ผู้พิพากษา
อ่าน: 4143พระราชดำรัส เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นายประมาณ ชันซื่อ นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้า ฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันจันทร์ ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๖ผู้พิพากษาที่จะออกไปรับหน้าที่ครั้งแรก มีประเพณีที่จะต้องเปล่งวาจาเป็นการแสดงสัตย์ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความตั้งใจที่ซื่อตรง. การเปล่งสัตย์ปฏิญาณนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการยืนยันว่าท่านทั้งหลายจะปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ในหน้าที่ของผู้พิพากษา.
หน้าที่ที่สำคัญนี้จะต้องมีหลายอย่าง จะต้องมีความรู้วิชาการ จะต้องมีความตั้งใจที่เข้มแข็ง แข็งแรงและมีความซื่อสัตย์สุจริต. ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษานี้จะต้องประสบปัญหาหลายอย่าง จะต้องพยายามที่จะขบปัญหาเหล่านั้น ด้วยความตั้งใจและด้วยความรู้ที่ถูกต้อง. เพราะขั้นแรกปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะต้องขบด้วยความรู้ในวิชาการ. ถ้าปัญหานั้นเข้าไปในหลักของกฎหมายใด ก็จะต้องทำตามนั้นโดยเคร่งครัด. ที่สำคัญคือตอนไหนที่จะต้องตีความกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายอาจเปิดโอกาสให้พิจารณาตามทฤษฎี. ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าดุลยพินิจนี้จะต้องอาศัยหลักกฎหมายหลักวิชาส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งจะต้องอาศัยหลักของความยุติธรรมซึ่งเรียนรู้ยาก. จะต้องฝึกให้เห็นว่าอันไหนที่สมควร อันไหนไม่สมควร และข้อนี้ก็คือที่ได้เปล่งวาจาว่าจะปราศจากอคติ.
คำว่า “อคติ” นี้ก็พูดมาหลายครั้งแล้ว และก็ยังจะต้องพูดต่อไปอีก. “อคติ” นั้นตามหลัก ตามรากศัพท์คือสิ่งที่ไม่ควรจะทำ หรือสิ่งที่ที่ไม่ควรจะไป. “อ” แปลว่าไม่ “คติ” ก็หมายความว่าไป ไปในสิ่งที่ไม่ควรไป. สิ่งที่ไม่ควรไปนั้นหมายความว่า สิ่งที่ไม่ควรทำ หรือไม่ควรตัดสิน ไม่ควรคิด เพราะว่าอคตินั้นมีฐานมีรากมาจากความไม่ดี. ความไม่ดีนี้มีอยู่ว่า ถ้าเราชอบอะไรเราจะเกิดมีอคติได้ เพราะว่าเราจะตัดสินไปในทางที่เราติดใจชอบใจอย่างนั้น ไม่ใช่ตามหลักวิชา. อาจเป็นอคติคือตัดสินไปในทางที่เราไม่ชอบคือความเกลียดชัง หรือความโกรธ. ความไม่ชอบนี้ก็ทำให้เราตัดสินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง. บางทีก็อาจเป็นอคติจากความกล้ว เพราะว่าเรากลัวว่าอย่างโน้น กลัวว่าอย่างนี้ ก็เลยตัดสินไม่ตรง ไม่เป็นกลาง. บางทีก็เป็นอคติในทางที่ได้เห็นผลประโยชน์. อคติทั้งหลายนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามเห็นและเรียน. ถ้าปราศจากอคติแล้วก็จะถูกต้องตามหลักวิชา หมายความว่าถูกต้องตามบทกฎหมายที่มีอยู่ และเป็นไปตามกฎของความยุติธรรม คือความดี ความถูกต้อง.
ฉะนั้นการที่ท่านได้เปล่งวาจานี้เป็นสัตย์อีกอย่างหนึ่ง เป็นการเสริมความรู้ที่ท่านได้เรียนมา ได้ฝึกมาและความตั้งใจที่ท่านมีอยู่แล้วที่จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต. ฉะนั้นสัตย์ปฏิญาณที่ท่านได้เปล่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ก็ขอให้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณนี้ ทำความเข้าใจในคำปฏิญาณนี้อย่างลึกซึ้ง และท่านทั้งหลายก็จะได้ชื่อว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่สมบูรณ์.
ก็ขอให้ทุกๆ ท่านที่จะได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิพากษาต่อไปนี้ ให้ประสบความสำเร็จ ความดี ความมีชื่อเสียงทุกประการ. ขอให้มีกำลังกายกำลังใจสมบูรณ์ตลอดไปไม่ประสบความเดือดร้อน ไม่ประสบความเจ็บไข้ใดๆ สามารถที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อความยุติธรรมและเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และก็เพื่อชื่อเสียงของท่านเองและสถาบันตุลาการ.
« « Prev : โกรธ = บ่(กอด) อิอิ
Next : น้ำ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ผู้พิพากษา"