เปิดบ้านอาสาใจดี

โดย Logos เมื่อ 14 October 2011 เวลา 21:54 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4050

เขียนชื่อบันทึกอย่างนี้ ไม่ได้ไปร่วมพิธีเปิดอะไรหรอกครับ ไปไม่ไหว

สสส. เจรจากับกรมธนารักษ์ ขอใช้อาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเปิดเป็น บ้านอาสาใจดี ซึ่งจะมีสภาพเป็นศูนย์ประสานงานอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

อยากย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าพื้นที่ประสบภัยมีอันตราย ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวนะครับ หากจะลงพื้นที่ ก็ต้องมีความพร้อมสูงมากๆ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ทั้งข้อมูลว่าพื้นที่ใดต้องการอะไรเท่าไร เมื่อคิดจะช่วย ช่วยให้ได้ผล ช่วยให้ตลอดรอดฝั่งดีไหมครับ อย่าคิดเพียงว่าเอาชองไปบริจาคแล้วก็แล้วกัน เพราะพบว่าของปริมาณมาก ไปกองกันอยู่ที่ศาลากลาง ไม่สามารถส่งถึงมือผู้ประสบภัยได้… เรื่องนี้ผมไม่โทษใครหรอกครับ ถ้ายังขีดวงเล็กๆ พอดีตัว ฉันทำส่วนของฉันแล้ว ก็เป็นอย่างนี้ล่ะ เพราะว่าไม่มีคำว่าผู้ประสบภัยอยู่ในประโยคเหล่านั้นเลย

มีผู้ที่ร้องขอความช่วยเหลืออยู่มากมาย กระจัดกระจายอยู่เต็มที่ราบลุ่มภาคกลาง ใกล้ๆ กรุงเทพนี่ก็มี ข้อมูลเหล่านี้อยู่ที่ form.thaiflood.com น้ำมาเป็นปริมาณมาก จะลุยออกไปไกลๆ ก็ลำบาก (ยังมีทีมที่ลงพื้นที่ลึกๆ ได้อยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไปไม่รอด) ในเมื่อลงพื้นที่ไม่ไหว แล้วยังคิดจะช่วย ลองใกล้ๆ ก่อนดีไหมครับ แล้วยังมีทีมที่ใช้เส้นสายไปเบียดบังกำลังของท้องถิ่น เพื่อที่ตนจะได้ลงพื้นที่ไปแจกของ ถ่ายรูป เรื่องอย่างนี้น่าเศร้านะครับ ถ้าช่วยตัวเองไม่ได้ ลงพื้นที่ไปช่วยคนอื่นทำไม การลงพื้นที่ก็ต้องไปรบกวนกำลังของท้องถิ่นที่กำลังช่วยผู้ประสบภัยอยู่ ให้มาดูแลตนเอง สมควรแล้วหรือครับ แต่ถ้าท่านดูแลตนเองได้ ไม่ทำตัวเป็นภาระแก่ใครๆ ก็ขออนุโมทนาด้วยครับ

บ้านอาสาใจดี อยู่ปากซอยพหลโยธิน 3 ไม่ได้พยายามจะเป็นศูนย์กลางของอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการจะรวบอำนาจสั่งการ อาสาสมัครแต่ละคน แต่ละกลุ่มเป็นอิสระต่อกัน แต่ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ จะต้องประสานความร่วมมือ ไม่ให้ความช่วยเหลือซ้ำซ้อน หรือสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่เกิดผล… เมื่อน้ำมาถึงกรุงเทพ ความช่วยเหลือต่อพี่น้องผู้ประสบภัย จะแผ่วลงเป็นอย่างมาก ยิ่งต้องใช้ทรัพยากรทุกอย่าง อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เริ่มตั้งแต่วินาทีนี้เลย (ที่จริงควรเริ่มมาตั้งแต่ต้น)

เปิดบ้านอาสาใจดีวันนี้ ตอนบ่ายมีการอบรมเชิงปฏิบัติการประเดิมด้วยเรื่องน้ำหมักชีวภาพ ท่านใดมีความคิดดีๆ ว่าสามารถทำอะไรเพื่อให้ผู้ประสบภัยหรือกำลังจะประสบภัย ช่วยเหลือตัวเองได้ตามอัตภาพ ก็ลองส่งความคิดไปทางอีเมลที่ webmaster ที่ thaiflood.com นะครับ มีเด็ดๆ หลายอัน (โชคดีที่ได้อ่านบางข้อเสนอ สุดยอด!)

ผมไม่ได้ตามใครบนทวิตเตอร์มากเกินเวลาอ่าน คำว่ามากเกิน ก็แปลว่าเกินไปอยู่แล้ว แต่วันนี้ตลอดทั้งวัน ทวิตในไทม์ไลน์ของผม น้อยกว่า “thaiflood -rt” สักห้าหกเท่าคงจะได้ แสดงให้เห็นว่าความสนใจในเครือข่ายสังคมเปลี่ยนไปเยอะ คำถามใหญ่คือทำไมเพิ่งมาสนใจเอาเมื่อภัยมาใกล้ตัว แล้วจะเตรียมตัวทันไหม

« « Prev : ประชุมสรุปสถานการณ์น้ำท่วม @ThaiPBS

Next : เพื่อนเก่า » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 October 2011 เวลา 6:06

    เวลาที่ทำค่ายอาสานักศึกษาหรือแม้แต่งานกุศลอาสาต่างๆ ภาพที่เห็นมักเป็นว่า ทุกคนมีใจอยากช่วยและจะเข้าไปช่วยในงานที่เห็นมีคนทำอยู่และคิดว่าทำไม่ทัน บางทีก็ไม่ถนัดและไปทำซ้อน
    ก่อนออกค่ายเลยต้องประชุมก่อน และให้ลงชื่อความถนัดว่าทำอะไรได้บ้าง งานอะไรต้องการคนเท่าไหร่และอย่างไร

    ขณะที่คนในพื้นที่ก็จะมีทั้งคนที่อยากให้ข้อมูลว่าอยากให้ทำอย่างไร และคนที่เฝ้ามองก่อนว่าจะทำอะไรกัน ในยุคหนึ่ง งานบางอย่างทำแล้วคนทำก็ไปทิ้งอะไรที่เป็นภาระให้คนในพื้นที่ บางอย่างก็ไปแจกของที่เกินความจำเป็น เช่นครั้งหนึ่งไปออกค่ายอาสาโครงการตรวจสุขภาพ …..ชาวบ้านยกกันมาทั้งเกือบตำบลเพื่อมาขอยาฟรี ทั้งๆที่ยาบางอย่างยังไม่ต้องจ่ายก็ได้ …อธิบายยากกับทั้งคนมารับบริการและคนร่วมโครงการ …เพราะคนร่วมโครงการก็ต้องการ “ให้” ของที่เตรียมก็มากจนสามารถให้ได้ซะด้วย

    แต่นั่นคืองานเฉพาะกิจ อยู่ไม่นาน และจุดประสงค์เดียวซะมาก

    แต่งานน้ำท่วมคราวนี้ ..ดูแล้วสาหัสจริงๆ
    คงใช้เวลานานและเกี่ยวกับความรู้สึก fairness ของคนด้วย

    อย่างไรก็ขอชื่นชมโครงการ (รวมทั้งสาระพัดโครงการที่มีใจกระโดดเข้ามาช่วย) และเสสนอให้ท่านที่อาสาว่าควรวิเคราะห์ว่าตัวเองถนัดอะไรและเข้าไปช่วยในส่วนที่ถนัด ท่านที่อำนวยการก็คงมีระบบที่สามารถบันทึก มีทักษะการจัดการเรื่องความถนัดของคนด้วยนะคะ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 October 2011 เวลา 8:33

    รพ.ชร.ได้บทเรียนหลายอย่างจากการลงไปช่วยนครสวรรค์ครั้งนี้ค่ะ
    1. เราเตรียมยาไป 90 กล่องใหญ่ พบว่าในภาวะที่พื้นที่มีจำกัด การขนส่งจำกัด รถยีเอ็มซีบรรทุกได้จำกัดทั้งคน ของ ชาวบ้านที่ต้องผ่านแวะรับ ฯลฯ สิ่งที่เตรียมไปกลายเป็นเกินความต้องการ เพราะเราไม่ได้สอบถามก่อนว่าในพื้นที่ขาดแคลนยาหรือเวชภัณฑ์อะไรบ้าง ใช้คิดและคาดการณ์เอาเอง

    2. ทีมแรกฝ่ายการพยาบาลส่งน้องๆไป พอไปถึงพบว่าเค้าต้องการคนที่ช่วยขึ้นเวรได้ เพราะแต่ละคนเหนื่อยมาก มีบ้าน มีครอบครัวที่ต้องดูแลเช่นกัน และในภาวะฉุกเฉินเช่นนั้น ไม่มีใครว่างพอสอนงานให้กับน้องใหม่ที่ไม่คุ้นกับสภาวะการณ์ฉุกเฉินได้ แต่หมอที่ไปแต่ละคนลุยเต็มที่ เพราะมีประสบการณ์เต็มพิกัด

    3. ที่อยู่ ที่กิน คนที่ไปต้องดูแลตัวเองได้ เพราะที่อยู่ ที่นอนจำกัดมาก หมอนอนรวมกันที่บ้านผอ.รพ.ค่ายฯ พยาบาลนอนเตียงคนไข้ที่วางเรียงๆกัน เหมือนห้อง Observe ของ ER ไม่ได้ไปสนุก ถ่ายรูป เอาหน้า แต่ต้องพร้อมลุยทุกรูปแบบ ปีนรถยีเอ็มซีได้ ลงเรือเป็น ว่ายน้ำได้ กินไม่ครบมื้อได้ แม้จะมีแม่ครัวทำอาหารกล่องให้ก็ตาม นอนง่าย อดทน ไม่บ่นแม้ไม่พร้อม

    4. ในวันที่ไปถึง ไ่ม่มีความพร้อมอะไรแม้แต่อย่างเดียว เพราะเจ้าถิ่นก็วุ่นและอ่อนล้าเต็มที ฝ่ายที่ไปประชุมด่วน ตั้งวอร์รูมเองเพื่อศึกษาข้อมูล กระจายกำลัง ทำข้อมูลกำลังคน เพื่อแจกจ่ายแนวรบเท่าที่เผชิญในขณะนั้น ซึ่งกลุ่มที่ไปถึงนอกจากชร.แล้ว มีจากกรมการแพทย์อีก 30 คน แต่มีความแตกต่างของ 2 กลุ่มนี้ เพราะเมื่อชร.”จัดการ”กำลังคน+ยาทั้งหมดเรียบร้อยด้วยตัวเอง (เพราะรำคาญพวกเอาแต่บ่นและ”อยาก”ได้นู่นนี่นั่น ทั้งๆที่เห็นว่ามันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ) พอหันมาอีกทีไม่รู้ว่ากลุ่มนั้นหายไปไหนแล้ว หึหึหึ

    5. เ่ท่าที่ทราบผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุ ตั้งแต่ขี่มอเตอร์ไซค์ลุยน้ำแล้วโดนไฟดูด เพราะสายไฟขาดแช่น้ำ (เป็นเรื่องอันตรายมากนะคะ แม้แต่คนที่เข้าไปช่วยก็ตาม เพราะต้องประเมินสถานการณ์เป็น ว่าคนที่ฟุบอยู่นั้นเกิดจากอะไร) หรือลุยน้ำแล้วไม่รู้ว่าข้างใต้น้ำเป็นอะไรบ้าง เพราะน้ำไหลหลากมา ใต้น้ำย่อมมีอะไรมากมายตั้งแต่ ไม้ อิฐ กระสอบทราย โต๊ะ ตู้ เตียง มีด ฯลฯ หรือขับรถ ขี่รถ พายเรือลงร่องน้ำเชี่ยว ลงคู ลงท่อ ฯลฯ จึงจำเป็นมากที่ต้องมีคนรู้พื้นที่เป็นผู้บอกว่าเส้นทางนั้นๆ ข้างทางเป็นอะไร มีอะไรที่ควรระวัง ไม่ควรดุ่มๆไป โดยหวังดีเพียงอย่างเดียวค่ะ

    เท่าที่ลงไปมีรายเดียวที่หมอเต๊าะต้องไปรับและส่งต่อรพ.อื่นข้ามจังหวัดด้วยตัวเอง เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สุด เนื่องจากไฟดูดนี่แหละค่ะ

  • #3 chakunglaoboy ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 October 2011 เวลา 8:48

    เมื่อวานได้ไปช่วยงานที่ธรรมศาสตร์รังสิตมา ทีแรกตั้งใจจะไปช่วยบรรจุของที่อาสาดุสิต ไปแล้วไม่มีกิจกรรม แต่มีรถรับ - ส่งไปที่ มธ.รังสิต เลยไปด้วย มีผู้มาอาสาเยอะมาก พอไปถึงก็ลงทะเบียนว่าเป็นอาสา แล้วก็นั่งรองาน พอมีงานเข้ามาน้องที่เป็น Staff ก็จะมาเรียกอาสา จำนวนเท่านั้นๆ เท่านี้ ออกไปปฏิบัติงาน เจอปัญหาอย่างหนึ่ง คือ ทีม Staff ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา หลายคนเคยผ่านงานพวกนี้มา แต่ไม่เคยเจอใหญ่ขนาดนี้ ทำให้บริหารจัดการได้ไม่ดีพอ อาสาเกิน 90 เปอร์เซนต์เลยนั่ง ยืน และคุยกัน รองาน (คนที่มาไม่รู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน ตรงไหน ควรทำอะไร) มีจุดขออาสาบรรจุกระสอบทราย แต่รอบ่าย 2 โมง (จาก 11.30 น.) ผมเดินเข้าไปช่วยผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ เข็นรถวีลแชร์ สุดท้ายไปช่วยผู้ใจดีบรรจุข้าวโพดต้มแจกผู้อพยพและผู้อยู่ในบริเวณนั้นแทน (ผู้นำข้าวโพดมา ถึงแม้น้ำจะท่วมที่บ้านเหมือนกัน ที่วิเศษชัยชาญ อ่างทอง ก็ยังนำข้าวโพดมาต้มแจกพี่น้องผู้เดือดร้อนกว่า สุดยอดเลยครับ) ไ่ม่ได้บ่นนะครับ แต่เล่าให้ฟัง เพื่อจะบอกว่า
    1. อยากบอกเจ้าหน้าที่ว่า อาสาส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยทำงานในลักษณะนี้ แต่อยากจะช่วย ทำให้ไม่รู้จะเข้าไปช่วยตรงไหนอย่างไร ทำให้ส่วนใหญ่อีกเช่นกันที่นั่งรองาน
    2. อยากบอกคนมาอาสาว่า แม้แต่คนที่มาช่วยบรรเทา เช่น พ่อค้า ห้างร้าน เขาก็ต้องการคนช่วย คนเปลี่ยนเหมือนกัน เข้าไปได้เลย เขายินดีนะครับ อย่าคิดว่างานอาสาคือ งานที่ต้องช่วยหน่วยงานที่เป็นเจ้าของงานเท่านั้น

    ขอบคุณครับ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 October 2011 เวลา 2:07
    ไม่ค่อยมีเวลาดูแลบล็อกตัวเอง และไม่ค่อยได้ตอบใคร แต่ขอขอบคุณทุกความเห็น ทุกประสบการณ์นะครับ

    https://www.facebook.com/arsajaidee


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.20562505722046 sec
Sidebar: 0.15160799026489 sec