ลดความเสี่ยงจากดินถล่ม?!
สิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้ทางน้ำหรือใกล้ภูเขา มีโอกาสจะเจอดินถล่มทั้งนั้นครับ
เวลาเราสร้างบ้าน ก็ไม่รู้หรอกว่าตรงไหนมีโอกาสเกิดดินถล่ม พื้นผิวโลก หากแห้งแล้วมีความลาดเอียงไม่เกินมุมลาดเอียงปลอดภัย (angle of repose) ซึ่งอาจสูงได้ถึง 30° แต่เมื่อไรที่เปียก เละเทะเป็นดินโคลน แค่เอียงเป็นมุม 1-2° ก็อาจจะเริ่มไถลเคลื่อนตัวได้แล้ว — น้ำเป็นเหมือนตัวหล่อลื่น ยิ่งถ้ามีเหตุการณ์ธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว ฝนตกหนักจนดินอุ้มน้ำจนอิ่มตัวแล้ว หรือเจอคลื่นกระแทกซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้เกิดดินถล่มได้
และนั่นก็เกิดขึ้นมาแล้ว และยังมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่อยู่ใกล้พื้นที่ลาดชัน (ภูเขา)
คุณสมบัติทางวิศวกรรมของดินไม่อิ่มตัว
บทบาทของดินไม่อิ่มตัวต่อความมั่นคงของลาดดิน ลาดดินไหล่เขาโดยเฉพาะมวลดินที่อยู่ส่วนบนเหนือกว่าระดับน้ำใต้ดิน จะอยู่ในสภาวะไม่อิ่มตัว ดังนั้นจะมีความดันน้ำเป็นลบ (Negative Pore Pressure) เนื่องจากแรงตึงผิวของความชื้นที่เกาะอยู่ระหว่างเม็ดดินโดยเฉพาะในฤดูแล้ง ซึ่งจะเป็นตัวการที่เพิ่มความแข็งแรงของดิน ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่าลาดดินตัดใหม่ จะยังมั่นคงอยู่ได้แม้จะมีความลาดชันมาก ดังแสดงในรูปที่ 2 แต่เมื่อมีฝนตกหรือระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้น ความดันที่เป็นลบนี้ จะถูกทำลายไปและอาจกลับเป็นความดันที่เป็นบวก (Positive Pore Pressure) ดังนั้น ลาดดินดังกล่าวจะเกิดการพังทลายได้ในช่วงที่มีฝนตกหนักและความชื้นในมวลดินสูงขึ้น
อ้างอิง: วรากร ไม้เรียง และ นงลักษณ์ ไทยเจียมอารีย์. 2547. ความแข็งแรงของดินไม่อิ่มตัวเพื่อการวิเคราะห์ความมั่นคงของลาดเขา. การประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ณโรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี, 19-21 พฤษภาคม 2547
เทือกเขาบรรทัด อยู่กลางคาบสมุทรทางภาคใต้ เริ่มต้นตั้งแต่ อ.ขนอม นครศรีธรรมราช เลื้อยผ่านนครศรีธรรมราชลงไปทางใต้ คั่นกลางระหว่างพัทลุงกับตรัง และสงขลากับสตูล [แผนที่]
ในกรณีที่ฝนตกหนักบนเขา ก็จะทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อดินถล่ม เพราะน้ำฝนลงมา ก็ต้องไหลลงที่ต่ำตามแรงดึงดูดเสมอ
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมโยธาหรือปฐพีกลศาสตร์หรอกนะครับ แต่อยากลองเสนอความคิดที่อาจช่วยบรรเทาผลของน้ำหลาก (run-off) อันเป็นต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งของดินถล่ม — ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลง ก็คงต้องทำอะไรบางอย่างครับ รอไปเฉยๆ เสี่ยงเท่าเดิม
น้ำหลากคือน้ำที่ไหลอย่างรวดเร็วมาบนผิวดิน น้ำหลากเกิดเพราะดินชุ่มน้ำอิ่มตัวจนไม่สามารถดูดซึมหรือชะลอน้ำไว้ได้อีกแล้ว เมื่อฝนตกลงมา จึงไหลไปตามผิวดินตามความลาดเอียงอย่างรวดเร็ว
อยากให้ดูรูปดอยตุงเมื่อยี่สิบปีก่อนนะครับ เป็นภูเขาหัวโล้นทั้งนั้น แต่มีต้นไม้ขึ้นในแนวร่องน้ำ
เวลาฝนตกลงมา น้ำฝนไหลลงที่ต่ำตามความลาดเอียงเสมอ เราจึงเห็นต้นไม้ขึ้นตามร่องน้ำบนภูเขา เพราะว่าตรงนั้นมีความชื้นมากกว่าที่ไหล่เขา
ทีนี้ถ้าไม่ทำอะไร ลาดเขาที่มีน้ำหลากไหลผ่านอยู่ตลอด ก็มีโอกาสเกิดดินถล่ม ดังนั้นจึงคิดว่าหากผันน้ำบางส่วนให้ไหลไปลงทางอื่น โดยการขุดร่องตื้นๆ กว้างเท่าใบจอบคือ 6 นิ้ว ลึกสัก 4-6 นิ้ว เอาหินลงไปไว้ชั้นล่างเสร็จแล้วกลบ หรือถ้ามีงบประมาณ ก็วางท่อระบายน้ำ แล้วเอาหิน-เอาดินกลบ วางท่อขวางทางน้ำไว้ ให้ลาดเทลงต่ำไปทางเดียว ไม่กลับไปกลับมา เมื่อน้ำไหลผ่าน น้ำส่วนหนึ่งที่ตกเหนือแนวร่องระบายน้ำ จะถูกถ่ายออกไปยังบริเวณที่ไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ที่เชิงเขาไปได้บ้าง (ถึงอย่างไรบ้านและสวนของชาวบ้านก็ไม่น่าจะขวางทางน้ำอยู่ดี) กล่าวคือแนวผันน้ำสีเขียวในรูปข้างล่าง ผันน้ำฝนที่ตกเหนือแนวร่องออกไปข้างๆ ให้ห่างจากที่อยู่อาศัยไร่สวนของชาวบ้าน
ส่วนน้ำฝนที่ตกอยู่ใต้ร่อง อันนั้นกันไม่ได้ แต่ถ้าภูเขามีหนึ่งร่อง ร่องนั้นก็ผันน้ำฝนที่ตกด้านบนออกไปได้ — ถ้าลดปริมาณน้ำได้ ก็ลดความเสี่ยงต่อดินถล่มได้(บ้าง) แต่ไม่ได้รับประกันว่าดินจะไม่ถล่มครับ
แต่ถ้าภูเขามีความลาดเอียงสูง (ชันมากกว่า 30°) อย่าได้คิดลองวิธีนี้ มันกลับเสี่ยงมากขึ้นนะครับ
แล้วเรื่องนี้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบด้วยครับ ควรขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียง ถ้ามีผู้เชี่ยวชาญยืนยันแล้ว การทำร่องใช้จอบเท่านั้น ทำได้เองโดยไม่ต้องรอให้ใครมาทำให้
ตามคำแนะนำของ USGS พื้นที่ทีมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินถล่มคือ
- เคยมีประวัติดินถล่มแถวนั้น
- อยู่ที่ตีนเขา
- อยู่ที่ปลายทางน้ำ หมายความว่าจะมีน้ำไหลผ่านเป็นปริมาณมาก
- อยู่บนยอดของเนินเก่า ยิ่งเป็นเนินที่เกิดจากการถม ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
- อยู่ที่ในเขตภูมิประเทศลักษณะชันที่ตัดลงตรงๆ เช่นหน้าผา หรือถนนที่ตัดภูเขาเข้าไป
- เป็นไปได้ว่าอาจมีการถล่มซ้ำ!!! อย่างน้อยจะต้องรอจนดินแห้งเสียก่อน
Next : พื้นที่ของ “มือสมัครเล่นผู้เชี่ยวชาญ” » »
2 ความคิดเห็น
[...] ที่จริงเขียนไว้แล้วใน [ลดความเสี่ยงจากดินถล่ม?!] [...]
[...] [ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (2)] [ลดความเสี่ยงจากดินถล่ม?!] [ลดความเสี่ยงจากดินถล่ม?! [...]