น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (2)
บันทึกนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ต่อจาก [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (1)] ซึ่งใช้กระถางดินเผา ที่เรียกแบบโก้ว่า ceramic filter มาเป็นตัวกรองสารแขวนลอย แล้วใช้ silver colloid หรือซิลเวอร์นาโนในเครื่องซักผ้าบางยี่ห้อ มาฆ่าเชื้อโรค — วิธีการดังกล่าว ถึงดูดีมีสกุล แต่ก็ดูจะเกินเอื้อมของชาวบ้าน บันทึกนี้ จึงเสนอความคิดแบบง่ายๆ ชาวบ้านสร้างเองได้ เรียกในภาษาต่างประเทศว่า Biosand filter
Biosand filter เป็นเครื่องกรองน้ำชนิดกรองช้า ให้น้ำค่อยๆ ไหลผ่านเครื่องกรองซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ ใช้ธรรมชาติเป็นตัวกรอง มีทราย กรวด ถ่าน เป็นเครื่องกรองสารแขวนลอย และใช้เมือกชีวภาพ Schmutzdecke ซึ่งเป็นเมือกของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ (แบคทีเรีย รา โปรโตซัว โรติเฟอรา) คอยจับกินเชื้อโรคอื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาในน้ำ
เมือกชีวภาพ biofilm ที่เรียกว่า Schmutzdecke ต้องอาศัยเวลา 20-30 วัน จึงจะเติบโตเป็นชั้นหนาพอที่จะกรองเชื้อได้ ดังนั้น หากต้องการน้ำดื่มในปัจจุบันทันด่วน ก็ต้องมีมาตรการอื่นมาเสริมด้วย เช่นเอาตากแดดไว้วันหนึ่ง [แสงแดดฆ่าเชื้อโรค] [อีกด้านหนึ่งของน้ำ]
ลักษณะของ Biosand filter ก็ง่ายๆ ครับ มีถัง (หรือท่อพีวีซีก็ได้) โดยใส่เครื่องกรองไว้เป็นชั้นๆ ชั้นล่างสุดเป็นกรวดซึ่งเราเอาน้ำที่กรองแล้วออกที่ชั้นนี้ ต่อมาก็เป็นทรายหยาบ แล้วก็ทรายละเอียดเป็นชั้นหนา
เมื่อเทน้ำลงไปด้านบน น้ำจะซึมผ่านชั้นกรองต่างๆ ลงไปด้านล่าง ตามลำดับ แล้วย้อนขึ้นมาออกด้านบน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้น้ำย้อนขึ้นมาในระดับที่สูง เพื่อให้เกิดแรงดันต้านเอาไว้ ทำให้น้ำไหลได้ช้าๆ การกรองจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะเกิดชั้น biofilm ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งถ้าน้ำไม่แห้ง biofilm ก็น่าจะยังอยู่ครับ biofilm ฆ่าเชื้อโรคได้บางส่วน ดูดกลิ่นได้ (ถ้าน้ำซึมช้าพอ)
ที่จริงกระบวนการนี้ ก็คล้ายกับเป็นกระบวนการผลิตน้ำประปา เพียงแต่ไม่เอาสารเคมีลงไปเติมเพื่อให้โลหะหนักตกตะกอน แล้วไม่ใช้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค แต่ว่าใช้กระบวนการธรรมชาติบำบัด ซึ่งดูแลได้ส่วนหนึ่ง
กระบวนการนี้ มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับประปาภูเขา คือกรองสารเคมี เช่นปุ๋ย ยาฆ่าหญ้า หรือสารเคมีที่ใช้ในเหมืองไม่ได้
ถ้าหากรองน้ำฝนได้ น่าจะปลอดภัยกว่านะครับ แต่ถ้าหลังคาไม่อยู่แล้ว หรือว่ามีความจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะต้องเอาน้ำซึ่งไม่รู้ที่ไปที่มามาดื่ม เครื่องกรองแบบนี้ สร้างได้ไม่ยาก และไม่แพงครับ
คนเมืองที่ภูมิต้านทางโรคต่ำ คุ้นเคยกับน้ำประปา แต่เราก็คงเห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าเวลาน้ำท่วม ประปาก็ท่วมด้วย และต้องงดการจ่ายน้ำ หากไม่เตรียมการอะไรไว้ ทีนี้น้ำอะไรก็กินได้!
ตามท้องตลาด มีฟิลเตอร์กรองน้ำขาย เท่าที่เปิดสเป็คดู ต้องใช้น้ำที่มีแรงดัน 20 psi ครับ ถ้าหากไฟฟ้าดับ/ไม่มีประปาที่มีแรงดันพอ หรือต้องอพยพไปอยู่ในที่ที่ไม่มีไฟฟ้า ความดัน 20 psi นั้น ต้องสร้างถังที่มีความสูง 46 ฟุต (14 เมตร/ตึกห้าหกชั้น) จากปลายที่น้ำเข้าของฟิลเตอร์ — ซึ่งถ้าสร้างได้ และหาฟิลเตอร์ได้ ก็ดีนะครับ
ถ้าสร้างไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ลอง biosand filter แล้วเอาน้ำที่กรองแล้วไปตากแดดไว้สักวัน ก็น่าจะพอใช้ได้ครับ
Next : โลกหลากมิติ - Superstring Theory » »
4 ความคิดเห็น
ผมมาได้คิดว่า คนเรา ดจร. เกินไปหรือเปล่าที่ต้องดื่มน้ำสะอาดเกินไป ทำให้แพงโดยใช่เหตุ ทั้งที่อยู่ในรถ ในกทม. ก็สูดอากาศพิษเข้าปอดไปตลอด 24
ผมคุยกับการประปามาหลายครั้ง เขายืนยันว่าน้ำประปากทม. ดื่มได้ สะอาดได้มาตรฐานโลก ตามที world health org กำหนด แต่ไม่มีใครดื่ม แปลกแท้ๆ ทำไมกรมประปาไม่ออกทีวี รณรงค์ให้คนไทยหันมาดื่มน้ำประปาแบบในเมกา ยุโรปกันบ้าง
ที่ผมคิดว่าแปลกมากคือ เรากินน้ำดื่มกันแสนสะอาด แล้วใส่น้ำแข็ง แต่ไม่เคยถามเลยว่า แล้วน้ำแข็งมันทำมาจากน้ำที่สะอาดสักเพียงใด แล้วน้ำแข็งมันก็ละลายลงไปในน้ำน้ำดื่ม
น้ำก๋วยเตี่ยว น้ำแกงเขียวหวาน ทำมาจากอะไร
สุดท้าย น้ำจากสระว่ายน้ำ ที่สำลักกินเข้าไป
ผมไม่กล้าว่ายน้ำในสระว่ายน้ำมาตั้งแต่อายุ 20 เห็นจะได้ ไม่ว่าในโรงแรมหรูขนาดไหน ..ภาษาอีสานเขาเรียกว่า “ขี้เดียด”
แม้ไม่สำลัก แค่มันซึมเข้าตา ผิวหนัง ก็แย่แล้ว ขี้มูก น้ำลาย รวมทั้งเยี่ยวเด็ก ..แหวะ
ถ้ามีประปาก็ดีไปครับ แต่เวลาน้ำท่วมหนัก การจ่ายน้ำประปามักหยุดลงด้วย เช่นกรณีสงขลา โคราช สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช จังหวัดทางภาคกลางซึ่งเกิดซ้ำซากไม่รู้จักเข็ด แถมเวลาน้ำลดแล้ว ยังต้องล้างและซ่อมระบบผลิตน้ำประปา บวกเข้าไปอีก 7 วัน; ครั้นจะบอกว่าน้ำอะไรก็กินเข้าไปเถอะ คงไม่ต้องบอกหรอกครับ ฮี่ฮี่ ถ้าจะบอก ก็บอกวิธีสร้างเครื่องกรองน้ำที่พอใช้ได้ หาวัสดุในท้องถิ่นทำได้เอง ราคาถูก แล้วชาวบ้านตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป — ถ้าฝนยังตก รองน้ำฝนกินเหมาะที่สุด ซึ่งชาวบ้านรู้ดี แต่ถ้าน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน อพยพไปที่ปลอดภัยดีกว่าครับ
เครื่องกรองน้ำแบบนี้ สักห้าร้อยบาทคงสร้างเตรียมการไว้ได้ไม่ลำบากนะครับ
[...] [น้ำท่วมกลับไม่มีน้ำดื่ม (2)] [...]