เรือโครงเหล็กเส้น
อ่าน: 3748คนเราถ้าใส่ใจในความเดือดร้อนของผู้อื่น รู้ว่าน้ำท่วมผู้คนเดือดร้อนเป็นล้านคน คงไม่อยู่เฉยๆ หรอกครับ แล้วยิ่งมีความรู้จริง ก็จะเห็นช่องทางทำอะไรได้เยอะ แสวงเครื่องได้หลากหลาย
อาจารย์ทวิช อดีตวิศวกรนาซ่าท่านหนึ่ง สอนอยู่ที่สำนักวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สร้างต้นแบบเรือที่ใช้เหล็กเส้นมาผูกเป็นโครง (Rebar) แล้วใช้ผ้าใบคลุมรถสิบล้อมาทำเป็นลำเรือครับ สร้างได้ง่ายมาก งบประมาณสักสองพันบาท
(อาจารย์ไม่อยากให้นำชื่อนาซ่ามาใช้เป็นยี่ห้อเหมือนนักร้องที่ต้องมีชื่อวงหรือชื่อการประกวดแปะท้ายเป็นยี่ห้อ แต่ว่าผมรู้จักท่านบนเน็ตตั้งแต่ท่านยังทำงานอยู่ที่นั่นเมื่อยี่สิบปีก่อน รู้ว่าท่านเป็นของจริง; อดีตวิศวกรนาซ่าทุกคนที่ได้พูดคุย ต่างก็คิดแบบนี้เหมือนกันหมด เพราะต่างคนต่างเป็นของจริงโดยไม่ต้องอวดอ้าง)
ถ้าอย่างนี้ ช่างก่อสร้าง ช่างกล หรือใครๆ ก็สร้างได้ เหมือนดังกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานให้คณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรและถ่ายทอดทางโทรทัศน์
… ถ้าทำได้แล้วก็จะเป็นการช่วยประเทศชาติให้อยู่อย่างดี ถ้าไม่เอาใจใส่ในความคิดเหล่านี้ งานทั้งหลายที่เราทำก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ก็ต้องมีบกพร่อง เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงถ้าคิดแบบชาวบ้าน ไม่มีอะไรที่ฝรั่งเรียก sophisticated มันแบบธรรมดาๆ พอทำอะไรแบบธรรมดาก็ดูท่าทางไม่มีประโยชน์ใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าถ้าทำไม่ sophisticated ชาวบ้านก็ทำเองได้ …
เศรษฐกิจพอเพียงนั้นซื้อของได้ แต่ซื้ออย่างฉลาด ซื้อเท่าที่จำเป็น… ถ้ายังคิดเอะอะอะไรก็ซื้อแหลก อย่างนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงมั๊งครับ
เรือนี้เบื้องหลังเป็นเรื่องของการเลือกใช้สิ่งที่พอหาได้ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม (แรง+วัสดุ ฟังดูน่าปวดหัว) แต่เวลาสร้างนั้น ใครก็ทำได้ง่ายๆ ครับ
ออกแบบโดย รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์
สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
ม.เทคโนโลยีสุรนารี
อ.เมือง จ.นครราชสีมา
สร้างโดย นศ. วิศวกรรมเครื่องกล
สนับสนุนงบประมาณโดย สาขาวิชาวิศกรรมเครื่องกล
(เผยแพร่โดยคำอนุญาต)
« « Prev : ฐานข้อมูลการร้องขอความช่วยเหลือ
Next : ความหมายของงานป้องกัน » »
3 ความคิดเห็น
ทดลอบรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ การลอยตัวเป็นอย่างไรบ้าง น้ำเชี่ยวมากๆ คว่ำไหมคะ
ลำนี้รับนน.ได้ประมาณ 400 กก. ครับ ทดลองภายดูแล้ว มีความเสถียรดี การลงเรือขณะว่างลำบากเล็กน้อย อาจคว่ำได้ ต้องระวัง แต่พอลงไปนั่ง มีนน.คน (และสิ่งของ) ถ่วงแล้วก็ปกติ
เวอร์ชันสอง ผมได้ปรับให้เป็นเรือท้องแบนแล้ว จะได้กินน้ำตื้นขึ้น วานนี้โทรไปหาเพื่อนซึ่งเป็นผบ.ทร. อีกท่านเป็นเจ้ากรมอู่ทหารเรือ (มีหน้าที่ซ่อมและสร้างเรือรบ) ท่านทั้งสองรับว่าจะนำแบบนี้ไปต่อเรือช่วยเหลือน้ำท่วมเป็นการด่วนที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมคือดังนี้ครับ
ราคาวัสดุก่อสร้าง: เหล็กเส้น 500 บ. ผ้าใบ 1500 บ.
วิธีการสร้าง: ใช้เหล็กเส้นก่อสร้างมาดัดเป็นโครงเรือท้องแบน ตามแนวขวางและแนวยาว ขัดสานและผูกเข้ากันด้วยยางยืด (เช่น ยางในรถ จยย. ผ่าเป็นริ้วๆ) มีคานเล็กแล่นกลางตามแนวขวางเพื่อความแข็งแรง จากนั้นคลุมผิวด้านนอกด้วยผ้าใบคลุมรถสิบล้อ (กันการขีดข่วน ทิ่มทะลุได้ดี) ขึงผ้าใบให้ตึงด้วยการเอาเชือกร้อยตาไก่แล้วผูกมัดเข้ากับโครงเหล็กเส้น (หมายเหตุ จะใช้ไม้ไผ่รวกมาดัดแทนเหล็กเส้นก็ได้ แต่ขณะน้ำท่วมหาไม้ไผ่ได้ยาก แต่หาซื้อเหล็กเส้นได้ง่ายกว่า)
เวลาที่ใช้ในการทำ: ประมาณ 2 ชม. คน
วิธีใช้: พาย หรือ ถ่อ โดยการใช้ไม้กระดานปูพื้นสำหรับคนนั่งพาย
แนวคิดออกแบบโดย: รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีสุรนารี
ทำการสร้างโดย: นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีสุรนารี
สนับสนุนทุนโดย: สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีสุรนารี
สำหรับเวอร์ชั่นท้องแบน ไปดูกันได้ครับ
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463992