ความหมายของการเตือนภัย

โดย Logos เมื่อ 23 October 2011 เวลา 0:45 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3573

ผมคิดว่ามีคนเข้าใจความหมายของคำนี้คลาดเคลื่อนไปเยอะนะครับ

คำว่าเตือนภัย ไม่ได้มีความหมายแค่บอกกล่าวเท่านั้น เนื่องจากภัยมีความสำคัญเกี่ยวกับความอยู่รอด ดังนั้นผู้สื่อสารและผู้รับสารจะต้องเข้าใจอย่างเดียวกัน หากเป็นการคาดเดา ก็ต้องสื่อให้ชัดเจนว่าเป็นการคาดเดาและแสดงเหตุผลสนับสนุนด้วย แต่นี่ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าผู้รับสารต้องรู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่อย่างนั้นการเตือนภัยก็เป็นกิจกรรมอันไม่เกิดประโยชน์เลย -> เตือนหรือไม่เตือน มีค่าเท่ากัน คือไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรอยู่ดี

ดังนั้นหากจะมีการเตือนภัยอย่างเป็นระบบ ระบบนั้นจะต้องครอบคลุมการทำความเข้าใจถึงภัยในลักษณะต่างๆ ความเสี่ยงของพื้นที่ แผนจัดการความเสี่ยงต่างๆ การฝึกซ้อม การลงมือแก้ไขความเสี่ยงต่างๆ ล่วงหน้า ตลอดจนแผนสำรองด้วย

การเตือนภัยเป็นอำนาจตามกฏหมาย!!! แต่คนที่มีเพื่อน มีเครือข่าย และเป็นมนุษย์นั้น เค้าไม่รอการเตือนภัยกันตามกฏหมายหรอกครับ อย่างช่วงเดือนกรกฎาคม ที่น้ำแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านกำลังไหลบ่าลงมาทางใต้นั้น เทศบาล-อบต.ที่กำลังประสบภัย ยังมีน้ำใจโทรบอกกัน เพื่อที่จะเตือนภัยเทศบาล-อบต.ที่อยู่ในเส้นทางของภัยพิบัติ

กรณีสึนามิเมื่อปี 2547 นั้น คลื่นเข้าที่ฝั่งตะวันตกของภูเก็ตก่อน แต่ด้วยความที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ มาก่อน จึงไม่มีการเตือนภัย… เคยเล่าแล้วในบล็อกนี้ว่าวันนั้นน้องสาวผมพร้อมทั้งครอบครัวพักอยู่ที่บ้านทางใต้ของภูเก็ต เมื่อคลื่นใหญ่ซัดมาชนกำแพงกันคลื่นน้ำกระเด็นไปสูงพอๆ กับยอดมะพร้าว ทุกคนตกใจ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ได้โทรไปสั่งอพยพแขกของรีสอร์ตบนเกาะพีพีซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมอื่นๆ บนเกาะ อีกครึ่งชั่วโมงสึนามิจึงไปถึงเกาะพีพี ทำให้รอดได้เป็นร้อยคน

เมื่อคืนนี้ประมาณตีสอง เกิดเหตุคันดินที่ AIT พัง น้ำทะลักเข้าท่วม AIT และลามไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ สวทช.ผ่านทางท่อระบายน้ำซึ่งเชื่อมกันอยู่ และยังทำให้น้ำลามมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อาสาสมัครจาก มธ.แก้ไขซ่อมรอยแตกสำเร็จยกแรกประมาณตีสี่ แต่ต่อมาก็ไม่ไหว

ระหว่างการกู้คันดินกลางดึก ข่าวสารที่หลั่งไหลออกมาทางทวิตเตอร์ ค่อนข้างสับสน จนกระทั่ง อมธ.แถลงบนเฟสบุ๊ค จึงยืนยันได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงและควบคุมได้แล้วในช่วงเช้ามืด

พื้นที่กระจุกนี้ อยู่ใต้นิคมอุตาหกรรมนวนครเพียง 2 กม.เท่านั้น อาจถือเป็นจุดบ่งชี้ปริมาณน้ำทุ่งที่จะเข้ากรุงเทพได้ หากว่าเรารู้จักการเชื่อมโยงข้อมูล และพิจารณาหาความหมาย

ประสบการณ์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำที่ผ่านจุดนี้ จะใช้เวลา 1-2 วันจึงจะมาถึงแนวคลองรังสิต หมู่บ้านเมืองเอก หรือนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ซึ่งเป็นแนวป้องกันพื้นที่กรุงเทพตอนเหนือ

จริงอยู่ที่ว่าคันดินอาจจะแตกเองเนื่องจากความล้าที่รองรับแรงกดดันของน้ำมาเป็นเวลานาน แต่อาจจะเป็นเพราะน้ำเหนือก้อนใหม่หลากมาก็เป็นไปได้ หากเป็นกรณีหลัง ก็จะเป็นสัญญาณที่สำคัญ ว่าเวลาที่เหลืออยู่ไม่นาน จะทำอะไรก็รีบทำซะนะครับ

เมื่อน้ำเหนือมาตามแม่น้ำ จะไหลผ่านนิคมบางกระดีลงมาเข้าคลองประปา ส่วนน้ำที่ไหลข้ามทุ่งมาบนบก ก็จะเข้าที่หลักหกและทุ่งสีกันอีก เหมือนที่เกิดขึ้นมาเมื่อแล้ววานนี้

หากรู้จักสังเกตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ก็ยังพอมีเวลาตระเตรียมอะไรบ้าง ไม่มีประโยชน์ที่จะมาอ้าง KM แต่ไม่ลงมือทำอะไรนะครับ

ขอให้ทุกท่านโชคดี

« « Prev : ทดสอบระบบคลังภาพ

Next : สู่ความปลอดภัย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ความหมายของการเตือนภัย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.21534490585327 sec
Sidebar: 0.26886296272278 sec