วิกฤติการเงินสหรัฐ

โดย Logos เมื่อ 27 September 2008 เวลา 2:53 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฏหมาย, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4710

ที่จริงผมไม่ได้อยากเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะว่าคิดว่าเป็นเรื่องตลกที่จะฟันธง ว่าเหตุการณ์อันซับซ้อน มีสาเหตุจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียวเพื่อให้เป็นสิ่งง่ายๆ ที่สมองจะเข้าใจได้

ค่านิยมของมนุษย์นั้นกลัวการไม่ยอมรับจากสังคมจึงกลัวผิด การกลัวความผิดในลักษณะนี้ ไม่ได้เป็นการกลัวผิดอันเนื่องจากไม่ต้องการจะเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ว่าความผิดนั้นจะทำให้ใครเดือดร้อน (หิริ โอตตัปปะ) แต่เป็นเพราะกลัวว่าจะถูกผลักใสไม่ยอมรับจากสังคม เป็นเรื่องของตัวตน

ความคิดทื่อๆ แบบพยายามจะฟันธงแบบนี้ เป็นเหมือนความคิดรวบยอดที่พยายามจะอธิบายว่า “ผีเสื้อขยับปีก(ในจีน) ทำให้เกิดพายุทอร์นาโด(ในสหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม ก็มีวิดีทัศน์อันหนึ่งยาว 10 นาที พยายามอธิบายการเกิดวิกฤตทางการเงินของสหรัฐ

ผมดูแล้ว แม้ว่าคำอธิบายจะสมเหตุผลเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าวิดีทัศน์อันนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะอธิบาย แต่กลับมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อโจมตีพรรคเดโมแครต เพราะ

  1. วิดีทัศน์กล่าวอ้างสาเหตุมาจากกฏหมาย Community Reinvestment Act (CRA) ซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี 1977 ในสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์​ (เดโมแครต) โดยหลักการของ CRA ไม่ยอมให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เฉพาะผู้กู้ที่ร่ำรวยมีหลักค้ำประกันอย่างพอเพียงเท่านั้น แต่ยังบังคับให้กระจายเงินกู้ (เครดิต) ไปยังชุมชนและรายย่อยด้วย เพื่อโอกาสที่เท่าเทียมกัน แต่การทำอย่างนั้นเท่ากับบังคับให้สถาบันทางการเงิน รับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
  2. ต่อมาในปี 1995 ประธานาธิบดีคลินตัน (เดโมแครต) แก้ไขกฏหมาย CRA ในส่วนการกำกับดูแลเพื่อที่จะมั่นใจว่ารากหญ้าจะได้รับเครดิตมากขึ้น และสามารถปล่อยกู้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน (subprime) ได้เพื่อให้สัดส่วนเครดิตที่ปล่อยให้รากหญ้ามีขนาดใหญ่พอสมควร; การแก้ไขกฏหมายทำให้การปล่อยกู้เพื่อเช่าซื้อบ้าน (mortgage) เติบโตขึ้น 39% ระหว่างปี 1993 กับ 1998 ในขณะที่การปล่อยกู้ด้านอื่นโตขึ้นเพียง 17%
  3. Bear Stearns เป็นสถาบันการเงินรายแรกที่เริ่มทำอย่างนี้ ต่อมา Fannie Mae ก็ร่วมวงด้วย แล้วตลาด subprime mortgage ก็เริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านก็กู้มาซื้อบ้าน กู้แป๊บเดียวก็ขายต่อ ได้กำไรทันที — ในวิกฤตต้มยำกุ้ง มีจนถึงขนาดขายใบจองได้
  4. แล้ว Fannie Mae ก็ขาย mortgage เหล่านี้ให้กับธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ ยิ่งทำอย่างนี้ Fannie Mae ก็ยิ่งมีกำไร เพราะเริ่มปล่อยกู้เมื่อบ้านมีราคาถูก แต่ขายเมื่อราคาประเมินสูงขึ้น จึงขายได้แพงขึ้นกว่าต้นทุนในตอนแรก ดังนั้นยิ่ง Fannie Mae ปล่อยกู้แล้วขายต่อ Fannie Mae ก็ยิ่งมีกำไร
  5. แต่พอราคาบ้านสูงขึ้น ค่าครองชีพก็สูงขึ้น ราคาน้ำมันสูงขึ้น ดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม คนก็เริ่มผ่อนบ้านไม่ไหว พอเริ่มมีคนไม่ผ่อนบ้าน สถาบันการเงินก็เลยไม่ปล่อยกู้เพิ่ม — พอสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้เพิ่ม ราคาบ้านก็ลดลงมาเพราะว่าความต้องการน้อยลง; พอราคาบ้านลดลง คนที่กำลังผ่อนอยู่เห็นเข้า ก็ไม่รู้ว่าจะผ่อนบ้านราคาแพงไปทำไมในเมื่อบ้านที่มีอยู่ในตลาดราคาถูกกว่า ก็เลยเลิกผ่อนบ้านกันใหญ่; สถาบันการเงินพอมีเงินเข้าน้อยลง จึงขาดสภาพคล่อง; และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการพังทลายแบบลูกโป่งแตก ซึ่งเป็นอาการเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งก็เริ่มจาก sector นี้เช่นกัน
  6. เรื่องราวหลังจากนั้นไป ก็กลายเป็นเรื่องการเมืองของสหรัฐไปแล้ว โดยกล่าวโจมตีผู้ที่เกี่ยวข้องกับ presidential campaign ของ Barack Obama และพรรคเดโมแครต

ที่จริงแล้ว วิดีทัศน์อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของ campaign ที่ผู้สนับสนุน John McCain ผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐของพรรครีพับรีกันจัดทำขึ้น แม้จะเป็นการสาดโคลนกัน แต่เป็นการสาดกันด้วยข้อมูลที่ตรวจสอบได้เอง ไม่ใช่ด้วยสำนวนโวหารแบบที่เป็นอยู่ในเมืองไทย ไม่ใช่ละครปาหี่ของ ตัวตลก นักเลือกตั้ง หรือพวกอยากดัง

ถ้าอยากฟังอันที่เป็นกลาง ลองอันนี้ครับ

  • Paul Krugman บรรยาย 50 นาทีแรก และตอบคำถามอีก 21 นาที มีศัพท์เศรษฐศาสตร์การเงินเยอะหน่อย แต่ไม่ยากเกินไปครับ

ในบางมุม political campaign ก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ใช่แค่ว่าใครถูก-ใครผิด หรือควรจะเลือกใคร แต่ผมเชื่อว่าคนที่ไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหา ต่อให้ดีหรือเก่งแค่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้; คำว่าแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นการแก้ไขอะไรเลย มันเป็นเพียงแต่บรรเทา หรือผลักปัญหาไปไว้ในอนาคตต่างหาก

สำหรับปัญหาที่ซับซ้อน ยากจะเชื่อได้ว่ามีคำตอบง่ายๆ (เช่นเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง-พรรคใดพรรคหนึ่ง) แล้วเราควรจะเลิกหวังกับคำตอบวิเศษอย่างนี้เสียที ควรเลือกคนที่ท่านเชื่อใจ แล้วก็หัดเข็ดซะบ้างถ้าพบว่าคนๆ นั้นเชื่อไม่ได้ เรียนรู้ที่จะไม่ผิดซ้ำซาก

อัศวินขี่ม้าขาวที่ท่านหวังจะพบนั้น เป็นเพียงแค่คนขี่ม้าเท่านั้นถ้าหากเขาไม่เข้าใจว่าโจทย์คืออะไร

« « Prev : ยุติความรุนแรงต่อสตรี

Next : มหัศจรรย์สัตว์โลกใต้ทะเล » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 27 September 2008 เวลา 23:27
    เรามองปัญหากันชัดแค่ไหนครับ

  • #2 bojs ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 September 2008 เวลา 2:38

    The YouTube clip by McCain’s supporter was entertaining & thanks for pointing to Krugman’s insight talk on the current US financial crisis.  It’s too simplistic to point to greed! as a single cause of this Wall Street crisis.  But it sure is memorable from the movie Wall Street when Gordon Gekko growled impassionately “Greed is good!

  • #3 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 September 2008 เวลา 13:18

    Bear Stearns ก็ล้มไปแล้ว JP Morganเข้ามาtake
     Fannie Mae รัฐบาลเข้ามาอุ้ม
    แย่ไปตามๆกัน แต่ไม่อยากโทษใครว่า เป็นต้นเหตุจริงๆ
    ตอนนี้ เ ป็นตอนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

  • #4 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 September 2008 เวลา 14:32

    ยังจำได้ การเยีวยา วิกฤติ ภายใต้เงื่อนไขของ ไอเอ็มเอฟ เป็นจุดต่างระหว่าง วิกฤติต้มยำกุ้ง กับวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
    สหรัฐเยียวยาด้วยตนเอง และมีความผ่อนคลายมากกว่าที่เคยชี้นำให้ไอเอ็มเอฟ ไปบังคับใช้กับประเทศที่มาใช้บริการไอเอ็มเอฟ พฤติกรรมแบบนี้ ชัดเจนว่า” สองมาตรฐาน”

     

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10346984863281 sec
Sidebar: 0.1358380317688 sec