คำถามโดนก้านคอ
อ่าน: 3683ในชีวิตหนึ่ง แต่ละคนคงไม่น่าจะเจอคำถามแบบนี้บ่อยหรอกนะครับ
ลูกน้องผมคนหนึ่ง มาสัมภาษณ์เมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมเข้าไปนั่งสังเกตการณ์กับกรรมการสัมภาษณ์ด้วย แต่ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นอะไรในบริษัท ฟังคำถามสัมภาษณ์ก็เป็นคำถามพื้นๆ ทั่วไป เมื่อใกล้จบ กรรมการสัมภาษณ์หันมาถาม(ด้วยความเกรงใจ)ว่ามีอะไรจะเพิ่มไหม
เนื่องจากไม่รู้จักกันมาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่าจะเหมาะกับบริษัทหรือไม่ เหมาะกับอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร (ไม่ใช่เรื่องผิดที่รู้จักกันมาก่อน แต่ “เด็กเส้น” คืออาการที่รับเข้ามาทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่เหมาะ ซึ่งก็ไม่ใช่กรณีนี้) ผมก็ถามไปว่า นั่งคุยกันสิบห้านาทียังไม่รู้อะไรเลย ลองช่วยบอกกรรมการสัมภาษณ์หน่อย ว่าทำไมจึงควรรับเข้ามาทำงานในบริษัท
เธอตอบมาโดยควรคุมอารมณ์สุดๆ ซึ่งบริษัทก็รับเธอเข้าทำงาน และทำอยู่ต่อมาอีกสิบกว่าปี แต่เธอก็มาสารภาพในภายหลังว่าปรี๊ดแตกเหมือนกัน รู้สึกเหมือนโดนดูถูก (คิดไปเอง เป็นมานะ คือความถือตัว, ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่) ซึ่งการควบคุมอารมณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่ผมอยากดูครับ แถมยังได้เห็น self-perception อีกด้วย อันนี้เป็นคำถามโดนก้านคอครับ
เคยเล่าให้ฟังในหนังสือเจ้าเป็นไผว่าวิชาที่ผมคิดว่า “ได้” มามากที่สุดในการเรียนมหาวิทยาลัยคือวิชาจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นวิชาเลือกเสรีจากคณะครุศาสตร์
ผมเองก็เจอคำถามโดนก้านคอมาเหมือนกัน อาจารย์ผู้สอนมาจากครอบครัวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เข้าป่าไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้วกลับออกจากป่ามาสอนหนังสือ คำถามสุดท้ายในวันสุดท้ายก่อนสอบเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ยังจำได้ชัดเจน
อาจารย์ถามว่าประเทศในเอเซียบางประเทศ มีผู้นำที่รู้ไปหมด เก่งไปซะทุกอย่าง ประชาชนไม่ต้องพูดอะไรเลย นั่งรอความรุ่งเรืองอย่างเดียว ถึงแม้จะมีความน่าเคลือบแคลงว่าไม่โปร่งใส เพราะไม่มีการตรวจสอบ แต่ประเทศเขา “เจริญ” ผู้นำอย่างนี้เป็นอย่างไร; นิสิตส่วนใหญ่ในห้องบอกว่า ผู้นำเค้าทำเพื่อประเทศชาติ น่าจะดี
อาจารย์บอกว่า ครูผิดหวังในตัวพวกเธอนะ ไม่คิดหรือว่านี่เหมือนการเลี้ยงสัตว์!
คำถามนี้แหละ ที่ทำให้ผมบริหารงานไม่ค่อยเหมือนกับตำรา MBA หรือเถ้าแก่ทั่วไป
2 ความคิดเห็น
ความเห็นสุดท้าย ใจตรงกันเลย…
นักดนตรีมีชื่อคนหนึ่ง สร้างมุขตลกว่า หมาสองประเทศเดินสวนกันที่ชายแดน ตัวหนึ่งก็เห่าทักว่า “จะไปไหน ? ” อีกตัวจึงตอบว่า “ต้องการไปประเทศสูนะแหละ เพื่อจะได้กินอิ่มหนำสมบูรณ์ เพราะประเทศเรา อดอยากปากแห้งมาหลายวันแล้ว…”
แล้วก็ถามกลับไปว่า “แล้วสูละ มาประเทศเราทำไม ? ประเทศเราอดอยากปากแห้งอย่าเข้ามาเลย…” อีกตัวจึงตอบว่า “จะไปเห่าเสียงดังๆ สักที อยู่ประเทศเรา แม้จะกินอิ่มนอนสบาย แต่ก็ไม่ได้เห่า เจ้าของบังคับ ฟังแต่พรรคพวกประเทศสูเห่ากัน รู้สึกอิจฉา อยากจะมาเห่าบ้าง…”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แม้แต่หมาบางตัวก็ให้ความสำคัญการได้เห่า มากกว่าการได้กิน …
เจริญพร
ตอนนี้เรียนคณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ (เพิ่งมาเป็นศิษย์เมื่อปี 50)อาจไม่ทันอาจารย์ท่านที่กล่าวข้อความนั้น…
เรียนวิชา Neo-Humanist กับ อ.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ค่ะ
ส่วนตัวก็เป็น “เด็กเส้น” มาเกือบตลอดชีวิต
ตอนเข้าเรียน ก็ต้องซื้อเก้าอี้บริจาคให้กับหอประชุมโรงเรียน เพราะแม่กลัวสอบเข้าไม่ได้
ตอนทำงาน ก็เปลี่ยนงานด้วยวิธีสัมภาษณ์พิเศษ โอนย้ายข้ามกระทรวง ขึ้นชื่อลือชาว่า เส้นใคร ย้ายข้ามห้วย…ข้ามกระทรวง…
พบเจอคำถามก้านคอ … บ่อยจนดื้อด้าน อยากถามก็ตอบให้ อยากรับก็รับไป ไม่อยากรับ ก็ไม่อยากทำงานด้วย ขอตังส์พี่ ๆ ใช้ต่อไปก็ได้ (อหังการ อัตตาใหญ่ยักษ์) แต่…ที่ผ่านมาได้เกือบทุกครั้ง ก็เพราะไม่ค่อยพูด โต้ตอบ บางทีก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่เข้าใจ ไม่ชอบขัดคอให้ใครเสียหน้า
ส่วนตัวชอบคำถามก้านคอ เพราะช่วยชะล้าง ขัดเกลากิเลสของตัวเองออกเสียบ้าง แล้วยังทำให้ได้รู้ตัวขึ้นมาในทันทีทันใด