การจัดการน้ำท่วม

อ่าน: 3923

ไม่ว่าจะเป็นการจัดการใดๆ ก็ต้องเริ่มที่ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ

กรณีของน้ำท่วม มีหลายเรื่องประกอบกัน คือ

  1. มีปริมาณน้ำไหลมามาก ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากฝนตกหนักในเวลาไม่นาน หรือว่าฝนตกระยะยาวหลายวันในพื้นที่กว้าง เมื่อฝนตกแล้ว น้ำก็ไหลไปลงแม่น้ำลำธารซึ่งเป็นร่องน้ำตามธรรมชาติ แต่เมื่อการที่เกิดมีน้ำไหลมากขึ้นอย่างฉับพลัน เกินกำลังการระบายของร่องน้ำ น้ำก็จะยกตัวขึ้น หากยกตัวจนพ้นตลิ่ง ก็จะไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนซึ่งมักตั้งอยู่ริมร่องน้ำ — เขื่อนแตกก็มีสภาพเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขื่อนในเมืองไทยมักเป็นเขื่อนแกนดินเหนียวดาดคอนกรีต ซึ่งมักจะไม่ระเบิดโพล๊ะเหมือนในหนัง แต่จะปริแทน

  2. เมื่อน้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าลงมาแล้ว ก็จะมาเจอแนวป้องกันซึ่งเป็นถนนหลวง ประเทศไทยมีระดับถนนสูงกว่าพื้นที่รอบข้างติดอันดับโลก (และอาจเป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียว) ไม่ว่าจะเอาถนนสูงไว้กั้นน้ำหลาก หรือเอาไว้ให้พวกถมดินได้มีงานทำก็ตาม ถนนสูงขวางทางน้ำธรรมชาติ หากกั้นไว้ไม่ได้แล้วน้ำข้ามถนนมาได้ ทีนี้การระบายน้ำออกจากพื้นที่กลับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากถนนกลับเป็นกำแพงกั้นเอาไว้ น้ำไหลออกไม่ได้ — อาจจะเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ แต่ว่าเขื่อนกั้นสึนามิในญี่ปุ่นซึ่งสูงไม่พอนั้น ทำให้เกิดความเสียหายลึกเข้ามาในแผ่นดินมาก เพราะว่าเมื่อน้ำข้ามเขื่อนเข้ามาแล้ว ไหลย้อนกลับลงทะเลไปไม่ได้ ต้องไหลเข้าไปทางแผ่นดินเรื่อยๆ จนไปไม่ไหว น้ำจึงเข้าไปในแผ่นดินได้ถึงสิบกิโลเมตร

  3. แก้มลิง เป็นพื้นที่ที่พักน้ำเอาไว้ รอระบายในจังหวะที่เหมาะสม เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่เป็นปลายเหตุนะครับ เรื่องของเรื่องคือน้ำไหลมาจากต้นน้ำในปริมาณมากจนเกินรับ

น้ำท่วมโคราชและอีสานใต้เมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดจากฝนตกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ปริมาณ 600 มม. ใน 6 วัน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีพื้นที่ 2,100 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาตรน้ำฝน 1,260 ล้านลูกบาศก์เมตร ป่าไม้ดูดซึมและชะลอน้ำไว้ได้ส่วนหนึ่ง มีเขื่อนลำตะคองซึ่งมีความจุ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ขณะที่เกิดฝนตกหนักนั้นมีน้ำอยู่ประมาณครึ่งเขื่อน ทางด้านปักธงชัย โชคชัย มีเขื่อนลำพระเพลิงซึ่งมีความจุเพียง 100 ล้านลูกบาศก์เมตรแถมมีน้ำอยู่แล้วบางส่วน ต่อให้สองเขื่อนนี้แห้งแล้วรวมกัน ก็ไม่สามารถรองรับน้ำปริมาณมหาศาลผิดปกติแบบที่เกิดนั้นได้หรอกครับ

จริงอยู่ที่ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน ชะลอน้ำไว้ได้บางส่วน แต่ก็คงเห็นแล้วว่าไม่พอครับ เป็นไปได้มากว่าพายุฝนจะผ่านพื้นที่ใดๆ เป็นเวลาสามสี่วัน แล้วในสามสี่วันนี้ ฝนอาจตกได้ 50-100 มม. ดังนั้นพื้นที่ต้นน้ำไม่ว่าจะกว้างใหญ่ขนาดไหน ก็ความทำฝายชะลอน้ำเอาไว้บ้าง ส่วนหนึ่งคือให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพป่า เก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน — การชะลอน้ำไม่ใช่สร้างเขื่อนหรือฝายคอนกรีตกั้นน้ำไว้หรอกครับ เพียงแต่ทำให้น้ำไหลช้าลง เช่นเอาหินใหญ่หรือเอาไม้ที่ล้มแล้วไปขวางไว้ ให้น้ำยกตัวขึ้นหลังฝาย ส่วนหน้าฝายก็ปล่อยน้ำที่ซึมผ่านมาทิ้งไป แต่เมื่อน้ำหลังฝายกับหน้าฝายมีระดับที่ต่างกัน เราเอาพลังน้ำไปใช้งานได้

บริเวณที่น่าสนใจคือโตรกเขา หุบเขา (คือบริเวณระหว่างตีนเขาสองลูก) เมื่อฝนตกลงบนเขา น้ำฝนจะไหลลงมารวมกันยังบริเวณโตรกเขาจากภูเขาทั้งสองด้าน การกลิ้งเอาหินใหญ่ไปขวางทางน้ำเอาไว้ ก็เท่ากับว่าสามารถชะลอน้ำจากสองภูเขาให้ค่อยๆ ไหลผ่านไป หากร่องน้ำนั้นเป็นต้นน้ำ ต้นน้ำตก ก็จะได้มีน้ำตลอดทั้งปี — เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะต้องพิจารณาเองนะครับ ฝนตกลงมา เราเก็บน้ำไว้ในท้องถิ่นได้แค่ไหน ถ้าเราไม่เก็บไว้ เวลาฝนทิ้งช่วง+แล้งจัด จะทำอย่างไร ชาวบ้านที่ไหนเดือดร้อน อย่ามองแค่ว่าเอารถน้ำไปแจกน้ำแล้วจะได้คะแนนเสียงเลยครับ ควรจะมองกลับกันว่ามันไม่ควรเกิดสถานการณ์อย่างนั้น ไม่ควรจะมีใครที่ต้องเดือดร้อนถ้าหากจัดการน้ำได้ดีนะครับ เรื่องพวกนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้าน ไม่น่าจะต้องใช้งบประมาณมากมายอะไร ซึ่งไม่ใช่ว่าที่ต่ำเท่านั้นที่สามารถจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้นะครับ ที่สูงก็เกิดได้ เพราะว่าน้ำที่ไหลเข้ามามากกว่าอัตราการระบายทิ้งนั้น จะยกตัวขึ้นท่วมเสมอ

แต่เรื่องพวกนี้ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้น เมืองไทยมีฝนตกเฉลี่ยปีละ 1,800 มม. คูณกับพื้นที่ประเทศประมาณห้าแสนหนึ่งหมื่นสามพันตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาณน้ำฝนกว่าเก้าแสนสองหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนมีความจุรวมกันเพียงกระผีกเดียว แถมความจุนี้ ยังไม่เต็มเสียอีกด้วย แปลว่ามีน้ำที่ไม่ได้ไหลผ่านเขื่อนอีกมากมาย ที่เราปล่อยทิ้งไปเฉยๆ

น้ำที่หลากมาตามแรงโน้มถ่วง ก็จะชะเอาความอุดมสมบูรณ์ลงมาด้วย รวมทั้งปุ๋ยต่างๆ ที่ใส่เอาไว้ในไร่นา ใส่ลงไปเท่าไหร่ น้ำพาเอาไปหมด อย่างนี้จะไม่เจ๊งยังไงไหวครับ น้ำที่ท่วมอยู่ เราก็ปล่อยลงทะเล น้ำจืดพาเอาไนเตรทจากปุ๋ยเคมีลงทะเลไปด้วย ไนเตรทเป็นปุ๋ย ทำให้สาหร่ายเจริญเติบโต และทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำทะเลต่ำลง กุ้งหอยปูปลาทั้งหลายหงายท้อง ผู้คนเห็นเป็นเรื่องประหลาด ก็ยิ่งแตกตื่นว่าเป็นลางร้าย ไปกันใหญ่…

ก่อนที่จะเลยเถิดไปมากกว่านี้ ผมเปลี่ยนเรื่องดีกว่า… วันนี้ระหว่างไปเลี้ยงหมา เจอลูกนกสองตัวซึ่งหมากำลังเล่นอยู่ จึงร้องห้าม หมาก็เชื่อฟังดี ลูกนกตัวหนึ่งไม่ยอมเดินไปไหน อาจจะตกใจหรือตกลงมาจากต้นไม้จนเจ็บ อีกตัวหนึ่งเดินเตาะแตะหนีหมาที่พยายามจะมางับเล่น จนผมร้องห้ามจึงรอดไป เดินลอดประตูหลบเข้าไปในบ้าน เด็กในบ้านตามไปเก็บแล้วทั้งสองตัว เอาใส่กล่องกระดาษวางไว้บริเวณที่มันตกลงมา (แต่คนละด้านของกำแพง) ยังเจอตัวที่สามหน้าบ้านน้องแต่ว่ามดขึ้นแล้ว… เป็นลางหรือเปล่าเนี่ย

เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เชื่อหรือไม่เชื่อ เกิดหรือไม่เกิด นะครับ เราไม่ได้กำลังทำข้อสอบถูกผิดอยู่เสียหน่อย ไม่ใช่แค่เตือนว่าอะไรจะเกิด หรือเกิดเมื่อไหร่ แต่เป็นการรู้ว่าถ้าเกิดแล้วควรจะทำอะไรต่อต่างหากครับ; ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ หากเกิดเหตุขึ้นโดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรนั้น เชื่อหรือไม่เชื่อก็เหมือนกันล่ะครับ

« « Prev : วันอัฐมีบูชา

Next : ข้าวเปลือกกับความชื้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 May 2011 เวลา 21:16

    อ่านผ่านๆ เพราะห่างไกลจากความเป็นอยู่ประจำวัน…

    แต่มาสนใจเรื่องลูกนกนี้แหละ เพราะในวัดมีลูกหล่นหลงมาเสมอ มีตั้งแต่ยังอยู่ในไข่ตกลงมาแตกตาย ตัวยังแดงๆ เพิ่งมีขน พอยืนได้ พอวิ่งได้ พอบินได้… ซึ่งลูกนกที่ตกมาทั้งหมดนี้ โดยมากไม่นานก็ตาย … สมภารวัดต้องเอาซากที่ทิ้งอยู่ตามลานวัดใส่ถังขยะเสมอ มิฉะนั้นจะส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา แต่ที่รอดสายตาจนมีกลิ่นโชยมาก็มีอยู่เสมอเช่นเดียวกัน…

    เจริญพร

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 May 2011 เวลา 21:44

    ขณะกำลังเดินไปสอน ผมเคยเจอลูกนก ตกอยู่ริมป่า กลางลานจอดรถ กำลังถูกมดรุมกิน แบบนี้ไม่ตายด้วยมดก็ล้อรถแหละหวา

     ก็ทำการเก็บมดออก โดยไม่ฆ่ามดสักตัว จากนั้น เอามันไปเกาะไว้บนกิ่งไม้ ปรากฎว่าพ่อแม่มันมาตามหา และบินวนร้องด่าเราเสียหนวกหู อยู่เป็นนาน ก็เลยไปละ ไปสอน เข้าห้องสายไปตั้งสิบนาทีเห็นจะได้  ก่อนไปก็ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้เจ้ารอดปลอดภัย สืบเชื้อสายเผ่าพงษ์พันธุ์ให้มั่นยืนต่อไปเด๊อ

    (โห..ฮีโร่จริงๆเลยเรา ..น่าเอาไปลง readers’ digest ได้สบายๆ)

    ส่วนเรื่องน้ำท่วม เดี๋ยวจะเอามาขยายต่อ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.262195110321 sec
Sidebar: 3.5107269287109 sec