สารคดีแม่น้ำโขง
อ่าน: 6199ก็เพียงแต่อยากให้กำลังใจทีมงานที่ทำสารคดีเรื่องนี้ครับ ออกอากาศทาง MCOT TV (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.)
ผมคิดว่าเลือกโจทย์ได้น่าสนใจมากๆ แล้วก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจจริงครับ
แต่ว่าทีม production กับทีม research เล็กไป — เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะใช้กล้องถ่ายวิดีโอตัวเล็ก ถือเดินถ่ายกันไปเรื่อยๆ บทพูดสดๆ ให้ความรู้สึกเหมือนโฮมวิดีโอ ถ่ายเวลาไปเที่ยวกันสองคน (ผลัดกันเก็บภาพ) กับไกด์คนหนึ่ง หาข้อมูลกันสดๆ — แต่เมื่อเทียบกับสารคดีของ Panorama Documentary แล้ว เป็นคนละอารมณ์กัน
อย่างไรก็ตาม สารคดีเรื่องนี้ เปิดให้เห็นความจริงว่าคนเราสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว และเรียนรู้/หาคำตอบได้ตลอดเวลา หากทำอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะพอกพูนความรู้/ประสบการณ์ ข้อความนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่สารคดี แม่น้ำโขง สายน้ำพยศ มอบให้กับผู้ชมครับ
การทำสารคดีแบบนี้ น่าจะส่งเสริมให้ได้ทำกันตั้งแต่ในระดับโรงเรียนเลย อาจจะช่วยให้นักเรียนหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนรอบตัว มากกว่าจะมุ่งสอบ แข่งขัน ฟุ้งเฟ้อ เล่นเกมส์ ฯลฯ — ซึ่งสังคมไทย มี “ช่วงคนเสีย” เป็นช่วงยาวหลายสิบปีแล้วครับ เมื่อคนเหล่านี้มีลูก เฮ้อ ไม่อยากคิดเลย…
« « Prev : สรุปทริปเบิกโรงวัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ ลำพูน
Next : สงครามหมู » »
6 ความคิดเห็น
“สังคมไทย มี “ช่วงคนเสีย” เป็นช่วงยาวหลายสิบปีแล้วครับ เมื่อคนเหล่านี้มีลูก เฮ้อ ไม่อยากคิดเลย…”
คนเหล่านี้มีลูกแล้วค่ะ..คนเป็นครู..ไม่อยากคิดก็ต้องคิด
ก็เลยทำไปคิดไป.. งานของครูมีอยู่เรื่อยๆ ทำอย่างไรเมื่อไม่มีกำลังพอที่จะหนีออกจากระบบเดิมไปสร้างระบบใหม่
ก็ต้องหาช่องทางปรับเปลี่ยน เรียนรู้จะพัฒนาไปตามกำลังที่ทำได้
เป็นงานใหญ่จริงๆ ต้องค่อยๆ ปรับทั้งครูและเด็ก
ครูรุ่นเก่า มีจิตวิญญาณ แต่วิธีการบางอย่างอาจไม่ทันเด็ก
ครูรุ่นใหม่ก็เป็นผลผลิตจากสังคม ช่วงคนเริ่มเสีย หรือ เสียแล้ว ต้องค่อยปรับเปลี่ยนวิธีคิด
เรื่องของเด็กและผู้ปกครองมีมาให้แก้ไข และ บางทีทดสอบสติทุกวัน
วัฒนธรรมสะดวกซื้อ ทำให้ต้องลุกขึ้นมารับโทรศัพท์ตอนสี่ทุ่ม เพื่อจะตอบคำถามว่า ครูคะ พรุ่งนี้จะให้น้องสวมชุดยุวกาชาดหรือชุดนักเรียน
หรือแม้แต่วันหยุด ก็ต้องเจอคำถามที่ต้องใช้ข้อมูลรายละเอียดตอบ แถมถูกดุอีกว่า อะไร..ทำไมไม่มีครูเวรไว้ตอบคำถามในวันหยุด
(เสียสติไปบ้าง..เมื่อนึกในใจว่า..ครูเวรก็ต้องการพักบ้างเฟ้ย..)
มีงานที่ทดลองเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการอยู่กันเองในโรงเรียน
บางทีก็มาหาความคิดจากลานนี้บ่อยๆ ขอบคุณที่เขียนให้อ่านค่ะ..
^_____^
ขอขอบคุณครับที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา เพราะตามความตั้งใจของผู้ผลิตสารคดีชุดนี้ เราอยากจะแสดงให้เห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาตามมุมมองในยุคต่าง ๆ และมักจะรวมศูนย์ ซึ่งแท้ที่จริงความรู้กระจายตัวอยู่ในบุคคลน้อยใหญ่ที่อยู่รอบตัวเช่นกัน ความสามารถในการเปรียบเทียบ ตีความ และ ตรึกตรอง จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนในยุคที่เรามีข้อมูลล้นเหลือ
เราใช้เครื่องมือเล็ก ๆ ระดับท้องตลาด เพื่อยืนยันว่า นักข่าวพลเมือง มีศักยภาพเพียงพอที่จะเสาะแสวงหาความรู้และถ่ายทอดเรื่องราว การหาข้อมูลเบื้องต้นของเราได้ใช้แนวคิดในทางสหวิทยาการ และ ใช้ การค้นจาก internet โดยไม่ได้หาความรู้เฉพาะแต่สถาบันการศึกษาหรือนักวิชาการกระแสหลัก แต่จาก bloggers และ การแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นา ๆ บน พื้นที่ไซเบอร์ ที่สำคัญที่สุด เราไม่ได้กล่าวอ้างว่าความรู้ของเราเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ ปราศจากข้อโต้เถียง หรือ มีความเบ็ดเสร็จ
ไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กนักเรียน แต่บุคคลทั่วไปได้หากได้รับแรงบันดาลใจและเริ่มผลิต บทสนทนาเหล่านี้ โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ และ ความเป็นจริงรอบตัว ก็จะถือเป็นความสำเร็จของผู้ผลิต ที่หวังว่าคนส่วนใหญ่คงไม่ต้องเป็นแต่เพียงผู้ชม แต่เป็นผู้ที่เก็บเกี่ยว สร้าง และ กระจายความรู้ได้เช่นกัน ขอขอบคุณที่เห็นถึงประเด็นนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของสารคดีชุดนี้….พิภพ พานิชภักดิ์/ผู้กำกับสารคดี แม่โขง สายน้ำพยศ
จ๊าบส์ อีกแล้ว อิอิ
ผมและคนข้างกายชอบชุดนี้มาก แต่ก็ตามดูได้ไม่ครบยังคิดจะซื้อมาดูหากมี vcd ขาย เดี๋ยวนี้การทำสารคดี พัฒนาไปมาก สร้างประเด็นและให้สาระที่คมมากขึ้น จริงๆเอามาเปิดให้คนทุกระดับดูแล้วตั้งคพถามถกกันก็มีสาระมากทีเดียว
แต่ก็เป็นเรื่องที่เห็นชัดอีกเรื่องหนึ่ง ว่ามีสื่ออย่างน้อยกลุ่มหนึ่ง ได้ปรับตัว ปรับทัศนคติอย่างจริงจัง จากการสื่อสารทางเดียว ไปสู่ปฏิสัมพันธ์แบบเท่าเทียมแล้วครับ
อ้อ ในเว็บไซต์ที่ให้ไว้ในบันทึก มีวิดีโอตอนเก่าๆ ให้ชมนะครับ ใครจะย้อนดูก็ดูได้
แว๊ะ เข้ามาอีกครั้งครับ ผมเลย เอา link เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการผลิตความรู้ และ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับแวดวงสื่อมวลชน
http://lofihistyle.com/2009/05/the-future-of-journalism-in-the-age-of-youtube/
หากใครได้ชม สารคดี แม่โขง สายน้ำพยศ จะเห็นช่วงที่คุก S-21 ใช้การถ่ายทำด้วยกล้องคล้าย ๆ กล้อง มือถือล้วน ๆ เรียกว่า Flip ( http://www.theflip.com/) ซึ่ง ถึงแม้นคุณภาพจะไม่เทียบเท่ากับกล้องขนาดที่โตขึ้่นมาหน่อย แต่ก็เป็นการยืนยันความเป็นไปได้ของการใช้กล้องในราคาไม่ถึงหมื่นบาทในการผลิตรายการสารคดีครับ