ความหมายของงานป้องกัน
อ่าน: 4036น้องชายผมทำงานดูแลการผลิตในโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่คลองรังสิต
ความคิดเรื่องการป้องกัน ก็ต้องประเมินดูความเสี่ยงต่างๆ ถ้าน้ำท่วมคลองรังสิต ก็จะท่วมโรงงาน และบริษัทจะเสียหาย ดังนั้นเขาก็ออกไปประเมินสถานการณ์โดยไม่ต้องมีใครสั่ง พบความเสี่ยงและได้เขียนบอกกล่าวเอาไว้ในเฟสบุ๊ค (แต่ผมไม่ลิงก์ไว้ให้นะครับ ด้วยเหตุผลของความเป็นส่วนตัวของเขา) ในเมื่อไม่รู้ก็ต้องเรียนรู้ ตรวจสอบ แทนที่จะรอรายงานหรือคิดไปเอง
ผมมีข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์มาฝาก เนื่องจากที่ทำงานมีคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อยู่ทางทิศเหนือ และคลองรังสิตคลองสอง อยู่ทางทิศตะวันตก ท้ังสองคลองห่างรั้วโรงงานผมไม่กี่ร้อยเมตร และท่อระบายน้ำหน้าบริษัท ต่อตรงไปลงที่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ที่บริษัทเลยค่อนข้างระวังเรื่องน้ำท่วมครั้้งนี้มากกว่าปีก่อนๆ เรามีฐานข้อมูลระดับความสูงของพื้นโรงงาน (ที่ติดตั้งเครื่องจักร) เทียบกับพื้นที่โดยรอบโรงงานเพื่อทราบตำแหน่งน้ำท่วมและระดับที่อาจเกิดการท่วมเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง และจัดทำไม้วัดระดับน้ำ ติดตั้งในบ่อพักเพื่อทราบระดับน้ำในท่อระบายน้ำ (ซึ่งเท่ากับระดับของคลองรังสิตประยูรศักดิ์) และมีการติดตามระดับน้ำทุกชั่วโมง เราจัดให้มีผู้จัดการเวร อยู่ค้างคืนเพื่อระวังเหตุและตัดสินใจสั่งการตามแผนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ มีการจัดกำลังคนในพื้นที่ผลิตเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อระงับเหตุ ฯลฯ
เมื่อวาน 6 ตค. ช่วงสายๆ ได้เข้าพบคุณวิรัตน์ จำเรียง หน.ฝ่ายควบคุมอาคารและผังเมือง เขตรังสิต และคุณวิรัตน์กรุณามอบหมายให้คุณวศิน นำผมและคณะไปเยี่ยมชมประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ หรือที่เรียกประตูดำ อยู่หลังตลาดรังสิต มีโอกาสได้พบ คุณวิลาศ หน.ฝ่ายเครื่องกล สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน ที่อำนวยการซ่อมแซมปั๊มน้ำที่ประตูระบายน้ำ และได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากดังนี้
คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นคลองขวาง ทอดจากทิศตะวันตก ไปตะวันออก จากแม่น้ำเจ้าพระยาขนานถนนซ่อมสร้าง ยาว 7 กม.มาถึงหลังตลาดรังสิต ที่เป็นที่ตั้งของประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ก่อนวิ่งต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดขวาง/รับน้ำจากคลองซอย (คลองรังสิต คลอง 1 ถึง 16) ในภาวะปกติ การระบายน้ำออกจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทำได้สามทาง คือ 1. คลองรังสิตทั้ง 16 คลองที่ระบายน้ำจากทิศเหนือลงใต้ ไปยังเขตกรุงเทพฝั่งตะวันออก และลงสู่อ่าวไทย, 2. ระบายออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา และ 3. ระบายออกทางประตูน้ำคลอง 16 (ผิดพลาดประการใด รบกวนผู้รู้ช่วยแนะนำแก้ไขให้ด้วยนะครับ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกๆท่าน)
การระบายน้ำออกทางคลองรังสิต ลงไปกรุงเทพฝั่งตะวันออกก็ยังไหลไป แต่การระบายออกทางคลอง 16 ถูกระงับไปเนื่องจากปัญหาชุมชนเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้หน้าที่หลักในการเร่งระบายและควบคุมระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มาตกหนักที่ประตูระบายน้ำจุฬา
สถานการณ์ที่ประตูน้ำจุฬา ณ 6 ตค. ระดับน้ำฝั่งที่หันหาแม่น้ำเจ้าพระยา สูงเสมอแนวคอนกรีตหลังประตูน้ำแล้ว (สูงกว่าบานประตูควบคุมระดับน้ำ ) เจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายวางเรียงเสริมความสูงหลังประตูระบายน้ำไว้สูงขึ้น 60 ซม.
ระบบสูบน้ำที่ติดตั้งที่ประตูน้ำจุฬา เป็นปั๊มไฟฟ้า 12 ชุด สามารถสูบน้ำได้ 36 ลบ.ม./วินาที มีการเสริมเรือพญานาค 2 ลำ ติดตั้งปั๊มขับเคลื่อนด้วยเครื่อง ยนต์รวม 4 ตัว ความสามารถในการสูบน้ำได้ 5.6 ลบ.ม./วินาที และปั๊มไฟฟ้าเสริมอีก 4 ตัว ความสามารถในการสูบน้ำได้ 8 ลบ.ม./วินาที รวมความสามารถในการสูบของประตูน้ำจุฬา คือ 49.6 ลบ.ม./วินาที หรือ 71,424 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันเดินเครื่องสูบน้ำทุกเครื่อง 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี ขอเรียนให้ทราบว่าระดับน้ำในคลอง สูงขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2 cm. ในวันจันทร์ที่ 3 ตค. และในวันพุธที่ 5 ตค. ระดับน้ำก็สูงขึ้นอีก 3 cm.
คลองรังสิต(ประยูรศักดิ์) ตัดจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางตะวันออก ผ่านกรุงเทพตอนเหนือ มีประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์กั้นอยู่ช่วงต้นของคลอง — แต่ไม่ได้ป้องกันหมู่บ้านเมืองเอก เนื่องจากตั้งอยู่ก่อนถึงประตูระบายน้ำ — ถ้าหากน้ำผ่านประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ไปได้ กรุงเทพตอนเหนือก็จะเสี่ยงมาก
คนเราร่ำเรียนมา แต่เมื่อไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ก็อาจจะมีเรื่องที่มองข้ามไปได้ง่าย บางทีเรื่องเหล่านี้มองเผินจะรู้สึกว่าเป็นเล็ก แต่เพราะไม่มีประสบการณ์จึงไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ลุกลามได้ง่ายและจะเสียหายมาก
กรณีน้ำท่วม ในเมื่อไม่เคยประสบมาหรืิอเคยมีแต่นานมาแล้ว ก็เรียนรู้+ฟังคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ดีไหมครับ ไม่ต้องให้ความสำคัญกับนักพยากรณ์มากนัก (ต่อให้ทายถูกแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ จะมีความหมายอะไร) ควรฟังคำแนะนำที่บอกทางรอดให้ ซึ่งผู้มีประสบการณ์พอบอกได้
คุณวิลาศให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ที่ประตูระบายน้ำทำงานหนักมาก เข้าเวร 24 ชั่วโมง แก้ไขปัญหาสารพัดด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางเทศบาล และหน่วยงานการไฟฟ้าที่เข้าแก้ไขปัญหาให้อย่างรวดเร็วทุกครั้ง ทำให้ยังสามารถเดินเครื่องสูบน้ำ รักษาระดับน้ำในคลองไว้ได้ และให้ความมั่นใจอีกว่า โดยระบบการติดตามสถานการณ์แบบ Real Time ผ่านทางระบบ SCADA ทำให้สำนักชลประทานที่ 11 สามารถปรับแก้ไขสถานการณ์เพื่อรับมือกับการเกิดน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง www.rid.go.th ซึ่งอาจเลือกติดตามทาง Facebook หรือ twitter ของกรมชลประทานก็ได้ สำหรับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่รังสิต-นครนายก เป็นสำนักงานชลประทานที่ 11 หากข้อมูลบน website ไม่เพียงพอ อาจขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากฝ่ายจัดสรรน้ำ
ผมเห็นว่าสถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วงนะครับ โดยเฉพาะน้ำจำนวนมากที่ต้องระบายออกจากเขื่อน และจะเดินทางลงมาถึงกรุงเทพฯ ราววันที่ 9 - 12 ตค. อาจทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อคืนวันที่ 6 นี่ก็เริ่มมีข่าวเปิดประตูนั้น น้ำท่วมตรงนี้ทั่วไปหมดในเขตกรุงเทพตอนบน นนทบุรี และปทุมธานีแล้ว ถ้ามีน้ำเขื่อนตามมาสมทบ ก็อาจเป็นเหตุให้เราได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง และรุนแรงเช่นเดียวกับที่เกิดในจังหวัดต่างๆตอนบนของประเทศ
ในฐานะที่เป็นพนักงานของบริษัทที่ทำงานในละแวกรังสิต-นครนายก ผมอยากเชิญชวนเพื่อนๆทั้งหลาย จะรู้จักผมหรือไม่รู้จักก็ตาม ให้ช่วยกันสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ให้กำลังใจ ช่วยด้านแรงกาย สนับสนุนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม หรือปัจจัยอื่นใดตามกำลังความสามารถ อาจอาศัยกลุ่มชายคลอง ที่เป็นชมรมบริหารงานบุคคลที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างบริษัทต่างๆในเขตคลองรังสิต ช่วยเป็นแกนประสานงานให้การสนับสนุนงานป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน และเทศบาลรังสิต เพื่อให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน วันนี้ได้ยินศูนย์วิทยุเวหาปทุม ออกประกาศว่าประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ต้องการกำลังกรอกกระสอบทรายเพื่อเสริมแนวป้องกันน้ำแล้วครับ ผมประมาณว่าความยาวที่จะต้องเสริมแนวป้องกันนั้นต้องการกรสอบทรายหลายพันใบ ฉะนั้น หากบริษัทต่างๆมีกำลังคน สามารถหมุนเวียนไปช่วยกันกรอกทราย เรียงกระสอบ ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการรักษาบ้านที่สองของเราไว้จากความเสียหายที่จะมากับน้ำท่วมได้ครับ
ต้องการกระสอบทรายเป็นหมื่นใบครับ ไม่ได้บอกเผื่อ! หลุดด่านนี้ไป จะมีคนเดือดร้อนอีกเยอะ
Next : ป้องกันรถจากน้ำท่วม » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ความหมายของงานป้องกัน"