ความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ “เว็บตรวจสอบเหตุการณ์ ภาคประชาชน”
อ่าน: 3779เรื่องนี้อยู่นอก scope ปกติของลานปัญญา
คืนนี้อ่านพบคำเชิญชวน(แบบเปิด)บนทวิตเตอร์โดย @Fringer ให้ไปร่วมคุยกันเรื่อง “เว็บตรวจสอบเหตุการณ์ ภาคประชาชน” เจออย่างนี้แล้ว จะไม่ตามไปดูแห่ได้ยังไงล่ะครับ
ผมเชื่อว่าโดยเนื้อแท้ คนไทยหรือมนุษย์คนไหนๆ ต่างก็รักความยุติธรรมและความจริงทั้งนั้น แต่”ความได้เปรียบ”จากความอยุติธรรมทำให้รู้สึกว่า ได้เปรียบ ได้เร็ว ได้มากโดยไม่ต้องทำอะไร
เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองในเดือนเมษา-พฤษภา 2553 เป็นปัญหาคาใจคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นก็มีรูปภาพ และคลิปวิดีโอร่อนไปทั่วเครือข่ายทางสังคม เท่าที่ทราบ มีความพยายามหลายครั้ง จากคนหลายกลุ่ม ที่จะปะติดปะต่อเหตุการณ์จาก “หลักฐาน” ทางดิจิตอลเหล่านี้ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ
ในขณะเดียวกัน ก็พบว่ามีหลักฐานเท็จร่อนไปทั่วเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปที่จะแยกแยะ แล้วด้วยความฉาบฉวยรวดเร็วของสังคมข่าวสาร ทำให้ผู้ที่เห็น “หลักฐาน” รีบตัดสินใจรับหรือปฏิเสธ “หลักฐาน” อันใดอันหนึ่ง ด้วยอคติ ด้วยอารมณ์ ตอกลิ่มความแตกแยกในสังคม แต่นั่นไม่ร้ายเท่ากับกรณีที่ตัดสินผิด คือปรักปรำ/ลงโทษคนไม่ผิด แล้วปล่อยคนผิดลอยนวล
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องคาใจผมมาเหมือนกัน จึงได้เรียบเรียงความคิดมาแล้วบางส่วนจากเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. แต่ไม่ได้พยายามที่จะให้คำตอบสำเร็จเกี่ยวกับวิธีรวบรวม “หลักฐาน” เพื่อหาความจริงหรอกนะครับ เพราะผมไม่เคลมว่าเป็นอะไรเลย ดังนั้นจึงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้…
แยกแยะหลักฐานเท็จออกได้อย่างไร
เอ่อ ไม่รู้เหมือนกันนะครับ! คิดว่าเวลาอัพโหลดที่ใกล้เคียงกับเวลาที่อ้างว่าเกิด ช่วยกรองได้ในระดับหนึ่ง เช่นถ้าถ่ายรูปจากมือถือแล้วอัพโหลดทันที หรือส่ง MMS ทันที อย่างนี้เชื่อได้ว่าปลอมยาก ถ้ามีตำแหน่งพิกัดอยู่ในนั้นด้วยละก็ยิ่งแจ่มเลย แต่ก็ไม่จำเป็นหากมีรูปมากมายมาอ้างอิงกัน — ใช้เวลาอัพโหลดที่เซอร์เวอร์อ้างอิง — แต่ถ้ากลับไปบ้านแล้วอัพโหลด ความน่าเชื่อถือก็คงจะลดลงไประดับหนึ่ง
ดูเวลาอัพโหลด เทียบกับเหตุการณ์แวดล้อม ก็ยังไม่สามารถตัดเรื่องการจัดฉากออกไปได้ (หมายถึงการเตรียมรูปไว้ก่อน) กรณีนี้ รูปที่มีแบ็คกราวน์ที่ไม่ชัดเช่นถ่ายเจาะคนนอนโดยเห็นแต่พื้นถนนโดยไม่ติดอย่างอื่นมาเลย คงพิจารณายากเหมือนกัน จะดู EXIF ก็ไม่ได้เพราะมันแก้ไขกันได้ บางทีก็ไม่มี
ส่วนวิดีโอคลิป เพราะขนาดของไฟล์ คงยากหน่อยที่จะอัพโหลดทันที ดังนั้นควรจะดูที่พื้นหลังเทียบเคียงกับรูปอื่น
ในกรณีที่มีคนเจ็บคนตาย สถานพยาบาลจะช่วยได้มาก หากสามารถถ่ายรูปคนเจ็บพร้อมเวลานำส่งตัวมารักษา ซึ่งเวลาที่บันทึกไว้นี้ จะเป็นเพดานของเวลาที่จะกรอง “หลักฐาน” เกี่ยวกับคนเจ็บคนนั้น และจะช่วยให้มั่นใจได้มากขึ้นเกี่ยวกับการนับเลข! เช่นเดียวกับกรณีการจับกุม… แต่ก็นั่นล่ะครับ ไม่ใช่หน้าที่หลักของแต่ละหน่วยงาน
การเผยแพร่ภาพตกแต่ง อาจจะผิดตามมาตรา 16 ของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งต้องพิสูจน์ตามวรรค 2
มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิดความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
เออ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว กรณีส่งต่อ (Retweet หรือ Share) แจมอย่างเมามันในบล็อกหรือเว็บบอร์ด อาจเจอมาตรา ๑๔ โดยจะต้องพิสูจน์ตาม (๕) ว่าเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นจริง (แต่ก็เกิดคดีความ)
มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
[ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ประมวลกฎหมายอาญา ม.107-112 ม.113-118 ม.119-129 ม.130-135] [ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ประมวลกฎหมายอาญา ม.135/1-135/4]
หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์อะไรที่ศาลพิจารณา
แล้วศาลมาเกี่ยวอะไร? ผมว่าเกี่ยวมากๆ เลย แม้เรื่องที่คุยกันมีคำว่า “ภาคประชาชน” อยู่ด้วย แต่การเผยแพร่ภาพเหล่านี้ออกสู่สาธารณชน อาจทำให้เกิดความเสียหาย และมีคดีความติดตามมา (ไม่ได้ขู่ครับ บอกให้ฟังเฉยๆ ว่ามี มาตรา ๑๖ ของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อยู่อีกด้วย) ก็ดูแล้ว ต่างคนต่างตัดสินใจเองก็แล้วกัน อย่าฟันธงเป็นศาลเตี้ยเลยครับ
ดังนั้น สิ่งที่เผยแพร่จึงต้องเป็น “ความจริง” — หากไม่จริงก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นคนส่ง “หลักฐาน” คนตรวจสอบ หรือโบ้ยให้ admin ตามรูปแบบการปัดสวะที่มักใช้กัน — ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะรวบรวมข้อมูลไว้ตรวจสอบเหตุการณ์กันไปทำไม
แล้วหากมีการใช้ “หลักฐาน” ที่รวบรวมกันเองนี้ในการพิจารณาคดี “หลักฐาน” ที่รวบรวมกัน ก็ต้องมีความน่าเชื่อถือตามกระบวนการยุติธรรม [ศาลไทยรับ ฟังข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นพยานหลักฐานหรือเปล่า?]
…
ปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เขาก็บัญญัติว่าห้ามศาลปฏิเสธไม่รับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ครับ แต่มิได้กำหนดรายละเอียดในเรื่องการเสนอข้อมูลคอมพิวเตอร์ต่อศาลว่าต้องทำอย่างไร ต้องระบุในบัญชีระบุพยานหรือไม่ และต้องส่งสำเนาข้อมูลหรือสื่อบันทึกข้อมูลให้คู่ความอีกฝ่ายหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้ข้อยุติในระดับหนึ่งแล้วนะครับ ว่าในส่วนรายละเอียดเรื่องนี้ท่านประธานศาลฏีกาจะได้ไปออกข้อกำหนดเพื่อกำหนดรายละเอียดการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีแพ่งและคดีอาญาครับ
ส่วนคดีของศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ นั้น ปัจจุบันข้อกำหนดของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลล้มละลายกลาง และแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลฎีกา ก็ได้กำหนดเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เอาไว้แล้วครับ คราวนี้คงต้องตั้งตารอครับว่าข้อกำหนดที่ใช้กับศาลแพ่งและศาลอาญา(ซึ่งเป็นศาลส่วนใหญ่ของประเทศ) จะออกมาใช้บังคับเมื่อใดครับ เพื่อจะได้หมดปัญหาการตีความ เพราะศาลอื่นเขาก็บัญญัติเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วครับ
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส ์พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551
พรบ.นี้ ดูแค่ชื่อไม่น่าจะเกี่ยว แต่มีหลายมาตราที่พูดถึง “หลักฐาน” ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลได้
มาตรา ๙ ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(๑) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(๒) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี
วิธีการที่เชื่อถือได้ตาม (๒) ให้คำนึงถึง
ก. ความมั่นคงและรัดกุมของการใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ในการระบุตัวบุคคลสภาพพร้อมใช้งานของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับลายมือชื่อที่กำหนดไว้ในกฎหมายระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การปฏิบัติตามกระบวนการในการระบุตัวบุคคลผู้เป็นสื่อกลาง ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลในการทำธุรกรรม วิธีการระบุตัวบุคคล ณ ช่วงเวลาที่มีการทำธุรกรรมและติดต่อสื่อสาร
ข. ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทำ จำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอในการทำธุรกรรม ประเพณีทางการค้าหรือทางปฏิบัติ ความสำคัญ มูลค่าของธุรกรรมที่ทำ หรือ
ค. ความรัดกุมของระบบการติดต่อสื่อสาร
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการประทับตราของนิติบุคคลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยโดยอนุโลม
…
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้ปฏิเสธการรับฟังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นพยานหลักฐานในกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายทั้งในคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีอื่นใด เพียงเพราะเหตุว่าเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดนั้นให้พิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษา หรือสื่อสารข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษา ความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความลักษณะ หรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล รวมทั้งพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งปวง
ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
หากจะใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ ก็น่าจะมีการระบุแหล่งต้นทาง (ผู้อัพโหลด) มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์รับรองว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขดัดแปลง ตลอดจนมีกระบวนการที่ศาลเชื่อถือว่าดูแลข้อมูลแท้อย่างดี
ก่อนเขียนบันทึกนี้ ได้พยายามติดต่อกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ท่านหนึ่งเพื่อสอบทานความเข้าใจ แต่เป็นเวลากลางดึกแล้ว ท่านคงยุ่งจึงไม่ได้คุยสอบทานกัน หวังว่าคงตีความไม่ผิดไปนะครับ อย่างไรก็ตาม ได้ให้ลิงก์ต่างๆ ไว้ตรวจสอบเองแล้วหากสนใจในรายละเอียด
ยาวมากแล้ว พอก่อนนะครับ
« « Prev : รอยเลื่อนมีพลัง ในประเทศไทย
4 ความคิดเห็น
เป็นความพยายามที่น่าชื่นชมมากครับ คงจะหาทางเข้าไปร่วมด้วย (เพิ่งเห็นเลย webchat ไม่ทันแล้ว) อาจจะช่วยแก้ปัญหาที่ว่าเมื่อรัฐบาลตรวจสอบเหตุการณ์ได้ผลลัพธ์ออกมา คนที่ชอบผลก็เชื่อ คนที่ไม่ชอบผลก็ไม่เชื่อ ความขัดแย้งก็อยู่ที่เดิมอีก
งานนี้เหมาะกับรอกอด
ในการที่จะออกแบบแผน การรับ-ส่ง-แพร่- ข้อมูล
มาให้สังคมตรวจสอบ-วิเคราะห์-วิจารณ์-อย่างมีหลักการ
ตามเก็บความคิดเห็นที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
มาบบรจุไว้เป็น จดหมายเหตุประเทศไทย
งานนี้สำคัญและมีความหมายมากพอๆกับเรื่องการแจ้งเหตุสึนามิ
และใครก็ทำได้ไม่ดีเท่า หลวงพ่อโต
แคว๊กๆ
มีหลักการบางอย่างที่เพิ่งเรียนรู้มา น่าจะพอเกื้อหนุนบันทึกได้
เจริญพร
ที่เขียนเรื่องนี้ ก็ไม่ได้เจตนาจะทำให้เป็นเรื่องใหญ่หรอกครับ เพียงแต่อยากชี้ว่าไม่ว่าทำอะไรให้เกิดขึ้น ก็ยังมีผลข้างเคียงอีกด้วย
ความพยายามที่จะทำให้ความจริงปรากฏขึ้นเป็นเรื่องน่ายกย่องจริงๆ แต่หากมีการเผยแพร่ต่อ ก็มีความรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย ซึ่งความรับผิดชอบนี้ ไม่ต่างกับเว็บไซต์ เว็บบอร์ดต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันครับ