ข้าวเปลือกกับความชื้น

อ่าน: 7974

ในเมื่อเมืองไทยมีคนทำเกษตรกรรมกันเป็นสิบล้านคน ทำไมระดับราคาสินค้าเกษตรจึงได้ต่ำเตี้ยขนาดนี้

ดูไปดูมาแล้ว สงสัยว่าสายป่านไม่ยาวพอ มีหนี้ค่าปุ๋ยอยู่ พอพืชผลออกมาก็ต้องรีบขาย ความชื้นก็ไม่ได้ ราคาจึกตกต่ำกว่าที่ควรจะขายได้ จะจำนำข้าวหรืออาศัยราคาประกัน ก็ต้องถูกหักค่าความชื้นอีก แล้วยิ่งฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝนแล้วพืชผลเสียหาย ฝนหนักพืชผลก็เสียหายอีก — ค่าบริการอบข้าวลดความชื้นอยู่ที่ 200 บาท/ตัน แต่หากลดความชื้นจาก 25% ลงได้เป็น 15% ราคาข้าวเปลือกก็จะเพิ่มขึ้นได้ 1,000 บาท/ตัน

FAO และ IRRI ประมาณการว่าปริมาณข้าวในฤดูกาลนี้ จะไม่ตกลงจากฤดูกาลที่แล้ว (เนื่องจาก “อากาศดี”) แต่ก็จะไม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้เพิ่มขึ้น — อากาศไม่ได้ดีหรอกนะครับ เมืองไทยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว เวียดนามก็น้ำท่วมเช่นกัน ดังนั้นปริมาณข้าวในตลาดโลกก็ไม่น่าจะคงระดับไว้เท่ากับปีที่แล้วได้ แต่ที่น่าเจ็บใจกว่านั้นคือราคาถูกกดเอาไว้ด้วย “มาตรฐาน” ความชื้น

มีโรงสีที่สามารถอบแห้งได้อยู่ไม่มาก ถ้าข้าวชื้นก็จะสีได้ข้าวสารน้อย ราคาจึงตก หากจะแก้ไขเรื่องราคาข้าว ก็ต้องแก้สองเรื่องคือความชื้นของข้าวเปลือก และค่าขนส่งซึ่งปัจจุบันเราใช้รถบรรทุกขนซึ่งแพงเพราะน้ำมันแพง เรื่องการขนส่งเก็บเอาไว้ก่อน เดี๋ยวยาวไปครับ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ว่า

การสร้างไซโลข้าวเปลือก เพื่อ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่อบลดความชื้น การสีข้าว การนำผลพลอยได้จากการสีข้าวมาแปรรูป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก คือ ถังไซโลพลาสติกที่ได้มาตรฐาน สามารถลดและควบคุมอุณหภูมิความชื้น ราคาไซโล ขนาด 15 ตัน สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว 30 ไร่ อยู่ที่ 90,000 บาท เครื่องอบแห้งแบบลมเย็น ราคา 150,000 บาท หรือ เครื่องอบแห้งแบบลมร้อน ราคา 80,000 บาท ใช้เวลาอบประมาณ 2 วัน ทำให้ความชื้นข้าวเปลือก30% ลดเหลือ 15% ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ได้แก่ เครื่องสีขนาดเล็ก สีข้าวได้ 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ราคา 250,000 บาท เครื่องบรรจุถุง ราคา 300,000 บาทและเครื่องหีบนํ้ามันรำข้าว ราคา 250,000 บาท เครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิง ราคา 150,000 บาท

โครงการสร้างไซโล ต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.217 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6.5% เวลา 5 ปี โดยกรณีที่ผลิต ณ กำลังการผลิตเต็มที่ จะได้ยอดขายเท่ากับ 9,947,000 บาทต่อปี กำไร 90,593.6 บาทต่อปี ค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ -10,037,244 บาทแสดงว่า การลงทุนของโครงการมีความเป็นไปได้ตํ่า มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR)น้อยกว่า ต้นทุนส่วนเพิ่มของเงินทุน (6.5%) แสดงว่าการลงทุนของโครงการไม่มีความคุ้มค่า และ ระยะเวลาคืนทุนมากกว่า 5 ปี โดยการคานวณความเป็นไปได้ของโครงการนี้ใช้ข้อมูล ณ ปี2552 เป็นเกณฑ์

โดยในโครงการนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างตํ่าเนื่องจากต้นทุนคงที่ คือต้นทุนในการซื้อเครื่องจักรและโรงเรือนรวมทั้ง สาธารณูปโภคสูง นอกจากนั้นต้นทุนการผลิตคือ ข้าวเปลือกความชื้นไม่เกิน 15% มีราคาสูง ถีงแม้ว่าจะมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มก็ตาม ดังนั้นโครงการลงทุนสร้างไซโลจะมีความเป็นไปได้และคุ้มค่า ก็ต่อเมื่อเกษตรกรและชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น หรือเพิ่มเนื้อที่ที่ครอบคลุมมากขึ้น และถ้าภาครัฐช่วยส่งเสริมสนับสนุน จะทำให้ ความเป็นไปได้ของโครงการมีความคุ้มค่ามากยิ่งกว่านี้

*การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเป็นการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น โดยใช้ข้อมูล ณ ปี 2552 เป็นเกณฑ์ ควรดูรายละเอียดสมมติฐานของโครงการก่อนนาไปใช้*

เมื่อศึกษาลึกลงไป ปรากฏว่าไซโลนั้น ไม่ใช่ว่านึกจะสร้างก็สร้างได้ มีประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้มีกิจการไซโลและกิจการห้องเย็นเป็นกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับกับกิจการคลังสินค้าและเงื่อนไขการควบคุมกิจการ พ.ศ.2535 ไซโลหมายถึง “สิ่งก่อสร้างสำหรับเก็บรักษาสินค้า โดยมีกระบวนการควบคุมความชื้น เพื่อป้องกันและรักษาคุณภาพสินค้า หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้พักหรือเก็บรักษาสินค้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้น”

ดังนั้นหากมีสิ่งปลูกสร้างที่ทึบทรงกระบอก ส่วนปลายมีรูปร่างเป็นกรวย นำข้าวเข้าทางด้านบน เอาออกผ่านปากกรวยด้านล่าง ในการคำนวณตามข้อมูลข้างบน ใช้ไซโลพลาสติกราคาประมาณ 90,000 บาท สำหรับข้าวเปลือก 20 ตัน (นา 30 ไร่) ซึ่งดูไปแล้วก็อาจจะเกินกำลังการลงทุนของชาวนา

การตากแดด แบบที่เห็นที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีไทยโบราณ มทส. น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับนาข้าวที่ไม่ใหญ่และฝนไม่ตกครับ (หนับหนุน) แต่หากฝนตก หรือมีปริมาณข้าวเปลือกมาก ก็ต้องหาวิธีอบไล่ความชื้นและเก็บรักษา รอขายในจังหวะที่ราคาดี — ซึ่งเรื่องนี้ ชาวนาเก่งกว่าผมมาก

สำหรับฉางเก็บข้าวนั้น อยากเสนอโครงสร้างรูปโดม ซึ่งแข็งแรง ทนลมพายุแรง ทนฝน ใช้วัสดุก่อสร้างน้อย มีน้ำหนักเบา และเก็บข้าวเปลือกไว้ได้เป็นปริมาณมาก

หากแยกแยกรูปโดมตามวิธีการก่อสร้าง ก็พอจะแยกได้เป็นสองลักษณะ คือ monolithic dome และ geodesic dome

monolithic dome เป็นโดมจริงๆ ผิวเรียบ มีความแข็งแรงสูงมาก เนื่องจากน้ำหนักผิวและแรงจากภายนอก (เช่นลมพายุ) จะถูกกระจายไปตามผิว แต่มีเรื่องปวดหัวนิดหน่อยตอนฉาบผิวให้เรียบครับ

geodesic dome เป็นการใช้สามเหลี่ยมมาประกอบกันให้มีรูปร่างคล้ายๆ โดม แล้วเอาวัสดุกันน้ำเช่นผ้าพลาสติกหรือผ้าใบคลุมอีกที (จากนั้นจะฉาบซีเมนต์หรือไม่ก็ตามใจ) ถึงจะไม่สมบูรณ์แบบแบบ molithic dome แต่ก็แข็งแรงพอตัว ใช้วัสดุก่อสร้างน้อย ราคาถูก และเบาครับ

ด้วยความโค้งของผิว ลมร้อนจะออกที่ยอดโดม ดังนั้นหากคิดง่ายๆ ว่าใส่ความร้อนเข้าไปข้างใต้ โดมนี้ก็จะกลายเป็นที่อบพืชผลได้ (มั๊ง) จะเป่าลมร้อนลมเย็นก็โอเคครับ (ที่จริงผมไม่ชอบ เพราะไม่อยากให้ใช้ไฟฟ้าเลย) ส่วนการนำเอาความร้อนจากแสงแดดไปปล่อยไว้ใต้โดมนั้น ผมว่าสองวิธีใน [เก็บตะวัน (2)] ก็เข้าท่าดีครับ ถึงไม่ดีที่สุดก็ช่างมัน เอาแบบที่ชาวบ้านเอาไปทำเองได้ดีพอสมควรก็พอแล้วครับ

การสร้าง geodesic dome นี้ ง่ายมาก เด็กก็สร้างได้หากมีความรู้ที่ถูกต้อง แถบรูปทางขวา เด็กสร้าง geodesic dome แบบ 2V จากกระดาษหนังสือพิมพ์ มีรัศมี 115 ซม.

  1. เอากระดาษหนังสือพิมพ์มาม้วนเป็นแท่ง
  2. ตัดให้ได้ขนาด 71 ซม.จำนวน 35 แท่ง และ 63 ซม.จำนวน 30 แท่ง (เผื่อปลายไว้ 1 ซม. ก็กลายเป็น 73cm (แบบยาว) x 35 และ 63 cm (แบบสั้น) x 30)
  3. เอาแบบยาว 10 อัน เรียงไว้เป็นวงกลมคร่าวๆ ไว้ก่อน
  4. ค่อยๆ ขึ้นรูป ตามลำดังดังนี้ แท่งสีดำเป็นแบบยาว แท่งสีขาวเป็นแบบสั้น (รูปข้างล่าง)
  5. ทุกจุดเชื่อม เอาลวดเย็บกระดาษเย็บ



เสร็จแล้วเป็นรูปนี้

โฮะ ไม่ยากเลย

ถ้าจะขยายขนาด ก็เอาค่าคงที่ k คูณเข้าไปเลยครับ

รัศมี = 115 k
แท่งยาว = 71 k (อย่างลืมบวกปลายไปอีกนิดหน่อย) จำนวน 35 แท่ง
แท่งสั้น = 63 k (อย่างลืมบวกปลายไปอีกนิดหน่อย) จำนวน 30 แท่ง

ลองคิดดู ต้นทุนการตัดท่อพลาสติก หรือท่ออลูมิเนียม หรือแป๊บเหล็ก รวม 65 ท่อน จะสักเท่าไหร่กันครับ

เช่นโรงพยาบาลสนามหรือออฟฟิศชั่วคราวขนาดสามเตียงหรือสามโต๊ะ รัศมี 2 เมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐานโดม 4 เมตร) แท่งยาว 1.23 เมตร แท่งสั้น 1.10 เมตร — ขนท่อน้ำพลาสติกตัดให้ได้ขนาด 65 แท่ง น็อตสกรู ผ้าสำหรับคลุม ง่ายกว่าสร้างโครงสร้างแบบอื่นครับ (ถ้าจำเป็นต้องสร้าง)

การกันน้ำฝนไม่ให้เข้าไปในโดม ก็ใช้วิธีง่ายๆ คือขุดร่องระบายน้ำรอบๆ โดม ถ้ากลัวร่อนถล่ม ก็เอากรวดใส่ลงไปในร่องครับ

…ขั้นต้นอย่างหนึ่ง ไหงไปลงอีกอย่างหนึ่งได้…

« « Prev : การจัดการน้ำท่วม

Next : กราบส่งคุณแม่สาคร ช่วงฉ่ำ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 May 2011 เวลา 23:11

    ผมเกิดความคิดว่า ควรทำไซโล เป็นแบบปลายบานปากแตร (เรื่องทฤษฎีมันยาวมาก คงพูดไม่ไหว นศ.ป.เอกผมทำวิจัยมาสิบปีในเรื่องนี้)  งานโยธาอาจยากหน่อย แต่คุ้ม

    เหตุผลคือข้าวมีการหายใจและคายความร้อนตามธรรมชาติ ความร้อนนี้จะมาช่วยระบายความชื้นอย่างรวดเร็วในตัวเองด้วยรูปทรงไซโลแบบปากแตร

    ทำนองว่าเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ..เถาถั่วต้มถั่ว

    ผมจะลองทำวิจัยดูครับ ทำแบบบ้านนอกคอกนา เท่าที่เงินในกระเป๋าอำนวย ซึ่งคงไม่มี impact factor เอาไปอวดพวกนักวิจัยลอยฟ้าบ้าหรั่ง หรือเอาไปเพิ่มลำดับการจัดอันดับมลัยกะเขาได้หรอก

    แต่ก็จะทำบ้าๆ มันไป ให้ผีเห็นก็ยังดี  หุๆ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 May 2011 เวลา 23:25
    ไซโลแบบปากแตรนี้หมายถึงด้านบนรูนิดเดียว ส่วนด้านล่างบานอลึ่งฉึ่งหรือครับพี่ ถ้าเป็นแบบนั้น โดมก็อาจจะใช้ได้นะครับ คือเทข้าวจากยอดโดมลงมา ข้าวกระจายเป็นรูปปากแตรหรือกองทรายเอง เมื่อข้าวคายน้ำและความร้อนออกมา ความร้อน+ความชื้นไต่ไปตามผิวโค้ง ความกดอากาศที่ต่ำลงก็จะดึงเอาน้ำและความร้อนออกมาจากข้าวได้อีก
  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 May 2011 เวลา 23:51

    อิอิ มันเป็นแตรหงายขึ้นน่ะครับ ..คือฐานด้านล่างเล็ก ส่วนปลายด้านบนบานออก

    มันย้อนศรสักหน่อย แต่ผลวิจัยของผม ที่นศ.หลายคนทำแบบอิสระได้ผลตรงกันว่ามันเพิ่มการระบายอากาศ

    เรื่องนี้ถ้าผมจดสิทธิบัตรอาจรวยมหาศาลไปแล้ว แต่ผมไปขอทุนทำวิจัยไม่ม่ใครให้ ผมเลยประกาศออกไปให้ฟรี จนมีบริษัทฝรั่งโทรมาหา ขอไปร่วมทุน จะให้หุ้นลม เพื่อทำ solar chimney ผลิตกระแสไฟฟ้า

    แต่ผมปฎิเสธไป เพราะไม่อยากคบด้วย รำคาญการตามจิกของพวกเขา …ขนาดขอความรู้ฟรีๆ มันโทรมาวันละสามเวลา เป็นเดือนๆ จนต้องปิดโทรศัพท์หนี

    ก็น่าขำที่ฝรั่งมันตามมาหาเราเพื่อขอความรู้ ส่วนเราต้องไปตามหา งอนง้อขอเศษเงินคนไทยด้วยกัน

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 May 2011 เวลา 0:14
    อืม ถ้าเป็นแตรหงาย จะลองมั่วหาวิธีสร้างดูนะครับ แหม ถ้าเป็นไม้ไผ่ (หรือแม้แต่ plastic strip) มาสานกันได้ละก็คงมันดีครับ geodesic dome สร้างผิวโค้งให้เว้าเข้าด้านในแล้วหลายมันขึ้นก็ได้เหมือนกันครับ แต่ไม่รู้จะใหญ่ไปหรือเปล่า

    เรื่องทุนวิจัย บางทีมันเป็นเรื่องลำบากครับ ทุนวิจัยมักถูกตัดสินโดยกลุ่มคนที่ไม่รู้เรื่องเท่านักวิจัยแต่มีขั้นตอนเงื่อนไขมากมาย เหมือนงบประมาณแผ่นดินซึ่งเตรียมโดยซีสิบ (อธิบดี ผู้ว่าการ อธิการบดี) แต่ถูกประเมินโดยซีหกที่สำนักงบประมาณ ถ้าอยู่ในมหาวิทยาลัยวิจัยแล้วยังของบวิจัยได้ยาก ชาวบ้านจะได้งานใหม่ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อชีวิตเขาได้อย่างไร ถ้าคิดกลับทางให้ชาวบ้านของบวิจัย บางทีอาจง่ายกว่านะครับ เพราะการสร้างภาพลักษณ์ “ผู้อารีย์” ครับ ฮี่ฮี่ฮี่

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 May 2011 เวลา 0:22

    มีชาวบ้านจำนวนมาก ขอทุนวิจัยได้เป็นสิบล้านๆ ร่วมกับนักวิจัย มหาประลัย แล้วเอาเงินไปผลาญก้นมากหลาย เพราะเขารู้ช่องทาง

    ส่วนผมก็คนเกเก่า ช่องทางงี่เง่าพวกนี้รู้ดีอยู่ แต่ไม่กล้าทำ ละอาย กลัวเกิดชาติหน้าจะได้โง่ไปกว่านี้น่ะครับ

    งานวิจัยที่ผมว่ามานี้ไม่น่าใช้เงินเกิน 5000 บาทครับ อาหารหรูริมกรุงมื้อเดียว เดี๋ยวผมให้เด็กลองทำดู เอาสังกะสีมาม้วน ขึงด้วยลวด ก็น่าจะอยู่ ข้อที่ยากคือการเก็บข้อมูล เปรียบเทียบผลแหละครับ

  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 May 2011 เวลา 10:56

    งานวิจัยด้านอบแห้งข้าวเปลือกนั้นผมทำมาสิบกว่าปีแล้วครับ นศ. ป.โททำวิทยานิพนธ์จบไปแล้ว 4 คน ปริญญาเอกกำลังทำงานอีก 3 คน ในจำนวนนี้ทำมาแล้ว 10 ปีก็ยังไม่จบ ทั้งที่ให้วิเคราะห์เม็ดข้าวเม็ดเดียวแท้ๆ (จบป.ตรีก็เกียรตินิยมอันดับหนึ่งอีกต่างหาก)

    ผมเห็นว่าศาสตร์แห่งการอบแห้งข้าวนั้นถ้าเอาให้ลึกๆ แล้ว ยากกว่าเครื่องยนต์ยานอวกาศครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.8758540153503 sec
Sidebar: 0.15662693977356 sec