได้แก่การพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำ ข้อมูลจากเครื่องมือวัดต่างๆ ตลอดจนการตีความโดยผู้เชี่ยวชาญ ประกาศเตือนต่างๆ… ผมแยกแยะลักษณะของผู้เชี่ยวชาญกับหมอดูออกได้ง่ายๆ คือผู้เชี่ยวชาญจะให้ข้อมูล ให้ลิงก์ไปตรวจสอบหรือศึกษาเพิ่มเติม หากมีคำถามเขาจะตอบทุกคำถามจนเข้าใจ ส่วนพวกทรงเจ้่าเข้าผี จะทำนายออกมาลอยๆ ไม่ให้ข้อมูลใดๆ กลัวการตรวจสอบ แต่ใครไม่เชื่อถือก็โกรธ
วงจรทั้งสี่เรียกว่าวงจรของการจัดการภัยพิบัติ ในเมืองไทยเรียก 2P2R (ซึ่งไม่มีใน Wikipedia)
ตอนนี้ รถทุกคันก็เดินทางกลับแล้ว ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพนะครับ ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือไม่เหนื่อย ก็ควรพักทุก 200 กม. เสี่ยงไปไม่คุ้มเพราะทุกคนเป็นทรัพยากรที่มีค่า
คณะผู้จัดมาลา ได้ทราบว่างานนี้ผู้เข้าร่วมได้ทุกอย่างที่อยากได้ ทั้งความรู้ แง่คิด ประสบการณ์ หลายคนก็ชอบสถานที่ (ซึ่งไม่ใช่รีสอร์ต จะได้ทำงานได้เรื่องได้ราว) แม้ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ลำบากจนเกินไป
ส่วนผมก็ทำความสะอาดบ้านตั้งแต่เช้า สองสามวันมานี่ ไม่มีเวลาทำเลย ขนาดปิดบ้านไว้ ขี้ฝุ่นยังเพียบ รดน้ำต้นไม้ได้เพียงวันละครั้งตอนเย็นๆ เท่านั้น
Next : อบรมนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี » »
ความคิดเห็นสำหรับ "โครงการ “รวมพลังรับมือภัยพิบัติ”"